รายได้รัฐบาลเดือนเมษายน 2555 และในช่วง 7 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2555

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday May 17, 2012 10:05 —กระทรวงการคลัง

นายสมชัย สัจจพงษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลังในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่ารายได้รัฐบาลสุทธิในเดือนเมษายน 2555 จัดเก็บได้ 139,520 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการตามเอกสารงบประมาณ 5,648 ล้านบาท ส่งผลให้ในช่วง 7 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2555 (ตุลาคม 2554 — เมษายน 2555) รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิสูงกว่าเป้าหมาย 37,544 ล้านบาท ดังนี้

1. เดือนเมษายน 2555 รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ 139,520 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 5,648 ล้านบาท หรือร้อยละ 4.2 โดยภาษีที่จัดเก็บได้สูงกว่าประมาณการที่สำคัญ ได้แก่ ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจัดเก็บได้สูงกว่าประมาณการจำนวน 2,341 ล้านบาท หรือร้อยละ 9.4 เนื่องจากการขยายเวลาการยื่นแบบแสดงรายการและชำระภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาทางอินเทอร์เน็ต จากวันครบกำหนดยื่นแบบฯ อีก 8 วัน ทำให้รายได้จากการยื่นชำระภาษีส่วนหนึ่งเหลื่อมมาเดือนเมษายน 2555 อากรขาเข้าจัดเก็บได้สูงกว่าประมาณการจำนวน 1,778 ล้านบาท หรือร้อยละ 21.3 เป็นผลจากการนำเข้ารถยนต์และส่วนประกอบรถยนต์ ซึ่งเป็นสินค้าที่จัดเก็บอากรในอัตราที่ค่อนข้างสูงเพิ่มขึ้นมาก นอกจากนี้ บมจ.ปตท. นำส่งเงินปันผลประจำปี 2554 ก่อนกำหนด 10,219 ล้านบาท (จากที่ประมาณการว่าจะนำส่งในเดือนพฤษภาคม 2555) อย่างไรก็ดี ภาษีน้ำมันยังคงจัดเก็บได้ต่ำกว่าประมาณการ 5,199 ล้านบาท หรือร้อยละ 51.5 จากการขยายเวลาลดอัตราภาษีน้ำมันดีเซลเหลือลิตรละ 0.005 บาท

2. ในช่วง 7 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2555 (ตุลาคม 2554— เมษายน 2555)

รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ 950,682 ล้านบาท สูงกว่าเป้าหมาย 37,544 ล้านบาท หรือร้อยละ 4.1 (สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 3.3) เนื่องจากการจัดเก็บภาษีที่สำคัญส่วนใหญ่สูงกว่าประมาณการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาษีมูลค่าเพิ่ม อากรขาเข้า ภาษีเงินได้นิติบุคคล และภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา รวมทั้งการนำส่งรายได้ของรัฐวิสาหกิจที่สูงกว่าเป้าหมาย ส่วนภาษีที่จัดเก็บได้ต่ำกว่าประมาณการ ได้แก่ ภาษีรถยนต์และภาษีน้ำมัน เป็นผลจากเหตุการณ์น้ำท่วมและการขยายเวลาการลดอัตราภาษีน้ำมันดีเซล

ผลการจัดเก็บรายได้ตามหน่วยงานจัดเก็บสรุปได้ ดังนี้

2.1 กรมสรรพากร จัดเก็บรายได้รวม 708,289 ล้านบาท สูงกว่าเป้าหมาย 23,112 ล้านบาท หรือร้อยละ 3.4 (สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 10.8) ภาษีที่จัดเก็บได้สูงกว่าประมาณการที่สำคัญ ได้แก่ ภาษีมูลค่าเพิ่มสูงกว่าประมาณการ 8,742 ล้านบาท หรือร้อยละ 2.5 โดยเฉพาะภาษีมูลค่าเพิ่มจากการนำเข้าซึ่งสูงกว่าประมาณการ 10,635 ล้านบาท หรือร้อยละ 6.4 (สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 21.9) รองลงมาได้แก่ภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจัดเก็บได้สูงกว่าประมาณการ 5,740 และ 5,363 ล้านบาท ตามลำดับ เป็นผลจากการที่เศรษฐกิจมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้การประกอบธุรกิจของบริษัทและภาวะการจ้างงานของประเทศมีการขยายตัวในทิศทางเดียวกัน ทำให้การจัดเก็บภาษีหัก ณ ที่จ่ายภาคเอกชน (ภงด 53) และภาษีจากฐานเงินเดือนและดอกเบี้ย (ภงด 1 และ 2) ได้สูงกว่าประมาณการ

2.2 กรมสรรพสามิต จัดเก็บรายได้รวม 211,460 ล้านบาท ต่ำกว่าเป้าหมาย 13,697 ล้านบาท หรือร้อยละ 6.1 (ต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 21.0) ภาษีที่จัดเก็บได้ต่ำกว่าเป้าหมายที่สำคัญ ได้แก่ ภาษีน้ำมันและภาษีรถยนต์จำนวน 11,134 และ 8,747 ล้านบาท ตามลำดับ เนื่องจากการขยายเวลาการลดอัตราภาษีน้ำมันดีเซลเหลือลิตรละ 0.005 บาท และอุตสาหกรรมรถยนต์ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยช่วงปลายปี 2554 อย่างไรก็ดี ภาษียาสูบ เบียร์ สุรา และเครื่องดื่มจัดเก็บได้สูงกว่าเป้าหมาย 3,485 1,911 901 และ 553 ล้านบาท ตามลำดับ

2.3 กรมศุลกากร จัดเก็บรายได้รวม 68,183 ล้านบาท สูงกว่าเป้าหมาย 6,833 ล้านบาท หรือร้อยละ 11.1 (สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 16.2) เนื่องจากจัดเก็บอากรขาเข้าได้สูงกว่าประมาณการ 6,773 ล้านบาท หรือร้อยละ 11.3 เป็นผลจากมูลค่าการนำเข้าที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยอัตราการขยายตัวของมูลค่านำเข้าในรูปดอลลาร์สหรัฐฯ และเงินบาทโดยเฉลี่ยในช่วง 5 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2555 (ตุลาคม 2554 — กุมภาพันธ์ 2555) สูงกว่าปีที่แล้วร้อยละ 8.1 และ 10.9 ตามลำดับ ทั้งนี้ สินค้าที่จัดเก็บอากรขาเข้าได้สูงเป็น 3 อันดับแรก ได้แก่ รถยนต์และชิ้นส่วนรถยนต์ เครื่องจักรกล และเครื่องใช้ไฟฟ้าและส่วนประกอบ

2.4 รัฐวิสาหกิจ นำส่งรายได้ 77,494 ล้านบาท สูงกว่าเป้าหมาย 10,168 ล้านบาท หรือร้อยละ 15.1 (สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 21.7) เนื่องจากบมจ.กสท โทรคมนาคม การท่าเรือแห่งประเทศไทย และโรงงานยาสูบนำส่งรายได้/จ่ายเงินปันผลสูงกว่าประมาณการ 937 770 และ 660 ล้านบาท ตามลำดับ นอกจากนี้ บมจ.ปตท. นำส่งเงินปันผลประจำปี 2554 ก่อนกำหนด 10,219 ล้านบาท (จากที่ประมาณการว่าจะนำส่งในเดือนพฤษภาคม 2555)

2.5 หน่วยงานอื่น จัดเก็บรายได้รวม 60,569 ล้านบาท สูงกว่าเป้าหมาย 1,854 ล้านบาท หรือร้อยละ 3.2 (สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 4.1) เนื่องจากกรมศุลกากรได้ส่งคืนเงินที่กันไว้เพื่อชดเชยค่าภาษีอากรสำหรับผู้ส่งออกสินค้าเหลือจ่ายจำนวน 4,655 ล้านบาท และกรมสรรพสามิต ได้นำส่งเงินค่าใช้จ่ายเก็บภาษีท้องถิ่นคืนเป็นรายได้แผ่นดินจำนวน 2,000 ล้านบาท อย่างไรก็ดี การจัดเก็บรายได้จากสัมปทานปิโตรเลียมต่ำกว่าประมาณการ 1,515 ล้านบาท นอกจากนี้ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติได้เลื่อนการนำส่งค่าใบอนุญาตกิจการโทรคมนาคม (จากที่ประมาณการว่าจะนำส่งในเดือนมกราคม 2555)

          2.6 การคืนภาษีของกรมสรรพากร จำนวน 139,331 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ              9,898 ล้านบาท หรือร้อยละ 6.6 ประกอบด้วยการคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม 113,504 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 4,996 ล้านบาท หรือร้อยละ 4.2 และการคืนภาษีอื่นๆ (ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีธุรกิจเฉพาะ และอากรแสตมป์) จำนวน 25,827 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 4,902

ล้านบาท หรือร้อยละ 16.0

2.7 การจัดสรรภาษีมูลค่าเพิ่มให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ตาม พ.ร.บ.กำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจฯ ให้แก่ อปท. ในปีงบประมาณ 2555 ได้มีการจัดสรรภาษีมูลค่าเพิ่มให้แก่ อปท. แล้ว 3 งวด เป็นจำนวน 20,615 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 695 ล้านบาท หรือร้อยละ 3.5

นายสมชัยฯ สรุปว่า “ภาวะเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องทั้งการบริโภคและการนำเข้ารวมถึงการดำเนินนโยบายและมาตรการต่าง ๆ ของรัฐบาล ประกอบกับการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมรถยนต์ภายหลังเหตุการณ์อุทกภัยจะเป็นปัจจัยที่ส่งผลดีต่อการจัดเก็บรายได้ทำให้กระทรวงการคลังมั่นใจว่าการจัดเก็บรายได้ในปีนี้จะใกล้เคียงกับเป้าหมายที่ตั้งไว้ 1.98 ล้านล้านบาท แม้ว่าจะได้รับผลกระทบจากการขยายเวลาการลดภาษีน้ำมันดีเซลก็ตาม”

สำนักนโยบายการคลัง

สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง

โทร. 02 273 9020 ต่อ 3500 และ 3562

--ข่าวกระทรวงการคลัง กลุ่มการประชาสัมพันธ์ สนง.ปลัดกระทรวงการคลัง ฉบับที่ 54/2555 14 พฤษภาคม 2555--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ