รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 21 มีนาคม 2555

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday March 21, 2012 11:56 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 21 มีนาคม 2555

Summary:

1. “ณรงค์ชัย" ห่วงหนี้สาธารณะ หลังสินค้าราคาแพง-น้ำมันพุ่ง

2. HSBC คาด เศรษฐกิจไทยปี 55 โดร้อยละ 5.5

3. IMF ชี้เศรษฐกิจโลกฟื้นตัว 2 เดือนแรก แต่ยังเสี่ยง

Highlight:
1. “ณรงค์ชัย" ห่วงหนี้สาธารณะ หลังสินค้าราคาแพง-น้ำมันพุ่ง
  • ดร.ณรงค์ชัย อัครเศรณี ระบุว่า เงินเฟ้อไม่เกินร้อยละ 4 ยังไม่น่ากลัว แต่อีกมิติหนึ่งคือสินค้าราคาแพงราคาพลังงานสูงขึ้น ปัจจุบันไทยมีหนี้สาธารณะร้อยละ 41 ของ GDP (มูลค่า11.5ล้านล้านบาท) แต่ต้องกู้อีก 1.1 ล้านล้านบาท ใน 2 ปีข้างหน้าจะทำให้หนี้สาธารณะขึ้นเป็นร้อยละ 52 หรือ 5.4 ล้านล้านบาท จึงเสี่ยงถ้าบริหารไม่ดี ซึ่งในปีนี้ปีงบ 56 หนี้สาธารณะจะเพิ่มขึ้นก้าวกระโดดจากการกู้เงินของรัฐบาลลงทุนโครงสร้างบริหารจัดการน้ำ
  • สศค. วิเคราะห์ว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปล่าสุดในเดือน ก.พ.55 อยู่ที่ร้อยละ 3.4 ต่อปี โดยมีสาเหตุหลักจากการเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศ อาหารสำเร็จรูป ข้าว ไข่ และผักสดในขณะที่สินค้าในหมวดเนื้อสัตว์มีการปรับราคาลดลง ส่วนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานขยายตัวร้อยละ2.7 ลดลงจากเดือนก่อนหน้า ที่ขยายตัวร้อยละ 2.8 ทั้งนี้ สศค. คาดว่าในปี 55 อัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะอยู่ที่ร้อยละ 3.5 และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานจะอยู่ที่ร้อยละ 2.3 ช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 1.8-2.8 (คาดการณ์ ณ เดือน ธ.ค. 54) โดย สศค. จะมีการปรับประมาณการอีกครั้งในเดือน มี.ค. 55 สำหรับหนี้สาธารณะคงค้างล่าสุด ณ สิ้นเดือน ธ.ค.54 มีจำนวน 4,297.3 พันล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 40.3 ต่อ GDP ซึ่งถือว่าสถานะหนี้สาธารณะของไทยมีความมั่นคงมาก สะท้อนจากสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ยังอยู่ในระดับต่ำกว่ากรอบความยั่งยืนทางการคลังที่ตั้งไว้ไม่เกิน

ร้อยละ 60 ของ GDP และหนี้สาธารณะส่วนใหญ่เป็นหนี้ระยะยาว (ร้อยละ 99.0 ของยอดหนี้สาธารณะ) และเป็นสกุลเงินบาท (ร้อยละ 92.0 ของยอดหนี้สาธารณะ)

2. HSBC คาด เศรษฐกิจไทยปี 55 โตร้อยละ 5.5
  • นายแมตทิว ล็อบเนอร์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารเอชเอสบีซี(ประเทศไทย) คาดว่าเศรษฐกิจในปี 55 จะขยายตัวร้อยละ 5.5 และมองใน 5 ปี ข้างหน้าจะมีการขยายตัวเฉลี่ยปีละ ร้อยละ 5 หลังจากไทยประสบสถานการณ์น้ำท่วมที่ส่งผลกระทบรุนแรงต่อภาคการผลิตและการส่งออก และสถานการณ์ได้ปรับตัวดีขึ้น คาดว่าภาคการผลิตและส่งออกจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติในช่วงครึ่งปีหลัง
  • สศค. วิเคราะห์ว่า จากส ถานการณ์อุทกภัยของไทยที่คลี่คลายลง ส่งผลต่อภาคการผลิตและการส่งออกที่ปรับตัวดีขึ้น โดยในเดือนธ.ค.54 อัตราการใช้กำ ลังการผลิตโดยรวมของภาคอุตสาหกรรม ก็ปรับตัวขึ้นมาจากร้อยละ 40.6 มาอยู่ที่ร้อยละ 53.5 ดังนั้น คาดว่าในอนาคต

ภาคการผลิตของไทยน่าจะสามารถกลับเป็นปกติมากขึ้นในช่วงไตรมาสที่ 2 และดีขึ้นต่อเนื่องไปถึงปลายปี นำไปสู่แนวโน้มเศรษฐกิจปี 55 ทีดีขึ้น และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานจะค่อยลดลง อย่างไรก็ตาม ปัจจัยที่สำคัญต่อแนวโน้มเศรษฐกิจไทย คือปัญหาหนี้สาธารณะในยุโรป และปัญหาเศรษฐกิจชะตัวในสหรัฐ ขณะที่ปัจจัยภายในประเทศ รัฐบาลจะได้ทำหน้าที่ในการวางแนวทางแก้ปัญหาน้ำท่วมอย่างยั่งยืน ทั้งนี้ สศค. คาดว่าเศรษฐกิจไทยปี 55 จะขยายตัวร้อยละ 5.0 และจะปรับประมาณการอีกครั้งในเดือน มี.ค.55

3. IMF ชี้เศรษฐกิจโลกฟื้นตัว 2 เดือนแรก แต่ยังเสี่ยง
  • รองผู้อำนวยการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) รายงานว่า เศรษฐกิจโลกในช่วง 2 เดือนแรกของปี 55 ฟื้นตัวขึ้น แต่ก็ยังมีปัจจัยเสี่ยงอยู่ ทั้งนี้ IMF ได้คาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจโลกในปี 55 ว่าจะอยู่ที่ร้อยละ 3.5 ชะลอลงเมื่อเทียบกับปี 54 ที่ขยายตัวร้อยละ 4.0 โดยเศรษฐกิจในยุโรปยังคงถดถอยแม้ว่าธนาคารกลางยุโรปได้อัดฉีดสภาพคล่องในตลาดเพิ่มมากขึ้น ขณะที่สหรัฐฯ ความต้องการภาคสาธารณะปรับตัวแข็งแกร่งขึ้นและความเชื่อมั่นผู้บริโภคก็ฟื้นตัว ส่วนทางด้านเอเชียและตลาดเกิดใหม่ได้มีการดำเนินการเชิงรุกเพื่อชะลอการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ร้อนแรงเกินไปและจัดการเงินเฟ้อ
  • สศค. วิเคราะห์ว่า เศรษฐกิจโลกในปี 55 ยังคงตัองเผชิญความเสี่ยงที่สำคัญคือ ปัญหาวิกฤติหนี้สาธารณะในยุโรปที่ลุกลามไปสู่ภาคเศรษฐกิจจริงและภาคการเงิน โดยล่าสุด ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อรวมเบื้องต้น (Flash Composite PMI) ในเดือน ก.พ 55 อยู่ที่ระดับ 49.7 ซึ่งอยู่ในระดับต่ำกว่า 50.0 บ่งชี้ถึงการหดตัวของเศรษฐกิจด้านอุปทาน รวมถึงการเพิ่มปริมาณเงินของธนาคารกลางยุโรปเพื่อเพี่มสภาพคล่องให้กับธนาคารในยุโรป อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจโลกในปี 55 ก็ได้รับแรงสนับสนุนจากเศรษฐกิจจีนที่ยังคงมีแนวโน้มการเติบโตที่ดีแม้ว่าจะชะลอลงจากปีก่อน และเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่มีสัญญาณการฟื้นตัวที่ดีเช่นเดียวกัน โดยเครื่องชี้เศรษฐกิจจีนในเดือน ก.พ.55 มูลค่าส่งออกและนำเข้าสินค้าขยายตัวร้อยละ 22.6 และ 43.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ตามลำดับ และผลผลิตภาคอุตสาหกรรมขยายตัวร้อยละ 11.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ขณะที่เครื่องชี้เศรษฐกิจสหรัฐฯ ในเดือน ก.พ. 55 ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรม(ISM Mfg PMI) อยู่ที่ระดับ 52.4 และดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคบริการอยู่ที่ระดับ 57.3 จุด ซึ่งบ่งชี้ถึงการขยายตัวอย่างต่อเนื่องของภาคอุตสาหกรรมและบริการ รวมทั้งอัตราการว่างงานอยู่ที่ร้อยละ 8.3 ของกำลังแรงงานรวม ซึ่งบ่งชี้ถึงภาคการจ้างงานที่ปรับตัวดีขึ้น

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group:

Fiscal Policy Office Tel. 02-273-9020 Ext.3665 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ