Executive Summary
Indicators this week
- รายได้สุทธิของรัฐบาล เดือน เม.ย.55 (หลังหักจัดสรรให้ อปท.) มีจำนวน 139.5 พันล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 6.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
- หนี้สาธารณะคงค้าง ณ สิ้นเดือน มี.ค.55 มีจำนวนทั้งสิ้น 4,473.2 พันล้านบาท
- นักท่องเที่ยวต่างประเทศที่เดินทางเข้าประเทศไทยในเดือน เม.ย. 55 มีจำนวนทั้งสิ้น 1.66 ล้านคน หรือขยายตัวร้อยละ 6.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
- ปริมาณการจำหน่ายรถกรยานยนต์ในเดือน เม.ย.55 ขยายตัวที่ร้อยละ 4.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
- ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์นั่งในเดือน เม.ย.55 ขยายตัวที่ร้อยละ 23.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนในขณะที่ ปริมาณจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ขยายตัวร้อยละ 35.2
- GDP ญี่ปุ่น ไตรมาส 1 ปี 55 ขยายตัวเร่งขึ้นร้อยละ 2.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ในขณะที่ GDP สิงคโปร์ ขยายตัวเพียงร้อยละ 1.6
- GDP อินโดนีเซีย ไตรมาส 1 ปี 55 ขยายตัวร้อยละ 6.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อนในขณะที่ GDP ฮ่องกง ขยายตัวร้อยละ 0.4
- อัตราว่างงานสหรัฐฯในเดือน เม.ย.55 ปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ร้อยละ 8.1 ของกำลังแรงงานรวม
Indicators next week
Indicators Forecast Previous Apr: API(%YoY) 2.0 -0.3
- ตามการเพิ่มขึ้นของผลผลิตในหมวดพืชผล และปศุสัตว์เป็นสำคัญโดยเฉพาะยางพารา ผลผลิตไก่ และสุกร เนื่องจากสภาพภูมิอากาศเอื้ออำนวยต่อการผลิตและเก็บเกี่ยว ในขณะที่ผลผลิตข้าวคาดว่าจะขยายตัวชะลอลงเนื่องจากผลกระทบน้ำท่วมในช่วงปลายปีที่แล้วส่งผลให้การเก็บเกี่ยวผลผลิตล่าช้าออกไป ประกอบกับความเสียหายจากโรคระบาดรอบใหม่
Economic Indicators: This Week
- รายได้สุทธิของรัฐบาล เดือน เม.ย. 55 (หลังหักจัดสรรให้ อปท.) มีจำนวน 139.5 พันล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 6.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และเมื่อปรับผลทางฤดูกาลแล้วขยายตัวร้อยละ 0.6 ต่อเดือน โดยภาษีที่สำคัญมาจาก (1) ภาษีฐานการบริโภค (ภาษีมูลค่าเพิ่ม) ขยายตัวร้อยละ 12.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และเมื่อปรับผลทางฤดูกาลแล้วหดตัวร้อยละ-1.2 สะท้อนการบริโภคเริ่มขยายตัวในอัตราที่ชะลอตัวลง โดยเฉพาะการบริโภคสินค้านำเข้า หลังจากที่ได้มีการเร่งการบริโภคในช่วงเดือน ม.ค. - ก.พ. 55 (2) อากรขาเข้าขยายตัวร้อยละ 37.3 เนื่องมาจากการนำเข้ารถยนต์และส่วนประกอบรถยนต์ ซึ่งเป็นสินค้าที่จัดเก็บอากรในอัตราที่ค่อนข้างสูงเพิ่มขึ้นมาก และ (3) ภาษีฐานรายได้ขยายตัวร้อยละ 19.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนและเมื่อปรับผลทางฤดูกาลแล้ว ขยายตัวถึงร้อยละ 14.4 เนื่องจากการขยายเวลายื่นแบบฯทางอินเตอร์เน็ตอีก8 วัน ทำให้รายได้เหลื่อมมาในเดือนเม.ย. ทั้งนี้ รัฐบาลมีรายได้สุทธิ (หลังหักจัดสรรให้ อปท.) ในช่วง 7 เดือนแรกของปี 55 จำนวน 950.7 พันล้านบาท สูงกว่าประมาณการตามเอกสารงบประมาณ 37.5 พันล้านบาท หรือร้อยละ 4.1 และสูงกว่าปีงบประมาณก่อนหน้า 30.0 พันล้านบาท หรือร้อยละ 3.3
- ภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ระดับราคาคงที่ ในเดือน เม.ย. 55 มีมูลค่า 52.1 พันล้านบาท หรือขยายตัวร้อยละ 9.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ชะลอลงจากเดือนก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 11.3 ตามการชะลอตัวของภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ระดับราคาคงที่ ที่จัดเก็บบนฐานการนำเข้า โดยขยายตัวร้อยละ 10.0 จากเดือนก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 19.1 ในขณะที่ภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ระดับราคาคงที่ ที่จัดเก็บบนฐานการบริโภคในประเทศขยายตัวร้อยละ 9.2 ต่อเนื่องจากเดือนก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 3.7
- ภาษีจากการทำธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์รวมในเดือน เม.ย. 55 ขยายตัวร้อยละ 1.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ขยายตัวชะลอลงจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 12.8 และเมื่อขจัดผลทางฤดูกาลออกพบว่าหดตัวร้อยละ -3.9 ต่อเดือน เนื่องจากผู้บริโภคยังคงระมัดระวังในการตัดสินใจซื้อที่อยู่อาศัยจากสถานการณ์เศรษฐกิจที่ยังไม่แน่นอน และภาวะราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลให้การทำธุรกรรมการโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยชะลอออกไปก่อน อย่างไรก็ดี แนวโน้มภาคอสังหาริมทรัพย์คาดว่าจะขยายตัวต่อเนื่องจากแรงขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจภายในประเทศประกอบกับนโยบายภาครัฐในการกระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์ด้วยมาตราการสิทธิประโยชน์ทางภาษีและเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ ซึ่งจะช่วยกระตุ้นความต้องการซื้อที่อยู่อาศัยมากขึ้น
- หนี้สาธารณะคงค้าง ณ สิ้นเดือน มี.ค. 55 มีจำนวนทั้งสิ้น 4,473.2 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า 122.0 พันล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 41.4 ของ GDP ทั้งนี้ การเพิ่มขึ้นของหนี้สาธารณะที่สำคัญเกิดจากหนี้ของรัฐบาล เพิ่มขึ้นสุทธิ 124.8 พันล้านบาท โดยมีรายการสำคัญจากหนี้ที่รัฐบาลกู้โดยตรงเพิ่มขึ้น 112.0 พันล้านบาท โดยเฉพาะการกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณและการออกตั๋วเงินคลังจำนวน 70.1 และ 40.0 พันล้านบาท ตามลำดับ ทั้งนี้ สถานะหนี้สาธารณะของไทยถือว่ามีความมั่นคง สะท้อนได้จากสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ยังอยู่ในระดับต่ำกว่ากรอบความยั่งยืนทางการคลังที่ตั้งไว้ไม่เกินร้อยละ 60 ของ GDP และหนี้สาธารณะส่วนใหญ่เป็นหนี้ระยะยาว (ร้อยละ 97.3 ของยอดหนี้สาธารณะ) และเป็นสกุลเงินบาท (ร้อยละ 92.8 ของยอดหนี้สาธารณะ)
- นักท่องเที่ยวต่างประเทศที่เดินทางเข้าประเทศไทยในเดือน เม.ย. 55 มีจำนวนทั้งสิ้น 1.66 ล้านคน ขยายตัวร้อยละ 6.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และขยายตัวร้อยละ 4.5 เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังหักผลทางฤดูกาล (m-o-m _SA) โดยเป็นการขยายตัวได้ดีจากกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือและกลุ่มประเทศยุโรปเป็นหลักโดยเฉพาะจาก จีน สวีเดนและรัสเซีย ที่ขยายตัวร้อยละ 42.1 101.5 และ 20.0 ตามลำดับ
- ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมเดือนเม.ย. 55 อยู่ที่ระดับ 104.0 ปรับเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ระดับ 102.1 ซึ่งเป็นการปรับตัวเพิ่มขึ้นติดต่อกันเป็นเดือนที่ 5 และเป็นค่าดัชนีที่อยู่ในระดับเกิน 100 เป็นเดือนที่ 3 ติดต่อกันหลังอุทกภัยที่ผ่านมา สะท้อนความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่องและภาคการผลิตกลับเข้าสู่ภาวะปกติ ประกอบกับอุปสงค์ภายในประเทศที่ยังคงขยายตัวต่อเนื่องและค่าใช้จ่ายที่เพิ่มมากขึ้นในช่วงเทศกาลสงกรานต์ แต่อย่างไรก็ตามผู้ประกอบการ SMEs ยังคงมีความกังวลต่อต้นทุนการผลิตที่ปรับเพิ่มขึ้นจากราคาน้ำมันและค่าแรง
- ปริมาณการจำหน่ายรถจักรยานยนต์ในเดือน เม.ย.55 ขยายตัวที่ร้อยละ 4.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากเดือนก่อนที่หดตัวร้อยละ -1.2 หรือขยายตัวร้อยละ 36.9 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า (หลังขจัดผลทางฤดูกาลแล้ว) ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาในรายละเอียดพบว่า ยอดขายรถจักรยานยนต์ในส่วนของภูมิภาค (สัดส่วนร้อยละ 80.0 ของยอดขายรถจักรยานยนต์รวม) ขยายตัวร้อยละ 3.0 จากเดือนก่อนที่หดตัวร้อยละ -1.7 ในขณะที่ยอดขายรถจักรยานยนต์ในกทม. (สัดส่วนร้อยละ 20.0 ของยอดขายรถจักรยานยนต์รวม) ขยายตัวในอัตราเร่งที่ร้อยละ 9.7 จากเดือนก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 0.8 สะท้อนถึงการบริโภคภาคเอกชนในหมวดสินค้าคงทนอยู่ในช่วงของการฟื้นตัวจากช่วงปลายปี 54
- ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์นั่งในเดือน เม.ย. 55 มีจำนวน 3.82 หมื่นคันหรือขยายตัวเร่งขึ้นที่ร้อยละ 23.4 เมื่อเทียบกับ ช่วงเดียวกันของปีก่อน จากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -3.3 และเมื่อขจัดผลทางฤดูการออก(m-o-m_SA) พบว่าขยายตัวร้อยละ 4.7 โดยส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากความเชื่อมั่นของผู้บริโภคต่อเศรษฐกิจโดยรวมเริ่มมีทิศทางที่ดีขึ้น ประกอบกับกำลังการผลิตของค่ายรถยนต์ต่างๆ เริ่มกลับเข้าสู่ภาวะปกติ ทำให้สามารถเพิ่มการส่งมอบรถยนต์ให้กับผู้บริโภคได้มากขึ้น
- ปริมาณจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ในเดือน เม.ย. 55 มีจำนวน 4.9 หมื่นคันหรือขยายตัวร้อยละ 35.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่4 ติดต่อกัน จากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 36.7 โดยได้รับปัจจัยบวกมาจากการเพิ่มขึ้นของปริมาณจำหน่ายรถกระบะขนาด 1 ตัน จำนวน 4.2 หมื่นคันหรือขยายตัวร้อยละ 34.8 ส่วนหนึ่งมาจากปัจจัยฐานการคำนวณต่ำเมื่อปีที่แล้วที่ได้รับผลกระทบจากสึนามิในประเทศญี่ปุ่นประกอบกับความต้องการของตลาดที่เพิ่มสูงขึ้น รวมถึงความนิยมอย่างต่อเนื่องในรถยนต์รุ่นใหม่ทั้งรุ่นที่เพิ่งแนะนำในปี55 และปีก่อน
Economic Indicators: Next Week
- ดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตร ในเดือนเม.ย.55 คาดว่าจะขยายตัวเล็กน้อยที่ร้อยละ 2.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนจากเดือนก่อนที่หดตัวร้อยละ -0.3 ตามการเพิ่มขึ้นของผลผลิตในหมวดพืชผล และปศุสัตว์เป็นสำคัญ โดยเฉพาะยางพารา ผลผลิตไก่ และสุกร เนื่องจากสภาพภูมิอากาศเอื้ออำนวยต่อการผลิตและเก็บเกี่ยว ในขณะที่ผลผลิตข้าวคาดว่าจะขยายตัวชะลอลงเนื่องจากผลกระทบน้ำท่วมในช่วงปลายปีที่แล้วส่งผลให้การเก็บเกี่ยวผลผลิตล่าช้าออกไป ประกอบกับความเสียหายจากโรคระบาดรอบใหม่
Global Economic Indicators: This Week
USA: mixed signal
- USA การจ้างงานนอกภาคเกษตรสหรัฐฯ เดือน เม.ย. 55 เพิ่มขึ้น 115,000 ตำแหน่งจากเดือนก่อนหน้า ผลจากการจ้างงานภาคเอกชนโดยเฉพาะภาคบริการที่ดีขึ้นต่อเนื่องในขณะที่อัตราว่างงานปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ร้อยละ 8.1 ของกำลังแรงงานรวม อัตราเงินเฟ้อเดือน เม.ย. 55 ลดลงมาอยู่ที่ร้อยละ 2.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน จากราคาเชื้อเพลิงที่ลดลง ยอดค้าปลีกเดือน เม.ย. 55 ขยายตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ4.5 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ดุลการค้าสหรัฐฯ เดือนมี.ค. 55 ขาดดุลเร่งขึ้นที่ -58.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ จากการนำเข้าที่เร่งตัวขึ้น
China: mixed signal
- มูลค่าการส่งออก เดือน เม.ย. 55 ขยายตัวร้อยละ 4.9 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงจากเดือนก่อน จากอุปสงค์ภายนอกประเทศที่ชะลอตัวลงมาก โดยเฉพาะจากยูโรโซน (คู่ค้าสำคัญอันดับ 3 สัดส่วนร้อยละ 13.9) มูลค่าการนำเข้า เดือน เม.ย. 55 ขยายตัวร้อยละ 0.3 ชะลอลงจากเดือนก่อน จากอุปสงค์ภายในประเทศที่ชะลอตัว ขณะที่ดุลการค้าเดือน เม.ย. 55 ยังเกินดุล 18.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ การชะลอตัวของมูลค่าการนำเข้าสอดคล้องกับเครื่องชี้เศรษฐกิจในประเทศอื่นๆคือ อัตราเงินเฟ้อ ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม และยอดค้าปลีก เดือน เม.ย. 55 ที่ขยายตัวชะลอลงจากเดือนก่อนอยู่ที่ร้อยละ 3.4 13.9 และ 17.1 ตามลำดับ
Euro Zone: worsening economic trend
- ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม เดือน มี.ค. 55 หดตัวร้อยละ -2.2 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน หรือหดตัวร้อยละ -0.3 จากเดือนก่อน (mom_sa) ผลจากการหดตัวของสินค้าในหมวดพลังงานและสินค้าทุนเป็นสำคัญ GDP ไตรมาส 1 ปี 55 (ตัวเลขเบื้องต้น) ไม่มีการขยายทั้งในระดับ yoy และ qoq อัตราเงินเฟ้อ เดือน เม.ย. 55 อยู่ที่ร้อยละ 2.6 จากการปรับตัวสูงขึ้นของราคาสินค้าในหมวดพลังงาน
Japan: improving economic trend
- GDP ไตรมาส 1 ปี 55 ขยายตัวเร่งขึ้นร้อยละ 2.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากอุปสงค์ในประเทศที่ขยายตัวเร่งขึ้นเป็นสำคัญ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือน เม.ย. 55 ลดลงจากเดือนก่อนมาอยู่ที่ระดับ 40.0 ขณะที่ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม(ตัวเลขปรับปรุง) เดือน มี.ค. 55 ที่ขยายตัวเร่งขึ้นร้อยละ 1.3 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากอุปสงค์ภายนอกประเทศที่ปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง
Singapore: mixed signal
- GDP ไตรมาส 1 ปี 55 ขยายตัวเพียงร้อยละ 1.6 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หรือขยายตัวร้อยละ 2.6 จากไตรมาสก่อน (ขจัดผลทางฤดูกาล) จากอุตสาหกรรมขยายตัว และยอดค้าปลีก เดือน มี.ค. 55 ขยายตัวร้อยละ 9.1 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ขณะที่มูลค่าการส่งออกหักน้ำมัน เดือน เม.ย. 55 ขยายตัวร้อยละ 8.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากการส่งออกผลิตภัณฑ์ยาที่เพิ่มขึ้นโดยอิเล็กทรอนิกส์ยังชะลอตัว
Indonesia: mixed signal
- GDP ไตรมาส 1 ปี 55 ขยายตัวร้อยละ 6.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หรือขยายตัวร้อยละ 1.2 จากไตรมาสก่อน (ขจัดผลทางฤดูกาล) จากการชะลอตัวของการส่งออก โดยเฉพาะที่ไปยังจีน และการชะลอตัวของการลงทุนภาคเอกชน
Malaysia: mixed signal
- มูลค่าการส่งออก เดือน มี.ค. 55 หดตัวร้อยละ -0.1 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ทั้งส่งออกไปจีน (คู่ค้าสำคัญอันดับ 2 สัดส่วนร้อยละ 12.4) ที่หดตัวร้อยละ -11.0 และส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์หดตัวร้อยละ -6.0 ขณะที่มูลค่าการนำเข้าขยายตัวร้อยละ 1.6 แต่ดุลการค้ายังเกินดุล 10.5 พันล้านริงกิต
Philippines: mixed signal
- มูลค่าส่งออก เดือน มี.ค. 55 หดตัวร้อยละ -1.2 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากการส่งออกไปญี่ปุ่น (คู่ค้าสำคัญอันดับ 1 สัดส่วนร้อยละ 18.5) หดตัวร้อยละ 12.6
Hong Kong: mixed signal
- GDP ไตรมาส 1 ปี 55 ขยายตัวร้อยละ 0.4 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงจากไตรมาสก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 3.0 จากภาคการส่งออก ซึ่งมีสัดส่วนกว่า 2 เท่าของ GDP ที่หดตัวร้อยละ -3.8 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
South Korea: worsening economic trend
- วันที่ 10 พ.ค.55 ธนาคารกลางเกาหลีใต้ประกาศคงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ไว้ที่ร้อยละ 3.25 เพื่อดูสถานการณ์จากคาดการณ์เงินเฟ้อที่อาจเพิ่มขึ้นจากปัญหาการเมืองในตะวันออกกลาง ขณะที่เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มชะลอลง มูลค่าการส่งออก (ตัวเลขปรับปรุง) เดือน เม.ย. 55 หดตัวร้อยละ -4.8 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากการหดตัวของการส่งออกไปยังสหภาพยุโรปและจีน ขณะที่มูลค่าการนำเข้า (ตัวเลขปรับปรุง) เดือน เม.ย. 55 หดตัวร้อยละ -0.2
Australia: mixed signal
- อัตราการว่างงาน เดือน เม.ย.55 ลดลงจากเดือนก่อนหน้ามาอยู่ที่ร้อยละ 4.9 ของกำลังแรงงานรวม จากการจ้างงานที่เพิ่มขึ้นกว่า 15,500 คน สะท้อนอุปสงค์ในประเทศที่ปรับตัวดีขึ้น ท่ามกลางอุปสงค์ภายนอกประเทศที่ชะลอลง สะท้อนจากมูลค่าการส่งออก เดือน มี.ค. 55 หดตัวร้อยละ -1.8 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ขณะที่มูลค่าการนำเข้า เดือน มี.ค. 55 ขยายตัวร้อยละ 8.4 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 9.3
India: worsening economic trend
- ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม เดือน มี.ค.55 หดตัวร้อยละ -3.5 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากการผลิตในหมวดสินค้าทุนที่หดตัวกว่าร้อยละ -21.3 บ่งชี้ภาคการลงทุนที่มีแนวโน้มชะลอลง ขณะที่อัตราเงินเฟ้อ เดือน เม.ย. 55 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้ามาอยู่ที่ร้อยละ 7.2 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากราคาอาหารที่เพิ่มขึ้น สะท้อนแรงกดดันจากเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้น ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอลง
Weekly Financial Indicators
- ดัชนี SET ปรับตัวลดลงจากสัปดาห์ก่อนหน้า ต่ำกว่าระดับ 1,200 จุด และมีความผันผวนระหว่างวันสูง จากข่าวการเลือกตั้งทั่วไปของกรีซที่ผลเลือกตั้งไม่เด็ดขาดและทำให้กรีซไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ และมีความเสี่ยงว่ากรีซอาจไม่ทำตามข้อตกลงมาตรการรัดเข็มขัดซึ่งเป็นเงื่อนไขในการขอรับเงินช่วยเหลือจากIMF และ EU อีกทั้งมีการคาดการณ์ว่ากรีซอาจเลิกใช้เงินสกุลยูโร ส่งผลให้กองทุนมีความวิตกและเทขายหลักทรัพย์จำนวนมาก ทั้งนี้ ระหว่างวันที่ 14 - 17 พ.ค.55 นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิ 2,008 ล้านบาท ในขณะที่ผลตอบแทนพันธบัตรของไทยปรับตัวลดลงในช่วงต้นสัปดาห์ ก่อนจะกลับมาปรับตัวสุงขึ้นในช่วงปลายสัปดาห์ โดยเฉพาะในพันธบัตรช่วงอายุน้อยกว่า 3 ปีจากการเทขายพันธบัตรระยะสั้นของนักลงทุนเนื่องจากความไม่แน่นอนของสถานการณ์ในยุโรป ทั้งนี้ ระหว่างวันที่ 14 - 17 พ.ค.55 นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิ -8,022 ล้านบาท
- ค่าเงินบาทในสัปดาห์นี้อ่อนค่าลงมาก โดยปิดที่ระดับ 31.42 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ณ วันที่ 17 พ.ค. 55 อ่อนค่าลงจากสัปดาห์ก่อนหน้าร้อยละ -0.96 ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกับเงินสกุลภูมิภาค ไม่ว่าจะเป็นเงินยูโร ริงกิตมาเลเซีย วอนเกาหลี ดอลลาร์สิงคโปร์ อย่างไรก็ตาม เงินสกุลดอลลาร์สหรัฐและเยนซึ่งเป็นสกุลเงินของคู่ค้าหลักของไทยแข็งค่าขึ้น ส่งผลให้ ดัชนีค่าเงินบาท (NEER) ในสัปดาห์นี้อ่อนค่าลงจากสัปดาห์ก่อนหน้าเล็กน้อยที่ร้อยละ -0.36
- ราคาทองคำปรับตัวลดลงในช่วงต้นสัปดาห์ก่อนจะปรับเพิ่มขึ้นในช่วงปลายสัปดาห์ โดยราคาทองคำ ณ วันที่ 17 พ.ค. 55 ปิดที่ 1,572 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ เพิ่มขึ้นจากต้นสัปดาห์ที่ปิดที่ 1,556 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์
ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office
Tel 02-273-9020 Ext 3665 : www.fpo.go.th