Macro Morning Focus ประจำวันที่ 24 เมษายน 2555
Summary:
1. บริษัทประกันภัยจ่ายค่าสินไหมทดแทนผู้ประสบภัยน้ำท่วมแล้วกว่าร้อยละ 93
2. กทม.ผุดโครงการขายไข่ถูกทั่วกรุงเทพฯ
3. ยูโรสแตทเผย 17 ชาติสมาชิกยูโรโซนยังเผชิญปัญหาหนี้ในระดับสูง
Highlight:
1. บริษัทประกันภัยจ่ายค่าสินไหมทดแทนผู้ประสบภัยน้ำท่วมแล้วกว่าร้อยละ 93
- เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เปิดเผยว่าจากเหตุการณ์มหาอุทกภัยในปี 2554 มีผู้เอาประกันภัยประเภทรถยนต์ที่เรียกร้องความเสียหาย 38,687 คัน บริษัทจ่ายชดใช้ค่าสินไหมแล้ว 36,178 คัน คิดเป็นร้อยละ 93.51 อยู่ระหว่างการดำเนินการ 2,509 คัน ส่วนการประกันภัยทรัพย์สิน-อัคคีภัย ที่อยู่อาศัย มีผู้เอาประกัน 35,668 ราย ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแล้ว 25,326 ราย คิดเป็นร้อยละ 71.00 อยู่ระหว่างดำเนินการ10,342 ราย การประกันอัคคีภัยอาคารพาณิชย์และเอสเอ็มอี มีผู้เอาประกัน 3,865 ราย ชดใช้ค่าสินไหมแล้ว 2,349 ราย คิดเป็นร้อยละ 60.78 อยู่ระหว่างดำเนินการ 1,516 ราย โดยรวมบริษัทประกันวินาศภัยได้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนผู้เอาประกันภัยแล้ว 65,827 ราย จากจำนวนผู้เอาประกันภัยที่เรียกร้องความเสียหาย 86,487 ราย คิดเป็นร้อยละ 76.11
- สศค. วิเคราะห์ว่าเหตุการณ์มหาอุทกภัยในปี 2554 สร้างความเสียหายแก่ทรัพย์สินของทั้งภาครัฐและภาคเอกชนเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะอาคาร สถานที่ และรถยนต์ที่ถูกน้ำท่วม การซ่อมแซมและฟื้นฟูเพื่อกลับสู่สภาพปกติต้องอาศัยเม็ดเงินจำนวนมาก เงินสินไหมทดแทนที่จ่ายให้แก่ผู้ประสบอุทกภัยโดยเร็วจะทำให้การบูรณะ ซ่อมแซมเป็นไปได้ด้วยความรวดเร็ว โรงงานและสถานประกอบการจึงสามารถกลับมาดำเนินการผลิตได้อีกครั้ง ทั้งนี้จากเครื่องชี้ด้านการผลิตล่าสุดพบว่า ภาคอุตสาหกรรมสามารถกลับมาผลิตได้ใกล้เคียงกับระดับก่อนเกิดเหตุการณ์น้ำท่วมแล้วในเกือบทุกหมวด โดยดัชนีอุตสาหกรรมในเดือน ก.พ.55 หดตัวเพียงร้อยละ -3.4 จากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวกว่าร้อยละ -15.0 อย่างไรก็ดีหมวดอุตสาหกรรมที่ยังมีการหดตัวอยู่ได้แก่หมวดวิทุย โทรทัศน์ และเครื่องอิเล็กทรอนิกส์ เนื่องจากเครื่องจักรมีความซับซ้อน การซ่อมแซมให้เป็นปกติต้องใช้ระยะเวลา
2. กทม.ผุดโครงการขายไข่ถูกทั่วกรุงเทพฯ
- นายวสันต์ มีวงษ์ โฆษกกทม. กล่าวภายหลังประชุมผู้บริหารกทม.ว่า จากเหตุการณ์อุทกภัยเมื่อปี 54 ภาวะเศรษฐกิจที่ค่าครองชีพสูงมาก ทำให้ราคาสินค้าต่างพากันขยับขึ้นนั้น สำนักพัฒนาสังคม กทม. ได้หามาตรการช่วยเหลือประชาชน เพื่อลดภาระครอบครัว โดยเตรียมจัดโครงการจำหน่ายไข่ไก่ราคาถูก ในการจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภคในราคาถูก โดยได้มีการประสานสหฟาร์ม จังหวัดฉะเชิงเทรา และบริษัทซีพีเอฟ จำหน่ายไข่ไก่คุณภาพในราคาถูกกว่าท้องตลาดให้กับประชาชน
- สศค.วิเคราะห์ว่า จากภาวะอุทกภัยในช่วงปลายปี 54 ได้สร้างความเสียหายแก่เศรษฐกิจทั้งภาคการเกษตร ภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการ ส่งผลให้สินค้าภาคการเกษตรได้รับความเสียหาย สินค้าอุตสาหกรรมก็ต้องชะลอการผลิต ทำให้ราคาสินค้าต่างขยับราคาเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ยังส่งผลให้ค่าครองชีพของประชาชนสูงขึ้นอีกด้วย ประกอบกับราคาน้ำดิบทีมีแนวที่โน้มปรับตัวเพิ่มขึ้นและค่าจ้างงาน 300 บาท ก็จะเป็นปัจจัยกดดันให้ต้นทุนในการผลิตเพิ่มขึ้น ซึ่งจะส่งผลการกดดันต่ออัตราเงินเฟ้อ โดยอัตราเงินเฟ้อล่าสุด เดือน มี.ค.55 อยู่ที่ร้อยละ 3.5 เพิ่มจากเดือนก่อนหน้าเล็กน้อยที่อยู่ที่ร้อยละ 3.4 ทั้งนี้ สศค.คาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 55 จะอยู่ที่ร้อยละ 3.6 โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 3.1 - 4.1 (คาดการณ์ ณ มี.ค.55) อย่างไรก็ดี จากการที่ทาง กทม.ได้มีโครงการขายไข่ราคาถูกจะมีส่วนเป็นช่วยลดภาระค่าครองชีพของประชาชนได้บ้าง
3. ยูโรสแตทเผย 17 ชาติสมาชิกยูโรโซนยังเผชิญปัญหาหนี้ในระดับสูง
- สำนักงานสถิติแห่งชาติของสหภาพยุโรป (ยูโรสแตท) เปิดเผยว่า 17 ชาติสมาชิกยูโรโซนยังคงเผชิญกับความยากลำบากในการควบคุมหนี้ แม้ว่ารัฐบาลจะสามารถใช้มาตรการรัดเข็มขัดที่เข้มงวด และได้ส่งผลให้สามารถลดยอดขาดดุลงบประมาณลงมาอยู่ที่ระดับร้อยละ 4.1 ของผลผลิตทางเศรษฐกิจในปี 2554 จากระดับร้อยละ 6.2 ของจีดีพีในปี 2553 ก็ตาม แต่ถึงกระนั้นตัวเลขหนี้สินโดยรวมของประเทศยูโรโซนกลับเพิ่มขึ้นจากระดับร้อยละ 85.3 ของจีดีพี เป็นร้อยละ 87.2 ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่มีการรวมตัวกันของยูโรโซนในปี 2542
- สศค.วิเคราะห์ว่า นอกเหนือจากการใช้วิธีขอรับความช่วยเหลือทางการเงินรอบที่ 2 จากสหภาพยุโรปและ IMF แล้ว ยูโรโซนยังเลือกใช้วิธีแก้ปัญหาเพื่อลดยอดขาดดุลงบประมาณผ่านวิธีการปรับโครงสร้างและลดหนี้ (Hair Cut) ในสถาบันการเงิน ซึ่งส่งผลให้ผลประการของบรรดาสถาบันการเงินต้องประสบภาวะขาดทุนจากหนี้ที่หายไป ทั้งนี้ ส่วนที่ขาดหายไปจากวิธี Hair Cut ได้ถูกชดเชยและชักจูงให้เจ้าหนี้เข้ามาร่วมการปรับโครงสร้างหนี้โดยมาตรการอัดฉีดเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำระยะยาว (lLRO) ของธนาคารกลางยุโรป เพื่อเสริมสภาพคล่องให้กับสถาบันการเงิน อย่างไรก็ดี ตัวเลขหนี้โดยรวมที่ยังอยู่ในระดับสูงประกอบกับภาวะการขาดความเป็นอิสระในการกำหนดอัตราดอกเบี้ยจากมาตรการ ILRO ดังกล่าว จะส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของยุโรป โดยล่าสุด สศค. ได้ปรับลดประมาณการอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจโดยเฉลี่ยของยุโรปให้อยู่ที่ร้อยละ -0.9 (หรือคาดว่าเศรษฐกิจยุโรปยังคงหดตัวต่อเนื่องในปี 55)
ที่มา: Macroeconomic Analysis Group:
Fiscal Policy Office Tel. 02-273-9020 Ext.3665 : www.fpo.go.th