รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2555

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday February 15, 2012 12:06 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2555

Summary:

1. แบงก์ชาติพร้อมทบทวนเก็บค่าธรรมเนียมภายใน 3 ปี

2. ซิตี้แบงก์คาด ศก.ไทยปี 55 โต 3%

3. ธนาคารญี่ปุ่นคงดอกเบี้ยนโยบาย

Highlight:
1. แบงก์ชาติพร้อมทบทวนเก็บค่าธรรมเนียมภายใน 3 ปี
  • ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่าอัตราการส่งเงินสมทบเข้ากองทุนเพื่อการฟื่นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินที่เก็บเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 0.47 เพื่อนำเงินไปคืนหนี้กองทุนฟื้นฟูฯ จำนวน 1.14 ล้านล้านบาทนั้น คาดว่าจะมีเพียงพอในการชำระหนี้ในช่วงแรกและสามารถคืนหนี้ทั้งหมดได้ภายใน 24 ปี นอกจากนี้ ในช่วง 3 ปี ข้างหน้า ธปท. อาจจะทบทวนลดอัตราการส่งเงินสมทบใหม่และอาจลดลงจากเดิม โดยตั้งอยู่บนสมมุติฐาน 2 ข้อคือ ฐานเงินฝากและตั๋วบีอี ซึ่ง ธปท. คาดว่าแต่ละปีจะขยายตัวประมาณร้อยละ 4 และอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่ลดลงต่ำกว่าที่ ธปท. ประมาณการไว้
  • สศค. วิเคราะห์ว่า การร่วมกันแก้ไขปัญหาภาระหนี้ FIDF อย่างเป็นระบบโดยการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมใหม่จากสถาบันการเงินร้อยละ 0.47 ของฐานเงินฝากทั้งหมด ในวันที่ 31 ก.ค.55 (ค่าธรรมเนียมร้อยละ 0.46 นำส่งเข้ากองทุนฟื้นฟูฯ และร้อยละ 0.01 นำส่งเข้าสถาบันคุ้มครองเงินฝาก) จะสามารถช่วยชำระหนี้กองทุนฟื้นฟูฯ ได้ โดยคาดว่าฐานเงินฝากของธนาคารพาณิชย์ในปัจจุบันที่มีอยู่กว่า 7.9 ล้านล้านบาท จะสามารถจัดเก็บค่าธรรมเนียมนำส่งกองทุนฟื้นฟูฯ ได้ประมาณ 37.1 พันล้านบาท และใช้เป็นแหล่งเงินอีกทางหนึ่งในการชำระดอกเบี้ยจ่ายของหนี้กองทุนฟื้นฟูฯ (ในปีงบประมาณ 55 มีการจัดสรรงบประมาณการชำระหนี้ในประเทศจำนวน 68.4 พันล้านบาท) นอกเหนือจากแหล่งเงินร้อยละ 90 ของกำไรสุทธิของ ธปท. และผลประโยชน์จากบัญชีเงินตราที่คาดว่าจะมีรายได้ 2 - 2.5 หมื่นล้านบาท อย่างไรก็ตาม การลดค่าธรรมเนียมที่สถาบันคุ้มครองเงินฝากเรียกเก็บจากสถาบันการเงินในอัตราร้อยละ 0.4 ของฐานเงินฝาก เหลือเพียงร้อยละ 0.01 ของฐานเงินฝากเท่านั้น ถือว่าเป็นอัตราที่น้อยมากเมื่อเทียบกับภาระตัวเลขการคุ้มครองเงินฝาก โดยปัจจุบันสถาบันคุ้มครองเงินฝากมีเงินสะสมประมาณ 80.0 พันล้านบาท จึงอาจเป็นการเพิ่มความเสี่ยงให้กับสถาบันคุ้มครองเงินฝากที่จะต้องมีภาระการคุ้มครองที่มากขึ้นกว่าเดิม
2. ซิตี้แบงก์ คาด ศก.ไทยปี 55 โต 3%
  • ซิตี้แบงก์ เปิดเผยในงาน 2012 Annual Outlook คาดว่า เศรษฐกิจไทยปี 55 เติบโต 3% โดยมองภาพรวมเศรษฐกิจและการลงทุนโลกในปีนี้ยังมีความผันผวน ขึ้นกับการแก้ไขปัญหาในยุโรป และทิศทางการเติบโตของเศรษฐกิจสหรัฐและจีน ซึ่งทั้งสองประเทศยังมีความไม่แน่นอนทางการเมืองในประเทศ เนื่องจากสหรัฐจะมีการเลือกตั้งใหม่ในช่วงปลายปี ขณะที่จีนจะมีการเปลี่ยนผู้นำประเทศ
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ในปี 55 เศรษฐกิจไทยคาดว่าจะกลับมาขยายตัวเร่งขึ้นจากปี 54 โดยมีแรงขับเคลื่อนหลักจากอุปสงค์ภายในประเทศที่คาดว่าจะกลับมาขยายตัวเร่งขึ้น จากนโยบายภาครัฐในการสนับสนุนการใช้จ่ายภายในประเทศ เช่น นโยบายปรับเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท การปรับเพิ่มเงินเดือนราชการ และโครงการจำนำข้าวเปลือก ขณะที่การลงทุนทั้งภาครัฐและภาคเอกชนคาดว่าขยายตัวเร่งขึ้นจากปีก่อนหน้าเช่นกัน โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐ และความจำเป็นในการเร่งฟื้นฟูอาคารบ้านเรือนและเครื่องมือเครื่องจักรในภาคอุตสาหกรรมภายหลังจากวิกฤติมหาอุทกภัยคลี่คลายลง ประกอบกับการที่วุฒิสภาได้มีการอนุมัติพ.ร.ก.กองทุนส่งเสริมการประกันภัยพิบัติ และพ.ร.ก.การให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ที่ได้รับความเสียหายจากอุทกภัย ซึ่งจะเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนมากขึ้น ขณะที่อุปสงค์จากต่างประเทศคาดว่าจะชะลอลงเล็กน้อย ตามการขยายตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าหลักที่มีแนวโน้มชะลอลง จากความกังวลในการแก้ไขปัญหาวิกฤตหนี้สาธารณะในกลุ่มสหภาพยุโรป ทั้งนี้ สศค. คาดว่าเศรษฐกิจไทยปี 55 จะขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 5.0 ช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 4.5 - 5.5 (ประมาณการ ณ เดือน ธ.ค. 54)
3. ธนาคารญี่ปุ่นคงดอกเบี้ยนโยบาย
  • ธนาคารกลางญี่ปุ่น (บีโอเจ) มีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงเป้าหมายอัตราดอกเบี้ยเผื่อเรียกข้ามคืนไว้ที่ร้อยละ 0-0.10 ตามความคาดหมาย พร้อมขยายโครงการเสริมสภาพคล่องวงเงิน 55 ล้านล้านเยน (7.10 แสนล้านดอกลาร์) ด้วยการเพิ่มวงเงินสินทรัพย์อีก 10 ล้านล้านเยน เป็น 65 ล้านล้านเยน โดยเงินจำนวนนี้จะถูกนำไปใช้ซื้อพันธบัตรรัฐบาลญี่ปุ่น
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ธนาคารกลางญี่ปุ่นที่ยังคงดำเนินนโยบายผ่อนคลายทางการเงินเพื่อกระตุ้นการขยายตัวทางเศรษฐกิจมีสาเหตุสำคัญจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจหยุดการฟื้นตัวจากปัญหาวิกฤติหนี้ยูโรโซนและเงินเยนที่แข็งค่าขึ้น โดยยังคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับต่ำประมาณร้อยละ 0-0.10 และโครงการซื้อสินทรัพย์เพื่อเสริมสภาพคล่องในระบบธนาคารให้เพียงพอ ทั้งนี้ เศรษฐกิจญี่ปุ่นล่าสุดในช่วงไตรมาสที่ 4 ปี 54 หดตัวร้อยละ -0.6 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน และคาดว่าเศรษฐกิจญี่ปุ่นจะกลับมาฟื้นตัวดีขึ้นในระดับปานกลาง เนื่องจากได้รับปัจจัยสนับสนุนจากความต้องการที่เพิ่มสูงขึ้นในพื้นที่ที่ได้รับความเสียหายจากเหตุแผ่นดินไหวและสึนามิทางตะวันออกเฉียงเหนือของญี่ปุ่น ทั้งนี้ สศค. คาดว่า ธนาคารกลางญี่ปุ่นยังไม่น่าจะตัดสินใจใช้มาตรการผ่อนคลายทางการเงินเพิ่มเติม ยกเว้นตลาดการเงินเกิดความผันผวนขึ้นอีก และอัตราเงินเฟ้อจากดัชนีราคาผู้บริโภคอยู่ที่ร้อยละ 1.0 ซึ่งเป็นระดับเป้าหมายนโยบาย และคาดว่าเศรษฐกิจญี่ปุ่นในปี 55 จะเติบโตได้ร้อยละ 2.0 (คาดการณ์ ณ เดือน ธ.ค. 54)

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group:

Fiscal Policy Office Tel. 02-273-9020 Ext.3665 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ