รายงานประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2555

ข่าวเศรษฐกิจ Friday June 29, 2012 09:11 —กระทรวงการคลัง

“เศรษฐกิจไทยปี 2555 คาดว่าจะขยายตัวในช่วงร้อยละ 5.2 — 6.2 กลับมาฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็ว ภายหลังสถานการณ์ อุทกภัยคลี่คลายลง”

นายสมชัย สัจจพงษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง แถลงข่าวประมาณการเศรษฐกิจไทย ณ เดือนมิถุนายน 2555 ว่า “เศรษฐกิจไทยในปี 2555 คาดว่าจะขยายตัวได้ที่ร้อยละ 5.7 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 5.2 — 6.2) ซึ่งเป็นการปรับเพิ่มขึ้น จากที่ประมาณการไว้เดิมเมื่อเดือนมีนาคม 2555 โดยการผลิตภาคอุตสาหกรรมที่เริ่มกลับมาทำการผลิตเพื่อตอบสนองอุปสงค์ทั้งในประเทศ และต่างประเทศได้มากขึ้นตั้งแต่ช่วงต้นปี 2555 คาดว่าจะทำให้การบริโภคภาคเอกชน การลงทุนภาคเอกชน และการส่งออกในปี 2555 กลับเข้าสู่ระดับปกติได้อย่างรวดเร็ว ทั้งนี้ อุปสงค์ภายในประเทศภาคเอกชนคาดว่าจะฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งและต่อเนื่อง โดยมีปัจจัยสนับสนุน จากความชัดเจนของการฟื้นตัวของภาคการผลิตที่ส่งผลให้ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและนักลงทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศเพิ่มขึ้น ประกอบกับความจำเป็นในการบริโภคสินค้าเพื่อทดแทนทรัพย์สินที่เสียหายจากสถานการณ์อุทกภัยและการลงทุนเพื่อฟื้นฟูอาคารบ้านเรือนและ เครื่องมือเครื่องจักรในภาคอุตสาหกรรม รวมทั้งนโยบายของภาครัฐมีส่วนสนับสนุนการใช้จ่ายภายในประเทศ ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มรายได้ แรงงานรายวันและเงินเดือนข้าราชการ การรับจำนำข้าวเปลือก โครงการรถยนต์คันแรก โครงการบ้านหลังแรก และการทยอยปรับลด ภาษีเงินได้นิติบุคคล เป็นต้น ขณะที่การบริโภคและ การลงทุนภาครัฐเองยังคงมีบทบาทในการสนับสนุนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ โดย เฉพาะการเปิกจ่ายตามแผนการบริหารจัดการน้ำในระยะยาวของภาครัฐวงเงินลงทุนรวม 350 พันล้านบาทที่คาดว่าจะเริ่มทยอยลงทุนได้ ในช่วงครึ่งหลังของปี 2555 เป็นต้นไป อย่างไรก็ตาม ภาคการส่งออกสินค้าและบริการจะชะลอลงตามภาวะเศรษฐกิจโลกที่ยังคงมีความเสี่ยง จากวิกฤติหนี้สาธารณะในกลุ่มประเทศสหภาพยุโรป

สำหรับเสถียรภาพเศรษฐกิจภายในประเทศในปี 2555 คาดว่าจะยังคงแข็งแกร่ง โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2555 จะอยู่ที่ ร้อยละ 3.5 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 3.0 — 4.0) ลดลงจากปีก่อนหน้า ตามราคาน้ำมันในตลาดโลกที่จะขยายตัวในอัตราชะลอลง อันเป็นผลมาจากอุปสงค์น้ำมันในตลาดโลกที่ชะลอลงตามแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่ยังคงเปราะบาง ขณะที่เสถียรภาพภายนอก ประเทศจะเริ่มได้รับปัจจัยเสี่ยงจากดุลบัญชีเดินสะพัดที่คาดว่าจะขาดดุลร้อยละ 0.4 ของ GDP (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 0.1 — 0.9 ของ GDP) ตามการเกินดุลการค้าที่มีแนวโน้มลดลงจากปีก่อน เนื่องจากการฟื้นตัวของอุปสงค์ภายในประเทศจะส่งผลให้มูลค่าการนำเข้าสินค้า ขยายตัวในอัตราเร่งที่ร้อยละ 22.3 เทียบกับมูลค่าส่งออกสินค้าที่จะขยายตัวเพียงร้อยละ 12.8”

ตารางสรุปสมมติฐานและผลการประมาณการเศรษฐกิจปี 2555 (ณ เดือนมิถุนายน 2555)

                                                                  2554          2555 f
                                                                           (ณ มิถุนายน 2555)
                                                                                เฉลี่ย                ช่วง
                          สมมติฐานหลัก
สมมติฐานภายนอก
1) อัตราการขยายตัวเฉลี่ย 14 ประเทศคู่ค้าหลัก (ร้อยละต่อปี)                    4             3.7             3.2 - 4.2
2) ราคาน้ำมันดิบดูไบ (ดอลลาร์สหรัฐ ต่อบาร์เรล)                           105.6           113           108.0 - 118.0
3) ราคาสินค้าส่งออกในรูปดอลลาร์สหรัฐ (ร้อยละต่อปี)                         5.6            3.8             3.3 - 4.3
4) ราคาสินค้านำเข้าในรูปดอลลาร์สหรัฐ (ร้อยละต่อปี)                        10.1            4.3             3.8 - 4.8
สมมติฐานด้านนโยบาย
5) อัตราแลกเปลี่ยน (บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ)                                30.5           31.25          30.25 - 32.25
6) อัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทย ณ สิ้นปี (ร้อยละต่อปี)                       3.25             3             2.50 - 3.50
7) รายจ่ายภาคสาธารณะตามปีงบประมาณ (ล้านล้านบาท)                      2.77           2.95            2.95 - 2.96
                        ผลการประมาณการ
1) อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (ร้อยละต่อปี)                             0.1            5.7             5.2 - 6.2
2) อัตราการขยายตัวของการบริโภครวม (ร้อยละต่อปี)                         1.3            5.1             4.6 - 5.6
    - การบริโภคภาคเอกชน (ณ ราคาคงที่) (ร้อยละต่อปี)                     1.3            5.2             4.7 - 5.7
    - การบริโภคภาครัฐ (ณ ราคาคงที่) (ร้อยละต่อปี)                        1.4            4.5             4.0 - 5.0
3) อัตราการขยายตัวของการลงทุนรวม (ร้อยละต่อปี)                          3.3           12.7            11.7 - 13.7
    - การลงทุนภาคเอกชน (ณ ราคาคงที่) (ร้อยละต่อปี)                      7.2           13.5            12.5 — 14.5
    - การลงทุนภาครัฐ (ณ ราคาคงที่) (ร้อยละต่อปี)                        -8.7            9.7            8.7 — 10.7
4) อัตราการขยายตัวปริมาณส่งออกสินค้าและบริการ (ร้อยละต่อปี)                 9.5             8              7.0 - 9.0
5) อัตราการขยายตัวปริมาณนำเข้าสินค้าและบริการ (ร้อยละต่อปี)                13.6           13.4            12.4 - 14.4
6) ดุลการค้า (พันล้านดอลลาร์สหรัฐ)                                     23.5            7.4             6.4 - 8.4
  - สินค้าส่งออกในรูปดอลลาร์สหรัฐ (ร้อยละต่อปี)                           16.4           12.8            11.8 — 13.8
  - สินค้านำเข้าในรูปดอลลาร์สหรัฐ (ร้อยละต่อปี)                           24.7           22.3            21.3 - 23.3
7) ดุลบัญชีเดินสะพัด (พันล้านดอลลาร์สหรัฐ)                                12.3           -1.3           -0.4 ถึง -3.3
  - ร้อยละของ GDP                                                  3.4           -0.4           -0.1 ถึง -0.9
8) อัตราเงินเฟ้อทั่วไป (ร้อยละต่อปี)                                      3.8            3.5             3.0 - 4.0
    อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (ร้อยละต่อปี)                                    2.4            2.3             1.8 - 2.8
9) อัตราการว่างงาน (ร้อยละของกำลังแรงงานรวม)                          0.7            0.6             0.5 - 0.7

สำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาค สำนักงานเศรษฐกิจการการคลัง โทร. 0-2273-9020 ต่อ 3255

เอกสารแนบ

รายงานประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2555

1. ด้านการขยายตัวทางเศรษฐกิจ

เศรษฐกิจไทยในปี 2555 คาดว่าจะขยายตัวในอัตราร้อยละ 5.7 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 5.2 — 6.2) ปรับเพิ่มขึ้น จากที่ประมาณการไว้เดิมเมื่อเดือนมีนาคม 2555 และเป็นการฟื้นตัวกลับเข้าสู่ภาวะปกติได้อย่างรวดเร็วจากปีก่อนหน้าที่ขยายตัวเพียงร้อยละ 0.1 ภายหลังสถานการณ์อุทกภัยคลี่คลายลง โดยการผลิตภาคอุตสาหกรรมที่เริ่มกลับมาทำการผลิตเพื่อตอบสนองอุปสงค์ทั้งในประเทศและ ต่างประเทศได้มากขึ้นตั้งแต่ช่วงต้นปี 2555 คาดว่าจะทำให้การบริโภคภาคเอกชน การลงทุนภาคเอกชน และการส่งออกในปี 2555 กลับ เข้าสู่ระดับปกติได้อย่างรวดเร็ว ทั้งนี้ อุปสงค์ภายในประเทศภาคเอกชนคาดว่าจะฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งและต่อเนื่อง โดยการบริโภคภาค เอกชนคาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 5.2 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 4.7 — 5.7) เร่งขึ้นจากปีก่อนหน้า โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากความชัดเจน ของการฟื้นตัวกลับมาเป็นปกติของภาคการผลิต โดยเฉพาะในส่วนที่ผลิตเพื่อเน้นจำหน่ายในประเทศ อาทิ อุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม ที่ส่งผลให้ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในประเทศปรับตัวเพิ่มขึ้น ประกอบกับความจำเป็นในการบริโภคสินค้าเพื่อทดแทนทรัพย์สินที่เสียหายจาก สถานการณ์อุทกภัย รวมทั้งนโยบายของภาครัฐในการสนับสนุนการใช้จ่าย อาทิ มาตรการปรับเพิ่มรายได้แรงงานรายวันและเงินเดือน ข้าราชการ และโครงการจำนำข้าวเปลือก ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนคาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 13.5 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 12.5 — 14.5) เร่งขึ้นตามความจำเป็นของผู้ประกอบการในการเร่งลงทุนเพื่อฟื้นฟูความเสียหายของอาคารบ้านเรือนและซ่อมแซม เครื่องมือเครื่องจักรในภาคอุตสาหกรรมจากภาวะอุทกภัย นอกจากนี้ โรงงานในหลายอุตสาหกรรมที่กลับมาทำการผลิตได้แล้วคาดว่าจะมีการ เร่งผลิตเพื่อตอบสนองคำสั่งซื้อที่ยังค้างอยู่ รวมทั้งเร่งสะสมสินค้าคงคลังเพื่อให้ใกล้เคียงกับระดับก่อนอุทกภัย สำหรับการใช้จ่ายภาครัฐคาดว่า จะยังคงมีบทบาทในการสนับสนุนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ โดยคาดว่า การบริโภคภาครัฐจะขยายตัวร้อยละ 4.5 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ ร้อยละ 4.0 — 5.0) และการลงทุนภาครัฐคาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 9.7 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 8.7 — 10.7) ตามการใช้จ่าย ในโครงการภาครัฐ ทั้งมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น อาทิ การปรับขึ้นเงินเดือนข้าราชการ และ มาตรการในส่วนของแผนการบริหาร จัดการน้ำในระยะยาวของภาครัฐวงเงินลงทุนรวม 3.5 แสนล้านบาท ที่คาดว่าจะเริ่มทยอยลงทุนได้ในช่วงครึ่งหลังของปี 2555 เป็นต้นไป ซึ่งมาตรการภาครัฐดังกล่าวจะเป็นแรงสนับสนุนสำคัญที่ช่วยให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวได้อย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม ปริมาณการส่งออกสินค้าและ บริการคาดว่าจะชะลอลงมาขยายตัวที่ร้อยละ 8.0 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 7.0 — 9.0) ตามภาวะเศรษฐกิจโลกที่ยังมีแนวโน้มชะลอตัว เนื่องจากความเสี่ยงจากวิกฤติหนี้สาธารณะในกลุ่มประเทศสหภาพยุโรปเริ่มลุกลามเข้าสู่ภาคเศรษฐกิจจริงและภาคสถาบันการเงินของประเทศ สมาชิกหลัก ขณะที่ปริมาณการนำเข้าสินค้าและบริการคาดว่าจะเร่งตัวสูงกว่าการส่งออก โดยจะขยายตัวร้อยละ 13.4 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ ร้อยละ 12.4 — 14.4) ตามความต้องการจัดหาวัตถุดิบทดแทนจากต่างประเทศ เพื่อบรรเทาปัญหาขาดแคลนชิ้นส่วนในระยะเริ่มแรกของการ ฟื้นตัวจากเหตุการณ์อุทกภัย ที่ภาคการผลิตบางส่วนยังไม่สามารถตอบสนองอุปสงค์ภายในประเทศได้เต็มที่

2. ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ

เสถียรภาพเศรษฐกิจภายในประเทศ ในด้านอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2555 คาดว่าจะอยู่ที่ร้อยละ 3.5 ต่อปี (โดยมีช่วง คาดการณ์ที่ร้อยละ 3.0 — 4.0) ลดลงเล็กน้อยจากปีก่อนหน้า ตามราคาน้ำมันในตลาดโลกที่คาดว่าจะขยายตัวในอัตราชะลอลง อันเนื่อง มาจากแรงกดดันด้านอุปสงค์น้ำมันในตลาดโลกที่ชะลอลงตามแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่ยังคงเปราะบาง ส่วนอัตราการว่างงาน คาดว่าจะยังคงอยู่ในระดับต่ำที่ร้อยละ 0.6 ของกำลังแรงงานรวม (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 0.5 — 0.7 ของกำลังแรงงานรวม) ในด้านเสถียรภาพภายนอกประเทศ คาดว่าดุลบัญชีเดินสะพัดจะขาดดุลที่ 1.3 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็นร้อยละ 0.4 ของ GDP (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 0.1 ถึง 0.9 ของ GDP) เนื่องจากดุลบริการ รายได้ และเงินโอนที่คาดว่าจะขาดดุลค่อนข้างมาก ตาม รายจ่ายค่าระวางสินค้าที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นมากจากการนำเข้าสินค้าที่คาดว่าจะขยายตัว ประกอบกับดุลการค้าที่คาดว่าจะเกินดุลลดลงมาอยู่ ที่ 7.4 พันล้านเหรียญสหรัฐ (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ 6.4 — 8.4 พันล้านเหรียญสหรัฐ) ตามมูลค่าสินค้านำเข้าที่คาดว่าจะขยายตัวในอัตรา เร่งกว่ามูลค่าสินค้าส่งออก โดยคาดว่ามูลค่านำเข้าสินค้าในปี 2554 จะขยายตัวร้อยละ 22.3 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 21.3 — 23.3) ขณะที่มูลค่าส่งออกสินค้าคาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 12.8 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 11.8 — 13.8)

สำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาค สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง

โทร. 0-2273-9020 ต่อ 3255

--ข่าวกระทรวงการคลัง กลุ่มการประชาสัมพันธ์ สนง.ปลัดกระทรวงการคลัง ฉบับที่ 71/2555 28 มิถุนายน 2555--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ