รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 30 มีนาคม 2555

ข่าวเศรษฐกิจ Friday March 30, 2012 12:00 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 30 มีนาคม 2555

Summary:

1. ม.หอการค้าไทย เปิดเผยผลสำรวจพบว่าประชาชนมีแนวโน้มก่อหนี้ภาคครัวเรือนปี 55 สูงขึ้น

2. ญี่ปุ่นประกาศใช้งบประมาณชั่วคราวครั้งแรกในรอบ 14 ปี

3. ยอดค้าปลีกของญี่ปุ่น เดือน ก.พ.55 ขยายตัวร้อยละ 3.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนเร่งขึ้นจากเดือนก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 1.8

Highlight:
1. ม.หอการค้าไทย เปิดเผยผลสำรวจพบว่า ประชาชนมีแนวโน้มก่อหนี้ภาคครัวเรือนปี 55 สูงขึ้นสวนทางกับความสามารถการชำระหนี้ที่ลดลงเหตุของแพงแซงหน้าค่าแรงที่ปรับขึ้น
  • นายวชิร คูณทวีเทพ อาจารย์ประจำศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยเปิดเผยถึงผลสำรวจสถานภาพหนี้ภาคครัวเรือน จากการสำรวจกลุ่มตัวอย่าง 1,237 ราย พบว่า ประชาชนมีแนวโน้มก่อหนี้ภาคครัวเรือนปี 55 สูงขึ้น 5.7 % เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนซึ่งสวนทางกับความสามารถการชำระหนี้ที่ลดลง สาเหตุจากของแพงกว่าค่าแรงที่ปรับตัวสูงขึ้น
  • สศค. วิเคราะห์ว่า การก่อหนี้ภาคครัวเรือนในปี 55 ที่มีแนวโน้มสูงขึ้นนั้น เนื่องมาจากปัจจัยหลายประการ ได้แก่ 1) เหตุการณ์อุทกภัยในไทย เมื่อปลายปีที่ผ่านมาส่งผลให้ภาคครัวเรือนจำเป็นต้องกู้เงินเพื่อนำมาซ่อมแซมที่อยู่อาศัยที่เกิดความเสียหาย และ 2) ราคาสินค้าทางด้านเชื้อเพลิงและพลังงานต่างปรับตัวสูงขึ้นส่งผลกระทบต่อค่าครองชีพที่ปรับตัวสูงขึ้นตาม โดยหนี้ภาคครัวเรือนปี 54 เฉลี่ยอยู่ที่ 159,432 บาทต่อครัวเรือน ขณะที่ปี 55 เฉลี่ยอยู่ที่ 168,517 บาทต่อครัวเรือน ซึ่งเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.7 นอกจากนี้ พบว่าผู้กู้ส่วนใหญ่กว่าร้อยละ 79.8 มีปัญหาในการชำระหนี้เนื่องจากการก่อหนี้ของผู้กู้ที่มีปัญหาดังกล่าวเป็นการก่อหนี้เพื่อการใช้จ่ายทั่วไป ซึ่งไม่ก่อให้เกิดรายได้เพิ่มเติมแก่ผู้กู้แต่อย่างใด
  • อย่างไรก็ดี รัฐบาลได้ออกนโยบายเพื่อช่วยทางด้านสินเชื่อด้านต่าง ๆ แก่ประชาชนได้แก่ การแก้ปัญหาหนี้นอกระบบเพื่อลดปัญหาการชำระหนี้จากอัตราดอกเบี้ยที่สูงความเป็นจริง และสินเชื่อ soft loan แก่ผู้ประสบอุทกภัย เป็นต้น โดยหวังว่ามาตรการดังกล่าวจะสามารถช่วยเพิ่มความสามารถในการชำระหนี้และลดปัญหาหนี้สูญ(NPL)ได้ในระยะยาวต่อไป
2. ญี่ปุ่นประกาศใช้งบประมาณชั่วคราวครั้งแรกในรอบ 14 ปี
  • รัฐบาลญี่ปุ่นจำเป็นต้องร่างแผนงบประมาณรายจ่ายชั่วคราวเป็นครั้งแรกในรอบ 14 ปี เนื่องจากร่างงบประมาณปีงบประมาณ 55 ที่จะเริ่มต้นใช้ในวันที่ 1 เม.ย. 55 ที่จะถึงนี้ไม่สามารถผ่านการอนุมัติของสภาได้ทันเวลา โดยบประมาณรายจ่ายชั่วคราวนี้มีมูลค่า 3.6 ล้านล้านเยน ครอบคลุมค่าใช้จ่ายเบื้องต้นของรัฐบาลในช่วง 6 วันแรกของเดือน เม.ย.55
  • สศค.วิเคราะห์ว่า สาเหตุที่ขั้นตอนการอนุมัติงบประมาณญี่ปุ่นล่าช้ากว่ากำหนดจนอาจไม่ทันวันที่ 1 เม.ย.55 ซึ่งเป็นวันแรกของปีงบประมาณ 55 เนื่องจากข้อถกเถียงเรื่องการขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่มจากปัจจุบันร้อยละ 5.0 เป็นร้อยละ 8.0 ในปี 57 และร้อยละ 10.0 ในปี 58 เพื่อเพิ่มการจับเก็บรายได้ของรัฐบาลและลดภาระหนี้สาธารณะที่ปัจจุบันอยู่ในระดับสูงถึงร้อยละ 204.2 ของ GDP โดยหลายฝ่ายมีความกังวลว่าการปรับเพิ่มอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มอาจส่งผลให้เศรษฐกิจของญี่ปุ่นซึ่งยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ทรุดตัวลงอีก อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาโครงสร้างรายได้ของประชากรญี่ปุ่นแล้ว จะพบว่าประชากรส่วนใหญ่ของญี่ปุ่นเป็นประชากรที่มีรายได้ระดับกลางและสูงที่มีความสามารถในการใช้จ่ายสูง ทั้งนี้ ในการพิจารณางบประมาณในครั้งนี้ มีความเป็นไปได้ว่ารัฐบาลญี่ปุ่นอาจพิจารณาตัดลดรายจ่ายที่ไม่จำเป็นเพื่อลดภาระหนี้สาธารณะควบคู่กันไปด้วย
3. ยอดค้าปลีกของญี่ปุ่น เดือน ก.พ.55 ขยายตัวร้อยละ 3.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เร่งขึ้นจากเดือนก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 1.8
  • ยอดค้าปลีกของญี่ปุ่น เดือน ก.พ.55 ขยายตัวร้อยละ 3.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า เร่งขึ้นจากเดือนก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 1.8 ถือว่าในเดือน ก.พ. 55 ยอดค้าปลีกขยายตัวสูงสุดนับตั้งแต่เดือน ส.ค.53 เนื่องจากยอดค้ารถยนต์ซึ่งมีสัดส่วนที่สูงต่อยอดค้าปลีกทั้งหมดได้ขยายตัวกว่าร้อยละ 21.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า
  • สศค. วิเคราะห์ ยอดค้าปลีกของญี่ปุ่นในเดือน ก.พ.55 ที่เร่งขึ้นจากเดือนก่อนหน้านั้น มีสาเหตุสำคัญมาจากมาตรการของรัฐบาลที่ยกเว้นภาษีซื้อร้อยละ 3 และให้ส่วนลดค่าธรรมเนียมแก่ผู้บริโภคในการซื้อรถยนต์ที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกในปริมาณต่ำ ซึ่งมาตรการดังกล่าวได้รับการอนุมัติในเดือนธ.ค. 54 ทำให้ยอดค้าปลีกขยายตัวต่อเนื่อง ทั้งนี้ ยอดซื้อรถยนต์ที่เพิ่มขึ้นประกอบกับราคาพลังงานโลกที่เพิ่มขึ้นจากความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯ และอิหร่าน รวมถึงอุปสงค์ต่อพลังงานในตลาดโลกที่เพิ่มขึ้น ทำให้ยอดซื้อพลังงานในญี่ปุ่นโดยรวมเพิ่มขึ้นด้วย โดยยอดซื้อพลังงานของญี่ปุ่นเดือน ก.พ.55 ขยายตัวร้อยละ 4.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า เร่งขึ้นจากการหดตัวร้อยละ -0.5 ในเดือนก่อน ยอดค้าปลีกดังกล่าวบ่งชี้ภาคการบริโภคภายในประเทศที่มีแนวโน้มแข็งแกร่งมากขึ้นภายหลังผลกระทบจากภาวะอุทกภัยในไทยสิ้นสุดลง ประกอบกับนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐบาล

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group:

Fiscal Policy Office Tel. 02-273-9020 Ext.3665 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ