นายทนุศักดิ์ เล็กอุทัย และนายวิรุฬ เตชะไพบูลย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง พร้อมผู้บริหารธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ธนาคารออมสิน ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (ธอท.) และนายสุรพล โอภาสเสถียร ผู้จัดการใหญ่ บริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด ได้ร่วมกันแถลงความคืบหน้าของ โครงการพักหนี้เกษตรกรรายย่อยและประชาชนผู้มีรายได้น้อยที่มีหนี้คงค้างต่ำกว่า 500,000 บาท สำหรับลูกหนี้ที่มีหนี้สถานะปกติ ว่าลูกหนี้สามารถเลือกพักเงินต้นและลดอัตราดอกเบี้ยของสินเชื่อที่มีอยู่เดิมในอัตราร้อยละ 3 ต่อปี หรือ ลดอัตราดอกเบี้ยของสินเชื่อที่มีอยู่เดิมในอัตราร้อยละ 3 ต่อปี โดยไม่พักเงินต้น เป็นระยะเวลา 3 ปี (ระหว่างวันที่ 1 กันยายน 2555 ถึงวันที่ 31 สิงหาคม 2558) โดยได้เริ่มให้ลูกหนี้ที่สนใจยื่นแสดงความจำนงเข้าร่วมโครงการตั้งแต่วันที่ 2 พฤษภาคม 2555 จนถึงวันที่ 20 สิงหาคม 2555 ซึ่งผลการดำเนินโครงการพักหนี้ฯ ณ วันที่ 6 สิงหาคม 2555 มีลูกหนี้มาแสดงความจำนงเข้าร่วมโครงการแล้วจำนวน 2,235,9245 ราย คิดเป็นร้อยละ 70.60 ของจำนวนลูกหนี้ที่มีสิทธิทั้งหมด เป็นมูลหนี้จำนวน 259,359.07 ล้านบาท โดยลูกหนี้ที่เลือกพักเงินต้นและลดดอกเบี้ย (ทางเลือกที่ 1) จำนวน 1,937,068 ราย หรือร้อยละ 86.63 ของลูกหนี้ที่ได้แสดงความจำนงแล้วทั้งหมด คิดเป็นมูลหนี้ 227,753.56 ล้านบาท และลูกหนี้ที่เลือกลดดอกเบี้ยโดยไม่พักเงินต้น (ทางเลือกที่ 2) จำนวน 298,856 ราย หรือร้อยละ 13.37 ของจำนวนลูกหนี้ที่ได้แสดงความจำนงแล้วทั้งหมด โดยเป็นมูลหนี้ 31,605.51 ล้านบาท ทั้งนี้ ลูกหนี้ ธ.ก.ส. ที่แสดงความจำนงเข้าโครงการได้เลือกพักเงินต้นและลดดอกเบี้ยสูงถึงร้อยละ 87.03 และเลือกลดอัตราดอกเบี้ยโดยไม่พักเงินต้นร้อยละ 12.97 ในขณะที่ลูกหนี้ของธนาคารออมสิน ธพว. และ ธอท. มีแนวโน้มที่จะเลือกลดอัตราดอกเบี้ยโดยไม่พักเงินต้นเป็นส่วนใหญ่
พร้อมกันนี้ กระทรวงการคลังได้วางกลไกในการติดตามความคุ้มค่าของเม็ดเงินที่ลูกหนี้ที่มีสถานะปกติประหยัดได้จากโครงการ โดยมีคณะกรรมการติดตามการใช้จ่ายเงินที่ประหยัดได้ของลูกหนี้ ซึ่งมีคณะผู้บริหารการคลังประจำจังหวัด (คบจ.) เป็นผู้ดำเนินการติดตามการใช้เงินดังกล่าวทั่วประเทศ เพื่อให้การใช้เงินของลูกหนี้เกิดประโยชน์สูงสุดและรักษาไว้ซึ่งวินัยทางการเงิน โดยจะเน้นการส่งเสริมธุรกรรมทางการเงินและธุรกรรมในภาคการผลิตเพื่อรองรับลูกหนี้กลุ่มดังกล่าว สำหรับธุรกรรมทางการเงินทางสถาบันการเงินเฉพาะกิจที่เข้าร่วมโครงการจะมีผลิตภัณฑ์เงินฝากและผลิตภัณฑ์ประกันชีวิต พร้อมทั้งจัดให้มีสิทธิประโยชน์เพิ่มเติมให้แก่ลูกหนี้ที่นำเงินที่ประหยัดได้มาชำระเงินต้น สำหรับธุรกรรมการผลิตจะมีความร่วมมืออย่างใกล้ชิดระหว่างภาครัฐและเอกชนในการสร้างความเข้มแข็งของชุมชนเชิงพื้นที่ (Area based) โดยการสร้างความรู้ความเข้าใจทางการเงิน การอบรมอาชีพเพิ่มเติม และการส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน เป็นต้น
สำหรับความกังวลเกี่ยวกับการบันทึกข้อมูลในเครดิตบูโรซึ่งผู้มีสิทธิเข้าร่วมโครงการบางรายมีความเข้าใจผิดว่าจะส่งผลต่อการขอสินเชื่อจากสถาบันการเงินอื่นในอนาคตนั้น นายสุรพล โอภาสเสถียร ผู้จัดการใหญ่ บริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด (เครดิตบูโร) กล่าวยืนยันว่า เรื่องนี้จะไม่มีผลแน่นอนเพราะเป็นการพักชำระหนี้ดี โดยลูกหนี้ที่เข้าร่วมโครงการจะไม่มีการบันทึกประวัติการค้างชำระ (Default in Payment) อย่างเด็ดขาด จะมีก็แต่เพียงระบุว่า บัญชีสินเชื่อนี้มีการพักชำระหนี้ตามนโยบายของรัฐเท่านั้น และยืนยันอีกครั้งว่า ไม่มีผลเสียต่อการขอสินเชื่อกับสถาบันเงินอื่นอย่างแน่นอนซึ่งกลับจะเป็นผลดีเสียอีก หากสถาบันการเงินอื่นเข้ามาเห็นก็จะพบว่าเป็นลูกค้าดีของโครงการ อีกทั้ง มีการลดดอกเบี้ย เท่ากับว่าลูกหนี้มีกำลังส่งกำลังผ่อนมากขึ้น เพราะการพิจารณาสินเชื่อนั้นจะดูความสามารถในการชำระหนี้เป็นลำดับแรก ดูหลักประกันเป็นประการที่สอง และดูประวัติการค้างชำระหนี้เป็นประการสุดท้าย เมื่อไม่มีประวัติการค้างชำระหนี้เพราะเป็นหนี้ดีอยู่แล้วก็ไม่ต้องมีความกังวลใจ เรื่องนี้เป็นความเข้าใจผิดโดยสิ้นเชิง
ทั้งนี้ เพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องให้แก่ลูกหนี้ กระทรวงการคลังได้เร่งรัดให้สถาบันการเงินเฉพาะกิจที่เข้าร่วมโครงการประชาสัมพันธ์เพื่อสร้างความเข้าใจให้กับลูกหนี้อย่างเร่งด่วนและทั่วถึง
สำนักนโยบายพัฒนาระบบการเงินภาคประชาชน สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง
โทร. 02 273 9020 ต่อ 3697 / 3212
--ข่าวกระทรวงการคลัง กลุ่มการประชาสัมพันธ์ สนง.ปลัดกระทรวงการคลัง ฉบับที่ 86/2555 10 สิงหาคม 2555--