รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 1 มิถุนายน 2555

ข่าวเศรษฐกิจ Friday June 1, 2012 12:12 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 1 มิถุนายน 2555

Summary:

1. WTO มองเอเชียตะวันออกพื้นฐานแกร่ง พร้อมรับมือวิกฤติเศรษฐกิจโลก

2. เศรษฐกิจอินเดียไตรมาสที่ 1 ปี 55 ขยายตัวชะลอลงที่ร้อยละ 5.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน

3. รายงานของ IMD เผยขีดความสามารถในการแข่งขันของไทยอยู่ที่อันดับ 30

Highlight:
1. WTO มองเอเชียตะวันออกพื้นฐานแกร่ง พร้อมรับมือวิกฤติเศรษฐกิจโลก
  • ผู้อำนวยการองค์การการค้าโลก (WTO) ให้ความเห็นในการประชุมเวิล์ดอีโคโนมิค ฟอรั่ม เอเชียตะวันออก ในหัวข้อ “รูปแบบเอเชียตะวันออก สำหรับการเปลี่ยนถ่ายเศรษฐกิจโลก" ว่าเศรษฐกิจเอเชียตะวันออกแข็งแกร่งกว่าภูมิภาคอื่น จึงอาจไม่ได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ผันผวนมากนัก แต่ภูมิคุ้มกันก็เริ่มลดลง จากเศรษฐกิจโลกที่เริ่มชะลอตัว
  • สศค. วิเคราะห์ว่า เศรษฐกิจเอเชียตะวันออกที่ผ่านมา ยังคงขยายตัวได้ดี ถึงแม้จะประสบปัญหาด้านการผลิตในแง่ของห่วงโซ่อุปทาน (Supply chain) จากภัยพิบัติสึนามิในญี่ปุ่นเมื่อช่วงเดือน มี.ค. 54 ตลอดจนปัญหามหาอุทกภัยในไทยในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 54 โดยในปี 54 เศรษฐกิจมาเลเซียอินโดนีเซีย สิงคโปร์ ฮ่องกง และไต้หวัน ขยายตัวร้อยละ 5.1 6.5 4.9 5.0 และ 4.0 ตามลำดับ อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวย่อมส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจภูมิภาคเอเชียอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้เนื่องจากเศรษฐกิจขนาดใหญ่ของโลก อาทิ สหรัฐฯ สหภาพยุโรป ญี่ปุ่น และจีน ต่างมีอุปสงค์สินค้าส่งออกต่อภูมิภาคเอเชียตะวันออกอย่างมากทั้งทางตรงและทางอ้อม ดังนั้น หากปีนี้เศรษฐกิจสหภาพยุโรปอยู่ในภาวะเศรษฐกิจถดถอย เศรษฐกิจของภูมิภาคเอเชียตะวันออกอาจหดตัวตามทั้งภูมิภาค เนื่องจากความเชื่อมโยงของเศรษฐกิจในภูมิภาคในระดับสูง ทั้งนี้ สศค. คาดการณ์ ณ เดือนมี.ค. 55 ว่าในปี 55 นี้ เศรษฐกิจมาเลเซีย อินโดนีเซีย สิงคโปร์ ฮ่องกง และไต้หวัน จะขยายตัวร้อยละ 5.0 6.2 2.9 4.0 และ 3.8 ตามลำดับ อย่างไรก็ตาม ความไม่แน่นอนในสถานการณ์เศรษฐกิจโลกในปัจจุบัน ทำให้อาจมีการปรับคาดการณ์อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกอีกครั้งในเดือน มิ.ย. 55 ที่จะถึงนี้
2. เศรษฐกิจอินเดียไตรมาสที่ 1 ปี 55 ขยายตัวชะลอลงที่ร้อยละ 5.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน
  • เศรษฐกิจอินเดียในไตรมาสที่ 1 ปี 55 ขยายตัวชะลอลงต่ำสุดในรอบ 8 ปีที่ร้อยละ 5.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนหน้า หรือขยายตัวร้อยละ 1.9 จากไตรมาสก่อนหน้าหลังขจัดปัจจัยทางฤดูกาลแล้ว(%qoq_sa) โดยการบริโภคทั้งในส่วนของภาครัฐและภาคเอกชนขยายตัวร้อยละ 6.1 และ 4.1 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ตามลำดับ ขณะที่การลงทุนรวมขยายตัวร้อยละ 3.6 จากช่วงเดียวกันปีก่อน นอกจากนี้การส่งออกขยายตัวร้อยละ 18.1 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • สศค. วิเคราะห์ว่า เศรษฐกิจอินเดียที่ขยายตัวชะลอลง เกิดจากการบริโภคภาคเอกชนซึ่งมีสัดส่วนกว่าร้อยละ 62.3 ของ GDP ที่ขยายตัวชะลอลง ขณะที่การลงทุนและการส่งออกซึ่งมีสัดส่วนกว่าร้อยละ 34.6 และร้อยละ 26.2 ของ GDP ตามลำดับ ขยายตัวเร่งขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้า อย่างไรก็ตามอินเดียยังต้องเผชิญกับปัจจัยเสี่ยงหลายประการ จาก (1) ปัญหาวิกฤตหนี้สาธารณะในยูโรโซน ซึ่งเป็นคู่ค้าสำคัญอันดับ 2 ของอินเดียและมีสัดส่วนร้อยละ 13.7 ของมูลค่าการส่งออกรวม (2) ดุลการค้าที่มีแนวโน้มขาดดุลต่อเนื่อง จากการชะลอลงของภาคการส่งออก ขณะที่การนำเข้าที่คาดว่าจะยังคงปรับตัวเพิ่มขึ้น ตามการนำเข้าน้ำมันในอัตราส่วนที่สูงกว่าร้อยละ 30.1 ของมูลค่าการนำเข้ารวม (3)ค่าเงินรูปีที่มีความผันผวนสูงและมีแนวโน้มอ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุด ณ วันที่ 30 พ.ค. 55 ค่าเงินรูปีอยู่ที่ 56.0 รูปีต่อดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าลงจาก ณ สิ้นปี 54 ร้อยละ 5.1 ซึ่งจะส่งผลลบต่อดุลการค้า รวมถึงดุลบัญชีเดินสะพัด และส่งผลให้แรงกดดันจากเงินเฟ้อเพิ่มขึ้น
3. รายงานของ IMD เผยขีดความสามารถในการแข่งขันของไทยอยู่ที่อันดับ 30
  • สถาบันพัฒนาการบริหารจัดการระหว่างประเทศ (ไอเอ็มดี) แห่งสวิตเซอร์แลนด์ เปิดเผยรายงานการจัดอันดับขีดความสามารถแข่งขันของประเทศต่างๆ 59 ประเทศทั่วโลก ปี 55 ซึ่งอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันของไทยอยู่อันดับที่ 30 ลดลงจากปี53 และปี 54 ที่อยู่ที่อันดับที่ 26 และ 27 ตามลำดับ ทั้งนี้ ในการประเมินขีดความสามารถแข่งขันของไทยประกอบด้วย 4 ด้านหลัก คือ ประสิทธิภาพด้านเศรษฐกิจ ประสิทธิภาพของรัฐบาล ประสิทธิภาพด้านธุรกิจ และโครงสร้างพื้นฐาน
  • สศค. วิเคราะห์ว่า นับตั้งแต่ครึ่งแรกของปี 54 ประเทศไทยต้องเผชิญกับความท้าทายหลายด้าน ทั้งจากภัยภิบติสึนามิในประเทศญี่ปุ่นในเดือน มี.ค. ปีก่อนหน้าและส่งผลกระทบต่อห่งโซอุปทานในภาคการผลิต โดยเฉพาะในการผลิตรถยนต์ นอกจากนี้มหาอุทกภัยในช่วงไตรมาสที่ 4 ซึ่งได้ส่งผลกระทบต่อภาคเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ และส่งผลให้ GDP ในไตรมาสที่ 4 หดตัวร้อยละ -8.9 จากช่วงเดียวกันปีก่อน นอกจากนี้ ปัจจัยเสี่ยงจากการชะลอลงของเศรษฐกิจโลก ทั้งจากวิกฤตหนี้สาธารณะในยูโรโซน ที่ยังคงเรื้อรังต่อเนื่องถึงปัจจุบัน การชะลอลงต่อเนื่องของเศรฐกิจจีน ได้ส่งผลกระทบให้อุปสงค์จากนอกประเทศลดลง อย่างไรก็ตาม นโยบายภาครัฐ ทั้งในส่วนของ (1) นโยบายระยะสั้นที่ทันท่วงทีเพื่อบรรเทาและฟื้นฟู รวมถึงเพิ่มความเชื่อมั่นของเศรษฐกิจหลังภาวะน้ำท่วม และ(2)นโยบายระยะยาวที่เน้นการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจเพื่อลดการพึ่งพาจากต่างประเทศ และโดรงการการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานมูลค่ากว่า 2.27 ล้านล้านบาท คาดว่าจะส่งผลให้ขีดความสามารถของประเทศปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ สถานะการคลังที่แข็งแกร่ง โดยสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP อยู่ที่ร้อยละ 41.4 ส่งผลให้ภาครัฐสามารถดำเนินนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจได้ หากเกิดวิกฤตในระยะต่อไป

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group:

Fiscal Policy Office Tel. 02-273-9020 Ext.3665 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ