รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 17 เมษายน 2555

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday April 17, 2012 11:33 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 17 เมษายน 2555

Summary:

1. ผู้เลี้ยงไก่ไข่ครวญราคาไข่ไก่ตกวูบ

2. กสิกรมองหุ้นสัปดาห์นี้มีโอกาสฟื้น

3. ยอดค้าปลีกสหรัฐเดือน มี.ค.55 ขยายตัวร้อยละ 6.5 ต่อปี

Highlight:
1. ผู้เลี้ยงไก่ไข่ครวญราคาไข่ไก่ตกวูบ
  • นายกสมาคมผู้เลี้ยงไก่ไข่ กล่าวถึงแนวโน้มราคาไข่ไก่โดยเชื่อว่าจะเป็นไปตามการคาดการณ์ของอธิบดีกรมการค้าภายในที่มองว่าราคาไข่ไก่จะลงต่อเนื่องไปจนถึงกลางปีนี้ เนื่องจากผลผลิตไข่ไก่กำลังออกมาเป็นจำนวนมาก อย่างไรก็ตามเชื่อว่าด้วยสภาพอากาศที่ร้อนจะทำให้แม่ไก่ออกไข่ได้น้อยลง แต่จะลดลงไม่มากนัก เพราะประเทศไทยได้เปิดเสรีนำเข้าพ่อ-แม่พันธุ์ไก่ไข่ ดังนั้นช่วงหลังเทศกาลสงกรานต์จะมีการหารือกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์เพื่อร่วมกันหาทางออกแก้ไขเรื่องปัญหาไข่ไก่ราคาตกต่อไป
  • สศค. วิเคราะห์ว่า สาเหตุที่ราคาไข่ไก่ปรับตัวลดลงในขณะนี้เนื่องมาจากปริมาณไข่ไก่ที่ล้นตลาดโดยพบว่าปัจจุบันมีการผลิตไข่ไก่ได้ 31 ล้านฟองต่อวัน ขณะที่มีความต้องการบริโภคอยู่ที่ 28 ล้านฟองต่อวัน คิดเป็นปริมาณไข่ไก่ที่เกินความต้องการถึง 3 ล้านฟองต่อวัน ส่วนสาเหตุที่ทำให้ปริมาณไข่ไก่มีมากเนื่องมากจากการเปิดการนำเข้าพ่อ-แม่พันธุ์ไก่ไข่โดยเสรีในปี 53 ส่งผลให้การนำเข้าพ่อ-แม่พันธุ์ไก่ไข่เพิ่มขึ้นจาก 4 แสนตัวมาอยู่ที่ 7 แสนตัว คิดเป็นอัตราการขยายตัวร้อยละ 75 ทั้งนี้การแก้ปัญหาในระยะสั้นภาครัฐอาจเข้าแทรกแซงโดยรับซื้อปริมาณผลผลิตที่เกินความต้องการ เพื่อส่งออกไปยังประเทศเพื่อนบ้าน ขณะที่การแก้ปัญหาระยะยาวต้องจัดให้มีการวางแผนในเรื่องการนำเข้าพ่อ-แม่พันธุ์ไก่ไข่อย่างเป็นระบบ และมีนโยบายส่งเสริมการบริโภคไข่ไก่ของครัวเรือนเพิ่มขึ้น
2. กสิกรมองหุ้นสัปดาห์นี้มีโอกาสฟื้น
  • บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย และศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้เปิดเผยแนวโน้มตลาดหุ้นในช่วงสัปดาห์นี้ (17-20 เม.ย.) โดยระบุว่าการปรับฐานในช่วงก่อนหน้านี้ อาจเป็นแรงหนุนให้ดัชนีมีโอกาสฟื้นตัวขึ้นได้ในกรอบที่อาจยังค่อนข้างจำกัด โดยต้องติดตามพัฒนาการสถานการณ์หนี้ยุโรป การเจรจา 6 ฝ่ายกับอิหร่านเกี่ยวกับโครงการนิวเคลียร์ รวมไปถึงการประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ ในวันที่ 24-25 เม.ย. ทั้งนี้ บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด คาดว่า ดัชนีจะมีแนวรับที่ 1,150 และ 1,100 จุด ขณะที่แนวต้านคาดว่าจะอยู่ที่ 1,177 และ 1,200 จุด ตามลำดับ
  • สศค. วิเคราะห์ว่าในช่วงต้นเดือน เม.ย.55 ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ปรับตัวลดลงมาอย่างรวดเร็วจากระดับสูงสุดที่ 1213.6 จุด ลงมาทำจุดต่ำสุดที่ 1151.2 จุด คิดเป็นการปรับตัวลดลงถึง 62.4 จุด ภายใน 4 วันทำการ ทั้งนี้เป็นการปรับตัวลดลงสอดคล้องกับตลาดหุ้นทั่วโลกเนื่องจากมีความวิตกกังวลในปัญหาหนี้สาธารณะของยุโรปกลับมาอีกครั้ง ประกอบกับนักลงทุนผิดหวังกับตัวเลขแรงงานของสหรัฐฯที่มีประกาศข้อมูลการจ้างงานนอกภาคเกษตรในเดือน มี.ค.เพิ่มขึ้นเพียง 120,000 ตำแหน่ง น้อยกว่าที่หลายฝ่ายคาดการณ์ไว้ อย่างไรก็ดีในสัปดาห์นี้มีประเด็นที่นักลงทุนติดตามดูหลายปัจจัย เช่น รายงานตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯที่สำคัญ ได้แก่ ยอดค้าปลีก การผลิตภาคอุตสาหกรรม เครื่องชี้ภาคอสังหาริมทรัพย์ รวมทั้งผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนของไทยในไตรมาสที่ 1/55 ที่จะทยอยประกาศอย่างต่อเนื่อง
3. ยอดค้าปลีกสหรัฐเดือน มี.ค.55 ขยายตัวร้อยละ 6.5 ต่อปี
  • กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยยอดค้าปลีกเดือนมี.ค.ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.8 สู่ระดับ 4.111 แสนล้านดอลลาร์ เมื่อเทียบเป็นรายเดือน ซึ่งมากกว่าที่นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดว่าจะขยับขึ้นเพียงร้อยละ 0.4 และหากเทียบเป็นรายปีพบว่า ยอดค้าปลีกเดือนมี.ค.พุ่งขึ้นร้อยละ 6.5 นอกจากนี้ หากไม่นับรวมยอดขายรถยนต์แล้ว ยอดค้าปลีกเดือนมี.ค.ของสหรัฐ ปรับตัวขึ้นร้อยละ 0.8 สู่ระดับ 3.381แสนล้านดอลลาร์เมื่อเทียบเป็นรายเดือน หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.1 เมื่อเทียบเป็นรายปี
  • สศค.วิเคราะห์ว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ มีทิศทางที่ดีขึ้นสะท้อนจากดัชนีหลายตัว โดยเฉพาะอัตราการว่างงานในเดือน ก.พ. 55 ที่ลดลงเหลือร้อยละ8.3 (ขณะที่อัตราการว่างงานเมื่อปี 52 ปี 53 และปี 54 อยู่ที่ร้อยละ 9.6 9.3 และ 8.9 ตามลำดับ) โดยมีปัจจัยหลักจากการจ้างงานที่เพิ่มขึ้นในภาคการค้าปลีกและห้างสรรพสินค้า เนื่องจากมีการซื้อขายในภาคดังกล่าวเพิ่มสูงขึ้น ทั้งนี้ ยอดค้าปลีกของสหรัฐเป็นหนึ่งในข้อมูลสำคัญที่นักลงทุนใช้พิจารณา เนื่องจากสะท้อนตัวเลขการใช้จ่ายผู้บริโภคซึ่งคิดเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 70 ของกิจกรรมทางเศรษฐกิจโดยรวมของสหรัฐฯ ซึ่งผลของการเพิ่มขึ้นของตัวเลขดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ สศค. ปรับเพิ่มตัวเลขอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจโดยเฉลี่ยในปี 55 อยู่ที่ร้อยละ 2.2 (เพิ่มขึ้นจากปี 54 ที่อยู่ที่ร้อยละ 1.7)

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group:

Fiscal Policy Office Tel. 02-273-9020 Ext.3665 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ