รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2555

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday February 22, 2012 11:25 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2555

Summary:

1. ศูนย์วิจัยกสิกรไทยปรับเป้า GDP ปี 55 ขยายตัวร้อยละ 5.0

2. ไทยเสียแชมป์โลกส่งออกข้าว

3. รมว. คลังยูโรโซนอนุมัติเงิน 1.3 แสนล้านยูโร ช่วยเหลือกรีซงวด 2 แล้ว

Highlight:
1. ศูนย์วิจัยกสิกรไทยปรับเป้า GDP ปี 55 ขยายตัวร้อยละ 5.0
  • ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยในปี 55 เป็นช่วงเวลาของการพลิกฟื้นประเทศภายหลังเหตุการณ์วิกฤติอุทกภัยในช่วงปลายปีที่ผ่านมา ซึ่งจะส่งผลทำให้อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ (GDP) ในปี 55 มีแนวโน้มขยายตัวได้สูงขึ้นจากเดิมที่คาดการณ์ไว้ว่าจะขยายตัวร้อยละ 4.3 เป็นร้อยละ 5.0 ในกรณีพื้นฐาน (Base Case) โดยมีกรอบประมาณการอยู่ในช่วงร้อยละ 4.5 - 6.0
  • สศค. วิเคราะห์ว่า เศรษฐกิจไทยในปี 54 ที่ได้รับผลกระทบจากภาวะน้ำท่วมครั้งรุนแรงของประเทศได้ส่งผลให้เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 4 ปี 54 หดตัวร้อยละ -9.0 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน หดตัวจากไตรมาสก่อนหน้าที่ขยายตัวได้ร้อยละ 3.5 และส่งผลให้ทั้งปี 54 เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้เพียงร้อยละ 0.1 สำหรับเศรษฐกิจไทยในปี 55 คาดว่าจะกลับมาขยายตัวในอัตราเร่ง โดยมีปัจจัยสำคัญที่จะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ได้แก่ (1) นโยบายเพิ่มรายได้ของรัฐบาลเพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายภายในประเทศ เช่น การปรับเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำและเงินเดือนข้าราชการ โครงการรับจำนำข้าวเปลือก (2) นโยบายต่างๆ ของภาครัฐในการบูรณะฟื้นฟูประเทศ (3) การลงทุนของภาครัฐเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศให้มีขีดความสามารถในการแข่งขันในอนาคต และ (4) การลงทุนของภาคเอกชนที่ต้องนำเข้าครื่องมือเครื่องจักรในภาคอุตสาหกรรมที่เสียหายจากเหตุการณ์อุทกภัย อย่างไรก็ตามเศรษฐกิจไทยในปี 55 ก็ต้องเผชิญกับอุปสงค์ต่างประเทศที่คาดว่าจะชะลอลงเล็กน้อยตามการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าหลักที่มีแนวโน้มชะลอลงและปัญหาวิกฤติหนี้สาธารณะในกลุ่มสหภาพยุโรปที่ยังคงเรื้อรัง ทั้งนี้ สศค. คาดว่า GDP ของไทยในปี 55 จะขยายตัวร้อยละ 5.0 โดยมีช่วงคาดการณ์ร้อยละ 4.5 - 5.5 (คาดการณ์ ณ เดือน ธ.ค.54) และจะมีการปรับประมาณการใหม่อีกครั้งในเดือน มี.ค. 55
2. ไทยเสียแชมป์โลกส่งออกข้าว
  • สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย คาดการณ์ว่า การส่งออกข้าวของไทย คาดว่าตัวเลขในปี 55 จะมีแนวโน้มลดลงถึงร้อยละ 30 เหลือเพียง 5-6 ล้านตันต่อปี จากปกติที่ไทยส่งออกข้าวได้มากกว่า 10 ล้านตันต่อปี ซึ่งสาเหตุหลักมาจากความสามารถในการแข่งขันของไทยที่ลดลง รวมถึงนโยบายรับจำนำข้าวของรัฐบาล ที่ต้องการดึงราคาข้าวไทยให้สูงกว่าคู่แข่ง แม้ว่าข้าวไทยจะมีคุณภาพดีกว่าคู่แข่งก็ตาม
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ประเทศไทยถือได้ว่าเป็นผู้ส่งออกข้าวอันดับ 1 ของโลก ที่ประมาณ 10 ล้านตันต่อปี แต่เนื่องจากได้รับผลกระทบจากวิกฤติอุทกภัยที่เกิดขึ้น ทำให้ความสามารถในการแข่งขันของไทยลดลง ทั้งนี้ ในช่วง 45 วันแรกของปี 55 ถึงวันที่ 14 ก.พ. 55 ยอดการส่งออกข้าวลดลงถึงร้อยละ 54 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน นักวิเคราะห์คาดว่า การส่งออกข้าวในปี 55 จะลดลงประมาณร้อยละ 30 เมื่อเทียบกับปี 54 ส่งผลให้ราคาข้าวไทยจะลดลงร้อยละ 3.4 ทั้งนี้ สศค. คาดว่า ปริมาณการส่งออกข้าวในปี 55 ลดลงเหลือ 7.0-7.5 ล้านตัน เนื่องจากเผชิญการแข่งขันรุนแรงในด้านราคาข้าวจากเวียดนามและอินเดีย ในขณะที่ราคาส่งออกข้าวจะมีแนวโน้มสูงขึ้นจากมาตรการรับจำนำข้าวของรัฐบาล และความเสียหายจากวิกฤติอุทกภัย
3. รมว. คลังยูโรโซนอนุมัติเงิน 1.3 แสนล้านยูโร ช่วยเหลือกรีซงวด 2 แล้ว
  • ที่ประชุมรัฐมนตรีคลังประเทศกลุ่มยูโรโซน เปิดเผยว่า ที่ประชุมได้ลงมติอนุมัติเงินกู้ช่วยเหลือกรีซรอบที่ 2 จำนวน 1.3 แสนล้านยูโรแล้ว โดยมีเป้าหมายที่จะช่วยให้กรีซสามารถหลีกเลี่ยงการผิดนัดชำระหนี้ และลดหนี้สาธารณะลงเหลือร้อยละ 120 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ภายในปี 2563 อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์เชื่อว่าการช่วยเหลือครั้งนี้ไม่สามารถแก้ปัญหาความตกต่ำทางเศรษฐกิจของกรีซที่มีมานานกว่า 5 ปี ได้
  • สศค. วิเคราะห์ว่า แม้ว่าการอนุมัติเงินกู้ช่วยเหลือแก่กรีซสามารถช่วยให้กรีซชำระหนี้ที่ครบกำหนดได้ และช่วยยุติความไม่แน่นอนของวิกฤติหนี้สาธารณะที่อาจทำให้กรีซอยู่ในความเสี่ยงของภาวะการล้มละลาย รวมทั้งความร่วมมือของธนาคารกลางแต่ละประเทศที่สามารถปรับโครงสร้างพันธบัตรกรีซที่อยู่ในพอร์ทการลงทุนในลักษณะเดียวกับนักลงทุนภาคเอกชน ซึ่งจะทำให้หนี้ของกรีซลดลงประมาณร้อยละ 3.5 และยิ่งหากธนาคารกลางยุโรปยอมโอนผลกำไรจากการถือครองพันธบัตรกรีซกลับคืนให้กรีซ ก็จะทำให้ GDP กรีซเพิ่มขึ้นอีกร้อยละ 5.5 ได้ แต่ข้อเรียกร้องของกลุ่มยูโรโซนและกองทุนการเงินระหว่างประเทศที่ต้องการให้กรีซลดระดับหนี้สาธารณะที่อยู่ในระดับสูงถึงร้อยละ 160 ของ GDP ย่อมส่งผลต่อการแก้ปัญหาเศรษฐกิจที่ตกต่ำของกรีซอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยล่าสุด อัตราว่างงานในเดือน พ.ย.54 อยู่ในระดับสูงถึงร้อยละ 20.9 ของกำลังแรงงานรวม ในขณะที่ในภาคการผลิตก็ยังคงมีสัญญาณหดตัว สะท้อนจากดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมในเดือน ธ.ค.54 หดตัวร้อยละ - 11.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน หดตัวมากขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -7.8 และดัชนีคำสั่งซื้อผู้จัดการฝ่ายผลิต (Mfg PMI) ในเดือน ม.ค. 55 อยู่ที่ระดับ 41.0 ลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ระดับ 42.0 ซึ่งแสดงถึงการปรับตัวลดลงของคำสั่งซื้อสินค้าส่งออก

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group:

Fiscal Policy Office Tel. 02-273-9020 Ext.3665 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ