รายงานภาวะเศรษฐกิจรายสัปดาห์ระหว่างวันที่ 17 - 20 เมษายน 2555

ข่าวเศรษฐกิจ Monday April 23, 2012 09:49 —กระทรวงการคลัง

Executive Summary

Indicators this week
  • รายได้สุทธิของรัฐบาล (หลังหักจัดสรรให้ อปท.) ในเดือน มี.ค.55 มีจำนวน 141.6 พันล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 10.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
  • ผลการเบิกจ่ายงบประมาณในเดือน มี.ค. 55 สามารถเบิกจ่ายได้ทั้งสิ้นจำนวน 370.0 พันล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 116.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
  • นักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้าประเทศไทยในเดือน มี.ค. 55 มีจำนวนทั้งสิ้น 1.91 ล้านคน ขยายตัวร้อยละ 12.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
  • ปริมาณการจำหน่ายรถจักรยานยนต์ในเดือน มี.ค.55 หดตัวที่ร้อยละ -1.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน
  • GDP ประเทศจีน ในไตรมาส 1 ปี 55 ขยายตัวร้อยละ 8.1 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • GDP สิงคโปร์ ในไตรมาส 1 ปี 55 (ตัวเลขเบื้องต้น) ขยายตัวร้อยละ 1.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนหรือขยายตัวร้อยละ 9.9 จากไตรมาสที่แล้ว
  • GDP เวียดนาม ในไตรมาส 1 ปี 55 ขยายตัวร้อยละ 4.1 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • วันที่ 13 มี.ค. 55 ธนาคารกลางเกาหลีใต้ประกาศคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 3.25
  • วันที่ 17 เม.ย. 55 ธนาคารกลางอินเดียประกาศลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงร้อยละ 0.50 มาอยู่ที่ร้อยละ 8.00
Indicators next week
 Indicators                          Forecast            Previous
Mar: Passenger car Sale (%YoY)         10.0                -4.0
  • โดยได้รับปัจจัยบวกจากสถานการณ์น้ำท่วมในช่วงปลายปี 54 คลี่คลายลง ทำให้ค่ายรถยนต์ส่วนใหญ่สามารถกลับมาผลิตได้มากขึ้น ประกอบกับความต้องการซื้อรถยนต์ยังมีต่อเนื่องหลังจากที่มีการชะลอการซื้อรถในช่วงปลายปี 54
Economic Indicators: This Week
  • รายได้สุทธิของรัฐบาล (หลังหักจัดสรรให้ อปท.) ในเดือน มี.ค.55 มีจำนวน 141.6 พันล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 10.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และเมื่อปรับผลทางฤดูกาลแล้วหดตัวร้อยละ 2.3 ต่อเดือน โดยภาษีที่สำคัญมาจาก (1) ภาษีฐานการบริโภค (ภาษีมูลค่าเพิ่ม) ขยายตัวอย่างต่อเนื่องที่ร้อยละ14.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สะท้อนการบริโภคภายในประเทศที่ปรับตัวดีขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจภายหลังอุทกภัยและการนำเข้าสินค้าทุนเพื่อทดแทนเครื่องจักรที่เสียหายจากน้ำท่วม (2) ภาษีรถยนต์ขยายตัวร้อยละ 31.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และเมื่อปรับผลทางฤดูกาลแล้วขยายตัวถึงร้อยละ 30.4 ต่อเดือน สะท้อนการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องสำหรับอุตสาหกรรมยานยนต์ภายหลังจากปัญหาอุทกภัย สำหรับภาษีฐานรายได้ขยายตัวร้อยละ 6.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ทั้งนี้ รัฐบาลมีรายได้สุทธิ (หลังหักจัดสรรให้ อปท.) ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 55 จำนวน 812.7 พันล้านบาท สูงกว่าประมาณการตามเอกสารงบประมาณ 33.4 พันล้านบาท หรือร้อยละ 4.3 และสูงกว่าปีงบประมาณก่อนหน้า 22.3 พันล้านบาท หรือร้อยละ 3.0
  • ภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ระดับราคาคงที่ ในเดือน มี.ค. 55 มีมูลค่า 51.2 พันล้านบาท หรือขยายตัวร้อยละ 11.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของ ปีก่อน ชะลอลงจากเดือนก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 19.3 ตามการชะลอตัวของภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ระดับราคาคงที่ ที่จัดเก็บบนฐานการนำเข้า โดยขยายตัวร้อยละ 19.1 จากเดือนก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 40.4 ในขณะที่ภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ระดับราคาคงที่ ที่จัดเก็บบนฐานการบริโภคในประเทศขยายตัวร้อยละ 3.7 ต่อเนื่องจากเดือนก่อนที่ขยายตัวร้อยละ3.4 ทั้งนี้ ในไตรมาสที่ 1 ปี 55 ภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ดับราคาคงที่ ขยายตัวที่ร้อยละ 12.0 ต่อเนื่องจากไตรมาสก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 6.6 สะท้อนถึงการบริโภคภาคเอกชนที่อยู่ในช่วงของการฟื้นตัวจากปีก่อน
  • ภาษีจากการทำธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์รวมในเดือน มี.ค. 55 ขยายตัวร้อยละ 9.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนขยายตัวต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้า และเมื่อขจัดผลทางฤดูกาลออกพบว่าหดตัวร้อยละ-5.7 โดยได้รับปัจจัยหลักมาจากความเชื่อมั่นของผู้ซื้อที่อยู่อาศัยเพิ่มขึ้นประกอบกับการโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากนโยบายโครงการยกเว้นภาษีเงินได้บ้านหลังแรก และความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจโดยรวมที่เริ่มกลับมาดีอีกครั้งสะท้อนจากดัชนีความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการธุรกิจพัฒนาที่อยู่อาศัยในไตรมาสที่ 1 ของปี 55 โดยค่าดัชนีความเชื่อมั่นในภาวะปัจจุบัน(Current Situation Index) มีค่าเท่ากับ 54.3 เพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ 4 ปี 54 ที่มีค่าเท่ากับ37.2 สะท้อนถึงผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์มีความเชื่อมั่นเพิ่มมากขึ้น ทั้งนี้ ภาษีจากการทำธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์รวมในไตรมาสแรกของปี 55 ขยายตัวร้อยละ 2.5
  • ผลการเบิกจ่ายงบประมาณในเดือน มี.ค. 55 สามารถเบิกจ่ายได้ทั้งสิ้นจำนวน 370.0 พันล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 116.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากการเร่งการเบิกจ่ายงบประมาณประจำปี 2555 ที่ได้รับการอนุมัติเมื่อเดือนก.พ.55โดยในเดือนมี.ค. 55 มีการเบิกจ่ายงบประมาณปีปัจจุบันจำนวน 351.9 พันล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 124.1 แบ่งออกเป็น (1) รายจ่ายประจำจำนวน 283.3 พันล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 100.4 (2) รายจ่ายลงทุนจำนวน 68.6 พันล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 338.7 ทั้งนี้ การเบิกจ่ายงบประมาณที่สำคัญได้แก่ รายจ่ายเงินอุดหนุนของกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่นจำนวน 91.6 พันล้านบาท รายจ่ายของกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติจำนวน 33.7 พันล้านบาท เป็นต้น สำหรับการเบิกจ่ายจากงบประมาณปีก่อนเบิกจ่ายได้จำนวน 18.1 พันล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 30.2 ทั้งนี้ การเบิกจ่ายในช่วงครึ่งปีแรกของปีงบประมาณ 55 สามารถเบิกจ่ายได้จำนวน 1,269.3 พันล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 9.5
  • ฐานะการคลังของรัฐบาลตามระบบกระแสเงินสดในเดือน มี.ค. 55 พบว่า ดุลงบประมาณขาดดุลจำนวน -231.3 พันล้านบาท และเมื่อรวมกับดุลเงินนอกงบประมาณที่เกินดุลจำนวน 90.6 พันล้านบาท โดยมีสาเหตุหลักจากรายรับจากการชดใช้เงินคงคลังและการประมูลตั๋วเงินคลังจำนวน 53.9 และ 40.0 พันล้านบาท ตามลำดับ ซึ่งส่งผลให้ดุลเงินสด (ก่อนกู้) ขาดดุลจำนวน -140.7ล้านบาท ทั้งนี้ ปริมาณเงินคงคลัง ณ สิ้นเดือน มี.ค. 55 อยู่ที่ 74.5 พันล้านบาท
  • นักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้าประเทศไทยในเดือน มี.ค. 55 มีจำนวนทั้งสิ้น 1.91 ล้านคน ขยายตัวร้อยละ 12.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนและขยายตัวร้อยละ 10.2 เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังหักผลทางฤดูกาล (m-o-m SA) ส่งผลให้จำนวนนักท่องเที่ยวในไตรมาส 1 ปี 55 กลับมาขยายตัวเป็นบวกอีกครั้ง จากไตรมาสที่ 4 ปี 54 ที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตอุทกภัย โดยมีจำนวนนักท่องเที่ยวทั้งสิ้น 5.70 ล้านคน ขยายตัวร้อยละ 7.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนและขยายตัวร้อยละ 17.4 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสก่อนหน้าหลังหักผลทางฤดูกาล(q-oq SA) โดยเป็นการขยายตัวในทุกกลุ่มประเทศ ยกเว้นกลุ่มประเทศในตะวันออกกลาง ส่วนหนึ่งมาจากปัญหาสถานการณ์ความไม่สงบในภูมิภาค
  • ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมเดือนมี.ค.55 อยู่ที่ระดับ 102.1 ปรับเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ระดับ 100.9 ซึ่งเป็นการปรับตัวเพิ่มขึ้นติดต่อกันเป็นเดือนที่ 4 และเป็นค่าดัชนีที่อยู่ในระดับเกิน 100 เป็นเดือนที่ 2 ติดต่อกันหลังวิกฤติอุทกภัยที่ผ่านมา สะท้อนความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการและการฟื้นตัวอย่างชัดเจนของอุตสาหกรรมหลังเกิดเหตุอุทกภัย ประกอบกับการเร่งผลิตของอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับการอุปโภคบริโภคเพื่อรองรับอุปสงค์ในช่วงเทศกาลสงกรานต์โดยอุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลให้ดัชนีปรับเพิ่ม ได้แก่ อุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มน้ำตาล และอุตสาหกรรมชิ้นส่วนและอะไหล่ยานยนต์ แต่อย่างไรก็ตามผู้ประกอบการยังคงมีความกังวลต่อต้นทุนการผลิตที่ปรับเพิ่มขึ้นจากราคาน้ำมันและค่าแรง 300 บาทต่อวัน
  • ปริมาณการจำหน่ายรถจักรยานยนต์ในเดือน มี.ค.55 หดตัวที่ร้อยละ -1.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากเดือนก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 6.3 ตามการหดตัวของยอดขายรถจักรยานยนต์ในส่วนของภูมิภาค (สัดส่วนร้อยละ 80.0 ของยอดขายรถจักรยานยนต์รวม) ที่หดตัวร้อยละ -1.3 อย่างไรก็ตาม ในไตรมาสที่ 1 ปี 55 หดตัวในอัตราชะลอลงมากที่ร้อยละ -0.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากไตรมาสก่อนที่หดตัวร้อยละ -12.7 (หรือขยายตัวร้อยละ 22.2 จากไตรมาสก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาลแล้ว) สะท้อนถึงการบริโภคภาคเอกชนในหมวดสินค้าคงทนอยู่ในช่วงของการฟื้นตัวจากปลายปี 54
  • หนี้สาธารณะคงค้าง ณ สิ้นเดือน ม.ค. 55 มีจำนวนทั้งสิ้น 4,362.4 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า 64.5 พันล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 41.1 ของ GDP ทั้งนี้ การเพิ่มขึ้นของหนี้สาธารณะที่สำคัญเกิดจากหนี้ของรัฐบาลเพิ่มขึ้นสุทธิ 28.7 พันล้านบาท เนื่องจากมีการกู้เงินล่วงหน้า(Pre-funding) จำนวน 27.0 พันล้านบาท เพื่อปรับโครงสร้างหนี้ของพันธบัตร FIDF3 ที่จะครบกำหนดในวันที่ ก ย สำหรับสถานะหนี้สาธารณะของไทยถือว่ามีความมั่นคงมาก สะท้อนได้จากสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ยังอยู่ในระดับต่ำกว่ากรอบความยั่งยืนทางการคลังที่ตั้งไว้ไม่เกินร้อยละ 60 ของ GDP และหนี้สาธารณะส่วนใหญ่เป็นหนี้ระยะยาว (ร้อยละ 99.0 ของยอดหนี้สาธารณะ) และเป็นสกุลเงินบาท (ร้อยละ 92.1 ของยอดหนี้สาธารณะ)
  • การจ้างงานเดือน ก.พ. 55 อยู่ที่ 38.1 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากช่วง เดียวกันของปีก่อนหน้า 5.04 แสนคน ขณะที่เมื่อปรับผลทางฤดูกาลพบว่าการจ้างงานน้อยลง 1.5 แสนคนจากเดือนก่อนหน้า โดยมีสาเหตุมาจากการจ้างงานภาคเกษตรและภาคอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น ขณะที่การจ้างงานภาคบริการมีการปรับตัวลดลง เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้าโดยมีอัตราการว่างงานอยู่ที่ร้อยละ 0.7 ของกำลังแรงงานรวม คิดเป็นผู้ว่างงาน 2.6 แสนคน
Economic Indicators: Next Week
  • ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์นั่ง ในเดือน มี.ค. 55 คาดว่าจะขยายตัวในอัตราเร่งที่ร้อยละ 10.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากเดือนก่อนที่หดตัวร้อยละ -4.0 โดยได้รับปัจจัยบวกจากสถานการณ์น้ำท่วมในช่วงปลายปี 54 คลี่คลายลง ทำให้ค่ายรถยนต์ส่วนใหญ่สามารถกลับมาผลิตได้มากขึ้น ประกอบกับความต้องการซื้อรถยนต์ยังมีต่อเนื่องหลังจากที่มีการชะลอการซื้อรถในช่วงปลายปี 54

Global Economic Indicators: This Week

USA: mixed signal
  • การจ้างงานนอกภาคเกษตรสหรัฐฯ เดือน มี.ค. 55 เพิ่มขึ้น 120,000 ตำแหน่งจากเดือนก่อนหน้า ผลจากการจ้างงานภาคเอกชนที่ดีขึ้นต่อเนื่องในขณะที่อัตราว่างงานปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ร้อยละ 8.2 ของกำลังแรงงานรวม ยอดค้าปลีกสหรัฐฯ เดือนมี.ค. 55 ขยายตัวร้อยละ 0.8 จากเดือนก่อนหน้า (%mom sa) หรือขยายตัวชะลอลงที่ร้อยละ 7.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนโดยยอดจำหน่ายรถยนต์หดตัวเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้าที่ร้อยละ -4.5 (ปรับผลทางฤดูกาลแล้ว) อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน เดือนมี.ค. 55 ปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ร้อยละ 2.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนหน้า ผลจากปัจจัยฐานสูงในปีก่อน แต่หากขจัดผลทางฤดูกาลแล้ว จะอยู่ที่ร้อยละ 0.3 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าจากราคาเชื้อเพลิงที่ปรับตัวสูงขึ้นเป็นสำคัญ ดุลการค้าสหรัฐฯ เดือนก.พ. 55 ขาดดุลลดลงที่ -49.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ จากการนำเข้าที่ชะลอลง
China: mixed signal
  • GDP ไตรมาส 1 ปี 55 ขยายตัวร้อยละ 8.1 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ชะลอลงจากไตรมาสก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 8.9 จากการชะลอการลงทุนภาคเอกชน โดยเฉพาะอสังหาริมทรัพย์ และการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ทำให้อุปสงค์สินค้าส่งออกจีนลดลง มูลค่าการส่งออก เดือน มี.ค. 55 ขยายตัวร้อยละ 8.8 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงจากเดือนก่อน โดยเฉพาะการส่งออกไปยูโรโซน เกาหลีใต้ และไต้หวันหดตัวร้อยละ -3.1 -1.6 และ -6.5 ตามลำดับ มูลค่าการนำเข้า เดือน มี.ค. 55 ขยายตัวร้อยละ 5.4 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ชะลอลงจากเดือนก่อนเช่นกันแต่ดุลการค้ายังเกินดุลที่ 5.35 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
Euro Zone: worsening economic trend
  • อัตราเงินเฟ้อ เดือน มี.ค. 55 อยู่ที่ร้อยละ 2.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากราคาในหมวดขนส่งที่เร่งขึ้นขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือน เม.ย. 55 ลดลงมาอยู่ที่ระดับ -19.8 จากแรงกดดันจากเงินเฟ้อและอัตราว่างงานที่ปรับตัวสูงขึ้น
Japan: improving economic trend
  • ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือน มี.ค. 55 ปรับเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 40.3 ซึ่งเป็นการปรับตัวสูงสุดในรอบ 1 ปีที่ผ่านมา นอกจากนี้ มูลค่าการส่งออก เดือน มี.ค. 55 ขยายตัวเร่งขึ้นร้อยละ 5.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนซึ่งเป็นการกลับมาขยายตัวอีกครั้งในรอบ 6 เดือนที่ผ่านมา ผลจากยอดส่งออกไปยังสหรัฐฯที่กลับมาขยายตัวเข้าสู่ภาวะปกติ และมูลค่าการนำเข้า เดือน มี.ค. 55 ขยายตัวที่ร้อยละ 10.5 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากญี่ปุ่นยังคงต้องเร่งนำเข้าสินค้าพลังงานเพิ่มขึ้นจากการขาดแคลนพลังงานนิวเคลียร์ ส่งผลให้ดุลการค้าใน เดือน มี.ค. 55 ขาดดุลอยู่ที่ -82.6 พันล้านเยนหรือ 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
Malaysia: improving economic trend
  • มูลค่าการส่งออก เดือน ก.พ. 55 ขยายตัวเร่งขึ้นร้อยละ 14.5 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากการส่งออกน้ำมันและเครื่องจักรกลขยายตัวถึงร้อยละ48.3 และ 35.9 ตามลำดับ นอกจากนี้อุปสงค์ภายนอกประเทศยังขยายตัวได้ดีอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะการส่งออกสินค้าไปยังตลาดสิงค์โปร์และไทย ส่วนมูลค่าการนำเข้า เดือน ก.พ. 55 ขยายตัวที่ร้อยละ 18.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปีก่อน ทั้งนี้ การส่งออกที่ขยายตัวสูงกว่าการนำเข้า ทำให้ดุลการค้า เดือน ก.พ. 55 เกินดุลที่ 10.6 พันล้านริงกิต
Philippines: improving economic trend
  • มูลค่าการส่งออก เดือน ก.พ. 55 ขยายตัวร้อยละ 14.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ขยายตัวสูงสุดในรอบ 10 เดือน ผลจากยอดส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่ขยายตัวเร่งขึ้นถึงร้อยละ 52.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
Singapore: improving economic trend
  • GDP ไตรมาส 1 ปี 55 (ตัวเลขเบื้องต้น) ขยายตัวร้อยละ 1.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน หรือขยายตัวร้อยละ 9.9 จากไตรมาสก่อน (หลังหักผลทางฤดูกาล) บ่งชี้ว่าการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจมีประสิทธิภาพ โดยมูลค่าการส่งออกหักน้ำมัน เดือน มี.ค. 55 หดตัวร้อยละ -4.3 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากสินค้าที่ไม่ใช่อิเล็กทรอนิกส์หดตัวร้อยละ -99 เป็นสำคัญ
South Korea: mixed signal
  • วันที่ 13 มี.ค. 55 ธนาคารกลางเกาหลีใต้ประกาศคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 3.25 เพื่อรอดูสถานการณ์เนื่องจากยังคงมีความเสี่ยงจากภาวะถดถอยของเศรษฐกิจยูโรโซน ขณะที่แรงกดดันจากเงินเฟ้อสูงขึ้น ตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่สูงขึ้น มูลค่าการส่งออกเดือน มี.ค. 55 หดตัวร้อยละ -1.4 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากการปรับตัวลดลงของการส่งออกไปยังยูโรโซน ขณะที่มูลค่าการนำเข้าเดือน มี.ค. 55 หดตัวร้อยละ -1.4 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
India: mixed signal
  • วันที่ 17 เม.ย. 55 ธนาคารกลางอินเดียประกาศลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงร้อยละ 0.50 มาอยู่ที่ร้อยละ 8.00 จากเครื่องชี้เศรษฐกิจที่เริ่มส่งสัญญาณฟื้นตัวผนวกกับแรงกดดันจากเงินเฟ้อที่ลดลง โดยอัตราเงินเฟ้อ เดือน มี.ค. 55 ลดลงจากเดือนก่อนหน้ามาอยู่ที่ร้อยละ 6.9 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน
Vietnam: mixed signal
  • GDP ไตรมาส 1 ปี 55 ขยายตัวร้อยละ 4.1 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน หรือหดตัวร้อยละ -2.6 จากไตรมาสก่อน (หลังหักผลทางฤดูกาล) จากภาคการผลิตที่ขยายตัวชะลอลงเป็นสำคัญ
Weekly Financial Indicators
  • ดัชนี SET ปรับตัวอยู่ในช่วงระดับ 1,160-1,190 จุด และมีความผันผวนสูง โดยดัชนีฯ ปรับตัวลดลงในช่วงต้นสัปดาห์ ก่อนจะปรับตัวสูงขึ้นมากในช่วงกลางสัปดาห์ จากแรงซื้อของนักลงทุนต่างชาติ ทั้งนี้ ระหว่างวันที่ 17 - 19 เม.ย.55 นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิ 1,123 ล้านบาท ในขณะที่ผลตอบแทนพันธบัตรของไทยปรับตัวลดลง โดยเฉพาะในพันธบัตรช่วงอายุ 3 ปีขึ้นไป จากการเข้าซื้อของนักลงทุนต่างชาติ หลังเทศกาลวันหยุดสงกรานต์ที่ตลาดปิดทำการหลายวัน โดยผลการประมูลพันธบัตรรัฐบาลสเปนที่ประสบความสำเร็จด้วยดีไม่ส่งผลกระทบต่อตลาดพันธบัตรไทย ทั้งนี้ ระหว่างวันที่ 17 - 19 เม.ย.55 นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิ 15,186 ล้านบาท
  • ค่าเงินบาทในสัปดาห์นี้อยู่ในระดับใกล้เคียงกับสัปดาห์ก่อนหน้า โดยปิดที่ระดับ 30.86 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ณ วันที่ 19 เม.ย. 55 อ่อนค่าลงเล็กน้อยจากสัปดาห์ก่อนหน้าเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐร้อยละ -0.19 โดยเป็นไปในทิศทางเดียวกับค่าเงินเยน ยูโร และวอนเกาหลี ทั้งนี้ ค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลงในอัตราที่น้อยกว่าค่าเงินของคู่ค้าอื่นๆส่งผลให้ ดัชนีค่าเงินบาท (NEER) ในสัปดาห์นี้แข็งค่าขึ้นจากสัปดาห์ก่อนหน้าเล็กน้อยที่ร้อยละ 0.07
  • ราคาทองคำปรับตัวลดลงต่อเนื่องโดยราคาทองคำ ณ วันที่ 19 เม.ย. 55 ปิดที่ 1,642 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ ลดลงจากต้นสัปดาห์ที่ปิดที่ 1,652 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office

Tel 02-273-9020 Ext 3665 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ