รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 28 มีนาคม 2555

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday March 28, 2012 11:42 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 28 มีนาคม 2555

Summary:

1. TMB Analytics ห่วงขึ้นค่าแรงผู้ประกอบการและ SMEs ปรับตัวไม่ทัน แบกรับ 8 ใน 10 ส่วนที่เหลือส่งผ่านดันค่าครองชีพประชาชนสูงขึ้น

2. บริษัท ฮอนด้า มอเตอร์ เตรียมตั้งโรงงานผลิตรถยนต์อีกแห่งในไทย

3. กำไรของบริษัทอุตสาหกรรมของจีนในช่วง 2 เดือนแรกของปี 55 ลดลงจากปีก่อน

Highlight:
1. TMB Analytics ห่วงขึ้นค่าแรงผู้ประกอบการและ SMEs ปรับตัวไม่ทัน แบกรับ 8 ใน 10 ส่วนที่เหลือส่งผ่านดันค่าครองชีพประชาชนสูงขึ้น
  • ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี (TMB Analytics) วิเคราะห์เกี่ยวกับค่าจ้างขั้นต่ำที่จะเริ่มในวันที่ 1 เม.ย.55 ว่า โดยถัวเฉลี่ยแล้ว ค่าแรงที่เพิ่มขึ้นทุกๆ 100 บาท ผู้ประกอบการจะแบกรับภาระต้นทุนไว้ 80 บาท อีก 20 บาท ก็จะกลายเป็นภาระของผู้บริโภคที่จะต้องจ่ายค่าสินค้าและบริการแพงขึ้นกว่าเดิม แต่การปรับขึ้นอย่างรวดเร็ว อาจทำให้อัตราส่วนนี้เปลี่ยนไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งราคาอาหารซึ่งเป็นหนึ่งในภาคธุรกิจที่มีความยืดหยุ่นในการปรับราคาค่อนข้างมาก ทั้งนี้ในสองเดือนแรกของปีนี้ ดัชนีราคาสินค้าหมวดอาหารและเครื่องดื่มเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 7.4 ถ้าเป็นเฉพาะอาหารสำเร็จรูปเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 9.2 มากกว่าดัชนีราคาสินค้าโดยรวมที่เพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 3.4 ค่าแรงที่เพิ่มขึ้นนี้อาจจะส่งผลให้เงินเฟ้อหมวดอาหารเพิ่มขึ้นอีกร้อยละ 4 จากระดับปัจจุบันสู่ร้อยละ 11-13 ในปีนี้
  • สศค.วิเคราะห์ว่า การเพิ่มอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 300 บาท จะช่วยส่งเสริมการเติบโตของเศรษฐกิจโดยรวมในระยะยาว เนื่องจากเป็นการเสริมสร้างความมั่งคั่งให้กับแรงงาน ซึ่งเป็นกลุ่ม High Marginal Propensity to Consume จากการที่กลุ่มแรงงานดังกล่าวยังไม่สามารถมีสินทรัพย์ที่จำเป็นอย่างครบถ้วน ดังนั้นเมื่อระดับรายได้เพิ่มขึ้น จึงจับจ่ายใช้สอยสินค้าทั้งในส่วนที่ใช้เป็นปกติอยู่แล้ว และในส่วนของสินค้าคงทนต่างๆ เช่นเครื่องใช้ไฟฟ้า หรือมอเตอร์ไซค์ โดยผลจากการศึกษาของสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรมพบว่าต้นทุนแรงงาน(Labor Cost) เทียบกับต้นทุนการผลิตรวม (Production Cost) ก่อนปรับขึ้นค่าแรงมีสัดส่วนเพียงร้อยละ 9.1 ซึ่งหากมีการปรับขึ่นแล้วจะทำให้สัดส่วนเพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 12.1 ทั้งนี้ การเพิ่มอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 300 บาท จะมีผลเชิงบวกทำให้ GDP ภาคอุตสาหกรรมปรับตัวสูงขึ้นร้อยละ 0.6 นอกจากนี้ สศค. ประเมินว่าการดำเนินนโยบาย การสนับสนุนการใช้จ่าย ทั้งจาก การเพิ่มอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ เงินเดือนข้าราชการ และโครงการจำนำข้าวเปลือก จะเป็นผลบวกต่อเศรษฐกิจไทยในปี 55 ที่จะขยายตัวในอัตราเร่งที่ร้อยละ 5.5 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 5.0 ? 6.0) ขณะที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะอยู่ที่ร้อยละ 3.6 ซึ่งยังอยู่ในกรอบเป้าหมาย
2. บริษัท ฮอนด้า มอเตอร์ เตรียมตั้งโรงงานผลิตรถยนต์อีกแห่งในไทย
  • หนังสือพิมพ์นิกเกอิรายงานว่า บริษัทฮอนด้า มอเตอร์ ได้กลับมาเริ่มเดินสายการผลิตรถยนต์อีกครั้ง ที่โรงงานในไทยแล้ว หลังจากปิดโรงงาน นับตั้งแต่นิคมอุตสาหกรรมโรจนะประสบกับอุทกภัยครั้งใหญ่ในช่วงต้นเดือน ต.ค. 54 ซึ่งการกลับมาเริ่มการผลิตเป็นไปตามแผนที่วางไว้ในช่วงปลายเดือนม.ค. โดยทั้งนี้ มีแผนที่จะสร้างโรงงานผลิตรถยนต์อีกแห่งหนึ่งในประเทศไทย ในแถบทางตะวันออกเฉียงใต้ โดยโรงงานแห่งนี้จะมีกำลังการผลิตรถยนต์ 120,000 คันต่อปีและพร้อมดำเนินการผลิตอย่างเร็วที่สุดภายในปี 58 ขณะที่ โรงงานของฮอนด้าในปัจจุบันที่นิคมอุตสาหกรรมโรจนะที่ จ.อยุธยา ซึ่งมีกำลังการผลิต 240,000 คันต่อปีนั้น จะยังคงทำการผลิตรถยนต์ต่อไป หลังจากที่การผลิตรถยนต์ของฮอนด้าในไทยลดลงราว 120,000 คันอันเนื่องจากอุทกภัยในปีที่แล้ว
  • สศค.วิเคราะห์ว่า ภาวะชะงักงันอันเกิดจากวิกฤตอุทกภัยในประเทศไทย ส่งผลกระทบต่อการผลิตโดยเฉพาะการผลิตรถยนต์ที่มีการหดตัวลงตั้งแต่เดือน ต.ค. 54 แต่จากข้อมูลล่าสุดในภาคภาคอุตสาหกรรมมีการฟื้นตัวดีขึ้นต่อเนื่องจากเดือนตั้งแต่เดือน ม.ค.55 โดยเฉพาะการผลิตภาคยานยนต์สะท้อนได้จากยอดจำหน่ายรถยนต์ รถบรรทุก และรถจักรยานยนต์ ที่กระเตื้องขึ้น อย่างไรก็ดี เชื่อว่าในระยะต่อไปเศรษฐกิจไทยจะได้รับปัจจัยบวกจากการดำเนินนโยบายของรัฐบาลในการสนับสนุนการบริโภคและการลงทุนภายในประเทศ ซึ่งจะส่งผลดีต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน ทำให้คาดว่าเศรษฐกิจไทยสามารถขยายตัวในปี 55 ได้ตามประมาณการ ที่ร้อยละ 5.5
3. กำไรของบริษัทอุตสาหกรรมของจีนในช่วง 2 เดือนแรกของปี 55 ลดลงจากปีก่อน
  • สำนักงานสถิติแห่งชาติของจีน เปิดเผยว่า ในช่วง 2 เดือนแรกของปี 55 บริษัทภาคอุตสาหกรรมของจีนมีรายได้สุทธิ 606 พันล้านหยวน หรือลดลงร้อยละ 5.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่ในช่วง 2 เดือนแรกของปีที่ผ่านมามีรายได้สุทธิเพิ่มขึ้นมากถึงร้อยละ 34.3 ทั้งนี้ รายได้สุทธิของบริษัทภาคอุตสาหกรรมที่ลดลงเป็นสัญญาณเตือนที่ชัดเจน และคาดว่ารัฐบาลจีนจะดำเนินนโยบายผ่อนคลายทางการเงินเพิ่มเติมเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่ไม่น่าจะผ่อนคลายการควบคุมภาคอสังหาริมทรัพย์
  • สศค. วิเคราะห์ว่า การเติบโตของกำไรของภาคอุตสาหกรรมของจีนที่ลดลงจากปีก่อนเป็นไปตามภาวะเศรษฐกิจของจีนที่มีแนวโน้มขยายตัวในอัตราชะลอลงตามภาวะเศรษฐกิจโลกที่มีสัญญาณชะลอตัวลง โดยล่าสุด GDP ในไตรมาสที่ 4 ปี 54 ขยายตัวในอัตราต่ำที่สุดในรอบ 2 ปีครึ่งที่ร้อยละ 8.9 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน และส่งผลให้ทั้งปี 54 เศรษฐกิจจีนขยายตัวร้อยละ 9.3 และเมื่อพิจารณาภาคการส่งออกในเดือน ก.พ. 55 พบว่า มูลค่าส่งออกและนำเข้าสินค้าขยายตัวร้อยละ 18.3 และ 40.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ตามลำดับ ส่งผลให้มูลค่าส่งออกและนำเข้าสินค้าในช่วง 2 เดือนแรกของปี 55 เติบโตได้ร้อยละ 6.8 และ 8.2 ขณะที่ในช่วง 2 เดือนแรกของปีก่อนสามารถเติบโตได้สูงถึง

ร้อยละ 21.3 และ 36.3 นอกจากนี้ ด้านภาคการผลิตก็แสดงถึงแนวโน้มการหดตัวของภาคอุตสาหกรรมจีน โดยดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ HSBC (ตัวเลขเบื้องต้น) ในเดือน มี.ค. 55 อยู่ที่ระดับ 48.1 ลดลงจากระดับ 49.6 ในเดือนก่อนหน้าเนื่องจากดัชนีคำสั่งซื้อใหม่โดยเฉพาะคำสั่งซื้อสินค้าส่งออกปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ระดับต่ำที่สุดในรอบ 4 เดือน อย่างไรก็ดี ในขณะนี้ธนาคารกลางของจีนก็ได้ดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลาย รวมถึงรัฐบาลจีนได้ประกาศนโยบายเพิ่มรายได้โดยการปรับเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำในเมืองเศรษฐกิจของจีนเพื่อกระตุ้นการขยายตัวทางเศรษฐกิจของจีนอีกทางหนึ่ง

ทั้งนี้ สศค. คาดว่า อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของจีนในปี 55 จะขยายตัวร้อยละ 8.0 (คาดการณ์ ณ เดือน มี.ค. 55)

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group:

Fiscal Policy Office Tel. 02-273-9020 Ext.3665 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ