รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 18 เมษายน 2555

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday April 18, 2012 11:13 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 18 เมษายน 2555

Summary:

1. คาดส่งออกไตรมาส 2 โตเกือบร้อยละ 10

2. อสังหาฯ เตรียมขึ้นราคาครึ่งปีหลังจากผลนโยบายค่าแรงขั้นต่ำและค่าวัสดุก่อสร้างเพิ่ม

3. ญี่ปุ่นจ่ายเงินสมทบ IMF เพิ่ม 6 หมื่นล้านดอลลาร์

Highlight:
1. คาดส่งออกไตรมาส 2 โตเกือบร้อยละ 10
  • ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ดัชนีชี้นำการส่งออกในเดือน ก.พ. 55 อยู่ที่ระดับ 99.8 เพิ่มขึ้น 0.4 จากเดือนก่อนหน้า ซึ่งเป็นการฟื้นตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 นับตั้งแต่เดือน ธ.ค. 54 โดยทุกองค์ประกอบปรับตัวดีขึ้น ส่งผลให้การส่งออกของไทยในไตรมาส 2 คาดว่า จะสามารถขยายตัวได้ถึงร้อยละ 9.79 โดยฟื้นตัวจากไตรมาสแรก ที่ติดลบร้อยละ -1.6
  • สศค. วิเคราะห์ว่า แนวโน้มการส่งออกไทยน่าจะสามารถกลับมาขยายตัวในไตรมาสที่ 2 ได้ สะท้อนได้จากการเริ่มฟื้นตัวของภาคการผลิตที่เน้นการส่งออก เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์ ในเดือน ก.พ. 55 ที่ขยายตัวร้อยละ 10.7 ในขณะที่อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ หดตัวลดลงที่ร้อยละ -20.3 จากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -32.0 อย่างไรก็ตาม ยังคงต้องติดตามปัจจัยที่จะส่งผลกระทบต่อการส่งออกไทยโดยเฉพาะทิศทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก และปัจจัยต้นทุนแรงงานที่ปรับตัวสูงขึ้นจากนโยบายค่าแรงขั้นต่ำที่ปรับเพิ่มขึ้น แต่โครงสร้างต้นทุนแรงงานมีสัดส่วนที่ต่ำในต้นทุนการผลิตรวม แม้ว่าจะมีปรับค่าแรงขั้นต่ำเป็น 300 บาทแล้ว เช่น อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อยู่ที่ร้อยละ 8.55 อุตสาหกรรมยานยนต์อยู่ที่ร้อยละ 2.75 ทั้งนี้ สศค. คาดว่า มูลค่าการส่งออกสินค้าในรูปดอลลาร์สหรัฐในปี 55 จะขยายตัวร้อยละ 13.5 (คาดการณ์ ณ เดือน มี.ค. 55)
2. อสังหาฯ เตรียมขึ้นราคาครึ่งปีหลังจากผลนโยบายค่าแรงขั้นต่ำและค่าวัสดุก่อสร้างเพิ่ม
  • นายกสมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร เปิดเผยว่า ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในปี 55 จะมีการเปิดตัวคอนโดมิเนียมตลอดทั้งปีโดยจะมีสัดส่วนการเปิดตัวมากถึงร้อยละ 65 ซึ่งมากที่สุดตั้งแต่มีธุรกิจคอนโดมิเนียม ขณะที่ในช่วงครึ่งปีหลังของปี 55 จะมีการเปิดตัวบ้านจัดสรรมากขึ้นโดยมีสัดส่วนร้อยละ 35 ตามแนวโน้มความเชื่อมั่นของประชาชนที่ปรับตัวดีขึ้นภายหลังเหตุการณ์อุทกภัยและยอดขายบ้านในพื้นที่ที่เกิดอุทกภัยเริ่มกลับมาใกล้เคียงภาวะปกตินอกจากนี้ การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็นวันละ 300 บาท ใน 7 จังหวัด และแนวโน้มของราคาน้ำมันที่ปรับขึ้นรุนแรงจะส่งผลกระทบต่อราคาบ้านที่อาจปรับเพิ่มขึ้นในช่วงครึ่งปีหลังรวมทั้งปัญหาการขาดแคลนแรงงานภาคก่อสร้างที่เป็นอุปสรรคสำคัญของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในปี 55 ได้รับแรงสนับสนุนจากนโยบายของรัฐ เช่น โยบายโครงการบ้านหลังแรกที่ภาครัฐได้มีมาตรการภาษีเพื่อช่วยเหลือประชาชนที่ซื้ออสังหาริมทรัพย์เพื่อใช้เป็นที่อยู่อาศัยที่มีมูลค่าไม่เกิน 5 ล้านบาท ซึ่งจะมีส่วนช่วยกระตุ้นกำลังซื้อในตลาดอสังหาริมทรัพย์มากขึ้น อย่างไรก็ตาม ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ก็ต้องเผชิญปัจจัยลบทางด้านต้นทุนการก่อสร้างที่ปรับตัวสูงขึ้นที่อาจส่งผลให้ราคาอสังหาริมทรัพย์ในช่วงครึ่งปีหลังของปี 55 ปรับตัวสูงขึ้นเช่นเดียวกันโดยล่าสุด ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างในเดือน มี.ค. 55 ขยายตัวร้อยละ 4.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ขยายตัวต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 4.8 ส่งผลให้ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างในช่วง 3 เดือนแรกของปี 55 ขยายตัวร้อยละ 4.7 ซึ่งเป็นผลจากต้นทุนราคาวัตถุดิบในการผลิตที่ปรับตัวสูงขึ้น นอกจากนี้ ปัญหาต้นทุนด้านแรงงานที่สูงขึ้นและการขาดแคลนแรงงานทำ ให้ผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์บางรายเรี่มมีการปรับตัว ซึ่งขณะนี้ผู้ประกอบการได้เพิ่มการใช้แรงงานจากประเทศเพื่อนบ้าน เช่น พม่า ลาว และกัมพูชา รวมถึงผู้ประกอบการรายใหญ่บางรายได้เริ่มปรับตัวโดยการทำโรงงานผลิตชิ้นส่วนสำเร็จรูป (พรีแฟบ) ของตัวเอง เพื่อลดการใช้แรงงานคน

และช่วยประหยัดต้นทุนของธุรกิจ

3. ญี่ปุ่นจ่ายเงินสมทบ IMF เพิ่ม 6 หมื่นล้านดอลลาร์
  • รัฐมนตรีคลังญี่ปุ่น ยืนยันว่า ญี่ปุ่นเตรียมจ่ายเงินสมทบเพิ่มเติมอีก 6 หมื่นล้านดอลลาร์ ให้แก่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ซึ่งเป็นความพยายามที่จะสร้างปราการต้านทานวิกฤตหนี้ยุโรป โดยปัญหาหนี้ยุโรปยังคงมีอยุ่ สะท้อนได้จากผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสเปนระยะเวลา 10 ปี เพิ่มขึ้นเหนือระดับร้อยละ 6 ในวันจันทร์ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นครั้งแรกนับจากเดือนธันวาคมเท่ากับเติมความกังวลว่าทางการมาดริดอาจล้มเหลวที่จะทำตามเป้าหมายงบประมาณขาดดุลที่วางไว้และเป็นไปได้ที่จะเดินสู่ภาวะถดถอยรอบ 2 นับจากปี 52 นี่อาจจะเพิ่มความเสี่ยงต่อสเปน ในฐานะเขตเศรษฐกิจยักษ์ใหญ่อันดับ 4 ของยูโรโซน อาจจะถูกผลักให้ต้องขอรับความช่วยเหลือทางการเงิน
  • สศค. วิเคราะห์ว่า จากความกังวลของวิกฤตหนี้สาธารณะในกลุ่มประเทศยูโรโซน โดยเฉพาะวิกฤตหนี้สาธารณะที่เพิ่มสูงขึ้นของประเทศสเปนและอิตาลี ที่อาจส่งผลให้เกิดวิกฤตเศรษฐกิจอีกครั้ง และยังส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นกับนักลงทุน ทั้งนี้ เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมในการรองรับวิกฤตเศรษฐกิจ ประเทศญี่ปุ่นได้มีการจ่ายเงินสมทบให้กับกองทุนการเงินระหว่างประเทศ ทั้งนี้ เศรษฐกิจญี่ปุ่นมีความมั่นคง สะท้อนได้จากทุนสำรองเงินตราต่างประเทศของญี่ปุ่นในเดือน ม.ค. 55 อยู่ที่ระดับ 1.30667 ล้านล้านดอลลาร์ ซึ่งอยู่ในระดับสูงสุด เนื่องจากมูลค่าของพันธบัตรสหรัฐและทองคำที่ญี่ปุ่นถือครองอยู่ปรับตัวสูงขึ้น โดยทรัพย์สินในทุนสำรองเงินตราต่างประเทศของญี่ปุ่นมีมากเป็นอันดับ 2 ของโลกรองจากจีน

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group:

Fiscal Policy Office Tel. 02-273-9020 Ext.3665 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ