Executive Summary
Indicators this week
- อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือน มี.ค.55 อยู่ที่ร้อยละ 3.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ร้อยละ 2.8
- ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างในเดือน มี.ค.55 ขยายตัวร้อยละ 4.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
- สินเชื่อเดือน ก.พ. 55 ขยายตัวร้อยละ 15.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า ในขณะที่เงินฝากสถาบันการเงินขยายตัวที่ร้อยละ 10.4
- ดุลบัญชีเดินสะพัดในเดือน ก.พ.55 เกินดุล 1,091.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
- ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจโดยรวมในเดือน มี.ค.55 อยู่ที่ระดับ 66.5
- ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรม (ISM Mfg PMI) สหรัฐฯ ในเดือน มี.ค. 55 อยู่ในระดับสูงที่ 53.4 จุด
- ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรมจีน ที่จัดทำโดย NBS เดือน มี.ค.55 อยู่ที่ระดับ 53.1
- อัตราเงินเฟ้อสหภาพยุโรป เดือน มี.ค.55 อยู่ที่ร้อยละ 2.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนหน้า ในขณะที่อัตราการว่างงาน เดือน ก.พ.55 เพิ่มขึ้นในรอบกว่า 15 ปี มาอยู่ที่ร้อยละ 10.8 ของกำลังแรงงานรวม
- วันที่ 3 ก.พ. 55 ธนาคารกลางออสเตรเลียประกาศคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 4.25
Indicators next week
Indicators Forecast Previous Mar: Motorcycle Sale(%YoY) 8.0 6.3
- ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากสถานการณ์เศรษฐกิจ โดยเฉพาะด้านการผลิตและการบริโภคภาคเอกชนที่เริ่มกลับเข้าสู่ภาวะปกติ หลังจากสถานการณ์น้ำท่วมในช่วงปลายปี 54 คลี่คลายลง ซึ่งสอดคล้องกับดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจโดยรวมในเดือน มี.ค.55 ที่ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องจากเดือนก.พ.55 และเป็นการปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 ติดต่อกัน
Economic Indicators: This Week
- อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือน มี.ค. 55 อยู่ที่ร้อยละ 3.5 ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากเดือน ก.พ. 55 เล็กน้อย โดยเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าขยายตัวที่ร้อยละ 0.6 โดยมีสาเหตุหลักจากการเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศ อาหารสำเร็จรูป และผักสด ในขณะที่ราคาเนื้อสุกรมีการปรับตัวลดลง ส่วนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานขยายตัวร้อยละ 2.8 เร่งตัวขึ้นเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้า
- ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างในเดือน มี.ค. 55 ขยายตัวร้อยละ 4.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ขยายตัวต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 4.8 ส่งผลให้ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างในไตรมาสแรกของปี 2555 ขยายตัวร้อยละ 4.7 โดยดัชนีที่ปรับเพิ่มขึ้นในเดือนมี.ค. 55 ได้แก่ ดัชนีในหมวดผลิตภัณฑ์คอนกรีตสูงขึ้นร้อยละ 16.3 จากคอนกรีตบล็อคก่อผนัง-มวลเบา-ปูพื้น เสาเข็มคอนกรีตเสริมเหล็ก-อัดแรง หมวดวัสดุก่อสร้างอื่นๆ สูงขึ้นร้อยละ 10.8 ได้แก่ อิฐ ทราย ยางมะตอย และหมวดวัสดุฉาบผิว สูงขึ้นร้อยละ 4.9 จากสีรองพื้นปูน สีน้ำอะครีลิค เป็นต้น เนื่องจากต้นทุนราคาวัตถุดิบในการผลิตปรับตัวสูงขึ้นตามราคาน้ำมันและแก๊สที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง
- สินเชื่อเดือน ก.พ. 55 ขยายตัวร้อยละ 15.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า ชะลอลงเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 16.3 ทั้งนี้หากวิเคราะห์ตามผู้ให้สินเชื่อพบว่า ทั้งสินเชื่อสถาบันการเงินเฉพาะกิจและธนาคารพาณิชย์ขยายตัวชะลอลง โดยส่วนหนึ่งจากการชะลอลงของสินเชื่อธุรกิจ ขณะที่สินเชื่อผู้บริโภคขยายตัวเร่งขึ้น อย่างไรก็ตาม หากเปรียบเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดปัจจัยทางฤดูกาลแล้ว ยังคงขยายตัวเร่งขึ้นจากเดือนก่อนหน้า ทั้งนี้ คาดว่าเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวจากภาวะน้ำท่วมจะเป็นปัจจัยสนับสนุนการขยายตัวของสินเชื่อในระยะต่อไป ทั้งนี้ ควรจับตามองปัจจัยเสี่ยงจากสถานการณ์วิกฤตหนี้สาธารณะในยูโรโซน รวมถึงการชะลอลงของเศรษฐกิจจีน ที่อาจกระทบต่อเศรษฐกิจไทยในอนาคต
- เงินฝากสถาบันการเงินเดือน ก.พ. 55 ขยายตัวที่ร้อยละ 10.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 11.3 ส่วนหนึ่งจากปัจจัยฐานสูง จากการเร่งระดมเงินฝากในช่วงเดียวกันปีก่อนหน้า อย่างไรก็ตาม หากเปรียบเทียบกับเดือนก่อนหน้า หลังขจัดปัจจัยทางฤดูกาลแล้ว พบว่าขยายตัวเร่งขึ้นที่ร้อยละ 0.5 สะท้อนการเร่งระดมเงินฝากต่อเนื่อง เพื่อรองรับการขยายตัวของสินเชื่อตามมาตรการของภาครัฐ และการขยายตัวของเศรษฐกิจ รวมถึงการแข่งขันระหว่างธนาคารพาณิชย์เพื่อรักษาฐานลูกค้า
- ดุลบัญชีเดินสะพัดในเดือน ก.พ. 55 เกินดุล 1,091.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สูงขึ้นมากจากเดือนก่อนหน้าที่เกินดุลเล็กน้อยที่ 980.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐโดยดุลการค้าเกินดุลที่ 2,052.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ตามการส่งออกที่ฟื้นตัวจากภาคการผลิตที่เริ่มกลับเข้าสู่ภาวะปกติหลังอุทกภัย ในขณะที่ดุลบริการ รายได้ปฐมภูมิ และรายได้ทุติยภูมิขาดดุล -960.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จากเงินค่าระวางสินค้าและค่าโดยสารเดินทางที่เพิ่มขึ้นตามการนำเข้าที่สูงขึ้น ทั้งนี้ ดุลบัญชีเดินสะพัดในช่วง 2 เดือนแรกของปี 55 เกินดุล 2,072.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ผลหลักจากการเกินดุลการค้าที่สูงถึง 2,574.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
- ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจโดยรวมในเดือน มี.ค. 55 อยู่ที่ระดับ 66.5 จากเดือนก่อนที่อยู่ที่ระดับ 65.5 ซึ่งเป็นการปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 ตามภาวะเศรษฐกิจไทยที่มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง หลังสถานการณ์น้ำท่วมในช่วงปลายปี 54 คลี่คลายลง ประกอบกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐและการเพิ่มรายได้ให้กับประชาชน เช่น การปรับขึ้นเงินเดือนข้าราชการ ค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท อย่างไรก็ตาม ผู้บริโภคยังกังวลปัญหาค่าครองชีพที่มีแนวโน้มสูงขึ้น ตามราคาน้ำมันในประเทศที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น รวมถึงความกังวลเกี่ยวกับความไม่แน่นอนการฟื้นตัวเศรษฐกิจโลก
Economic Indicators: Next Week
- ปริมาณการจำหน่ายรถจักรยานยนต์ในเดือน มี.ค.55 คาดว่าจะขยายตัวที่ร้อยละ 8.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ต่อเนื่องจากเดือนก่อนที่อยู่ที่ขยายตัวร้อยละ 6.3 ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากสถานการณ์เศรษฐกิจ โดยเฉพาะด้านการผลิตและการบริโภคภาคเอกชนที่เริ่มกลับเข้าสู่ภาวะปกติ หลังจากสถานการณ์น้ำท่วมในช่วงปลายปี 54 คลี่คลายลง ซึ่งสอดคล้องกับดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจโดยรวมในเดือน มี.ค. 55 ที่ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องจากเดือนก.พ.55 และเป็นการปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 ติดต่อกัน
Global Economic Indicators: This Week
USA: mixed signal
- ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรม (ISM Mfg PMI) เดือน มี.ค. 55 อยู่ในระดับสูงที่ 53.4 จุด ปรับตัวสูงขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 52.4 จุด สะท้อนถึงภาคอุตสาหกรรมสหรัฐฯ ที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่ ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคบริการ (ISM Non-Mfg PMI) เดือน มี.ค. 55 อยู่ที่ระดับ 56.0 ลดลงเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 57.3 อย่างไรก็ตาม ดัชนีฯ ยังอยู่ในระดับสูงกว่า 50 บ่งชี้ถึงการขยายตัวต่อเนื่องของภาคบริการสหรัฐฯ
China: mixed signal
- ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรมที่จัดทำโดย NBS เดือน มี.ค. 55 อยู่ที่ระดับ 53.1 บ่งชี้การขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 ขณะที่ดัชนีฯ ที่จัดทำโดย HSBC อยู่ที่ระดับ 48.3 บ่งชี้การหดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 จากยอดคำสั่งซื้อสินค้าส่งออกที่ชะลอตัวติดต่อกันเป็นเดือนที่ 8 ตามการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก
Euro Zone: worsening economic trend
- อัตราเงินเฟ้อ เดือน มี.ค. 55 ลดลงเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้าที่ร้อยละ 2.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนหน้า อย่างไรก็ตาม คาดว่าอัตราเงินเฟ้อจะเพิ่มขึ้นในระยะต่อไป จากราคาน้ำมันที่สูงขึ้น และจากสภาพคล่องที่ธนาคารกลางยุโรปปล่อยให้แก่ธนาคารพาณิชย์ ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรม (Mfg PMI) เดือน มี.ค. 55 อยู่ที่ระดับต่ำกว่า 50.0 ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 8 ที่ระดับ 47.7 สะท้อนการหดตัวของภาคการผลิต อัตราการว่างงาน เดือน ก.พ. 55 เพิ่มขึ้นในรอบกว่า 15 ปี มาอยู่ที่ร้อยละ 10.8 ของกำลังแรงงานรวม จากการว่างงานที่เพิ่มขึ้นในสเปนและอิตาลีที่ประสบปัญหาหนี้สาธารณะ ขณะที่ยอดค้าปลีก เดือน ก.พ. 55 หดตัวร้อยละ -2.1 เทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน จากยอดค้าอาหาร และเครื่องดื่มที่หดตัว เมื่อวันที่ 4 เม.ย. 55 ธนาคารกลางยุโรปคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 1.0 เพื่อรองรับการชะลอตัวของเศรษฐกิจในภูมิภาค
Japan: worsening economic trend
- คำสั่งซื้อภาคก่อสร้าง เดือน ก.พ. 55 หดตัวร้อยละ -1.8 จากช่วงเดียวกันในปีก่อนหน้า นับว่าหดตัวเป็นครั้งแรกในรอบ 5 เดือนที่ผ่านมาสอดคล้องกับอุปสงค์ภายในประเทศภาคเอกชนเดือนก.พ. 55 ที่หดตัวลงร้อยละ -7.0
Singapore: improving economic trend
- ดัชนีผู้จัดการฝ่ายคำสั่งซื้อ เดือน มี.ค. 55 อยู่ที่ระดับ 50.2 สะท้อนภาคการผลิตที่ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 โดยเฉพาะดัชนีสินค้าอิเล็กทรอนิกส์และคำสั่งซื้อสินค้าส่งออกที่ขยายตัวเป็นหลัก
Australia: mixed signal
- วันที่ 3 ก.พ. 55 ธนาคารกลางออสเตรเลียประกาศคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 4.25 โดยแนวโน้มเศรษฐกิจชะลอตัวขณะที่แรงกดดันจากเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ยอดค้าปลีก เดือน ก.พ. 55 ขยายตัวชะลอลงที่ร้อยละ 2.0 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากการชะลอตัวของการใช้จ่ายในหมวดสินค้าอุปโภคบริโภคเป็นสำคัญ ขณะที่มูลค่าการส่งออก เดือน ก.พ. 55 ขยายตัวเร่งขึ้นที่ร้อยละ 8.1 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากราคาสินค้าเกษตรกรรมที่สูง ขณะที่มูลค่าการนำเข้า เดือน ก.พ. 55 ขยายตัวชะลอลงร้อยละ 9.5 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากการนำเข้าสินค้าทุนและสินค้าอุปโภคบริโภคที่ลดลง
South Korea: mixed signal
- มูลค่าการส่งออก เดือน มี.ค. 55 (ตัวเลขเบื้องต้น) หดตัวร้อยละ -1.4 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากการชะลอตัวของการส่งออกไปยังจีนและการหดตัวของการส่งออกไปยังยูโรโซน สะท้อนอุปสงค์ภายนอกที่ชะลอตัวลงอย่างชัดเจน ขณะที่มูลค่าการนำเข้า เดือน มี.ค. 55 (ตัวเลขเบื้องต้น) หดตัวร้อยละ -1.2 จากช่วงเดียวกันปีก่อนหน้า ลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 20.6 อัตราเงินเฟ้อ เดือน มี.ค. 55 ลดลงต่ำสุดในรอบ 20 เดือนที่ร้อยละ 2.6 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากราคาอาหารสดที่ปรับลดลง ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรม (HSBC PMI) เดือน มี.ค. 55 ปรับตัวเพิ่มขึ้นที่ระดับ 51.96 สะท้อนการเร่งขึ้นของภาคการผลิต
Indonesia: mixed signal
- มูลค่าการส่งออก และการนำเข้า เดือน ก.พ. 55 ขยายตัวเร่งขึ้นจากเดือนก่อนที่ร้อยละ 8.5 และ 27.3 เทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ทำให้ดุลการค้าเกินดุล 0.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่อัตราเงินเฟ้อ เดือน มี.ค. 55 ขยายตัวร้อยละ 4.0 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากราคาน้ำมันในตลาดโลกที่เพิ่มขึ้นเป็นสำคัญ
India: mixed signal
- ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรม (ตัวเลขเบื้องต้น) เดือน มี.ค. 55 ลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 มาอยู่ที่ระดับ 54.7 ส่วนหนึ่งจากคำสั่งซื้อใหม่ที่ลดลง ขณะที่ต้นทุนการผลิตยังคงเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่องสอดคล้องกับมูลค่าการส่งออก เดือน ก.พ. 55 ที่ขยายตัวชะลอลงที่ร้อยละ 4.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากการส่งออกไปยังตลาดหลัก อาทิ สหรัฐฯและยูโรโซนที่ลดลง ขณะที่มูลค่าการนำเข้า เดือน ก.พ. 55 ขยายตัวเร่งขึ้นที่ร้อยละ 20.6 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากการนำเข้าน้ำมันที่เร่งขึ้น
Philippines: improving economic trend
- อัตราเงินเฟ้อ เดือน มี.ค. 55 ลดลงอยู่ที่ร้อยละ 2.6 เทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ต่ำสุดในรอบ 2.5 ปี จากต้นทุนค่าขนส่งและสาธารณูปโภคที่ปรับลดลง
Weekly Financial Indicators
- ดัชนี SET ปรับตัวอยู่ในช่วงแคบๆ ใกล้ระดับ 1,200 จุด และมีความผันผวนสูง โดยดัชนีฯ ปรับตัวสูงขึ้นมากในช่วงต้นสัปดาห์ ก่อนจะปรับตัวลงมาในช่วงกลางสัปดาห์ จากแรงเทขายของนักลงทุนสถาบันและบัญชีบริษัทหลักทรัพย์ ทั้งนี้ ระหว่างวันที่ 2 - 4 เม.ย.55 นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิ 2,757 ล้านบาท ในขณะที่ผลตอบแทนพันธบัตรของไทยปรับสูงขึ้นเล็กน้อย โดยเฉพาะในพันธบัตรระยะกลาง จากการเทขายของนักลงทุนต่างชาติในพันธบัตรช่วงอายุ 1-5 ปี เพื่อรอกลับเข้าซื้อพันธบัตรรุ่น benchmark อายุ 5 ปี ทั้งนี้ ระหว่างวันที่ 2 - 4 เม.ย.55 นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิ 2,544 ล้านบาท
- ค่าเงินบาทในสัปดาห์นี้อ่อนค่าลงจากสัปดาห์ก่อนหน้าเล็กน้อย โดยปิดที่ระดับ 30.93 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ณ วันที่ 4 เม.ย. 55 อ่อนค่าลงเล็กน้อยจากสัปดาห์ก่อนหน้าเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐร้อยละ -0.65 โดยเป็นไปในทิศทางเดียวกับค่าเงินยูโรและดอลลาร์สิงคโปร์ ทั้งนี้ ค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลงในอัตราที่มากกว่าค่าเงินของคู่ค้าอื่นๆ โดยเฉพาะค่าเงินเยนและเงินวอนเกาหลีที่แข็งค่าขึ้น ส่งผลให้ ดัชนีค่าเงินบาท (NEER) ในสัปดาห์นี้อ่อนค่าลงกว่าสัปดาห์ก่อนหน้าเล็กน้อยที่ร้อยละ -0.62
- ราคาทองคำปรับตัวลดลงต่อเนื่อง โดยราคาทองคำ ณ วันที่ 4 เม.ย. 55 ปิดที่ 1,619 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ ลดลงจากต้นสัปดาห์ที่ปิดที่ 1,677 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์
ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office
Tel 02-273-9020 Ext 3665 : www.fpo.go.th