รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 15 พฤษภาคม 2555

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday May 15, 2012 13:42 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 15 พฤษภาคม 2555

Summary:

1. กรมส่งเสริมการส่งออกบูมตลาดอาหารจัด THAIFEX — 2012 กระตุ้นยอดส่งออก

2. ครม.ยันราคาสินค้าปรับขึ้น-ลงตามฤดูกาล ไร้นัยที่ต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ

3. หุ้นเจพีมอร์แกนร่วงลงอีกร้อยละ 3 ต่อเนื่องจากสัปดาห์ที่แล้ว

Highlight:
1. กรมส่งเสริมการส่งออกบูมตลาดอาหาร จัด THAIFEX — 2012 กระตุ้นยอดส่งออก
  • กรมส่งเสริมการส่งออก คาดการณ์ตลาดอาหารทั่วโลกยังมีแนวโน้มเติบโต เตรียมรุกยุทธศาสตร์ขยายตลาดอย่างต่อเนื่อง ด้วยการจัดงานแสดงสินค้าอาหารครั้งยิ่งใหญ่ที่สุดในเอเชีย THAIFEX — World of food ASIA 2012 เดินหน้าเปิดเวทีโชว์ศักยภาพสินค้าอาหาร เครื่องดื่ม เทคโนโลยีและบริการครบวงจร ผลักดันโอกาสส่งออกให้ผู้ประกอบการกว่า 1,000 บริษัท
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ตลาดอาหารยังคงมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่องทั้งตลาดส่งออกและตลาดภายในประเทศ เนื่องจากจำนวนประชากรโลกที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้ความต้องการปริมาณอาหารเพิ่มมากขึ้นเช่นเดียวกัน สะท้อนได้จากดัชนีผลผลิตอุตาสาหกรรมในหมวดอาหารและเครื่อม (สัดส่วนร้อยละ 15.5ของ MPI) ที่มีการขยายตัวอย่างต่อเนื่องตามการขยายตัวของผลิตภัณฑ์จากเนื้อสัตว์ โดยเฉพาะเนื้อไก่แช่แข็งและแช่เย็น โดยข้อมูลล่าสุดเดือน มี.ค. 55 ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มขยายตัวร้อยละ 5.0 เป็นการขยายตัวในอัตราชะลอลงจากเดือน ก.พ.55 ที่ขยายตัวร้อยละ 14.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่งผลให้ไตรมาส 1 ปี 55 ดัชนีการผลิตอาหารและเครื่องดื่มขยายตัวร้อยละ 7.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
2. ครม.ยันราคาสินค้าปรับขึ้น-ลงตามฤดูกาล ไร้นัยที่ต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ
  • รักษาการโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ตามที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้มอบหมายให้รัฐมนตรีลงพื้นที่สำรวจราคาสินค้าอุปโภค-บริโภคและนำกลับมารายงานต่อที่ประชุมครม.วันนี้ ผลจากการลงพื้นที่พบว่าราคาสินค้าอุปโภคบริโภคมีทั้งปรับตัวลดลงจากปีก่อนค่อนข้างมาก ขณะที่บางรายการปรับตัวสูงขึ้นจากปีก่อนแต่ไม่มากนัก ซึ่งการปรับเพิ่มขึ้นและลดลงของราคาสินค้าเป็นไปตามช่วงฤดูกาล ไม่มีนัยสำคัญที่เป็นปัจจัยต้องเฝ้าระวัง แต่รัฐบาลยังพร้อมที่จะบริหารโครงสร้างราคาให้เป็นไปตามกลไกตลาดเพื่อให้ทั้งผู้ขายและผู้บริโภคสามารถอยู่ร่วมกันได้
  • สศค. วิเคราะห์ว่า จากการติดตามราคาสินค้ารายการสำคัญในเดือน พ.ค.55 พบว่ามีทั้งสินค้าที่มีราคาปรับตัวเพิ่มขึ้นและสินค้าที่มีราคาปรับตัวลดลงจากเดือน เม.ย.55 โดยสินค้าสำคัญที่มีราคาปรับเพิ่มขึ้นได้แก่ เนื้อหมู เนื้อไก่ ไข่ไก่ ข้าวขาว ส่วนรายการที่ปรับลดลงได้แก่ น้ำมันเชื้อเพลิง ส้มเขียวหวาน อย่างไรก็ดีสินค้าที่มีราคาปรับตัวเพิ่มขึ้นในเดือน พ.ค.55 ยังคงมีราคาต่ำกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน ทำให้เมื่อนำมาคำนวนอัตราเงินเฟ้อในเดือน พ.ค.55 จึงไม่สูงมากนักอย่างที่หลายฝ่ายกังวล ส่วนประเด็นที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิดคือราคาอาหารสำเร็จรูป เนื่องจากมีการปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่เดือน เม.ย. 54 จนถึงปัจจุบัน ทั้งนี้ สศค.คาดว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 55 จะอยู่ที่ร้อยละ 3.6 (ประมาณการ ณ เดือนมีนาคม)
3.หุ้นเจพีมอร์แกนร่วงลงอีกร้อยละ 3 ต่อเนื่องจากสัปดาห์ที่แล้ว
  • เจพีมอร์แกน เชส เปิดเผยว่า ไอนา ดรูว์ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการลงทุนจะลาออกจากตำแหน่ง เพื่อรับผิดชอบกรณีที่ธนาคารขาดทุนจากการซื้อขายหลักทรัพย์เป็นจำนวนเงินสูงถึง 2 พันล้านดอลลาร์ ในช่วง 6 สัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นผลมาจากการเก็งกำไรที่ผิดพลาดในตราสารอนุพันธ์ของ Chief Investment Office ซึ่งเป็นหน่วยงานด้านบริหารความเสี่ยงของเจพี มอร์แกน ส่งผลให้หุ้นเจพีมอร์แกนร่วงลงอีก 3% เมื่อตลาดเปิดทำการเมื่อวาน หลังจากที่ทรุดลงเกือบ 10% เมื่อวันศุกร์ และคาดว่า การขาดทุนจากไตรมาสแรกจะมีผลต่อเนื่องมาถึงไตรมาส 2 ที่คาดว่าจะขาดทุนจากการลงทุนอีก 800 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
  • สศค.วิเคราะห์ว่า การขาดทุนของเจ.พี. มอร์แกน ซึ่งเป็นธนาคารขนาดใหญ่ลำดับที่ 1 ของสหรัฐฯ ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการที่ธนาคารนำเงินไปลงทุนในเครื่องมือทางการเงินที่มีความเสี่ยงสูงเพื่อแสวงหากำไร อาทิ Hedge fund, Private equity fund และ Proprietary trading โดยความผิดพลาดดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อความเชื่อถือของนักลงทุนต่อสถาบันการเงินในสหรัฐฯ และความน่าเชื่อถือต่อระบบการตรวจสอบสถาบันการเงินของ Fed (ทั้งที่เมื่อ มี.ค. ที่ผ่านมา Fed เพิ่งอนุญาตให้เจ.พี.มอร์แกน เพิ่มเงินปันผลได้อีกร้อยละ 20 และซื้อหุ้นคืนได้ถึง 1.2 หมื่นล้านดอลลาร์ในปีนี้) ทั้งนี้ สัญญาณในทางลบต่อภาคการเงินสหรัฐฯ อาจส่งผลให้ สศค.ต้องนำมาพิจารณาเพื่อปรับผลการประมาณการเศรษฐกิจสหรัฐฯใหม่จากที่คาดการณ์เดิม ณ มี.ค. ว่าจะขยายตัวถึงร้อยละ 8.0 ต่อปี

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group:

Fiscal Policy Office Tel. 02-273-9020 Ext.3665 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ