รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 11 เมษายน 2555

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday April 11, 2012 11:43 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 11 เมษายน 2555

Summary:

1. ก.คลังดันรัฐวิสาหกิจลงทุนประเทศเพื่อนบ้าน หวังสร้างสมดุล ลดสภาพคล่อง

2. วิเคราะห์สถานการณ์ราคาน้ำมันตลาดโลก

3. สเปนเร่งลดยอดขาดดุลเหลือร้อยละ 3.0 ของ GDP

Highlight:
1. ก.คลังดันรัฐวิสาหกิจลงทุนประเทศเพื่อนบ้าน หวังสร้างสมดุล ลดสภาพคล่อง
  • รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเปิดเผยว่า รัฐบาลมีแนวคิดที่จะส่งเสริมให้รัฐวิสาหกิจไทยที่มีศักยภาพรวมทั้งภาคเอกชนของไทยออกไปลงทุนยังประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อสร้างผลตอบแทนในระยะยาวกลับสู่ประเทศ โดยเฉพาะภาคธุรกิจที่ต้องใช้แรงงานจำนวนมาก ส่วนธุรกิจที่ต้องใช้ฝีมือแรงงานที่มีคุณภาพให้คงไว้ในประเทศต่อไป ทั้งนี้ กระทรวงการคลังจะทบทวนการให้สิทธิพิเศษด้านภาษีนำเข้าสินค้าทุนเครื่องจักรต่าง ๆ ที่จะเพิ่มศักยภาพการผลิตให้มีคุณภาพสูงขึ้นด้วย
  • สศค.วิเคราะห์ว่า รัฐวิสาหกิจไทยมีมูลค่ากว่า 8.84 ล้านล้านบาท มีรายได้กว่า 3.63 ล้านล้านบาทและนำส่งเงินรายได้รัฐบาลกว่า 98.8 พันล้านบาท ในปีงบประมาณ 2554 ทั้งนี้ หากรัฐวิสาหกิจไทยสามารถลงทุนในประเทศเพื่อนบ้านที่มีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจสูงจะสามารถช่วยสร้างรายได้เข้าประเทศได้ในอนาคต นอกจากนี้ การลงทุนของรัฐวิสาหกิจจะช่วยสร้างความสมดุลทางเศรษฐกิจ สร้างผลตอบแทนที่สูงขึ้นจากการถือครองสินทรัพย์ต่างประเทศ และจะมีส่วนช่วยชะลอทิศทางการแข็งค่าของค่าเงินบาทอีกด้วย
2. วิเคราะห์สถานการณ์ราคาน้ำมันตลาดโลก
  • ราคาน้ำมันไนเม็กซ์ปรับลดลง 0.85 ดอลล่าร์สหรัฐมาปิดตลาดที่ 102.46 ดอลล่าร์สหรัฐต่อบาร์เรล(กรอบการเคลื่อนไหวระยะสั้นของราคาน้ำมันไนเม็กซ์อยู่ที่ 100-108 ดอลล่าร์สหรัฐต่อบาร์เรล) ขณะที่ราคาน้ำมันดิบเบนท์ปรับลดลง 0.73 ดอลล่าร์สหรัฐ มาปิดตลาดที่ 122.70 ดอลล่าร์สหรัฐต่อบาร์เรล(กรอบการเคลื่อนไหวระยะสั้นอยู่ที่ 120-127 ดอลล่าร์สหรัฐต่อบาร์เรล)
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ราคาน้ำมันในตลาดโลกปรับลดลงมีผลมาจากการที่นักลงทุนผิดหวังกับตัวเลขการจ้างงานของสหรัฐฯ ประจำเดือน มี.ค. 55 ซึ่งมีการจ้างงานเพิ่มขึ้นเพียง 120,000 ตำแหน่ง (น้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้ว่าจะเพิ่มขึ้น 201,000 ตำแหน่ง) ส่งผลให้นักลงทุนมีความวิตกต่อแนวโน้มความต้องการใช้น้ำมันในสหรัฐฯ นอกจากนี้ การคาดการณ์ว่าปริมาณน้ำมันดิบคงคลังประจำสัปดาห์ของสหรัฐฯ ปรับขึ้นกว่า 2 ล้านบาร์เรลในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ยังเป็นอีกปัจจัยกดดันทำให้ราคาน้ำมันในตลาดโลกปรับลดลง ขณะเดียวกันการที่อิหร่านยอมกลับมาเจรจาในประเด็นของโครางการนิวเคลียร์ กับประเทศมหาอำนาจฝั่งตะวันตกอีกครั้ง ทำให้นักลงทุนมองว่า ไม่น่าจะมีความรุนแรงที่กระทบต่อปริมาณการผลิตและจำหน่ายน้ำมันดิบโลกในระยะสั้น อย่างไรก็ตาม ทุกฝ่ายยังคงจะต้องจับตาดูการประชุมหารือระหว่างประเทศอิหร่านกับชาติตะวันตกอย่างใกล้ชิด ทั้งนี้ สศค. คาดว่า ราคาน้ำมันดิบดูไบในปี 55 จะอยู่ที่ระดับ 118.0 ดอลล่าร์สหรัฐต่อบาร์เรล
3. สเปนเร่งลดยอดขาดดุลเหลือร้อยละ 3.0 ของ GDP
  • รัฐบาลสเปนคาดการณ์ว่า ระดับหนี้สาธารณะของสเปนอาจจะเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 79.8 ของ GDP ในปี 55 ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่ปี 33 ทำให้รัฐบาลสเปนตัองประกาศแผนการลดค่าใช้จ่ายด้านการบริการสาธารณสุขและการศึกษามูลค่า 1 หมื่นล้านยูโร หรือ 1.3 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยมีเป้าหมายเพื่อลดการขาดดุลงบประมาณให้ลงมาอยู่ที่ร้อยละ 3.0 ของ GDP ในปี 56
  • สศค. วิเคราะห์ว่า สเปนถือเป็นอีกหนึ่งประเทศในกลุ่มยูโรโซนที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดวิกฤติหนี้สาธารณะโดยเฉพาะการมียอดขาดดุลงบประมาณในระดับสูง โดยล่าสุด ยอดขาดดุลงบประมาณในปี 54 อยู่ที่ 9.1 หมื่นล้านยูโร หรือร้อยละ 8.5 ของ GDP ซึ่งสูงกว่าเป้าหมายที่ร้อย

ละ 6.0 ของ GDP และหนี้สาธารณะในปี 54 อยู่ที่ร้อยละ 68.5 ของ GDP ซึ่งอยู่ในระดับที่สูงสุดนับตั้งแต่ปี 38 และสูงเกินกว่าข้อกำหนดของสหภาพยุโรป (EU) ที่กำหนดไว้ที่ร้อยละ 60 ของGDP ดังนั้น ในปี 55 รัฐบาลสเปนจึงได้มีเป้าหมายลดการขาดดุลงบประมาณให้อยู่ที่ร้อยละ 5.3 ของ GDP ตามข้อบังคับด้านการคลังของ EU โดยการปรับลดงบประมาณจำนวน 2.7 หมื่นล้านยูโร หรือร้อยละ 2.5 ของ GDP อย่างไรก็ตาม การขยายตัวทางเศรษฐกิจที่กำลังเข้าสู่ภาวะถดถอยของสเปน โดยอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของสเปนในไตรมาสที่ 4 ปี 54 หดตัวร้อยละ -0.3 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน และส่งผลให้ทั้งปี 54 เติบโตได้เพียงร้อยละ 0. 3 ชะลอลงจากปีก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 0.8 ถือเป็นอุปสรรคสำคัญในการควบคุมยอดการขาดดุลงบประมาณ นอกจากนี้ อัตราการว่างงาน ณ ไตรมาสที่ 4 ปี 54 ก็ยังอยู่ในระดับสูงที่ร้อยละ 22.9 ดังนั้น ความพยายามในการลดงบประมาณรายจ่ายเพื่อลดการขาดดุลการคลังของรัฐบาลและระดับหนี้สาธารณะย่อมส่งผลด้านลบต่อเศรษฐกิจโดยรวมของ EU อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ทั้งนี้สศค. คาดว่า อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของ EU ในปี 55 จะขยายตัวร้อยละ -0.9 (คาดการณ์ ณ เดือน มี.ค. 55)

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group:

Fiscal Policy Office Tel. 02-273-9020 Ext.3665 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ