เอกสารแนบ: รายงานภาวะเศรษฐกิจการคลังประจำเดือนเมษายน 2555

ข่าวเศรษฐกิจ Monday May 28, 2012 16:38 —กระทรวงการคลัง

เอกสารแนบ

"เศรษฐกิจไทยในเดือนเมษายน 2555 ฟื้นตัวได้ดีต่อเนื่องจากการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน ในขณะที่การส่งออกมีสัญญาณดีขึ้นเช่นกันแม้ว่ายังคงหดตัวเล็กน้อย ทั้งนี้ ยังต้องติดตามสถานการณ์ความไม่แน่นอนของภาวะเศรษฐกิจโลกอย่างใกล้ชิด"

1. การบริโภคภาคเอกชนในเดือนเมษายน 2555 ขยายตัวได้ดีต่อเนื่องโดยเฉพาะการบริโภคสินค้าคงทน สะท้อนถึงการฟื้นตัวตัวอย่างชัดเจนจากวิกฤตอุทกภัย โดยภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ในเดือนเมษายน 2555 จัดเก็บได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ต่อเนื่องจากเดือนก่อน ที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 11.3 สอดคล้องกับปริมาณการนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภคในเดือนเมษายน 2555 ที่ขยายตัวร้อยละ 4.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว จากเดือนก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 2.7 ทั้งนี้ การบริโภคสินค้าคงทนปรับตัวดีขึ้นมาก โดยเฉพาะปริมาณจำหน่ายรถยนต์นั่งในเดือนเมษายน 2555 กลับมาขยายตัวอีกครั้งที่ระดับร้อยละ 23.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากที่หดตัวต่อเนื่องติดต่อกัน 6 เดือน ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2554 จากวิกฤตน้ำท่วมที่เกิดขึ้นช่วงปลายปี 2554 เช่นเดียวกับยอดจำหน่ายรถจักรยานยนต์ในเดือนเมษายน 2555 ขยายตัวร้อยละ 4.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -1.2 แบ่งออกเป็นยอดขายรถจักรยานยนต์ในส่วนภูมิภาค (สัดส่วนร้อยละ 80.0 ของยอดขายรถจักรยานยนต์รวม) ขยายตัวร้อยละ 3.0 จากเดือนก่อนที่หดตัวร้อยละ -1.7 และยอดขายรถจักรยานยนต์ใน กทม. (สัดส่วนร้อยละ 20.0 ของยอดขายรถจักรยานยนต์รวม) ขยายตัวในอัตราเร่งที่ร้อยละ 9.7 จากเดือนก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 0.8 นอกจากนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจโดยรวมในเดือนเมษายน 2555 ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องติดต่อกันเป็นเดือนที่ 5 โดยอยู่ที่ระดับ 67.5 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนที่อยู่ที่ระดับ 66.5 เนื่องจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและธุรกิจหลังวิกฤตอุทกภัย นอกจากนี้ ผู้บริโภคยังคาดหวังว่าภาวะเศรษฐกิจและรายได้ในอนาคตจะปรับตัวดีขึ้นจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลและการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 300 บาทต่อวัน ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2555

2. การลงทุนภาคเอกชนในเดือนเมษายน 2555 ขยายตัวได้ดีต่อเนื่องเช่นกัน โดยเฉพาะการลงทุนภาคเอกชนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักร สะท้อนจากปริมาณการนำเข้าสินค้าทุนในเดือนเมษายน 2555 ขยายตัวได้ดีร้อยละ 21.3 เร่งขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 16.2 เมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน สอดคล้องกับปริมาณจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ในเดือนเมษายน 2555 ขยายตัวร้อยละ 35.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 36.7 สะท้อนถึงความต้องการของตลาดที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง สำหรับเครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชนในหมวดการก่อสร้าง วัดจากยอดจำหน่ายปูนซีเมนต์ภายในประเทศในเดือนเมษายน 2555 ขยายตัวร้อยละ 4.7 ต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 4.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ในขณะที่ภาษีจากการทำธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์ในเดือนเมษายน 2555 ขยายตัวร้อยละ 1.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ขยายตัวชะลอลงจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 12.8 เนื่องจากผู้บริโภคยังคงระมัดระวังในการตัดสินใจซื้อที่อยู่อาศัยจากสถานการณ์เศรษฐกิจที่ยังไม่แน่นอน และภาวะราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลให้การทำธุรกรรมการโอนกรรมสิทธิ์ ที่อยู่อาศัยชะลอออกไปก่อน นอกจากนี้ ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างในเดือนเมษายน 2555 เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.8เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.8 โดยดัชนีที่ปรับเพิ่มขึ้น ได้แก่ ดัชนีในหมวดผลิตภัณฑ์คอนกรีตสูง ดัชนีในหมวดวัสดุก่อสร้างอื่นๆ เป็นต้น เนื่องจากต้นทุนการผลิตปรับตัวสูงขึ้นตามราคาพลังงานที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จึงกระทบต่อค่าขนส่งสินค้าและราคาวัตถุดิบก่อสร้าง

3. เครื่องชี้ภาวะเศรษฐกิจด้านการคลังในเดือนเมษายน 2555 พบว่า บทบาทนโยบายการคลัง จากการดำเนินนโยบายขาดดุลงบประมาณ ยังคงสนับสนุนเศรษฐกิจไทยต่อเนื่อง โดยในเดือนเมษายน 2555 พบว่าดุลงบประมาณขาดดุลจำนวน -22.5 พันล้านบาท โดยมีการเบิกจ่ายงบประมาณในเดือนเมษายน 2555 มีจำนวน 157.6 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 12.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยรายจ่ายงบประมาณปีปัจจุบันจำนวน 150.3 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 11.3 แบ่งออกเป็น (1) รายจ่ายประจำจำนวน 135.2 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 11.9 และ (2) รายจ่ายลงทุนจำนวน 15.0 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.8 สำหรับรายจ่ายเหลื่อมปีเบิกจ่ายได้จำนวน 7.3 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 57.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ทั้งนี้ การเบิกจ่ายงบประมาณประจำปีงบประมาณ 2555 มีการเร่งรัดการเบิกจ่ายอย่างต่อเนื่อง หลังจากได้รับการอนุมัติเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2555 ที่ผ่านมา ทำให้โครงการต่างๆ มีการเร่งเบิกจ่าย สำหรับผลการจัดเก็บรายได้สุทธิของรัฐบาล (หลังหักการจัดสรรให้องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.)) ในเดือนเมษายน 2555 เท่ากับ 139.5 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ชะลอลงเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.8 ทั้งนี้ การขาดดุลการคลังในเดือนเมษายน 2555 สะท้อนบทบาทนโยบายการคลังที่ยังสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยอย่างต่อเนื่อง

4. การส่งออกในเดือนเมษายน 2555 มีสัญญาณการฟื้นตัวดีขึ้น โดยพบว่า การส่งออกสินค้าในรูปดอลลาร์สหรัฐในเดือนเมษายน 2555 มีมูลค่า 16.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัวร้อยละ -3.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -6.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่เมื่อพิจารณาเปรียบเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังหักผลทางฤดูกาลออก (m-o-m SA) พบว่า ขยายตัวร้อยละ 0.5 ต่อเดือน โดยมีปัจจัยหลักมาจากการส่งออกไปยังประเทศคู่ค้าหลักที่ดีขึ้น โดยเฉพาะประเทศจีน กลุ่มประเทศอาเซียน แอฟริกา และเกาหลีใต้ ที่ขยายตัวร้อยละ 16.4 9.7 29.8 และ 13.2 ตามลำดับ สำหรับมูลค่าการนำเข้าสินค้าในรูปดอลลาร์สหรัฐในเดือนเมษายน 2555 พบว่า มูลค่าการนำเข้าสินค้าในรูปดอลลาร์สหรัฐอยู่ที่ 19.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 7.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 25.6 ทั้งนี้ มูลค่าการส่งออกสินค้าในรูปดอลลาร์สหรัฐที่ต่ำกว่ามูลค่าการนำเข้าสินค้าสินค้าในรูปดอลลาร์สหรัฐทำให้ดุลการค้าในเดือนเมษายน 2555 ขาดดุลอยู่ที่ -2.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

5. เครื่องชี้ภาวะเศรษฐกิจด้านการผลิตในเดือนเมษายน 2555 มีสัญญาณฟื้นอย่างต่อเนื่องโดยเครื่องชี้ด้านการผลิตเบื้องต้น พบว่า ดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรมกลับมาขยายตัวเป็นเดือนแรกที่ร้อยละ 0.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากที่หดตัวต่อเนื่องติดต่อกัน 7 เดือน ตั้งแต่เดือนกันยายน 2554 จากวิกฤตอุทกภัยที่เกิดขึ้นช่วงปลายปี 2554 โดยได้รับผลดีจากการฟื้นตัวของการผลิตในหมวดยานยนต์ หมวดน้ำมันปิโตเลียม หมวดเครื่องใช้ไฟฟ้า (แอร์ พัดลม) และหมวดเฟอร์นิเจอร์และเครื่องประดับ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมในหมวดยานยนต์มีการเร่งตัวขึ้นมาก สะท้อนจากปริมาณจำหน่ายรถยนต์นั่ง รถยนต์เชิงพาณิชย์ และรถจักรยานยนต์ที่ขยายตัวต่อเนื่อง สอดคล้องกับดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมเดือนเมษายน 2555 อยู่ที่ระดับ 104.0 ปรับเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ระดับ 102.1 ซึ่งเป็นการปรับตัวเพิ่มขึ้นติดต่อกันเป็นเดือนที่ 5 และเป็นค่าดัชนีที่อยู่ในระดับเกิน 100 เป็นเดือนที่ 3 ติดต่อกันหลังสิ้นสุดวิกฤตอุทกภัยที่ผ่านมา สะท้อนความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง และภาคการผลิตกลับเข้าสู่ภาวะปกติ ประกอบกับอุปสงค์ภายในประเทศที่ยังคงขยายตัวต่อเนื่อง และค่าใช้จ่ายที่เพิ่มมากขึ้นในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ในขณะที่เครื่องชี้ภาคการเกษตรวัดจากดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตร พบว่า ดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตร (เบื้องต้น) ในเดือนเมษายน 2555 หดตัวในระดับเดียวกับเดือนก่อนหน้าโดยอยู่ที่ระดับร้อยละ -0.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามการลดลงของผลผลิตในหมวดพืชผล และปศุสัตว์เป็นสำคัญ โดยเฉพาะข้าว และผลผลิตสุกร ประกอบสภาพภูมิอากาศที่ไม่เอื้ออำนวยต่อการเพาะปลูก อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาเปรียบเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังหักผลทางฤดูกาลออก (m-o-m SA) พบว่าดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรขยายตัวร้อยละ 3.9 สำหรับเครื่องชี้ภาคบริการที่สะท้อนจากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศ พบว่า จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่เดินทางเข้าประเทศไทยในเดือนเมษายน 2555 มีจำนวนทั้งสิ้น 1.66 ล้านคน ขยายตัวร้อยละ 6.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 12.0 แต่เมื่อพิจารณาเปรียบเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังหักผลทางฤดูกาลออก (m-o-m SA) พบว่าขยายตัวร้อยละ 4.5 โดยเป็นการขยายตัวได้ดีจากกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือและกลุ่มประเทศยุโรปเป็นหลักโดยเฉพาะจากประเทศจีน สวีเดนและรัสเซีย ที่ขยายตัวร้อยละ 42.1 101.5 และ 20.0 ตามลำดับ แม้ว่าจะมีสถานการณ์ที่กระทบต่อความเชื่อมั่นจากเหตุการณ์ลอบวางระเบิดที่ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา ช่วงปลายเดือนมีนาคม และการประกาศเฝ้าระวังสึนามิในช่วงกลางเดือน เมษายน 2555 ก็ตาม

6. เสถียรภาพเศรษฐกิจยังคงอยู่ในเกณฑ์ดีต่อเนื่อง โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนเมษายน 2555 อยู่ที่ร้อยละ 2.5 ลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ร้อยละ 3.5 แต่หากเทียบกับเดือนก่อนหน้ามีการปรับเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.4 โดยมีสาเหตุหลักจากฐานราคาที่สูงในช่วงเดียวกันของปีก่อน และการเพิ่มขึ้นของราคาอาหารสำเร็จรูป เนื้อสัตว์ ผักสด และน้ำประปา ในขณะที่ราคาเนื้อ เป็ด ไก่ มีการปรับตัวลดลงเล็กน้อย ส่วนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานขยายตัวร้อยละ 2.1 ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้าที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.8 สำหรับอัตราการว่างงานล่าสุดในเดือนมีนาคม 2555 อยู่ที่ร้อยละ 0.7 ของกำลังแรงงานรวม ซึ่งคิดเป็นจำนวนคนว่างงานเท่ากับ 2.85 แสนคน ขณะที่สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2555 อยู่ที่ร้อยละ 41.4 ต่ำกว่ากรอบความยั่งยืนทางการคลังที่ตั้งไว้ไม่เกินร้อยละ 60.0 นอกจากนี้ เสถียรภาพภายนอกประเทศยังอยู่ในระดับมั่นคง และสามารถรองรับความเสี่ยงจากความผันผวนของเศรษฐกิจโลกได้ สะท้อนได้จากทุนสำรองระหว่างประเทศ ณ สิ้นเดือนเมษายน 2555 อยู่ที่ระดับ 179.0 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งสูงกว่าหนี้ต่างประเทศระยะสั้นกว่า 3.1 เท่า

ที่มา: สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ