นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทยเข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเอเปค (APEC Finance Ministers’ Meeting: FMM) ครั้งที่ 19 เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2555 ณ กรุงมอสโก สหพันธรัฐรัสเซีย ซึ่งมีนายอันโตน สิลัวนอฟ (Anton Siluanov) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังสหพันธรัฐรัสเซีย เป็นประธาน และได้มีการหารือในประเด็นด้านเศรษฐกิจ การเงิน และการคลังที่สำคัญ ดังนี้
1. สมาชิกเอเปคจะสนับสนุนการเจริญเติบโตและเสริมสร้างความเข้มแข็งของภาคเศรษฐกิจและการเงิน โดยเฉพาะการกระตุ้นอุปสงค์ภายในประเทศ เพื่อรองรับความผันผวนของเศรษฐกิจโลก ซึ่งกำลังเผชิญปัญหาที่สำคัญ คือ ภาวะวิกฤตเศรษฐกิจในยุโรป ความผันผวนของราคาน้ำมัน และการเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ และเห็นชอบร่วมกันที่จะสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกอย่างยั่งยืนและสมดุลผ่านมาตรการต่างๆ ซึ่งรวมถึงการกระตุ้นผ่านมาตรการด้านการคลังสำหรับสมาชิกที่ยังมีอัตราส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ในระดับต่ำ การให้อัตราแลกเปลี่ยนเป็นไปตามกลไกตลาดให้มีความยืดหยุ่นตามพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่แท้จริง และไม่ใช้นโยบายกีดกันทางการค้าและการลงทุนในทุกรูปแบบ
2. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเอเปคมีจุดยืนร่วมกันที่จะรักษาความยั่งยืนทางการคลังในระยะยาว และในขณะเดียวกัน ได้เล็งเห็นถึงความจำเป็นในการใช้นโยบายการคลังในการกระตุ้นเศรษฐกิจสำหรับประเทศที่สามารถดำเนินการได้โดยไม่มีผลกระทบต่อฐานะทางการคลัง รวมทั้ง จะติดตามระดับหนี้ภาคเอกชนและความแข็งแกร่งของภาคการธนาคารอย่างใกล้ชิด เนื่องจากเป็นปัจจัยที่สามารถทำให้เกิดวิกฤติเศรษฐกิจได้ ดังเช่นในกรณีของสหภาพยุโรป และเห็นว่า การกำหนดยุทธศาสตร์เพื่อความยั่งยืนทางการคลัง มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องนำประเด็นภาระทางการคลังที่เชื่อมโยงกับสังคมผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้นจากระบบบำนาญและการรักษาพยาบาลเข้ามาพิจารณาด้วย
3. ความรู้ด้านการเงินเป็นสิ่งสำคัญในปัจจุบัน เนื่องจากจะส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางการเงินตั้งแต่ในระดับครัวเรือนจนถึงระดับประเทศ ดังนั้น ในการประชุมครั้งนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเอเปค จึงได้รับรองเอกสารนโยบายด้านความรู้และการศึกษาด้านการเงิน (Policy Statement on Financial Literacy and Education) ซึ่งได้เน้นย้ำถึงความจำเป็นที่ภาครัฐและเอกชนจะต้องช่วยกันให้ความรู้ด้านการเงินให้แก่ประชาชนตั้งแต่ในโรงเรียน ทั้งในส่วนผลิตภัณฑ์ทางการเงิน ความเสี่ยงที่เกี่ยวข้อง และการวางแผนด้านการเงิน ซึ่งจะมีส่วนช่วยให้ประชาชนสามารถบริหารจัดการด้านเงินได้อย่างมีประสิทธิภาพ ถูกต้อง และเหมาะสมมากขึ้น
4. ภัยพิบัติทางธรรมชาติได้ทำให้เกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเปคเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะในช่วงปีที่ผ่านมา ดังนั้น สมาชิกเอเปคจึงได้ให้ความสำคัญกับการเตรียมความพร้อมด้านการลริหารจัดการด้านการเงินเพื่อรองรับเรื่องดังกล่าว โดยให้มีการกระจายความเสี่ยงที่เหมาะสม และได้สนับสนุนให้มีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์และแนวนโยบายในเรื่องดังกล่าวภายใต้เวทีระหว่างประเทศ และในปีหน้า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเอเปคจะพิจารณาข้อเสนอแนวทางด้านการเงินเพื่อรองรับผลกระทบที่เกิดขึ้นดังกล่าว ซึ่งสมาชิกเอเปคได้จัดทำขึ้นร่วมกับธนาคารโลก องค์การเพื่อการรวมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) ธนาคารพัฒนาเอเชีย และองค์กรอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจะมีส่วนช่วยสนับสนุนการดำเนินการในเรื่องนี้ภายใต้กรอบ G-20
5. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเอเปคได้สนับสนุนความร่วมมือกับภาคเอกชนภายใต้ APEC Business Advisory Council (ABAC) ในการพัฒนาการรวมตัวด้านการเงินของภูมิภาค เพื่ออำนวยความสะดวกด้านการดำเนินธุรกรรมทางการค้าและการเงินระหว่างภาคเอกชนของสมาชิกเอเปค โดยเฉพาะการจัดการประชุม Asia-Pacific Financial Forum ในปีหน้า ซึ่งจะเป็นเวทีที่สำคัญสำหรับการหารือร่วมระหว่างภาครัฐและเอกชนในด้านการพัฒนามาตรฐาน กฎระเบียบ และแนวทางปฏิบัติสำหรับตลาดเงินและตลาดทุนในภูมิภาค
6. นอกจากนี้ นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง ยังได้เข้าร่วมหารือทวิภาคีกับปลัดกระทรวงการคลังสหรัฐอเมริกา (Ms. Lael Brainard) โดยได้เน้นเรื่องการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยหลังประสบปัญหาอุทกภัยในช่วงปลายปีที่แล้ว รวมถึงแนวการทางบริหารจัดการน้ำของไทย และได้หารือทวิภาคีร่วมกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังออสเตรเลีย (Ms. Penny Wong) ซึ่งมีประเด็นหลัก คือ บทบาทของไทยในการส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจของอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง
อนึ่ง การประชุมครั้งนี้มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังหรือผู้แทนจากสมาชิกเอเปค 20 เขตเศรษฐกิจ (จากทั้งหมด 21 เขตเศรษฐกิจ) เข้าร่วมการประชุม ซึ่งได้แก่ ออสเตรเลีย บรูไน แคนาดา ชิลี ไต้หวัน สาธารณรัฐประชาชนจีน เขตปกครองพิเศษฮ่องกง อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น สาธารณรัฐเกาหลี มาเลเซีย เม็กซิโก นิวซีแลนด์ เปรู ฟิลิปปินส์ รัสเซีย สิงคโปร์ ไทย สหรัฐอเมริกา และสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม รวมทั้ง มีประธานธนาคารพัฒนาเอเชีย ผู้อำนวยการบริหารธนาคารโลก รองผู้อำนวยการบริหารกองทุนการเงินระหว่างประเทศ และสภาที่ปรึกษาธุรกิจเอเปค เข้าร่วมด้วย
สำนักนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง
โทร. 02 273 9020 ต่อ 3610
--ข่าวกระทรวงการคลัง กลุ่มการประชาสัมพันธ์ สนง.ปลัดกระทรวงการคลัง ฉบับที่ 97/2555 31 สิงหาคม 2555--