รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 3 เมษายน 2555

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday April 3, 2012 12:01 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 3 เมษายน 2555

Summary:

1. ม.หอการค้าไทย เผยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคต่อเศรษฐกิจไทยเดือน มี.ค.55 อยู่ที่ 66.5

2. ตลาดหุ้นไทยพุ่งแรง ไตรมาส1 โตเข้าเป้า

3. ดัชนีเศรษฐกิจภาคการผลิตดีขึ้นในสหรัฐ จีน และอังกฤษ

Highlight:
1. ม.หอการค้าไทย เผยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคต่อเศรษฐกิจไทยเดือน มี.ค.55 อยู่ที่ 66.5
  • ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวม เดือนมี.ค.55 ปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 โดยอยู่ที่ 66.5 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนที่อยู่ 65.5
  • สศค.วิเคราะห์ว่า หลังจากปัญหาภาวะอุทกภัยเริ่มคลี่คลายลง เศรษฐกิจไทยมีการปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องสะท้อนได้จากเครื่องชี้ภาวะเศรษฐกิจ โดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรมและภาคการส่งออกมีการฟื้นตัวอย่างชัดเจนในเดือนก.พ. 55 มาอยู่ที่ร้อยละ -3.4 และ 0.9 ตามลำดับ ซึ่งสอดคล้องกับดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคต่อเศรษฐกิจไทยที่ปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องในทิศทางเดียวกัน ประกอบกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐและการเพิ่มรายได้ให้กับประชาชน เช่น การปรับขึ้นเงินเดือนข้าราชการ ค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท ล้วนเป็นปัจจัยบวกต่อดัชนีดังกล่าวทั้งสิ้น แต่อย่างไรก็ดี เชื่อว่าผู้บรโภคก็ยังคงมีความวังกลต่อความผันผวนของเศรษฐกิจโลก ตลอดจนค่าครองชีพที่มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น
2. ตลาดหุ้นไทยพุ่งแรง ไตรมาส 1 โตเข้าเป้า
  • กรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยกล่าวว่าปี 2555 เป็นปีมังกรทองของตลาดหุ้นไทย โดยในไตรมาสแรกให้ผลตอบแทนแก่นักลงทุนถึงร้อยละ 16.72 ท่ามกลางมูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันเฉียด 3.4 หมื่นล้านบาท โดยนักลงทุนต่างชาติซื้อมากกว่า 82,769 ล้านบาท ทำให้มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดรวม (มาร์เก็ตแคป) พุ่งขึ้นเป็นเกือบ 10 ล้านล้านบาท เป็นไปตามแผนการดำเนินงานของตลาดหลักทรัพย์ในปี 2555 นี้ นอกจากนั้นยังมีหุ้นที่มีการซื้อขายเฉลี่ย 10 ล้านเหรียญสหรัฐต่อวัน มากขึ้นเป็น 20 บริษัท จาก|เดือน ม.ค. 2553 มีเพียง 8 บริษัทเท่านั้น สะท้อนว่าต่างชาติให้ความสนใจเข้าลงทุนมากขึ้น
  • สศค.วิเคราะห์ว่าดัชนีตลาดหลักทรัพย์ (SET) ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากระดับ 1036.1 จุดในต้นเดือนม.ค.55 สู่ระดับ 1196.8 จุดในปลายเดือน มี.ค.55 หรือคิดเป็นการปรับตัวเพิ่มขึ้นมากกว่าร้อยละ 15.5 ภายใน 3 เดือน โดยมีปัจจัยสนันสนุนมาจากเงินทุนเคลื่อนย้ายจากต่างประเทศ โดยเฉพาะเม็ดเงินจากมาตรการ Longer-term Refinancing Operation (LTRO) ของธนาคารกลางยุโรปที่ช่วยเพิ่มสภาพคล่องให้แก่สถาบันการเงิน ประกอบกับนโยบายลดภาษีเงินได้นิติบุคคลจากร้อยละ 30 ลงเหลือร้อยละ 23 จะช่วยสนับสนุนให้บริษัทจดทะเบียนมีกำไรเพิ่มสูงขึ้น ทั้งนี้พบว่าค่า P/E ของตลาดหลักทรัพย์ได้ปรับเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 16.2 เท่า แต่ยังต่ำกว่าประเทศในกลุ่ม ASEAN ด้วยกันทั้งอินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ที่อยู่ที่ระดับ 20.5 และ 17.4 เท่า (ณ สิ้น ก.พ.55)
3. ดัชนีเศรษฐกิจภาคการผลิตดีขึ้นในสหรัฐ จีน และอังกฤษ
  • สถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐ (ISM) เปิดเผยดัชนีภาคการผลิตของ ISM ปรับตัวขึ้นแตะ 53.4 ในเดือนมี.ค. จากระดับ 52.4 ในเดือนก.พ. ซึ่งตัวเลขที่อยู่เหนือระดับ 50 บ่งชี้ว่าภาคการผลิตมีการขยายตัว หลังจากที่วานนี้ สหพันธ์พลาธิการและการจัดซื้อของจีน (CFLP) เปิดเผยว่า ดัชนี PMI ภาคการผลิตจีนอยู่ที่ระดับ 53.1 ในเดือนมี.ค. ซึ่งเป็นการปรับตัวขึ้นเป็นเดือนที่ 4 ติดต่อกัน นอกจากนี้สถาบันการจัดซื้อและอุปทานที่ได้รับอนุญาต (CIPS) เปิดเผยผลสำรวจที่แสดงให้เห็นว่า ภาคการผลิตของอังกฤษขยายตัวขึ้น เช่นกัน โดยดัชนีภาคการผลิตปรับตัวขึ้นแตะ 52.1 ในเดือนมี.ค. จาก 51.5 ในเดือนก.พ.
  • สศค.วิเคราะห์ว่าดัชนีและข้อมูลตัวเลขภาคการผลิตที่ขยายตัวในหลายๆ ประเทศดังกล่าว สะท้อนสถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่เข้าสู่ช่วงมีเสถียรภาพอย่างน้อยในระยะสั้น และจะช่วยให้เศรษฐกิจโลกปีนี้ยังคงขยายตัว (โดยคาดว่าอยู่ในระดับที่น้อยกว่าปีก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 4.0) ซึ่งจะส่งผลบวกต่อภาคเศรษฐกิจของไทยที่มีระดับการเปิดประเทศที่สูง (ประมาณร้อยละ 120 ของ GDP) โดยในเดือน ก.พ. การส่งออกไทยสามารถกลับมาขยายตัวเป็นครั้งแรกในรอบ 5 เดือน ตามการฟื้นตัวของภาคอุตสาหกรรมและสภาพเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าที่มีเสถียรภาพมากขึ้น ส่งผลให้ไทยเกินดุลการค้าสูงถึง 2.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ อย่างไรก็ดี ไทยยังคงเผชิญปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ทั้งจากแรงกดดันที่มีต่อต้นทุนการผลิต ค่าครองชีพ เงินเฟ้อ การปรับนโยบายเพื่อชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน ภาวะความเสี่ยงด้านการคลังในยุโรป ทิศทางราคาน้ำมัน ตลอดจนตัวแปรอื่นๆ ที่อยู่นอกเหนือการควบคุม เช่น ภัยธรรมชาติ เป็นต้น

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group:

Fiscal Policy Office Tel. 02-273-9020 Ext.3665 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ