สรุปความเห็นนักวิเคราะห์ต่อทิศทางตลาดเงินตลาดทุนสัปดาห์นี้
- นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่มีความเห็นว่าค่าเงินในสัปดาห์นี้จะปรับตัวอ่อนค่าลง จากปัจจัยภายนอกประเทศ โดยเฉพาะประเด็นของวิกฤตการณ์หนี้สาธารณะในยุโรป ความเป็นไปได้ที่ประเทศกรีซจะออกจากยูโรโซน ซึ่งสถานะการณ์จะยังไม่ชัดเจนจนกว่าการเลือกตั้งใหม่ในกรีซจะเสร็จสิ้น การที่สถาบันการเงินในสเปนมีหนี้เสียเพิ่มขี้น และสถาบันการเงินในอิตาลีถูกปรับลดอันดับเครดิต ปัจจัยต่างๆ เหล่านี้จะเป็นตัวกดดันให้เงินทุนไหลออกจากประเทศเกิดใหม่ ไปสู่สกุลเงินหลักที่ถูกจัดว่าเป็นสกุลเงินที่มีเสถียรภาพในช่วงที่มีความไม่แน่นอนสูง เช่น ฟรังซ์สวิส เยน ดอลลาร์สหรอ. เป็นต้น
- นักวิเคราะห์ให้ความเห็นว่า อัตราดอกเบี้ย R/P จะยังคงอยู่ที่ 3.00 %
- นักวิเคราะห์มีความคิดเห็นไปในทิศทางดอกเบี้ยระยะยาวและระยะสั้นที่ต่างกัน โดยนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ให้ความเห็นว่า Bond Yield อายุ 2 ปี และอายุ 10 ปี (YtM ,อัตราดอกเบี้ยระยะสั้นและระยะยาว) จะไม่เปลี่ยนแปลง แต่อย่างไรก็ตามนักลงทุนบางส่วนคาดการณ์ว่า Bond Yield อาจจะเพิ่มขึ้นได้เล็กน้อยจากปริมาณเงินทุนต่างชาติที่ไหลออกจากตลาดตราสารหนี้ ในขณะที่นักวิเคราะห์บางส่วนคาดการณ์ว่า Bond Yield อาจปรับตัวลดลงเล็กน้อยจากการที่นักลงทุนโยกย้ายเงินจากตลาดตราสารทุนมายังตลาดตราสารหนี้
- นักวิเคราะห์ให้ความเห็นว่า ถึงแม้ในระยะสั้นตลาดหุ้นไทยจะเคลื่อนไหวในทิศทาง side way บ้าง แต่แนวโน้มโดยรวมจะยังเป็นทิศทางขาลง จากปัญหาความไม่แน่นอนของวิกฤตการณ์หนี้สาธารณะในยุโรป โดยคาดการณ์ว่าตลาดหุ้นไทยน่าจะปรับตัวลดลง และหลุด1150 จุดได้ จากแนวโน้มการไหลออกของเงินทุนตามทิศทางตลาดของภูมิภาค อย่างไรก็ตามพื้นฐานตลาดหุ้น และเศรษฐกิจไทยยังแข็งแกร่ง เห็นได้จากการประกาศตัวเลข GDP ที่ดีกว่าการคาดการณ์ อย่างไรก็ตามการเจรจาประชุมสุดยอดผู้นาประเทศในกลุ่มสหภาพยุโรปอย่างไม่เป็นทางการ ที่จะมีการเสนอประเด็นการออกพันธบัตรยูโรร่วมกัน การอนุญาตให้กองทุนช่วยเหลือฯ สามารถอัดฉีดเงินให้กับธนาคารได้โดยตรงน่าจะส่งผลดีต่อวิกฤตการณ์หนี้สาธารณะในยุโรปได้
- นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดการณ์ว่า การลงทุนสุทธิของนักลงทุนต่างชาติ และการลงทุนของนักลงทุนสถาบัน ทั้งในตลาดตราสารหนี้ และตลาดตราสารทุนจะลดลง จนกว่าการเมืองของประเทศกรีซ และวิกฤตการณ์หนี้สาธารณะในยุโรปจะมีข้อสรุปที่ชัดเจน
ความเห็น สศค.
- สศค. มองว่าความกังวลของนักลงทุนต่อวิกฤตการณ์หนี้ในยุโรปจะเรื้อรังและกินเวลานาน เนื่องจากปัญหาวิกฤตในยุโรปได้กลายมาเป็นปัญหาการเมืองไปแล้ว (มีการคาดการณ์กันว่าพรรคการเมือง Syriza ของกรีซที่มีนโยบายปฏิเสธการช่วยเหลือของประเทศในกลุ่มยุโรปจะได้คะแนนเสียงเป็นอันดับหนึ่งในการเลือกตั้งครั้งนี้) เป็นตัวกดดันให้นักลงทุนมี risk appetite ที่ลดลง และมีการโยกย้ายเงินลงทุนออกจากตลาดตราสารทุนไปยังตลาดตราสารหนี้ โดยเฉพาะตลาดตราสารหนี้ประเทศที่ จัดว่ามีความมั่นคงสูงเช่น ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา สวิสเซอร์แลนด์ เป็นต้น โดย สศค. มองว่านักลงทุนต่างชาติจะขายสุทธิในตลาดทุน และจะมีการซื้อสุทธิในตลาด ตราสารหนี้เล็กน้อย หรืออาจมีการขายสุทธิในตลาดตราสารหนี้เป็นจานวนมากหากสถานการณ์พัฒนาไปในทางที่ไม่ดี
ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office
Tel 02-273-9020 Ext 3665 : www.fpo.go.th