รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 26 กรกฎาคม 2555

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday July 26, 2012 11:07 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 26 กรกฎาคม 2555

Summary:

1. กนง.ประกาศคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายร้อยละ3.0

2. กระทรวงพาณิชย์ระบุส่งออกเดือนมิ.ย. 55 หดตัวร้อยละ 2.5 นาเข้าขยายตัวร้อยละ 4.41

3. ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อรวมทั้งภาคการผลิตและภาคบริการเบื้องต้นของเยอรมนีในเดือนก.ค.ลดลงมาอยู่ที่ 47.3

Highlight:
1. กนง.ประกาศคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายร้อยละ3.0
  • กนง.มีมติ 5 ต่อ 2 ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 3.0 ต่อปี โดยเสียงส่วนใหญ่เห็นว่านโยบายการเงินในขณะนี้อยู่ในภาวะผ่อนปรนเพียงพอที่จะสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจในประเทศในระยะต่อไป และสามารถรองรับความเสี่ยงจากเศรษฐกิจโลกได้ในระดับหนึ่ง อย่างไรก็ดี กนง.จะติดตามสถานการณ์ของเศรษฐกิจโลกและอุปสงค์ในประเทศอย่างใกล้ชิด และพร้อมดำเนินนโยบายที่เหมาะสมตามความจำเป็น
  • สศค. วิเคราะห์ว่า การคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ร้อยละ 3.0 ถือว่าเหมาะสมต่อการสนับสนุนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจภายในประเทศได้อย่างต่อเนื่องภายใต้ความเสี่ยงจากเศรษฐกิจโลก ถึงแม้ว่าภาคการส่งออกได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกที่รุนแรงกว่าที่เคยคาดไว้ แต่การบริโภคและการลงทุนของภาคเอกชนยังคงขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง โดยมีแรงสนับสนุนจากภาวะการเงินที่ผ่อนคลาย อัตราการว่างงานที่อยู่ในเกณฑ์ดี รวมทั้งนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ ในขณะเดียวกัน แรงกดดันเงินเฟ้อในประเทศอ่อนลง โดยอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน ณ เดือนมิ.ย. 55 อยู่ที่ร้อยละ 1.9 ซึ่งอยู่ภายใต้กรอบอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเฉลี่ยรายไตรมาสช่วงร้อยละ 0.5 -3.0 ทั้งนี้ สศค. คาดว่า อัตราดอกเบี้ยนโยบายในปี 55 จะอยู่ที่ร้อยละ 3.00 โดยมีช่วงคาดการณ์ร้อยละ 2.5-3.5 (คาดการณ์ ณ เดือน มิ.ย. 55)
2. กระทรวงพาณิชย์ระบุส่งออกเดือนมิ.ย. 55 หดตัวร้อยละ 2.5 นำเข้าขยายตัวร้อยละ 4.41
  • กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภาวะการค้าต่างประเทศในเดือนมิ.ย. 55 การส่งออกมีมูลค่า 20,128 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลงร้อยละ 2.5 จากเดือนเดียวกันของปีก่อน ส่วนการนำเข้ามีมูลค่า 20,678 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 4.41 จากเดือนเดียวกันของปีก่อน ส่งผลให้ขาดดุลการค้า 550 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่การส่งออกในช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-มิ.ย.) ลดลงร้อยละ 1.66 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนการนำเข้าขยายตัวร้อยละ 10.28 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่งผลให้ขาดดุลการค้าช่วง 6 เดือนแรก ขาดดุลรวมทั้งสิ้น 10,344 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
  • สศค. วิเคราะห์ว่า การส่งออกที่หดตัวลงในเดือนมิ.ย.นั้น มีสาเหตุมาจากวิกฤติเศรษฐกิจยุโรป ส่งผลให้กำลังซื้อของกลุ่มประเทศในสหภาพยุโรปลดลง และส่งผลกระทบต่อการผลิตและจำหน่ายสินค้าในหลายประเทศรวมถึงประเทศไทยด้วย เนื่องจากการส่งออกสู่สหภาพยุโรปมีสัดส่วนร้อยละ 9.4 โดยอัตราการเติบโตของการส่งออกไปยุโรปนั้นหดตัวลดลงร้อยละ 16.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ในขณะเดียวกัน การส่งออกไปประเทศจีนซึ่งเป็นคู่ค้าอันดับหนึ่งของไทยคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 12.0 มีอัตราการเติบโตเพียงร้อยละ 5.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สาเหตุจากสองประเทศหลักดังกล่าวส่งผลอย่างมากต่อภาพรวมของการส่งออกของไทยที่ลดลงร้อยละ 2.5 ทั้งนี้ สศค.คาดว่ามูลค่าการส่งออกภาพรวมของประเทศไทยในปี 55 จะเติบโตขึ้นร้อยละ 12.8 (คาดการณ์ ณ เดือนมิ.ย. 55) โดยคาดว่าในครึ่งปีหลัง มูลค่าการส่งออกจะขยายตัวในระดับสูงจากฐานต่าในปีก่อนหน้า
3. ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อรวมทั้งภาคการผลิตและภาคบริการเบื้องต้นของเยอรมนีในเดือนก.ค.ลดลงมาอยู่ที่ 47.3
  • บริษัท มาร์กิตเปิดเผยว่าดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) รวมทั้งภาคการผลิตและภาคบริการเบื้องต้นของเยอรมนีในเดือนก.ค. ลดลงมาอยู่ที่ระดับ 47.3 จาก 48.1 ในเดือนมิ.ย. โดยเป็นการปรับตัวลงเดือนที่ 3 ติดต่อกัน โดยดัชนี PMI เบื้องต้นในภาคบริโภคเดือนก.ค. ก็ปรับตัวลงสู้ระดับ 49.7 จาก 49.9 ในเดือนก่อนหน้า ทั้งนี้ตัวเลขที่ต่ากว่า 50 บ่งชี้ว่ากิจกรรมทางธุรกิจของเยอรมันหดตัวลง ซึ่งตอกย้ำความวิตกที่ว่าเศรษฐกิจของเยอรมนีจะยังคงได้รับผลกระทบต่อเนื่องจากวิกฤตหนี้ของยูโรโซน
  • สศค. วิเคราะห์ว่า การลดลงของดัชนี PMI รวมทั้งภาคการผลิตและภาคบริการเบื้องต้นของเยอรมนีในเดือนก.ค. เป็นตัวบ่งชี้ถึงความวิตกของเศรษฐกิจของเยอรมนี ซึ่งเมื่อวานนี้ มูดีส์ อินเวสเตอร์ส เซอร์วิส ได้ประกาศลดแนวโน้มความน่าเชื่อถือของเยอรมนีมาเป็น "เชิงลบ" (Negative Outlook) จากเดิม "มีเสถียรภาพ" (Stable Outlook) นอกจากนี้ สถานการณ์ของยูโรโซนก็น่าเป็นห่วง โดยที่ดัชนี PMI รวมทั้งภาคการผลิตและภาคบริการเบื้องต้นของยูโรโซนในเดือนก.ค.ทรงตัวที่ 46.4 แต่ยังคงต่ากว่าระดับ 50 เป็นเดือนที่ 6 ติดต่อกัน ซึ่งบ่งชี้ว่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจในยูโรโซนหดตัวลงต่อเนื่อง ทั้งนี้ สศค. คาดว่าเศรษฐกิจยูโรโซนในปี 55 จะหดตัวร้อยละ -0.9 (คาดการณ์ ณ เดือน มิ.ย. 55)

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group:

Fiscal Policy Office Tel. 02-273-9020 Ext.3665 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ