รายงานภาวะเศรษฐกิจรายสัปดาห์ระหว่างวันที่ 21 - 25 พฤษภาคม 2555

ข่าวเศรษฐกิจ Monday May 28, 2012 15:23 —กระทรวงการคลัง

Executive Summary

Indicators this week
  • เศรษฐกิจไทยในไตรมาส 1 ปี 55 ขยายร้อยละ 0.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน
  • ผลการเบิกจ่ายงบประมาณในเดือนเม.ย.55 เบิกจ่ายได้ทั้งสิ้นจำนวน 157.6 พันล้านบาท หรือขยายตัวร้อยละ 12.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
  • การส่งออกในเดือน เม.ย.55 มี หดตัวร้อยละ -3.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ในขณะที่การนำเข้า ขยายตัวชะลอลงร้อยละ 7.9
  • ปริมาณจำหน่ายปูนซิเมนต์ภายในประเทศในเดือน เม.ย.55 ขยายตัวร้อยละ 4.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
  • อัตราการว่างงาน ในเดือน มี.ค.55 อยู่ที่ร้อยละ 0.7 ของกำลังแรงงานรวม
  • ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรมจัดทำโดย HSBC (ตัวเลขเบื้องต้น) ของจีน ใน เดือน พ.ค.55 อยู่ที่ระดับ 48.7
  • วันที่ 23 พ.ค.55 ธนาคารกลางญี่ปุ่นประกาศคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ช่วงร้อยละ 0-0.1
  • ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ(ตัวเลขเบื้องต้น)สหภาพยุโรป เดือน พ.ค.55 อยู่ที่ระดับ 45.9
  • GDP มาเลเซีย ไตรมาส 1 ปี 55 ขยายตัวร้อยละ 4.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนหน้า
Indicators next week
 Indicators                          Forecast            Previous
May: Headline Inflation(%YoY)          2.4                  2.5
  • โดยมีสาเหตุหลักจากราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศมีการปรับตัวลดลงตามการลดลงของราคาน้ำมันดิบโลก อย่างไรก็ตาม อัตราเงินเฟ้อยังได้รับแรงกดดันจากราคาหมวดอาหารและเครื่องดื่มที่มีการปรับตัวสูงขึ้นโดยเฉพาะอาหารจำพวกเนื้อสัตว์ประเภทเนื้อหมู เนื้อไก่ และผักสด ประกอบกับมีการปรับค่าโดยสารรถสาธารณะบางประเภทเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ดี คาดว่าดัชนีราคาผู้บริโภคยังจะมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนที่ผ่านมาที่ร้อยละ 0.13 (%mom)
Apr: MPI(%YoY)                         0.5                 -3.2
  • โดยมีปัจจัยบวกจากการขยายการผลิตอย่างต่อเนื่องในหมวดอุตสาหกรรมหลักๆ ได้แก่ ยานยนต์ และอาหาร ขณะที่ยังคงมีปัจจัยลบจากการฟื้นตัวที่ล่าช้าในหมวดอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีการผลิตในระดับสูง อาทิ อิเล็กทรอนิกส์ ฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ ที่ต้องอาศัยการนำเข้าเทคโนโลยีและเครื่องจักรจากต่างประเทศ เพื่อทดแทนส่วนเดิมที่เสียหายนอกจากนี้ ในส่วนอุตสาหกรรมสิ่งทอและเสื้อผ้าสำเร็จรูปยังคงชะลอการผลิตจากปัจจัยการผลิต อาทิ วัตถุดิบ และค่าแรงมีราคาเพิ่มขึ้น
Economic Indicators: This Week
  • เศรษฐกิจไทยในไตรมาส 1 ปี 55 ขยายร้อยละ 0.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ฟื้นตัวจากไตรมาสก่อนที่หดตัวร้อยละ -8.9 และเมื่อพิจารณาผลของฤดูกาลออก(QoQ_SA) พบว่าขยายตัวร้อยละ 11.0 โดยมีแรงขับเคลื่อนหลักจากอุปสงค์ในประเทศที่ขยายตัวดี โดยเฉพาะการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนที่ขยายตัวเร่งขึ้นร้อยละ 2.7 และร้อยละ 9.2 จากไตรมาสก่อนที่หดตัวร้อยละ -2.8 และร้อยละ -1.3 ตามลำดับ ในขณะที่อุปสงค์จากต่างประเทศหดตัวในอัตราชะลอลง จากการส่งออกสินค้าที่หดตัวร้อยละ -5.0 จากไตรมาสก่อนที่หดตัวร้อยละ -6.9 ตามทิศทางการฟื้นตัวของการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมสำคัญ ส่วนด้านการผลิตส่งสัญญาณฟื้นตัวเช่นกัน โดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรมหดตัวเหลือเพียงร้อยละ -4.2 เทียบกับไตรมาสก่อนหน้าที่หดตัวสูงถึงร้อยละ -21.6 ตามภาคการผลิตที่กลับมาขยายตัวเกือบเป็นปกติ หลังจากปัญหาอุทกภัยคลี่คลายลง
  • ผลการเบิกจ่ายงบประมาณในเดือนเม.ย.55 สามารถเบิกจ่ายได้ทั้งสิ้นจำนวน 157.6 พันล้านบาท ขยายตัวร้อย ละ 12.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยในเดือนเม.ย.55 มีการเบิกจ่ายงบประมาณปีปัจจุบันจำนวน 150.3 พันล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 11.3 แบ่งออกเป็น (1) รายจ่ายประจำจำนวน 135.2 พันล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 11.9 (2) รายจ่ายลงทุนจำนวน 15.0 พันล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 5.8 ทั้งนี้ การเบิกจ่ายงบประมาณที่สำคัญ ได้แก่ รายจ่ายของกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติจำนวน 20.4 พันล้านบาท รายจ่ายเงินอุดหนุนของกระทรวงศึกษาธิการจำนวน 5.6 พันล้านบาท เป็นต้น สำหรับการเบิกจ่ายงบประมาณจากปีก่อนเบิกจ่ายได้จำนวน 7.3 พันล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 57.6 ทั้งนี้ การเบิกจ่ายในช่วง 7 เดือนแรกของปีงบประมาณ 55 สามารถเบิกจ่ายได้จำนวน 1,426.9 พันล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 9.9
  • ฐานะการคลังของรัฐบาลตามระบบกระแสเงินสดในเดือน เม.ย. 55พบว่า ดุลงบประมาณขาดดุลจำนวน -22.5 พันล้านบาท และเมื่อรวมกับดุลเงินนอกงบประมาณที่เกินดุลจำนวน 37.3 พันล้านบาท โดยมีสาเหตุหลักจากการประมูลตั๋วเงินคลังจำนวน 60.0 พันล้านบาท ซึ่งส่งผลให้ดุลเงินสด (ก่อนกู้) เกินดุลจำนวน 14.8 ล้านบาท ทั้งนี้ ปริมาณเงินคงคลัง ณ สิ้นเดือน เม.ย.55 อยู่ที่ 169.9 พันล้านบาท
  • ปริมาณจำหน่ายปูนซิเมนต์ภายในประเทศในเดือน เม.ย.55 ขยายตัวร้อยละ 4.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 4.6 และเมื่อปรับผลทางฤดูกาล หดตัวร้อยละ -0.7 ลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 1.1 ทั้งนี้ ทิศทางการลงทุนในหมวดการก่อสร้างมีแนวโน้มดีขึ้นตามการเพิ่มขึ้นของอุปสงค์ในตลาดอสังหาริมทรัพย์ แม้ว่าจะต้องเผชิญแรงกดดันจากต้นทุนวัสดุก่อสร้างที่ปรับตัวสูงขึ้น โดยดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างเดือน เม.ย.55 ขยายตัวร้อยละ 4.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 4.5
  • การส่งออกในเดือน เม.ย.55 มีมูลค่าอยู่ที่ 16,920 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัวร้อยละ -3.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกัน ของปีก่อน หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.5 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหลังขจัดผลทางฤดูกาลแล้ว สะท้อนว่าการส่งออกเริ่มกลับมาฟื้นตัวแล้วหลังประสบมหาอุทกภัย อย่างไรก็ดี จะยังเห็นตัวเลขการส่งออกติดลบอยู่ เนื่องจากการส่งออกทองคำการหดตัวของหมวดสินค้าเกษตรกรรม โดยเฉพาะยางพารา และการขยายตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปของหมวดสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ สำหรับตลาดส่งออก พบว่าการส่งออกไปยังประเทศจีน มาเลเซีย และอินโดนีเซีย ขยายตัวได้ดี ขณะที่การส่งออกไปยังประเทศญี่ปุ่น ฮ่องกง และเวียดนามหดตัว ทั้งนี้ การหดตัวของการส่งออกในเดือนนี้เป็นผลมาจากราคาส่งออกที่ขยายตัวชะลอลงต่อเนื่องที่ร้อยละ0.7 ตามราคาสินค้าเกษตรและเชื้อเพลิงที่ชะลอลงในตลาดโลก และปริมาณการส่งออกที่หดตัวร้อยละ -4.3
  • การนำเข้าในเดือน เม.ย.55 มีมูลค่าอยู่ที่ 19,787 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวชะลอลงร้อยละ 7.9 เมื่อเทียบกับช่วง เดียวกันของปีก่อน หรือหดตัวร้อยละ -14.8 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหลังขจัดผลทางฤดูกาลแล้วจากการเร่งนำเข้าในเดือนที่แล้ว เพิ่มขึ้นในเกือบทุกหมวดสินค้า ยกเว้นสินค้าเชื้อเพลิงที่หดตัวร้อยละ -5.7 ตามราคาน้ำมันดิบที่ผันผวนในตลาดโลก สินค้านำเข้าสำคัญ ได้แก่ สินค้าทุนที่ใช้ในภาคโรงงานและอสังหาริมทรัพย์ สินค้าอุปโภคบริโภค และสินค้ายานพาหนะและชิ้นส่วน ทั้งนี้ การเพิ่มขึ้นในระดับสูงของการนำเข้าเป็นผลมาจากราคานำเข้าที่ขยายตัวชะลอลงต่อเนื่องร้อยละ2.8 ต่อปี และปริมาณการนำเข้าที่ขยายตัวชะลอลงร้อยละ 4.9 ต่อปี ทั้งนี้ มูลค่าการส่งออกที่น้อยกว่ามูลค่าการนำเข้าทำให้ดุลการค้าในเดือนเม.ย. 55 ขาดดุลต่อเนื่องที่-2,868 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
  • การจ้างงานเดือน มี.ค.55 อยู่ที่ 38.2 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า 3.86 แสนคน ขณะที่เมื่อปรับผลทางฤดูกาล พบว่าการจ้างงานเพิ่มขึ้น 1.9 แสนคนจากเดือนก่อนหน้า โดยมีสาเหตุมาจากการจ้างงานภาคเกษตรและภาคอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น ขณะที่การจ้างงานภาคบริการมีการปรับตัวลดลง เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า โดยมีอัตราการว่างงานอยู่ที่ร้อยละ 0.7 ของกำลังแรงงานรวม คิดเป็นผู้ว่างงาน 2.8 แสนคน
Economic Indicators: Next Week
  • อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือน พ.ค. 55 คาดว่าจะอยู่ที่ร้อยละ 2.4 ลดลงจากเดือนก่อนหน้าเล็กน้อย โดยมีสาเหตุหลักจากราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศมีการปรับตัวลดลงตามการลดลงของราคาน้ำมันดิบโลก อย่างไรก็ตาม อัตราเงินเฟ้อยังได้รับแรงกดดันจากราคาหมวดอาหารและเครื่องดื่มที่มีการปรับตัวสูงขึ้นโดยเฉพาะอาหารจำพวกเนื้อสัตว์ประเภทเนื้อหมู เนื้อไก่ และผักสด ประกอบกับมีการปรับค่าโดยสารรถสาธารณะบางประเภทเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ดี คาดว่าดัชนีราคาผู้บริโภคยังจะมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนที่ผ่านมาที่ร้อยละ 0.13 (%mom)
  • ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือน เม.ย. คาดว่าจะขยายตัวเล็กน้อยที่ร้อยละ 0.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมีปัจจัยบวกจากการขยายการผลิตอย่างต่อเนื่องในหมวดอุตสาหกรรมหลักๆ ได้แก่ ยานยนต์ และอาหาร ขณะที่ยังคงมีปัจจัยลบจากการฟื้นตัวที่ล่าช้าในหมวดอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีการผลิตในระดับสูง อาทิ อิเล็กทรอนิกส์ ฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ ที่ต้องอาศัยการนำเข้าเทคโนโลยีและเครื่องจักรจากต่างประเทศเพื่อทดแทนส่วนเดิมที่เสียหาย นอกจากนี้ ในส่วนอุตสาหกรรมสิ่งทอและเสื้อผ้าสำเร็จรูปยังคงชะลอการผลิตจากปัจจัยการผลิต อาทิ วัตถุดิบ และค่าแรงมีราคาเพิ่มขึ้น

Global Economic Indicators: This Week

USA: mixed signal
  • ยอดขายบ้านมือสองเดือน เม.ย.55 อยู่ที่ 4.62 ล้านหลัง (annual rate) หรือเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าร้อยละ 3.4 (ปรับผลทางฤดูกาลแล้ว)ในขณะที่ราคากลางบ้านปรับสูงขึ้นต่อเนื่องมาอยู่ที่177,400 ดอลลาร์สหรัฐ ยอดขายบ้านใหม่และใบขออนุญาตก่อสร้าง เดือน มี.ค.55 อยู่ที่ 717,000 หลัง และ 720,000 ใบ ตามลำดับ หรือเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าแล้ว(%mom sa) ขยายตัวร้อยละ 2.6 และหดตัวร้อยละ -7.0 ตามลำดับ
China: mixed signal
  • ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรมจัดทำโดย HSBC (ตัวเลขเบื้องต้น) เดือน พ.ค.55 อยู่ที่ระดับ 48.7 ซึ่งอยู่ระดับต่ำกว่า 50 ติดต่อกันเป็นเดือนที่ 7 บ่งชี้แนวโน้มภาคอุตสาหกรรมของจีนที่ชะลอตัวอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะดัชนีคำสั่งซื้อใหม่สินค้าส่งออก ซึ่งมีน้ำหนักมากทีสุดในการคำนวณดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อดังกล่าว ลดลงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 2
Euro Zone: worsening economic trend
  • ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ(ตัวเลขเบื้องต้น) เดือน พ.ค.55 ปรับตัวลดลงจากเดือนก่อนหน้ามาอยู่ที่ระดับ 45.9 เนื่องจากเศรษฐกิจยุโรโซนเริ่มเข้าสู่ภาวะถดถอยประกอบกับอุปสงค์ภายในประเทศหดตัวอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปีก่อนหน้าโดยดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรม (ตัวเลขเบื้องต้น) เดือน พ.ค.55 ลดลงอยู่ที่ 45.0 จุด จากภาคธุรกิจที่ยังไม่มีการผลิตเพิ่ม เนื่องจากยังรอดูท่าทีของธนาคารกลางยุโรป (ECB) ว่าจะกระตุ้นเศรษฐกิจโดยการลดอัตราดอกเบี้ยในเดือน พ.ค. 55 หรือไม่ขณะที่ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคบริการ (ตัวเลขเบื้องต้น) เดือน พ.ค.55 ปรับตัวลดลงต่ำกว่าระดับ 50.0 เป็นเดือนที่ 7 ติดต่อกันที่ระดับ 46.5
Japan: mixed signal
  • Japan วันที่ 23 พ.ค.55 ธนาคารกลางญี่ปุ่นประกาศคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ช่วงร้อยละ 0-0.1 ขณะที่มูลค่าการส่งออกเดือน เม.ย.55 ขยายตัวเร่งขึ้นที่ร้อยละ 7.9 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ผลจากอุปสงค์ภายนอกประเทศเริ่มกลับมาขยายตัวอย่างต่อเนื่องจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯมูลค่าการนำเข้าเดือน เม.ย.55 ขยายตัวที่ร้อยละ 8.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนชะลอลงเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 10.6 ทั้งนี้ คาดว่ามุลค่าการนำเข้าจะขยายตัวต่อเนื่องจากการที่ญี่ปุ่นยังคงต้องนำเข้าสินค้าพลังงานเป็นสำคัญ ส่งผลให้ดุลการค้าเดือน เม.ย. 55 ขาดดุล -520.3 พันล้านเยน หรือคิดเป็น 6.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่อัตราเงินเฟ้อเดือน เม.ย.55 ปรับตัวลดลงจากเดือนก่อนหน้ามาอยู่ที่ร้อยละ 0.4 ซึ่งอยู่ในอัตราที่ต่ำกว่าเป้าหมายของธนาคารกลางญี่ปุ่นที่ร้อยละ 1.0
Malaysia: mixed signal
  • GDP ไตรมาส 1 ปี 55 ขยายตัวร้อยละ 4.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนหน้า ชะลอลงจากไตรมาสก่อน เนื่องจากการส่งออกสุทธิที่หดตัวร้อยละ-20.8 อย่างไรก็ตาม การบริโภคภาคเอกชนและภาครัฐยังขยายตัวได้ดีที่ร้อยละ 7.4 และ 5.9 ตามลำดับ ขณะที่อัตราเงินเฟ้อ เดือน เม.ย.55 ขยายตัวร้อยละ 1.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามการชะลอตัวของเศรษฐกิจในประเทศและราคาน้ำมันโลกที่ปรับลดลง โดยค่าขนส่งที่มีน้ำหนักร้อยละ 14.9 ขยายตัวชะลอลงจากเดือนก่อนหน้าที่ร้อยละ 1.0
Philippines: mixed signal
  • มูลค่าการนำเข้าเดือน มี.ค.55 หดตัวร้อยละ -3.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์และสินค้ากึ่งตัวนำที่หดตัว ส่งผลให้การนำเข้าในหมวดนี้ซึ่งมีสัดส่วนสำคัญที่สุดของมูลค่าการนำเข้ารวม หดตัวร้อยละ 38.7 ทำให้ดุลการค้า เดือน มี.ค. 55 ขาดดุลทั้งสิ้น 1.05 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
Singapore: mixed signal
  • อัตราเงินเฟ้อเดือน เม.ย.55 ขยายตัวเร่งขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ร้อยละ 5.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนหน้าส่วนหนึ่งจากราคาบ้านที่ปรับเพิ่มขึ้นสูงถึงร้อยละ 11.1
Taiwan: mixed signal
  • อัตราการว่างงานเดือน เม.ย.55 อยู่ที่ร้อยละ 4.2 ของกำลังแรงงานรวม ปรับเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ร้อยละ 4.1 โดยจำนวนคนว่างงานเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้าจำนวน 6,000 คน ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือน เม.ย. 55 หดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่2 ที่ร้อยละ -2.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หรือหดตัวร้อยละ -0.7 จากเดือนก่อนหน้า (หลังขจัดปัจจัยทางฤดูกาลแล้ว) สะท้อนภาคการผลิตรวมถึงอุปสงค์ในประเทศที่มีแนวโน้มชะลอลง
Hong Kong: mixed signal
  • มูลค่าการส่งออกเดือน เม.ย.55 ขยายตัวร้อยละ 5.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน เร่งขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -6.8 จากปัจจัยฐานต่ำ โดยหากขจัดปัจจัยทางฤดูกาลแล้วมูลค่าการส่งออกหดตัวร้อยละ -1.5 จากเดือนก่อนหน้า ทั้งนี้ เศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มชะลอลง จากปัญหาวิกฤตหนี้สาธารณะในยูโรโซน และเศรษฐกิจจีนที่มีแนวโน้มชะลอลง ส่งผลให้คาดว่าภาคการส่งออกของฮ่องกงซึ่งมีสัดส่วนกว่า 2.1 เท่าของ GDP อาจชะลอลงในระยะต่อไป ขณะที่มูลค่าการนำเข้าเดือน เม.ย. 55 ขยายตัวร้อยละ 5.0 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เร่งขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่หดตวัร้อยละ -4.7 อัตราเงินเฟ้อ เดือน เม.ย. 55 อยู่ที่ร้อยละ 4.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ร้อยละ 4.9 ส่วนหนึ่งจากแรงกดดันจากเงินเฟ้อที่ลดลง ตามราคาน้ำมันในตลาดโลกปรับตัวลดลง
Weekly Financial Indicators
  • ดัชนี SET ปรับตัวลดลงจากสัปดาห์ก่อนหน้า ต่อเนื่องและมีความผันผวนระหว่างวันสูง จากความไม่แน่นอนของสถานการณ์ในกรีซที่ทำให้มีความเสี่ยงว่ากรีซอาจเลิกใช้เงินสกุลยูโร ส่งผลให้นักลงทุนมีความวิตกและเทขายหลักทรัพย์จำนวนมาก ทั้งนี้ ระหว่างวันที่ 21 - 24 พ.ค.55 นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิ -5,900 ล้านบาท ในขณะที่ผลตอบแทนพันธบัตรของไทยค่อนข้างนิ่ง โดยการประชุม EU Summit ยังไม่มีมาตรการที่ชัดเจนในการแก้ปัญหาวิกฤตหนี้สาธารณะของกรีช ทำให้นักลงทุนยังคงชะลอการลงทุน ทั้งนี้ ระหว่างวันที่ 21 - 24 พ.ค.55 นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิ -601 ล้าน
  • ค่าเงินบาทในสัปดาห์นี้อ่อนค่าลงต่อเนื่องโดยปิดที่ระดับ 31.59 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ณ วันที่ 24 พ.ค.55 อ่อนค่าลงจากสัปดาห์ก่อนหน้าร้อยละ -0.67 ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกับเงินสกุลภูมิภาคและเงินสกุลหลักอื่นๆทั่วโลกไม่ว่าจะเป็นเงินเยน ยูโร ริงกิตมาเลเซีย วอนเกาหลี ดอลลาร์สิงคโปร์ และหยวน ทั้งนี้ค่าเงินบาทที่อ่อนค่ามากกว่าสกุลเงินของคู่ค้าสำคัญ โดยเฉพาะเงินเยนและหยวนทำให้ดัชนีค่าเงินบาท (NEER) ในสัปดาห์นี้อ่อนค่าลงจากสัปดาห์ก่อนหน้าเล็กน้อยที่ร้อยละ -0.15
  • ราคาทองคำปรับตัวลดลงต่อเนื่องโดยราคาทองคำ ณ วันที่ 24 พ.ค.55 ปิดที่ 1,557 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ ลดลงจากต้นสัปดาห์ที่ปิดที่ 1,591 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office

Tel 02-273-9020 Ext 3665 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ