เอกสารแนบ
"ภาวะเศรษฐกิจไทยในเดือนพฤษภาคม 2555 มีสัญญาณปรับตัวดีขึ้น ทั้งจากการใช้จ่ายภายในประเทศ การส่งออกและด้านการผลิต ขณะที่เสถียรภาพทางเศรษฐกิจยังอยู่ในเกณฑ์ที่แข็งแกร่งอย่างต่อเนื่อง"
1. การบริโภคภาคเอกชนในเดือนพฤษภาคม 2555 ขยายตัวได้ดีต่อเนื่องโดยเฉพาะการบริโภคสินค้าคงทนที่ปรับตัวดีขึ้นมาก โดยเฉพาะปริมาณจำหน่ายรถยนต์นั่งในเดือนพฤษภาคม 2555 ขยายตัวต่อเนื่องติดต่อกันเป็นเดือนที่ 2 ซึ่งเป็นการขยายตัวสูงสุดเป็นประวัติศาสตร์ที่ร้อยละ 137.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เพิ่มขึ้นเป็นอย่างมากจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 23.4 เช่นเดียวกับยอดจำหน่ายรถจักรยานยนต์ในเดือนพฤษภาคม 2555 ขยายตัวร้อยละ 14.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 4.2 แบ่งออกเป็นยอดขายรถจักรยานยนต์ในส่วนภูมิภาค (สัดส่วนร้อยละ 80.0 ของยอดขายรถจักรยานยนต์รวม) ขยายตัวร้อยละ 13.3 จากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 3.0 และยอดขายรถจักรยานยนต์ใน กทม. (สัดส่วนร้อยละ 20.0 ของยอดขายรถจักรยานยนต์รวม) ขยายตัวร้อยละ 20.9 จากเดือนก่อนหน้าที่ร้อยละ 9.7 สำหรับภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ระดับราคาคงที่ ในเดือนพฤษภาคม 2555 จัดเก็บลดลงที่ร้อยละ -0.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากปัจจัยฐานสูงของช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว แต่เมื่อพิจารณาเปรียบเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังหักผลทางฤดูกาลออก (m-o-m SA) พบว่า ขยายตัวร้อยละ 7.0 ต่อเดือน สอดคล้องกับปริมาณการนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภคในเดือนพฤษภาคม 2555 ที่ขยายตัวร้อยละ 13.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 4.5 นอกจากนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจโดยรวมในเดือนพฤษภาคม 2555 อยู่ที่ระดับ 67.1 ลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ระดับ 67.5 นับเป็นการปรับตัวลดลงครั้งแรกในรอบ 6 เดือน จากความกังวลต่อสถานการณ์ทางการเมืองในประเทศ ประกอบกับความกังวลเรื่องค่าครองชีพที่มีแนวโน้มสูงขึ้น ตามราคาน้ำมันในประเทศที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น รวมถึงความกังวลเกี่ยวกับความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะเศรษฐกิจในกลุ่มประเทศยุโรปที่ส่งผลกระทบต่อภาคการค้าระหว่างประเทศของไทย
2. การลงทุนภาคเอกชนในเดือนพฤษภาคม 2555 ขยายตัวได้ดีต่อเนื่องเช่นกัน โดยเฉพาะการลงทุนภาคเอกชนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักร สะท้อนจากปริมาณการนำเข้าสินค้าทุนในเดือนพฤษภาคม 2555 ขยายตัวได้ดีร้อยละ 38.9 เร่งขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 21.3 เมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน สอดคล้องกับปริมาณจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ในเดือนพฤษภาคม 2555 ขยายตัวถึงร้อยละ 85.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 35.2 นับเป็นการขยายตัวต่อเนื่องติดต่อกันเป็นเดือนที่ 5 โดยได้รับปัจจัยบวกมาจากการเพิ่มขึ้นของปริมาณจำหน่ายรถกระบะขนาด 1 ตัน ที่ขยายตัวร้อยละ 89.4 จากความต้องการของตลาดที่เพิ่มสูงขึ้น สำหรับเครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชนในหมวดการก่อสร้าง วัดจากยอดจำหน่ายปูนซีเมนต์ภายในประเทศในเดือนพฤษภาคม 2555 ขยายตัวร้อยละ 3.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 4.7 ในขณะที่ภาษีจากการทำธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์ในเดือนพฤษภาคม 2555 ขยายตัวร้อยละ 14.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวเพียงร้อยละ 4.3 จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจภายในประเทศ ส่งผลให้ผู้บริโภคมีความเชื่อมั่นในการตัดสินใจซื้อที่อยู่อาศัยเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างในเดือนพฤษภาคม 2555 ขยายตัวร้อยละ 4.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้าที่ร้อยละ 4.8 โดยดัชนีที่ปรับเพิ่มขึ้น ได้แก่ ดัชนีในหมวดผลิตภัณฑ์คอนกรีต ดัชนีในหมวดวัสดุฉาบผิว และหมวดวัสดุก่อสร้างอื่นๆ เป็นต้น
3. เครื่องชี้ภาวะเศรษฐกิจด้านการคลังในเดือนพฤษภาคม 2555 พบว่า รายได้รัฐบาลต่ำกว่าเป้าหมายเป็นเดือนแรกจากผลกระทบจากวิกฤติอุทกภัยในช่วงปลายปี 2554 ทำให้การชำระภาษีเงินได้นิติบุคคลจากกำไรสุทธิรอบสิ้นปีบัญชี 2554 ต่ำกว่าเป้า โดยในเดือนพฤษภาคม 2555 ผลการจัดเก็บรายได้สุทธิของรัฐบาล (หลังหักการจัดสรรให้องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.)) เท่ากับ 344.4 พันล้านบาท ลดลงร้อยละ -3.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากเดือนก่อนหน้าที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.1 สำหรับการเบิกจ่ายงบประมาณในเดือนพฤษภาคม 2555 มีจำนวน 144.9 พันล้านบาท ลดลงร้อยละ -31.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยรายจ่ายงบประมาณปีปัจจุบันจำนวน 135.1 พันล้านบาท ลดลงร้อยละ -34.2 แบ่งออกเป็น (1) รายจ่ายประจำ 113.2 พันล้านบาท ลดลงร้อยละ -40.0 และ (2) รายจ่ายลงทุน 21.8 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 31.9 สำหรับรายจ่ายเหลื่อมปีเบิกจ่ายได้ 9.9 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 58.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ในส่วนของฐานะการคลัง พบว่า รายได้นำส่งคลังในเดือนพฤษภาคม 2555เท่ากับ 171.6 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 33.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งจากรายได้นำส่งคลังที่สูงกว่าการเบิกจ่ายงบประมาณทำให้ดุลงบประมาณในเดือนพฤษภาคม 2555 เกินดุลจำนวน 26.7 พันล้านบาท
4. การส่งออกในเดือนพฤษภาคม 2555 มีสัญญาณการฟื้นตัวดีขึ้น โดยกลับมาขยายตัวเป็นบวกอีกครั้งหลังจากที่หดตัวในรอบ 2 เดือนโดยพบว่า การส่งออกสินค้าในรูปดอลลาร์สหรัฐในเดือนพฤษภาคม 2555 มีมูลค่า 20.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 7.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -3.7 โดยมีปัจจัยหลักมาจากการส่งออกไปยังประเทศคู่ค้าหลักที่ดีขึ้น โดยเฉพาะประเทศจีน ออสเตรเลีย และอินโดนีเซีย ที่ขยายตัวร้อยละ 22.3 51.1 และ 30.0 ตามลำดับ โดยสินค้าส่งออกที่ขยายตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ เครื่องอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า และยานยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เป็นสำคัญ สำหรับมูลค่าการนำเข้าสินค้าในรูปดอลลาร์สหรัฐในเดือนพฤษภาคม 2555 พบว่า มูลค่าการนำเข้าสินค้าในรูปดอลลาร์สหรัฐอยู่ที่ 22.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 18.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เร่งขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 7.9 ทั้งนี้ มูลค่าการส่งออกสินค้าในรูปดอลลาร์สหรัฐที่ต่ำกว่ามูลค่าการนำเข้าสินค้าในรูปดอลลาร์สหรัฐทำให้ดุลการค้าในเดือนพฤษภาคม 2555 ขาดดุลอยู่ที่ -1.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
5. เครื่องชี้ภาวะเศรษฐกิจด้านการผลิตในเดือนพฤษภาคม 2555 มีสัญญาณฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องโดยดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรม เบื้องต้นกลับมาขยายตัวเป็นบวกอีกครั้งในรอบ 8 เดือน อยู่ที่ร้อยละ 5.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน หลังจากสิ้นสุดวิกฤตอุทกภัยที่เกิดขึ้นช่วงปลายปี 2554 โดยได้รับผลดีจากการฟื้นตัวของการผลิตในหมวดยานยนต์และหมวดอาหารและเครื่องดื่มที่มีการเร่งตัวขึ้นมาก โดยการผลิตในหมวดยานยนต์ขยายตัวต่อเนื่องอยู่ที่ร้อยละ 136.2 จากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 84.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (สอดคล้องกับปริมาณจำหน่ายรถยนต์นั่ง รถยนต์เชิงพาณิชย์ และรถจักรยานยนต์ที่ขยายตัวต่อเนื่อง) และหมวดอาหารและเครื่องดื่มในเดือนพฤษภาคม 2555 ขยาตัวร้อยละ 16.7 ขยายตัว ต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้า 3.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สอดคล้องกับดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมเดือนพฤษภาคม 2555 อยู่ที่ระดับ 106.0 ปรับเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ระดับ 104.0 ซึ่งเป็นการปรับตัวเพิ่มขึ้นติดต่อกันเป็นเดือนที่ 6 และเป็นค่าดัชนีที่อยู่ในระดับเกิน 100 เป็นเดือนที่ 4 ติดต่อกันหลังวิกฤตอุทกภัยที่ผ่านมา สะท้อนถึงความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะการบริโภคภายในประเทศ ประกอบกับการผลิตภาคอุตสาหกรรมกลับเข้าสู่ภาวะปกติ ในขณะที่เครื่องชี้ภาคการเกษตรวัดจากดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตร พบว่า ดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรในเดือนพฤษภาคม 2555 ขยายตัวร้อยละ 7.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -0.2 ตามการเพิ่มขึ้นของผลผลิตในหมวดพืชผล และหมวดปศุสัตว์เป็นสำคัญ โดยเฉพาะข้าวนาปรังที่ผลผลิตออกสู่ตลาดมากขึ้น หลังจากได้รับผลกระทบจากวิกฤตอุทกภัยในช่วงปลายปี 2554 ในขณะที่ผลผลิตปศุสัตว์ขยายตัวเพิ่มจากผลผลิตสุกรและไก่เนื้อที่ขยายตัวร้อยละ 0.3 และ 6.1 ตามลำดับ เนื่องจากสภาพภูมิอากาศที่เอื้ออำนวยต่อการเติบโตของสัตว์เลี้ยง สำหรับเครื่องชี้ภาคบริการที่สะท้อนจากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศ พบว่า จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่เดินทางเข้าประเทศไทยในเดือนพฤษภาคม 2555 มีจำนวนทั้งสิ้น 1.52 ล้านคน ขยายตัวร้อยละ 8.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 6.9 โดยเป็นการขยายตัวได้ดีจากประเทศจีน รัสเซียและเยอรมนี ที่ร้อยละ 37.9 52.9 และ 35.7 ตามลำดับ
6. เสถียรภาพเศรษฐกิจยังคงอยู่ในเกณฑ์ดีต่อเนื่อง โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนพฤษภาคม 2555 อยู่ที่ร้อยละ 2.5 อยู่ในระดับเดียวกับเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ร้อยละ 2.5 โดยสาเหตุที่อัตราเงินเฟ้อยังคงอยู่ในระดับต่ำเกิดจากฐานที่สูงในช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่เมื่อพิจารณาเปรียบเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังหักผลทางฤดูกาลออก (m-o-m SA) พบว่ามีการปรับเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.4 เป็นการเพิ่มขึ้นของราคาอาหารสำเร็จรูป ผักสด เนื้อสัตว์ เครื่องประกอบอาหาร และค่าโดยสารสาธารณะ เป็นสำคัญ ส่วนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 2.0 ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้าที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.1 สำหรับอัตราการว่างงานล่าสุดในเดือนเมษายน 2555 อยู่ที่ร้อยละ 1.0 ของกำลังแรงงานรวม ซึ่งคิดเป็นจำนวนคนว่างงานเท่ากับ 3.77 แสนคน ขณะที่สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ณ สิ้นเดือนเมษายน 2555 อยู่ที่ร้อยละ 42.4 ต่ำกว่ากรอบความยั่งยืนทางการคลังที่ตั้งไว้ไม่เกินร้อยละ 60.0 นอกจากนี้ เสถียรภาพภายนอกประเทศยังอยู่ในระดับมั่นคง และสามารถรองรับความเสี่ยงจากความผันผวนของเศรษฐกิจโลกได้ สะท้อนได้จากทุนสำรองระหว่างประเทศ ณ สิ้นเดือนพฤษาคม 2555 อยู่ที่ระดับ 171.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งสูงกว่าหนี้ต่างประเทศระยะสั้นกว่า 2.9 เท่า
ที่มา: สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง