รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 6 กันยายน 2555

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday September 6, 2012 11:41 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 6 กันยายน 2555

Summary:

1. กนง.ประกาศคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายร้อยละ 3.0

2. บอร์ดค่าจ้างมีมติขึ้นค่าจ้าง 300 บาท 70 จังหวัดที่เหลือ ในวันที่ 1 ม.ค. 56

3. ทุนสำรองต่างประเทศของเกาหลีใต้ในเดือน ส.ค. 55 เพิ่มขึ้น

Highlight:

1.กนง.ประกาศคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายร้อยละ 3.0
  • กนง. มีมติ 3 ต่อ 2 ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 3.0 ต่อปี โดยเสียงส่วนใหญ่เห็นว่า เศรษฐกิจไทยได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกมากขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม อุปสงค์ภายในประเทศยังอยู่ในระดับสูง อีกทั้งภาวะการเงินขณะนี้ อยู่ในระดับผ่อนปรนเพียงพอที่จะสนับสนุนให้เศรษฐกิจในประเทศขยายตัวได้ ทั้งนี้ กนง.จะติดตามสถานการณ์ของเศรษฐกิจโลกและอุปสงค์ในประเทศอย่างใกล้ชิด และพร้อมดำเนินนโยบายที่เหมาะสมตามความจำเป็น
  • สศค. วิเคราะห์ว่า การคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ร้อยละ 3.0 เพื่อการสนับสนุนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจภายในประเทศได้อย่างต่อเนื่องภายใต้ความเสี่ยงจากเศรษฐกิจโลก ถึงแม้ว่าภาคการส่งออกจะได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกที่รุนแรงกว่าที่เคยคาดไว้ สะท้อนได้จากมูลค่าการส่งออก ณ เดือน ก.ค. 55 ที่หดตัวลดลงร้อยละ -4.5 แต่การบริโภคและการลงทุนของภาคเอกชนยังคงขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง โดยมีแรงสนับสนุนจากภาวะการเงินที่ผ่อนคลาย อัตราการว่างงานที่อยู่ในเกณฑ์ดี รวมทั้งนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ ในขณะเดียวกัน แรงกดดันเงินเฟ้อในประเทศยังอยู่ในระดับต่ำ โดยอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน ณ เดือน ก.ค. 55 อยู่ที่ร้อยละ 1.9 ซึ่งอยู่ภายใต้กรอบอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเฉลี่ยรายไตรมาสช่วงร้อยละ 0.5 -3.0 ทั้งนี้ สศค. คาดว่า อัตราดอกเบี้ยนโยบายในปี 55 จะอยู่ที่ร้อยละ 3.00 โดยมีช่วงคาดการณ์ร้อยละ 2.5-3.5 (คาดการณ์ ณ เดือน มิ.ย. 55)
2. บอร์ดค่าจ้างมีมติขึ้นค่าจ้าง 300 บาท 70 จังหวัดที่เหลือ ในวันที่ 1 ม.ค. 56
  • ปลัดกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า คณะกรรมการค่าจ้างขั้นต่ำมีมติปรับขึ้นค่าจ้าง 300 บาท ใน 70 จังหวัดที่เหลือ ในวันที่ 1 ม.ค. 56 ทั้งนี้ ที่ประชุมได้มีการพิจารณาถึงผลกระทบด้านเงินเฟ้อและผลกระทบผู้ประกอบการอย่างรอบคอบแล้ว โดยจะมีการนำเสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเร็วๆ นี้
  • สศค. วิเคราะห์ว่า การปรับเพิ่มอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 300 บาท จะช่วยยกระดับความเป็นอยู่ ของประชาชน เพิ่มอำนาจซื้อของประชาชน และลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม ซึ่งปัจจุบันค่าสัมประสิทธิ์ความไม่เสมอภาค (Gini Coefficient) ของไทยเท่ากับที่ 0.40 ณ ปี 2552 ซึ่งถือว่ายังสูงหากเทียบกับหลายประเทศ อย่างไรก็ตาม การดำเนินนโยบายดังกล่าว สศอ. ประเมินว่า จะส่งผลให้ต้นทุนการผลิตเพิ่มสูงขึ้นเพียงร้อยละ 3.6 และเมื่อเปรียบเทียบอัตราค่าจ้างขั้นต่ำกับประเทศในภูมิภาคอาเซียนพบว่า ยังคงอยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค ซึ่งจะไม่ทำให้ประเทศไทยเสียเปรียบทางด้านการแข่งขัน (Competitiveness) มากนักและยังต่ำกว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำของประเทศฟิลิปปินส์ ลาว อินโดนีเซีย และสิงคโปร์ทั้งนี้ นโยบายของรัฐบาลในระยะต่อไปจำเป็นต้องเน้นการยกระดับผลิตภาพแรงงาน (Labor Productivity) ซึ่งจะเป็นตัวช่วยผลักดันการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในระยะยาวได้อย่างแท้จริง
3. ทุนสำรองต่างประเทศของเกาหลีใต้ในเดือน ส.ค. 55 เพิ่มขึ้น
  • ธนาคารกลางเกาหลีใต้ เปิดเผยว่า ทุนสำรองเงินตราต่างประเทศของเกาหลีใต้ในเดือน ส.ค. 55 อยู่ที่ 3.17 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 2.53 พันล้านดอลลาร์สหรัฐจากเดือนก่อนหน้า เนื่องจากการเพิ่มขึ้นของมูลค่าสินทรัพย์ในรูปสกุลเงินต่างๆ ยกเว้นดอลลาร์สหรัฐ และผลตอบแทนด้านการลงทุน
  • สศค. วิเคราะห์ว่า แม้ว่ามูลค่าการส่งออกสินค้าของเกาหลีใต้ในเดือน ส.ค. 55 หดตัวร้อยละ -6.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเป็นผลจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก และมีการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดในเดือน ส.ค. 55 อยู่ที่ 2.04 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่ฐานะทุนสำรองเงินตราต่างประเทศของเกาหลีใต้ที่มีมากกว่า 3 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐมาตั้งแต่เดือน เม.ย. 54 ก็แสดงถึงฐานะทางการเงินของเกาหลีใต้ที่แข็งแกร่ง โดยนับถึงสิ้นเดือน พ.ค. 55 เกาหลีใต้เป็นประเทศที่มีทุนสำรองเงินตราต่างประเทศรายใหญ่เป็นอันดับ 7 ของโลก นอกจากนี้ ธนาคารกลางของเกาหลีใต้ยังมีการบริหารทุนสำรองเงินตราระหว่างประเทศที่มีประสิทธิภาพ โดยในช่วงที่ผ่านมา ธนาคารกลางได้สร้างความหลากหลายในการถือสินทรัพย์ต่างประเทศในทุนสำรองฯ เพื่อให้ประเทศสามารถรับมือกับความผันผวนของตลาดการเงินโลก และเพิ่มความเชื่อมั่นของนักลงทุนในเกาหลีเมื่อถึงคราวที่เกิดวิกฤติ เช่น การซื้อทองคำเป็นครั้งแรกในรอบ 13 ปี เมื่อเดือน ส.ค. 54 การลดสัดส่วนการลงทุนในสินทรัพย์สกุลดอลลาร์ โดย ณ สิ้นปี 54 มีการลงทุนสินทรัพย์สกุลดอลลาร์ในสัดส่วนร้อยละ 60.5 ลดลงจากร้อยละ 63.7 ในปี 53 และร้อยละ 63.1 ในปี 52 รวมถึงธนาคารกลางยังมีแผนการที่จะซื้อหุ้นจีนคิดเป็นมูลค่า 300 ล้านดอลลาร์สหรัฐอีกด้วย ทั้งนี้ ฐานะการเงินที่แข็งแกร่งของเกาหลีใต้ได้ส่งผลให้ค่าเงินของเกาหลีใต้แข็งค่า โดยล่าสุด ค่าเงินวอน ณ วันที่ 5 ก.ย. 55 อยู่ที่ 1.13 วอนต่อดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าขึ้นจากต้นปี 55 ร้อยละ 1.8

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group:

Fiscal Policy Office Tel. 02-273-9020 Ext.3665 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ