รายงานภาวะเศรษฐกิจรายสัปดาห์ระหว่างวันที่ 14 - 17 สิงหาคม 2555

ข่าวเศรษฐกิจ Monday August 20, 2012 14:07 —กระทรวงการคลัง

Executive Summary

Indicators this week
  • รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ (หลังหักการจัดสรร ให้ อปท.) ในเดือน ก.ค.55 จำนวน 126.7 พันล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 4.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
  • ภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ระดับราคาคงที่ ในเดือน ก.ค.55 มีมูลค่า 51.6 พันล้านบาท หรือขยายตัวที่ร้อยละ 18.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่ภาษีจากการทำธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์รวมในเดือน ก.ค. 55 ขยายตัวร้อยละ 2.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
  • ดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตร ในเดือน ก.ค. 55 ขยายตัวที่ร้อยละ 15.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ขณะที่ดัชนีราคาสินค้าเกษตร ในเดือน ก.ค. 55 หดตัวร้อยละ -7.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน
  • นักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้าประเทศไทยในเดือน ก.ค.55 มีจำนวนทั้งสิ้น 1.80 ล้านคน ขยายตัวร้อยละ 4.6
  • ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมเดือน ก.ค. 55 อยู่ที่ระดับ 98.7
  • GDP ไตรมาสที่ 2 ปี 55 ของยูโรโซน (ข้อมูลเบื้องต้น) หดตัวร้อยละ -0.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน หรือคิดเป็นหดตัวร้อยละ -0.2 จากไตรมาสก่อน
  • GDP ไตรมาสที่ 2 ปี 55 ของฮ่องกงขยายตัวร้อยละ 1.1 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • GDP ไตรมาสที่ 2 ปี 55 ของมาเลเซียขยายตัวร้อยละ 5.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน หรือคิดเป็นขยายตัวร้อยละ 1.4 เมื่อเที่ยบไตรมาสก่อน
Indicators next week
 Indicators                          Forecast             Previous
Jul: Passenger car Sale(%YoY)          80.0                 84.2
  • โดยส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโดยรวม โดยเฉพาะการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนที่ยังคงขยายตัวต่อเนื่อง ประกอบกับกำลังการผลิตของค่ายรถยนต์ต่างๆ เริ่มกลับเข้าสู่ภาวะปกติทำให้สามารถส่งมอบรถยนต์ให้กับผู้บริโภคได้มากขึ้น
Economic Indicators: This Week
  • รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ (หลังหักการจัดสรร ให้ อปท.) ในเดือน ก.ค.55 จำนวน 126.7 พันล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 4.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และสูงกว่าประมาณการ 1.7 พันล้านบาท หรือร้อยละ 1.3 โดยภาษีมูลค่าเพิ่มสามารถขยายตัวได้สูงถึงร้อยละ 21.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเฉพาะภาษีมูลค่าเพิ่มที่จัดเก็บจากการนำเข้าขยายตัวได้สูงมากถึงร้อยละ 32.5 ซึ่งสอดคล้องกับอากรขาเข้าที่ขยายตัวได้ร้อยละ 22.8 โดยกลุ่มสินค้าที่จัดเก็บอากรขาเข้าได้เพิ่มขึ้น ได้แก่ ยานยนต์และส่วนประกอบ เครื่องจักรกล และเครื่องจักรเครื่องใช้ไฟฟ้า นอกจากนี้ ภาษีรถยนต์ยังสามารถจัดเก็บได้สูงถึงร้อยละ 61.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมรถยนต์ภายหลังปัญหาอุทกภัย ทั้งนี้ รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ (หลังหักการจัดสรร ให้ อปท.) สะสมในช่วง 10 เดือนแรกของปี งปม. 55 มีจำนวนทั้งสิ้น 1,558.5 พันล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 12.3 พันล้านบาท หรือร้อยละ 0.8
  • ภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ระดับราคาคงที่ ในเดือน ก.ค.55 มีมูลค่า 51.6 พันล้านบาท หรือขยายตัวที่ร้อยละ 18.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกัน ของปีก่อน เร่งขึ้นจากเดือนก่อนที่ขยายร้อยละ 10.1 ตามการเพิ่มขึ้นของภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ระดับราคาคงที่ ที่จัดเก็บบนฐานการการบริโภคภายในประเทศ ที่ขยายตัวร้อยละ 9.4 และภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ระดับราคาคงที่ ที่จัดเก็บบนฐานการนำเข้า ขยายตัวร้อยละ 30.0 ตามการขยายตัวต่อเนื่องของเศรษฐกิจในประเทศ ทั้งนี้ในช่วง 7 เดือนแรก ปี 55 ภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ระดับราคาคงที่ ขยายตัวที่ร้อยละ 10.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน
  • ภาษีจากการทำธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์รวมในเดือน ก.ค. 55 ขยายตัวร้อยละ 2.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 45.1 อย่างไรก็ตาม ถือเป็นการขยายตัวต่อเนื่องติดต่อกันเป็นเดือนที่ 6 สอดคล้องยอดการอนุมัติสินเชื่อจากธนาคารในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล (ที่ปรับฤดูกาล) ที่ยังเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.5 ซึ่งต้องติดตามสถานการณ์ภาคอสังหาริมทรัพย์ในระยะต่อไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งอุปทาน (Supply) ของภาคอสังหาริมทรัพย์ยังคงขยายตัวในระดับสูง สะท้อนจากจำนวนที่อยู่อาศัยเปิดขายใหม่ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล (ที่ปรับฤดูกาล) ปรับเพิ่มขึ้นร้อยละ 23.6 จากเดือนก่อน โดยเฉพาะอาคารชุดเป็นหลัก
  • ดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตร ในเดือน ก.ค. 55 ขยายตัวที่ร้อยละ 15.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน เร่งขึ้นจากเดือนก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 5.7 ตามการเพิ่มขึ้นของผลผลิตในหมวดพืชผล และหมวดปศุสัตว์เป็นสำคัญ โดยเฉพาะข้าวนาปรังและข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ที่ผลผลิตออกสู่ตลาดมากขึ้น หลังจากได้รับจากปัญหาน้ำท่วมในช่วงปลายปีที่แล้ว ในขณะที่ผลผลิตปศุสัตว์ ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากผลผลิตสุกรและไก่เนื้อ ที่ขยายตัวร้อยละ 4.7 และร้อยละ 8.1 จากเดือนก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 2.2 และหดตัวร้อยละ -2.2 ตามสภาพภูมิอากาศที่เอื้ออำนวยต่อการเติบโตของสัตว์เลี้ยง
  • ดัชนีราคาสินค้าเกษตร ในเดือน ก.ค. 55 หดตัวร้อยละ -7.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ต่อเนื่องจากเดือนก่อนที่หดตัวร้อยละ -11.8 ตามการลดลงของราคาผลผลิตสำคัญ โดยเฉพาะยางพาราและมันสำปะหลัง เป็นสำคัญ โดยมีสาเหตุหลักมาจาก 1) ปัจจัยฐานสูงในปี 54 ที่ราคาสินค้าเกษตรขยายตัวในอัตราเร่ง 2) อุปสงค์ในตลาดโลกที่ลดลง อย่างไรก็ตาม จากดัชนีราคาข้าวเปลือก ในเดือน ก.ค.55 ยังคงขยายตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ 6.0 โดยได้รับปัจจัยบวกจากนโยบายรับจำนำข้าวเปลือก 15,000 บาทต่อตันของรัฐบาล ส่งผลราคาข้าวเปลือกในท้องตลาดปรับตัวสูงขึ้น และส่งผลให้ดัชนีราคาสินค้าเกษตรหดตัวในอัตราชะลอลงจากเดือนก่อน
  • นักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้าประเทศไทยในเดือน ก.ค.55 มีจำนวนทั้งสิ้น 1.80 ล้านคน ขยายตัวร้อยละ 4.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่หดตัวร้อยละ -5.5 เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังหักผลทางฤดูกาล (m-o-m SA) โดยกลุ่มที่ขยายตัวได้ดีเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ได้แก่ กลุ่มเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือ ยุโรป และโอเชียเนีย โดยขยายตัวร้อยละ 13.8 7.9 และ 11.6 ในขณะที่กลุ่มอาเซียนและตะวันออกกลางมีการหดตัวที่ร้อยละ -1.0 และ -31.6 ตามลำดับ
  • ปริมาณการจำหน่ายรถจักรยานยนต์ในเดือน ก.ค. 55 ขยายตัว ที่ร้อยละ 6.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากเดือนก่อนที่หดตัวร้อยละ -4.2 ตามการเพิ่มขึ้นของยอดขายรถจักรยานยนต์ในส่วนของภูมิภาคและยอดขายรถจักรยานยนต์ในกทม. ที่ขยายตัวร้อยละ 1.8 และร้อยละ 27.1 จากเดือนก่อนที่หดตัวร้อยละ -4.5 และร้อยละ -2.8 ตามลำดับ ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศ ทั้งนี้ ในช่วง 7 เดือนแรกปี 55 ปริมาณการจำหน่ายรถจักยานยนต์ ขยายตัวที่ร้อยละ 2.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน สะท้อนถึงการบริโภคภาคเอกชนในหมวดสินค้าคงทนของประชาชนในระดับฐานรากฟื้นตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง
  • สภาพคล่องส่วนเกินของธนาคารพาณิชย์ในเดือน มิ.ย. 55 ลดลงจากเดือนก่อนหน้ามาอยู่ที่ 2.1 ล้านล้านบาท โดยแม้ว่าเงินฝากของธนาคารพาณิชย์จะเร่งขึ้นถึงร้อยละ 5.8 จากเดือนก่อนหน้า (หลังขจัดปัจจัยทางฤดูกาลแล้ว) อย่างไรก็ตาม การปรับตัวลดลงของตราสารหนี้และเงินกู้ยืม จากการครบกำหนดของตั๋วแลกเงิน ผนวกกับสินเชื่อที่ยังคงขยายตัวได้ดีต่อเนื่องที่ร้อยละ 1.5 จากเดือนก่อนหน้า (หลังขจัดปัจจัยทางฤดูกาลแล้ว) ส่งผลให้สภาพคล่องโดยรวมลดลง ทั้งนี้ คาดว่าในช่วงครึ่งหลังของปี 55 สภาพคล่องของธนาคารพาณิชย์มีแนวโน้มตึงตัวมากขึ้น ตามการขยายตัวของสินเชื่อทั้งในส่วนของสินเชื่อธุรกิจและครัวเรือน ตามการฟื้นตัวของอุปสงค์ในประเทศหลังผลกระทบจากวิกฤตอุทกภัย
  • ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมเดือน ก.ค. 55 อยู่ที่ระดับ 98.7 ปรับตัวลดลงต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ระดับ 102.7 ซึ่งเป็นการปรับตัวลดลงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 2 และเป็นค่าดัชนีที่อยู่ในระดับต่ำกว่า 100 เป็นครั้งแรกในรอบ 6 เดือน โดยปัจจัยที่กระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการในเดือนนี้ มาจากความกังวลเกี่ยวกับวิกฤตเศรษฐกิจยุโรปที่ยังคงยืดเยื้อและการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน ที่ส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออกของไทยอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับต้นทุนการผลิตที่ปรับตัวสูงขึ้นจากราคาพลังงาน ราคาวัตถุดิบ และการขาดแคลนแรงงานในบางอุตสาหกรรม
Economic Indicators: Next Week
  • ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์นั่งในเดือน ก.ค. 55 คาดว่าขยายตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ 80.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากเดือนก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 84.2 โดยส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโดยรวม โดยเฉพาะการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนที่ยังคงขยายตัวต่อเนื่อง ประกอบกับกำลังการผลิตของค่ายรถยนต์ต่างๆ เริ่มกลับเข้าสู่ภาวะปกติ ทำให้สามารถส่งมอบรถยนต์ให้กับผู้บริโภคได้มากขึ้น

Global Economic Indicators: This Week

USA: mixed signal
  • USA ยอดค้าปลีก เดือน ก.ค.55 ขยายตัวร้อยละ 3.4 จากช่วงเดียวกันปีก่อนหน้า หรือร้อยละ 0.8 จากเดือนก่อนหน้า (ขจัดผลทางฤดูกาลแล้ว) ผลจากยอดขายวัสดุก่อสร้างและรถยนต์ที่ขยายตัวดี ทั้งนี้ หากหักสินค้ายานยนต์ออกแล้ว ยอดค่าปลีกจะขยายตัวชะลอลงที่ร้อยละ 2.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อนหน้า อัตราเงินเฟ้อ เดือน ก.ค.55 อยู่ที่ร้อยละ 1.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้า ผลจากราคาสินค้าพลังงานที่ลดลงเป็นสำคัญ
China: worsening economic trend
  • มูลค่าการส่งออก เดือน ก.ค.55 ขยายตัวร้อยละ 1.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ถือเป็นการขยายตัวมากจากเดือนก่อน ที่ขยายตัวที่ร้อยละ 11.3 จากผลกระทบของวิกฤตหนี้สาธารณะยุโรปที่ทำให้อุปสงค์จากต่างประเทศชะลอตัว โดยเฉพาะการส่งออกไปยุโรป (สัดส่วนร้อยละ 13.9 ของมูลค่าการส่งออกรวม) ที่หดตัวถึงร้อยละ -16.2 ด้านมูลค่าการนำเข้า เดือน ก.ค.55 ขยายตัวชะลอลงเช่นกันอยู่ที่ร้อยละ 4.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน สะท้อนว่าอุปสงค์ในประเทศที่เริ่มชะลอตัว ทั้งนี้ จากมูลค่าการส่งออกที่ยังคงมากกว่าการนำเข้าทำให้ ดุลการค้า เดือน ก.ค.55 เกินดุลที่ 25.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
Euro Zone: worsening economic trend
  • GDP ไตรมาสที่ 2 ปี 55 (ข้อมูลเบื้องต้น) หดตัวร้อยละ -0.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน หรือคิดเป็นหดตัวร้อยละ -0.2 จากไตรมาสก่อน (ขจัดผลทางฤดูกาลแล้ว) หดตัวเพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อน ขณะที่ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม เดือน มิ.ย.55 หดตัวร้อยละ -2.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากการผลิตสินค้าทุกประเภทที่หดตัว โดยเฉพาะการผลิตสินค้าขั้นกลางที่หดตัวถึงร้อยละ -3.7 เป็นสำคัญ ขณะที่ อัตราเงินเฟ้อ เดือน ก.ค.55 ยังคงทรงตัวจากเดือนก่อนหน้าอยู่ที่ร้อยละ 2.4 สอดคล้องกับตัวเลขเบื้องต้นตามที่ได้ประกาศไว้เมื่อสัปดาห์ก่อน
Japan: improving economic trend
  • GDP ไตรมาสที่ 2 ปี 55 ขยายตัวร้อยละ 3.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน หรือคิดเป็นการขยายตัว 0.3 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน (ขจัดผลทางฤดูกาลแล้ว) ขยายตัวเร่งขึ้นจากไตรมาสก่อน โดยที่มาของการขยายตัวทางเศรษฐกิจมาจากอุปสงค์ภายในประเทศเป็นหลักที่ขยายตัวร้อยละ 0.4 ขณะที่การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกทำให้การส่งออกเป็นตัวฉุดการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ร้อยละ -0.1
Hong Kong: mixed signal
  • GDP ไตรมาสที่ 2 ปี 55 ขยายตัวร้อยละ 1.1 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หรือหดตัวร้อยละ -0.1 จากไตรมาสก่อนหน้า (หลังขจัดปัจจัยทางฤดูกาลแล้ว) จากการหดตัวของภาคการส่งออกเป็นสำคัญ ขณะที่การบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน ยังคงขยายตัวได้ แม้จะชะลอลง ทั้งนี้ ทางการฮ่องกงได้ปรับลดคาดการณ์การขยายตัวเศรษฐกิจในปี 55 จากช่วงร้อยละ 1.0-3.0 เป็นร้อยละ 1.0-2.0
Malaysia: mixed signal
  • GDP ไตรมาสที่ 2 ปี 55 ขยายตัวร้อยละ 5.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน หรือคิดเป็นขยายตัวร้อยละ 1.4 เมื่อเที่ยบไตรมาสก่อน (ขจัดผลทางฤดูกาล) ท่ามกลางการชะลอตัวเศรษฐกิจโลกที่ทำให้การส่งออกชะลอตัว ทั้งนี้ การบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนภายในประเทศยังคงขยายตัวได้ดีที่ร้อยละ 8.8 และ 9.4 ตามลำดับ อัตราเงินเฟ้อ เดือน ก.ค.55 ปรับเพิ่มขึ้นที่ร้อยละ 1.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ลดลงจากเดือนก่อน จากราคาอาหารที่ปรับลดลงจากเดือนก่อน โดยขยายตัวเพียงร้อยละ 2.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน
South Korea: mixed signal
  • อัตราว่างงาน เดือน ก.ค.55 ลดลงต่ำสุดในรอบ 7 เดือน มาอยู่ที่ร้อยละ 3.1 ของกำลังแรงงานรวม ส่วนหนึ่งจากการจ้างงานในภาคอุตสาหกรรมที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เดือน ก.ค.55 สะท้อนอุปสงค์ในประเทศที่ปรับตัวดีขึ้น
Singapore: mixed signal
  • GDP ไตรมาส 2 ปี 55 ขยายตัวร้อยละ 2.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนหรือหดตัวร้อยละ -0.7 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า (ขจัดผลทางฤดูกาลแล้ว) ผลจากอุปสงค์ทั้งภายในและภายนอกประเทศที่ชะลอลง ส่วนมูลค่าการส่งออก เดือน ก.ค.55 ขยายตัวเร่งขึ้นร้อยละ 0.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากยอดการส่งออกสินค้าไปยังกลุ่มประเทศในแถบเอเชียที่ยังขยายตัวได้ดี โดยเฉพาะการส่งออกไปจีนกลับมาขยายตัวเร่งขึ้นจากเดือนก่อนหน้า ทั้งนี้ เป็นผลจากสินค้าในหมวดอิเล็กทรอนิกส์และปิโตรเคมีที่ขยายตัวเร่งขึ้นเป็นสำคัญ และมูลค่าการนำเข้า เดือน ก.ค. 55 ขยายตัวที่ร้อยละ 6.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ส่งผลให้ดุลการค้า เดือน ก.ค.55 เกินดุลอยู่ที่ 3.47 พันล้านดอลลาร์สิงคโปร์ขณะที่ยอดค้าปลีก เดือน มิ.ย.55 หดตัวร้อยละ -0.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมีปัจจัยสำคัญมาจากยอดค้ายานยนต์ นาฬิกา และเครื่องประดับที่ลดลงเป็นสำคัญ
Weekly Financial Indicators
  • ดัชนี SET ปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง สูงกว่าระดับ 1,220 จุด โดย ณ วันที่ 16 ส.ค. 55 ดัชนีฯ ปิดที่ระดับ 1,224.4 จุด จากแรงซื้อของนักลงทุนเป็นจำนวนมากช่วงกลางสัปดาห์ โดยเฉพาะนักลงทุน บัญชีบริษัทหลักทรัพย์ จากผลประกอบการไตรมาส 1 ปี 55 ของบริษัทหลายบริษัทที่เป็นที่น่าพอใจ อีกทั้งตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ออกมาดี ทำให้นักลงทุนมีความต้องการลงทุนในสินทรัพย์ในภูมิภาคเอเชีย ทั้งนี้ ระหว่างวันที่ 14 - 16 ส.ค. 55 นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิ -161.8 ล้านบาท ขณะที่ผลตอบแทนพันธบัตรของไทยปรับตัวสูงขึ้นในพันธบัตรช่วงอายุ 1 ปีขึ้นไป เนื่องจากนักลงทุนปรับพอร์ทการลงทุนเพื่อลงทุนในตราสารระยะสั้นมากขึ้น จากผลตอบแทนพันธบัตรระยะกลางและยาวที่อยู่ในระดับต่ำและมีแนวโน้มว่าจะปรับสูงขึ้นในอนาคต ตลอดจนนักลงทุนต่างชาติเทขายพันธบัตรเพื่อทำกำไร ทั้งนี้ระหว่างวันที่ 14 - 16 ส.ค. 55 นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิ -1,743.7 ล้านบาท
  • ค่าเงินบาทอยู่ในระดับใกล้เคียงกับสัปดาห์ก่อน โดย ณ วันที่ 16 ส.ค. 55 ปิดที่ระดับ 31.53 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าลงเล็กน้อยจากสัปดาห์ก่อนหน้าร้อยละ -0.19 ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกับค่าเงินสกุลภูมิภาค ทั้งค่าเงินริงกิตมาเลเซีย วอนเกาหลี ดอลลาร์สิงคโปร์ เงินหยวน ตลอดจนเงินเยน ทั้งนี้ ค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลงด้วยอัตราที่น้อยกว่าค่าเงินสกุลอื่นๆ ของคู่ค้า ทำให้ดัชนีค่าเงินบาท (NEER) ในสัปดาห์นี้แข็งค่าขึ้นเล็กน้อยจากสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.16
  • ราคาทองคำค่อนข้างทรงตัว โดยราคาทองคำ ณ วันที่ 16 ส.ค. 55 ปิดที่ 1,614.3 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากต้นสัปดาห์ที่ปิดที่ 1,609.5 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office

Tel 02-273-9020 Ext 3665 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ