Macro Morning Focus ประจำวันที่ 8 พฤษภาคม 2555
Summary:
1. คนเลี้ยงหมูอีสานขอปรับราคาหน้าฟาร์ม
2. คมนาคมเตรียมปรับขึ้นค่าโดยสารรถไฟใต้ดินอีก 2-4 บาท
3. อิตาลีเผยตัวเลขว่างงานสูงถึง 2.5 ล้านคน
Highlight:
1. คนเลี้ยงหมูอีสานขอปรับราคาหน้าฟาร์ม
- นายชูศักดิ์ รัตนวนิชย์โรจน์ ในฐานะนายกสมาคมผู้เลี้ยงหมูภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เปิดเผยว่า ผู้ประกอบการเลี้ยงสุกร 19 จังหวัดภาคอีสาน ต้องปรับขึ้นราคาหมูหน้าฟาร์มตามภาวะกลไกของตลาด ซึ่งปัจจุบันราคาหมูหน้าฟาร์มอยู่ที่กิโลกรัมละ 65 - 68 บาท ขณะที่ราคาต้นทุนของผู้ประกอบการเลี้ยงหมูอยู่ที่กิโลกรัมละ 61 - 65 บาท
- สศค. วิเคราะห์ว่า การขอปรับขึ้นราคาเนื้อหมูหน้าฟาร์มของผู้ประกอบการเป็นผลมาจากปัจจัยด้านต้นทุนในการเลี้ยงหมู ทั้งค่าแรงงานและค่าขนส่งที่ปรับเพิ่มขึ้น ซึ่งการปรับขึ้นของราคาหมูหน้าฟาร์มจะเป็นแรงกดดันต่ออัตราเงินเฟ้อให้มีแนวโน้มสูงขึ้น (ราคาเนื้อสัตว์มีสัดส่วนในตะกร้าเงินเฟ้ออยู่ร้อยละ 2.29) โดยเงินเฟ้อล่าสุด เดือน เม.ย.55 อยู่ที่ร้อยละ 2.5 ชะลอลงจากเดือนก่อนเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนแต่เมิ่อพิจารณาแบบ % mom พบว่า สูงขึ้นร้อยละ 0.4 โดยเป็นการปรับเพิ่มขึ้นจากราคาอาหารสำเร็จรูป เนื้อสัตว์ ทั้งนี้ สศค. คาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 55 อยู่ที่ร้อยละ 3.6 ต่อปี (ช่วงคาดการณ์ร้อยละ 3.1-4.1 ต่อปี) ในขณที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานคาดว่าจะอยู่ที่ร้อยละ 2.3 ต่อปี (ช่วงคาดการณ์ร้อยละ 1.8-2.8) (คาดการณ์ ณ เดือน มี.ค. 55)
2. คมนาคมเตรียมปรับขึ้นค่าโดยสารรถไฟใต้ดินอีก 2-4 บาท
- ก.คมนาคมเตรียมเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรีในวันนี้ ให้พิจารณาเห็นชอบร่างข้อบังคับการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ว่าด้วยการกำหนดอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้ามหานครสายเฉลิมรัชมงคล หรือรถไฟฟ้าใต้ดินเอ็มอาร์ที โดยปรับค่าโดยสารเพิ่มเป็นอัตราเริ่มต้น 16 บาท ถึงสูงสุด 40 บาท จากปัจจุบันที่มีการจัดเก็บในอัตราเริ่มต้นที่ 14 บาท สูงสุด 36 บาท หรือปรับขึ้นอีก 2-4 บาท โดยให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 3 ก.ค. 55 - 2 ก.ค. 57 รวม 2 ปี สำหรับการคำนวณอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้าใต้ดิน คำนวณตามวิธีการที่กำหนดไว้ในสัญญา ที่ใช้ดัชนีราคาผู้บริโภคของกระทรวงพาณิชย์ เป็นข้อมูลคำนวณ และได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการ รฟม.เมื่อวันที่ 13 ม.ค. ที่ผ่านมา
- สศค. วิเคราะห์ว่า การปรับเพิ่มอัตราค่าโดยสารในอัตราดังกล่าวคิดเป็นการปรับค่าโดยสารเพิ่มขึ้นร้อยละ 11.1 ถึง 14.3 โดยตามสัญญาสัมปทานที่บริษัทรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ได้ทำไว้กับรัฐระบุว่าสามารถขึ้นราคาค่าโดยสารได้ทุกๆ 2 ปี ตามดัชนีราคาผู้บริโภค ทั้งนี้พบว่าอัตราเงินเฟ้อในปี 53 และ 54 ขยายตัวที่ร้อยละ 3.3 และ 3.8 ตามลำดับ หรือขยายตัวร้อยละ 6.7 ในช่วงระยะเวลา 2 ปี อย่างไรก็ดีค่าโดยสารรถไฟฟ้ามีสัดส่วนน้อยในตะกร้าเงินเฟ้อ โดยถูกจัดอยู่ในหมวดค่าโดยสารสาธารณะที่มีสัดส่วนร้อยละ 5.22 ในตะกร้าเงินเฟ้อ ดังนั้นการปรับเพิ่มค่าโดยสารรถไฟฟ้าจึงส่งผลกระทบต่ออัตราเงินเฟ้อในปี 55 เพียงเล็กน้อย โดยสศค.คาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 55 จะอยู่ที่ร้อยละ 3.6
3. อิตาลีเผยตัวเลขว่างงานสูงถึง 2.5 ล้านคน
- รัฐบาลอิตาลีเผยตัวเลขจำนวนคนว่างงานในอิตาลีเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมามีมากกว่า2.5 ล้านคน หรือมีอัตราการว่างงานอยู่ที่ร้อยละ 9.8 เป็นการทำลายสถิติใหม่ ซึ่งมีผลให้เศรษฐกิจอิตาลีทรุดหนัก โดย อัตราการว่างงานในประเทศส่วนใหญ่เป็นคนหนุ่มสาวอายุ 15-24 ปี มีมากขึ้นถึงร้อยละ 35.9 ในจำนวนนี้มีทั้งผู้ที่ยังหางานทำไม่ได้และคนที่ไม่ได้รับการต่ออายุสัญญาจ้าง ซึ่งเหมือนกับสถิติการว่างงานในยูโรโซนหลายประเทศที่ส่วนใหญ่คนหนุ่มสาวจะมีอัตราการว่างงานสูง ทั้งนี้ กลุ่มยูโรโซนก็สูงขึ้นร้อยละ 10.9 นับว่าสูงที่สุดตั้งแต่มีการตั้งกลุ่มยูโรโซนขึ้นเมื่อปี1999
- สศค.วิเคราะห์ว่า เศรษฐกิจยูโรโซนมีสัญญาณเศรษฐกิจถดถอยอย่างชัดเจน ทั้งการใข้จ่ายภายในประเทศ (การบริโภคและการลงทุน) ที่หดตัวอย่างรุนแรงจากปัญหาอัตราการว่างงานที่แตะระดับสูงสุดดังกล่าว และการตัดงบประมาณรายจ่ายภาครัฐเพื่อแก้ปัญหาหนี้สินล้นพ้นตัว นอกจากนี้ เมื่อพิจารณาภาคการผลิตจากระดับการผลิตที่สะท้อนจาก Composite Purchasing Manager's Index ในไตรมาส 1 ปี 55 ได้ลดต่ำกว่าระดับ 50 จุด ไปอยู่ที่ระดับ 49.6 จุด ซึ่งจากหลายๆ ปัจจัยดังกล่าวส่งผลให้คาดว่าในไตรมาสแรกปีนี้ เศรษฐกิจยูโรโซนจะหดตัวร้อยละ -0.1 จากไตรมาสที่ 4 ปี 54 ซึ่งเป็นการหดตัวต่อเนื่องติดต่อกัน2 ไตรมาส หรือเข้าสู่ภาวะถดถอย (Recession) นั่นเอง
ที่มา: Macroeconomic Analysis Group:
Fiscal Policy Office Tel. 02-273-9020 Ext.3665 : www.fpo.go.th