รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 27 มีนาคม 2555

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday March 27, 2012 11:45 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 27 มีนาคม 2555

Summary:

1. ขยายวงเงินบ้านหลังแรก กระทบสินเชื่อแบงก์ไม่มาก

2. กฟผ.เผยยอดใช้ไฟฟ้าสูงสุด ทำลายสถิติปีก่อน

3. ดัชนีการทำสัญญาซื้อบ้านที่รอปิดการขายในสหรัฐเดือนก.พ. อยู่ที่ 96.5 ร่วงลงร้อยละ 0.5

Highlight:
1. ขยายวงเงินบ้านหลังแรก กระทบสินเชื่อแบงก์ไม่มาก
  • รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า การขยายหลักเกณฑ์บ้านหลังแรกเป็น 2 ล้านบาทจะส่งผลกระทบต่อการปล่อยสินเชื่อที่อยู่อาศัยของธนาคารพาณิชย์บ้าง แต่คงไม่มากนัก เพราะที่ผ่านมาธนาคารพาณิชย์ส่วนใหญ่ปล่อยสินเชื่อที่อยู่อาศัยในราคา 2-2.5 ล้านบาท พร้อมทั้งประเมินว่า ตลาดที่อยู่อาศัยและสินเชื่อจะฟื้นตัวตั้งแต่เดือนพฤษภาคมเป็นต้นไป เพราะปัจจุบันลูกค้ายังได้รับผลกระทบจากอุทกภัยที่เกิดขึ้นในช่วงปลายปีที่ผ่านมา
  • สศค.วิเคราะห์ว่า การขยายหลักเกณฑ์บ้านหลังแรกเป็น 2 ล้านจะไม่ส่งผลกระทบต่อการปล่อยสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์มากหนัก เนื่องจากธนาคารพาณิชย์ของไทยในปัจจุบันถือว่ามีความมั่นคงและฐานะทางการเงินที่แข็งแกร่ง สะท้อนจากสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้สุทธิ (Net NPLs) ในเดือน ธ.ค.54 อยู่ที่ร้อยละ 1.3 ของยอดคงค้างสินเชื่อรวม และการดำรงเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (Capital Adequacy Ratio : CAR) ในเดือน ม.ค.55 อยู่ที่ร้อยละ 15.2 ซึ่งเชื่อว่าธนาคารพาณิชย์ของไทยสามารถรองรับความต้องการสินเชื่อในการฟื้นฟูกิจการที่ได้รับความเสียหายของภาคอตุตสาหกรรมและการซ่อมแซมบ้านของภาคครัวเรือนได้เป็นอย่างดี แม้ว่าสภาพคล่องส่วนเกินของธนาคารพาณิชย์ทั้งระบบจะลดลงเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้ามาอยู่ 1.99 ล้านบาทในเดือน ม.ค.55
2. กฟผ.เผยยอดใช้ไฟฟ้าสูงสุด ทำลายสถิติปีก่อน
  • ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย กล่าวว่า เมื่อวันที่ 23 มี.ค. 55 ที่ผ่านมา ความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดถึง 24,464.6 เมกะวัตต์ ทำลายสถิติในปี 54 และคาดว่าในปีนี้จะสูงขึ้นถึงประมาณ25,400 เมกะวัตต์ ในช่วงเดือนเม.ย. 55 ถึง พ.ค. 55 หรือเพิ่มขึ้นจากปีก่อนกว่า 1,000 เมกะวัตต์เนื่องจากในช่วงเดือนนั้นอากาศจะร้อนขึ้น ประกอบกับภาคอุตสาหกรรมที่ต้องหยุดเดินเครื่องในช่วงน้ำท่วมจะกลับมาเดินเครื่องอีกครั้ง จากปัจจุบันที่มีบริษัทที่กลับมาผลิตได้พียงร้อยละ 50 จึงอยากขอความร่วมมือให้ประชาชนช่วยกันประหยัดพลังงาน
  • สศค.วิเคราะห์ว่า การใช้พลังงานไฟฟ้าถือเป็นเครื่องชี้ด้านการอุปโภคบริโภคของภาคเอกชนที่มีความสำคัญเครื่องชี้หนึ่ง โดยในช่วงที่เศรษฐกิจเผชิญกับวิกฤติอุทกภัยปริมาณการใช้ไฟฟ้าได้ปรับตัวลดลงต่ำสุดในเดือน ธ.ค.54 โดยหดตัวถึงร้อยละ -6.1 ดังนั้นการที่ปริมาณการใช้ไฟฟ้าในเดือน มี.ค.55 ปรับตัวทำสถิติสูงสุดใหม่จึงสามารถสะท้อนการบริโภคภาคเอกชนที่มีการฟื้นตัวกลับมาได้แล้วในระดับหนึ่ง อย่างไรก็ดีราคาน้ำมันดิบที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นเนื่องจากความตึงเครียดในประเทศอิหร่านอาจส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวของการบริโภค ดังนั้นเพื่อบรรเทาผลกระทบดังกล่าวภาครัฐได้ใช้มาตรการตรึงค่าเอฟไว้ที่ 18 สตางค์ต่อหน่วย ถึงในเดือนเม.ย.55 ซึ่งจะช่วยชะลอการเพิ่มขึ้นของอัตราเงินเฟ้อ ทำให้สศค.คาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 55 จะอยู่ที่ร้อยละ 3.6 ลดลงจากปี 54 ที่อยู่ที่ร้อยละ 3.8
3. ดัชนีการทำสัญญาซื้อบ้านที่รอปิดการขายในสหรัฐเดือนก.พ. อยู่ที่ 96.5 ร่วงลงร้อยละ 0.5
  • สมาคมนายหน้าอสังหาริมทรัพย์แห่งชาติของสหรัฐเปิดเผยว่า ดัชนีการทำสัญญาซื้อบ้านที่รอปิดการขาย(Pending Home Sales) เดือนก.พ. ร่วงลงร้อยละ 0.5 มาอยู่ที่ 96.5 ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้าที่เพิ่มขึ้น2.0% ซึ่งการลดลงดังกล่าวสะท้อนว่า ยอดขายบ้านของสหรัฐยังคงหดตัวลง ในขณะที่ตลาดที่อยู่อาศัยยังคงต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่งกว่าจะฟื้นตัวขึ้น สอดคล้องกับตัวเลขยอดขายบ้านใหม่เดือนก.พ.ปรับตัวลดลงร้อยละ 1.6 แตะที่ 313,000 ยูนิต
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ปัจจัยที่ทำให้ตลาดอสังหาริมทรัพย์ในสหรัฐยังคงไม่กระเตื้อง เนื่องจาก ณ ปัจจุบันมีบ้านจำนวนมากกำลังจะประสบปัญหาถูกสถาบันการเงินยึด โดยรัฐบาลกำลังสอบสวนบรรดาบริษัทปล่อยกู้ (mortgage lending) ที่ไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนด นอกจากนี้นโยบายการปล่อยกู้ที่เข้มงวดมากขึ้นทำให้ชาวอเมริกันจำนวนมากไม่มีคุณสมบัติครบพอที่จะซื้อบ้านได้ ขณะที่ผู้ที่มีคุณสมบัติครบกลับเฝ้ารอจังหวะว่าราคาบ้านที่อาจจะลดลงไปอีก อย่างไรก็ดี เมื่อพิจารณาเครื่องชี้เศรษฐกิจสหรัฐอื่นๆ พบว่าส่วนใหญ่เป็นไปในทิศทางบวก อาทิ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือน ก.พ. 55 ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ภาคการจ้างงานที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ตลอดจนดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรมที่สูงกว่าระดับ 50 บ่งชี้การขยายตัวต่อเนื่องของภาคอุตสาหกรรม เป็นต้น ส่งผลให้ สศค.ปรับเพิ่มตัวเลขอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจสหรัฐเฉลี่ยในปี 55 (คาดการณ์ ณ มี.ค.55) จากร้อยละ 1.9 มาเป็นร้อยละ 2.2

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group:

Fiscal Policy Office Tel. 02-273-9020 Ext.3665 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ