รายงานภาวะเศรษฐกิจรายสัปดาห์ระหว่างวันที่ 27 - 31 สิงหาคม 2555

ข่าวเศรษฐกิจ Monday September 3, 2012 10:00 —กระทรวงการคลัง

Executive Summary

Indicators this week
  • การส่งออกในเดือน ก.ค.55 หดตัวร้อยละ -4.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ในขณะที่การนำเข้าขยายตัวที่ร้อยละ 13.7
  • ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือน ก.ค.55 หดตัวที่ร้อยละ -5.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
  • หนี้สาธารณะคงค้าง ณ สิ้นเดือน มิ.ย. 55 มีจำนวนทั้งสิ้น 4,791.5 พันล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 43.3 ของ GDP
  • GDP สหรัฐฯ ไตรมาส 2 ปี 55 (ตัวเขปรับปรุง) ขยายตัวร้อยละ 2.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อนหรือขยายตัวร้อยละ 0.4 จากไตรมาสก่อนหน้า (ขจัดผลทางฤดูกาลแล้ว)
  • GDP ฟิลิปปินส์ ไตรมาส 2 ปี 55 ขยายตัวร้อยละ 5.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน หรือคิดเป็นการขยายตัวร้อยละ 0.2 จากไตรมาสก่อน (ขจัดผลทางฤดูกาลแล้ว)
  • ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคสหรัฐฯ เดือน ส.ค.55 อยู่ที่ระดับ 60.6 จุด
  • ดัชนีความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจของยูโรโซน เดือน ส.ค.55 อยู่ที่ระดับ 86.1 จุด
  • ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรมญี่ปุ่น เดือน ส.ค.55 ปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ระดับ 47.7 จุด ต่ำสุดในรอบ 16 เดือน
  • อัตราเงินเฟ้อญี่ปุ่น เดือน ก.ค.55 หดตัวต่อเนื่องมาอยู่ที่ร้อยละ -0.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน
  • การส่งออกฮ่องกง เดือน ก.ค.55 หดตัวร้อยละ -3.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ในขณะที่การนำเข้าที่หดตัวร้อยละ -1.8
Indicators next week
 Indicators                          Forecast             Previous
Aug: Headline Inflation(% YoY)         2.8                   2.7
  • โดยมีสาเหตุหลักมาจากราคาน้ำมันขายปลีกที่ปรับตัวสูงขึ้นตามการเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันดิบโลก ประกอบกับราคาผักและผลไม้มีราคาสูงขึ้น โดยเกิดจากภาวะฝนตกชุก ทำให้ผักเน่าเสียง่าย รวมถึงสินค้าประเภทไข่ที่มีการปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน ขณะที่ราคาเนื้อสัตว์มีการปรับตัวลดลงเล็กน้อย ทำให้คาดว่าราคาสินค้าในเดือนส.ค. โดยเฉลี่ยจะอยู่ในระดับใกล้เคียงกับเดือนก่อนหน้า โดยอาจมีการปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ทั้งนี้ คาดว่าอัตราเงินเฟ้อจะขยายตัวที่ร้อยละ 0.42 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า (%mom)
Economic Indicators: This Week
  • การส่งออกในเดือน ก.ค. 55 มีมูลค่าอยู่ที่ 19,544.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัวร้อยละ -4.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน หรือหดตัวร้อยละ -0.7 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหลังขจัดผลทางฤดูกาลแล้ว เนื่องจากปัญหาวิกฤตหนี้ยุโรปที่ลุกลามไปยังตลาดส่งออกที่สำคัญของไทยมากขึ้น และทำให้มีการนำเข้าสินค้าจากไทยลดลง โดยเฉพาะสินค้าหมวดอุตสาหกรรมที่หดตัวร้อยละ -4.8 ตามการหดตัวของสินค้าอิเล็กทรอนิกส์และสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าที่หดตัวร้อยละ -15.4 และร้อยละ -3.4 ตามลำดับ สอดคล้องกับสินค้าหมวดเกษตรกรรมที่หดตัวร้อยละ -12.6 อย่างไรก็ตามสินค้าในหมวดแร่และเชื้อเพลิง และสินค้าในหมวดยานยนต์ขยายตัวเร่งขึ้นที่ร้อยละ 7.4 และร้อยละ 22.8 ตามลำดับ ทั้งนี้ราคาส่งออกหดตัวที่ร้อยละ -0.2 และปริมาณการส่งออกหดตัวเช่นเดียวกันที่ร้อยละ -4.2
  • การนำเข้าในเดือน ก.ค. 55 มีมูลค่าอยู่ที่ 21,290.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวเร่งขึ้นที่ร้อยละ 13.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามการขยายตัวเร่งขึ้นเกือบทุกหมวดสินค้า โดยเฉพาะสินค้าทุนที่ขยายตัวเร่งขึ้นที่ร้อยละ 35.8 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ร้อยละ 9.9 และสินค้าวัตถุดิบที่ขยายตัวเร่งขึ้นที่ร้อยละ 2.7 จากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวที่ร้อยละ -17.2 รวมถึงการขยายตัวเร่งขึ้นของยานยนต์และสินค้าอุปโภคบริโภค ที่ร้อยละ 65.4 และ 13.1 ตามลำดับ อย่างไรก็ตาม สินค้าในหมวดเชื้อเพลิงหดตัวที่ร้อยละ -0.3 ทั้งนี้ราคานำเข้าหดตัวที่ร้อยละ -0.3 และปริมาณการนำเข้าขยายตัวร้อยละ 14.1 และจากการที่มูลค่าการส่งออกน้อยกว่ามูลค่าการนำเข้าทำให้ดุลการค้าในเดือน ก.ค. 55 ขาดดุลต่อเนื่องที่ -1,746.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
  • ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือน ก.ค. 55 หดตัวที่ร้อยละ -5.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน หดตัวต่อเนื่องนับจากไตรมาส 2 ปี 55 ที่หดตัวร้อยละ -1.5 โดยมีปัจจัยสำคัญจากการหดตัวของการผลิต Hard Disk Drive ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ และเครื่องใช้ไฟฟ้า เนื่องจากการผลิตส่วนหนึ่งยังไม่ฟื้นตัวกลับมาเต็มที่ ขณะที่โรงงานในพื้นที่ที่เคยถูกน้ำท่วมสามารถกลับมาผลิตได้ประมาณร้อยละ 50 ของการผลิตเดิม นอกจากนี้ ในส่วนอุตสาหกรรมสิ่งทอและเสื้อผ้าสำเร็จรูปยังคงชะลอการผลิตจากต้นทุนปัจจัยการผลิตที่เพิ่มสูงขึ้น และอุตสาหกรรมการกลั่นน้ำมันปิโตรเลียมชะลอการผลิตเนื่องจากได้รับผลกระทบจากโรงกลั่นบางจากที่ประสบเหตุระเบิดซึ่งต้องอาศัยระยะเวลาซ่อมบำรุง
  • หนี้สาธารณะคงค้าง ณ สิ้นเดือน มิ.ย. 55 มีจำนวนทั้งสิ้น 4,791.5 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า 123.4 พันล้านบาท คิดเป็น ร้อยละ 43.3 ของ GDP ทั้งนี้ การเพิ่มขึ้นของหนี้สาธารณะที่สำคัญเกิดจากหนี้ของรัฐบาลเพิ่มขึ้นสุทธิ 76.2 พันล้านบาท โดยมีรายการสำคัญจากหนี้ที่รัฐบาลกู้โดยตรงเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณจำนวน 42.9 พันล้านบาท และการกู้เงินล่วงหน้าเพื่อปรับโครงสร้างหนี้จำนวน 33.4 พันล้านบาท ในขณะที่หนี้รัฐวิสาหกิจที่เป็นสถาบันการเงิน (รัฐบาลค้ำประกัน) เพิ่มขึ้นสุทธิ 51.2 พันล้านบาท โดยเฉพาะจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรจำนวน 33.3 พันล้านบาท ทั้งนี้ สถานะหนี้สาธารณะของไทยถือว่ามีความมั่นคง สะท้อนได้จากสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ยังอยู่ในระดับต่ำกว่ากรอบความยั่งยืนทางการคลังที่ตั้งไว้ไม่เกินร้อยละ 60 ของ GDP และหนี้สาธารณะส่วนใหญ่เป็นหนี้ระยะยาว (ร้อยละ 95.6 ของยอดหนี้สาธารณะ) และเป็นสกุลเงินบาท (ร้อยละ 93.0 ของยอดหนี้สาธารณะ)
Economic Indicators: Next Week
  • อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือน ส.ค. 55 คาดว่าจะอยู่ที่ร้อยละ 2.8 ซึ่งเป็น ระดับที่ใกล้เคียงกับเดือนก่อนหน้า โดยมีสาเหตุหลักมาจากราคาน้ำมันขายปลีกที่ปรับตัวสูงขึ้นตามการเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันดิบโลก ประกอบกับราคาผักและผลไม้มีราคาสูงขึ้น โดยเกิดจากภาวะฝนตกชุก ทำให้ผักเน่าเสียง่าย รวมถึงสินค้าประเภทไข่ที่มีการปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน ขณะที่ราคาเนื้อสัตว์มีการปรับตัวลดลงเล็กน้อย ทำให้คาดว่าราคาสินค้าในเดือนส.ค. โดยเฉลี่ยจะอยู่ในระดับใกล้เคียงกับเดือนก่อนหน้า โดยอาจมีการปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ทั้งนี้ คาดว่าอัตราเงินเฟ้อจะขยายตัวที่ร้อยละ 0.42 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า (%mom)

Global Economic Indicators: This Week

USA: mixed signal
  • GDP ไตรมาส 2 ปี 55 (ตัวเลขปรับปรุง) ขยายตัวร้อยละ 2.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อนหรือร้อยละ 0.4 จากไตรมาสก่อนหน้า (ขจัดผลทางฤดูกาลแล้ว)ชะลอลงจากไตรมาสก่อนหน้าเล็กน้อย โดยการลงทุนภาคเอกชนขยายตัวสูงร้อยละ 11.6 ในขณะที่การบริโภคภาคเอกชนขยายตัวร้อยละ 2.0 ทั้งนี้เศรษฐกิจสหรัฐฯ ครึ่งแรกของปี 55 ขยายตัวร้อยละ 2.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนหน้า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค เดือน ส.ค. 55 อยู่ที่ระดับ 60.6 จุด ลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 65.4 จุด จากดัชนีแนวโน้มอนาคตที่ปรับตัวลดลง ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทน เดือน ก.ค. 55 ขยายตัวร้อยละ 4.2 จากเดือนก่อนหน้า (ขจัดผลทางฤดูกาลแล้ว) จากยอดสั่งซื้อเครื่องบินพาณิชย์ที่ขยายตัวสูงถึงร้อยละ 53.9 จากเดือนก่อนหน้า ประกอบกับคำสั่งซื้อสินค้ายานยนต์ขยายตัวดีที่ร้อยละ 12.8 จากเดือนก่อนหน้า
Eurozone: worsening economic trend
  • ดัชนีความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจของยูโรโซน เดือน ส.ค. 55 ปรับตัวลดลงจากระดับ 87.9 จุดในเดือนก่อนหน้ามาอยู่ที่ระดับ 86.1 จุด ซึ่งมีปัจจัยหลักดังนี้ 1) GDP ยูโรโซน ครึ่งแรกของปี 55 หดตัวร้อยละ -0.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน 2) อุปสงค์ภายในประเทศและภาคการส่งออกหดตัวต่อเนื่อง และ 3) ยังไม่มีความชัดเจนในมาตรการแก้ไขปัญหาวิกฤตหนี้สาธารณะในยูโรโซน ทั้งนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นที่ลดลงต่อเนื่องบ่งชี้ได้ว่าเศรษฐกิจยูโรโซนอาจเริ่มส่งสัญญาณเข้าสู่ภาวะถดถอย
Japan: worsening economic trend
  • ยอดค้าปลีก เดือน ก.ค. 55 หดตัวครั้งแรกในรอบ 8 เดือน ที่ร้อยละ -0.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน หรือ ขยายตัวร้อยละ 4.8 จากเดือนก่อนหน้า ผลจากยอดขายสินค้าหมวดอาหารและเครื่องดื่ม และสินค้าหมวดเชื้อเพลิงที่หดตัวลงเป็นสำคัญ จากสภาพอากาศที่แปรปรวน ส่งผลต่อการบริโภคของชาวญี่ปุ่นให้ลดลง ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรม เดือน ส.ค. 55 ปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ระดับ 47.7 จุด ต่ำสุดในรอบ 16 เดือน จากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวสะท้อนอุปสงค์ทั้งภายในและนอกประเทศที่ลดลงผ่านช่องทางการผลิตและการส่งออก ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม (ตัวเลขเบื้องต้น) เดือน ก.ค. 55 หดตัวร้อยละ -1.2 จากเดือนก่อนหน้า สาเหตุสำคัญจากผู้ประกอบการปรับลดกำลังการผลิตลง จากตัวเลขทางเศรษฐกิจของจีนและยูโรโซนซึ่งเป็นคู่ค้าสำคัญของญี่ปุ่นที่ออกมาไม่ดีนัก ขณะที่อัตราเงินเฟ้อ เดือน ก.ค. 55 หดตัวต่อเนื่องมาอยู่ที่ร้อยละ -0.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน จากร้อยละ -0.2 ในเดือนก่อน อัตราการว่างงาน เดือน ก.ค. 55 ทรงตัวอยู่ที่ร้อยละ 4.3 ของกำลังแรงงานรวม
Philippines: mixed signal
  • GDP ไตรมาส 2 ปี 55 ขยายตัวร้อยละ 5.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน หรือคิดเป็นการขยายตัวร้อยละ 0.2 จากไตรมาสก่อน (ขจัดผลทางฤดูกาลแล้ว) โดยการบริโภคภาคเอกชนภายในประเทศนั้นเป็นปัจจัยหลัก โดยขยายตัวร้อยละ 5.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจของฟิลิปปินส์ยังมีความเสี่ยงจากภาคการส่งออกที่ส่งสัญญาณชะลอตัว โดยขยายตัวร้อยละ 8.3 ชะลอลงจากไตรมาสก่อน มูลค่าการส่งออก เดือน มิ.ย. 55 ขยายตัวร้อยละ 4.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ขยายตัวชะลอลง ผลจากอุปสงค์ภายนอกประเทศที่ชะลอลง โดยเฉพาะการส่งสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่หดตัวสูงถึงร้อยละ -14.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน หดตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนที่หดตัวร้อยละ -0.7 ขณะที่มูลค่าการนำเข้า เดือน มิ.ย. 55 ขยายตัวเร่งขึ้นที่ร้อยละ 13.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน จากการนำเข้าสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่ขยายตัวสูงถึงร้อยละ 27.1 หลังจากหดตัวร้อยละ -15.3 ในเดือนก่อน ทั้งนี้ การส่งออกที่ชะลอตัวและการนำเข้าที่เร่งขึ้นทำให้ ดุลการค้า เดือน มิ.ย. 55 ขาดดุลเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนมาอยู่ที่ -787.03 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
Hong Kong: mixed signal
  • มูลค่าการส่งออก เดือน ก.ค. 55 หดตัวร้อยละ -3.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน หดตัวชะลอลงจากเดือนก่อน ผลจากการส่งออกไปเอเชียที่หดตัวร้อยละ -1.8 โดยเฉพาะการส่งออกไปอินเดียหดตัวสูงถึงร้อยละ -30.4 สอดคล้องกับมูลค่าการนำเข้า เดือน ก.ค. 55 ที่หดตัวร้อยละ -1.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงจากเดือนก่อน สาเหตุมาจากการนำเข้าจากอินเดียที่หดตัวร้อยละ -20.5 นอกจากนี้ยอดค้าปลีก เดือน ก.ค. 55 ขยายตัวร้อยละ 3.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 11.0 โดยเป็นผลจากราคาอาหารและเครื่องดื่ม ตลอดจนเฟอร์นิเจอร์และน้ำมันเชื้อเพลิงที่หดตัวลงเป็นสำคัญ
South Korea: mixed signal
  • ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม เดือน ก.ค. 55 ขยายตัวเพียงเล็กน้อยที่ร้อยละ 0.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หรือหดตัวร้อยละ -1.6 จากเดือนก่อน(ขจัดผลทางฤดูกาลแล้ว) ผลจากห่วงโซ่อุปทานเศรษฐกิจจีนที่ชะลอตัวลงเป็นสำคัญส่วนผลผลิตภาคบริการ เดือน ก.ค. 55 ยังคงขยายตัวได้ดีที่ร้อยละ 1.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน หรือกลับมาขยายตัวร้อยละ 0.7 จากเดือนก่อนหน้า
Weekly Financial Indicators
  • ดัชนี SET ปรับตัวลดลง ต่ำกว่าระดับ 1,220 จุด โดย ณ วันที่ 30 ส.ค. 55 ดัชนีฯ ปิดที่ระดับ 1,214.6 จุด จากเทขายของนักลงทุนเป็นจำนวนมากช่วงปลายสัปดาห์ โดยเฉพาะนักลงทุน สถาบันในประเทศและนักลงทุนต่างชาติ จากแนวโน้มที่ Fed จะทำ QE3 เริ่มลดลงจากตัวเลขทางเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ออกมาดีขึ้นต่อเนื่อง ทั้งนี้ ระหว่างวันที่ 27 - 30 ส.ค. 55 นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิ -2,556.8 ล้านบาท ขณะที่ผลตอบแทนพันธบัตรของไทยค่อนข้างคงที่ เนื่องจากนักลงทุนรอดูผลการประชุมกนง. ในสัปดาห์หน้า และการประชุม FOMC คืนวันนี้ ตลอดจนรอดูท่าทีของ ECB ในการออกมาตรการเพิ่มเติม ทั้งนี้ ระหว่างวันที่ 27 - 30 ส.ค. 55 นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิ 9,887.0 ล้านบาท
  • ค่าเงินบาทอ่อนค่าลงเล็กน้อย โดย ณ วันที่ 30 ส.ค. 55 ปิดที่ระดับ 31.36 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าลงเล็กน้อยจากสัปดาห์ก่อนหน้าร้อยละ -0.55 ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกับค่าเงินหลักและสกุลภูมิภาค ทั้งค่าเงินเยน ยูโร ริงกิตมาเลเซีย วอนเกาหลีและ ดอลลาร์สิงคโปร์ ทั้งนี้ ค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลงด้วยอัตราที่มากกว่าค่าเงินสกุลอื่นๆ ของคู่ค้า ทำให้ดัชนีค่าเงินบาท (NEER) ในสัปดาห์นี้อ่อนค่าลงเล็กน้อยจากสัปดาห์ก่อนร้อยละ -0.25
  • ราคาทองคำปรับตัวลดลงเล็กน้อย โดยราคาทองคำ ณ วันที่ 30 ส.ค. 55 ปิดที่ 1,655.5 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ ลดลงจากต้นสัปดาห์ที่ปิดที่ 1,663.6 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office

Tel 02-273-9020 Ext 3665 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ