Macro Morning Focus ประจำวันที่ 10 กันยายน 2555
1. ลีสซิ่ง ICBC กำไรพุ่ง รุกตลาดเช่าซื้อธุรกิจรายใหญ่
2. เงินสำรองระหว่างประเทศ ณ วันที่ ณ เดือน ส.ค. 55 อยู่ที่ 1.79 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ
3. ตัวเลขการขยายตัวทางเศรษฐกิจเกาหลีใต้ต่ำกว่าคาดการณ์
Highlight:
- นายองอาจ วรฉัตรธาร กรรมการผู้จัดการ บริษัท ลีสซิ่งไอซีบีซี (ไทย) จำกัด กล่าวถึงผลการดำเนินธุรกิจในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2555 ว่า บริษัทมีกำไรสุทธิ 180 ล้านบาท ซึ่งสูงกว่ายอดกำไรสุทธิของปี 2554 ตลอดทั้งปีที่ 150 ล้านบาท สำหรับยอดสินเชื่อคงค้างอยู่ที่ 38,960 ล้านบาท เติบโตจากปีก่อนที่มียอดอยู่ที่ 29,640 ล้านบาท หรือคิดเป็นอัตราการเติบโตประมาณร้อยละ 30
- สศค. วิเคราะห์ว่า อุตสาหกรรมยานยนต์และธุรกิจเกี่ยวเนื่องในปี 2555 มีทิศทางขยายตัวในระดับสูง สะท้อนจากยอดขายรถยนต์นั่งเฉลี่ยตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจับันขยายตัวสูงถึงร้อยละ 41.5 ขณะที่ยอดขายรถยนต์พาณิชย์และรถปิคอัพตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบันขยายตัวสูงที่ร้อยละ 49.1 และ 51.8 โดยมีสาเหตุสำคัญมาจากการฟื้นตัวกลับมาผลิตในอัตราเร่งของโรงงานอุตสาหกรรมยานยนต์ที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยเมื่อปลายปีก่อน ประกอบกับนโยบายของรัฐบาลในการกระตุ้นใช้จ่ายของประชาชน เช่น โครงการรถคันแรก การลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคล เป็นต้น
- ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) รายงานฐานะเงินทุนสำรองระหว่างประเทศ ณ วันที่ 31 ส.ค. ปี 55 ว่า อยู่ที่ระดับ 1.792 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือประมาณ 5.622 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 1,200 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือประมาณ 3.74 หมื่นล้านบาท จากสัปดาห์ก่อนหน้าที่ 1.780 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ
- สศค. วิเคราะห์ว่า ทุนสำรองระหว่างประเทศที่ปรับตัวสูงขึ้น ส่วนหนึ่งคาดว่าเป็นผลมาจากการดูแลเสถียรภาพทางด้านอัตราแลกเปลี่ยนของธนาคารแห่งประเทศไทยที่ไม่ให้อัตราแลกเปลี่ยนมีความผันผวนมากนัก โดย ณ วันที่ 7 ก.ย. 55 ปิดที่ระดับ 31.06 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าขึ้นจากสัปดาห์ก่อนหน้าเล็กน้อยที่ร้อยละ 0.12 ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกับค่าเงินสกุลหลักและสกุลเงินภูมิภาค โดยเฉพาะเงินยูโร ริงกิตมาเลเซีย วอนเกาหลี ดอลลาร์สิงคโปร์ และเงินหยวน อย่างไรก็ตาม จากการที่ทุนสำรองระหว่างประเทศปรับตัวสูงขึ้น จะเป็นปัจจัยบวกในแง่ของเสริมสร้างให้เสถียรภาพภายนอกทางเศรษฐกิจไทยให้มีความเข้มแข็งเพิ่มขึ้น และจะช่วยรองรับความความเสี่ยงจากปัจจัยภายนอกที่จะเข้าส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจได้
- ตัวเลขการขยายตัวทางเศรษฐกิจของเกาหลีใต้ในไตรมาส 2 ขยายตัวเพียงร้อยละ 0.3 จากไตรมาสแรก ซึ่งต่ำว่าตัวเลขคาดการณ์ของธนาคารกลาง โดยเป็นผลมาจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจต่ำแทบทุกประเภท รวมถึงการส่งออกและนำเข้าชะลอตัวจากวิกฤตเศรษฐกิจของกลุ่มสหภาพยุโรป
- สศค. วิเคราะห์ว่า เศรษฐกิจเกาหลีใต้ได้รับผลกระทบจากวิกฤตหนี้ของกลุ่มสหภาพยุโรปไม่น้อย โดยมีการศึกษาคาดการณ์ว่า ปริมาณการส่งออกของเกาหลีใต้ไปกลุ่มสหภาพยุโรปจะลดลงร้อยละ 19 -20 โดยรวมถึงสิ้นปี การส่งออกทางอ้อมผ่านประเทศที่สามเช่น จีน ก็ลดลงเช่นกัน โดยเชื่อว่า การส่งออกโดยรวมของเกาหลีใต้จะลดลงราวร้อยละ 4-4.5 โดยเดือน ส.ค. ที่ผ่านมา การส่งออกของเกาหลีใต้อยู่ที่ 42.97 พันล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงราวร้อยละ 6.2 จากปีก่อน และเป็นการลดลงเดือนที่สองติดต่อกัน ในขณะที่ยอดการนำเข้าเดือน ส.ค. ก็ลดลงร้อยละ 9.8 อยู่ที่ 40.92 พันล้านเหรียญสหรัฐ ทั้งนี้ ยอดการผลิตรถยนต์ของเกาหลีใต้เดือน ส.ค. ลดลงร้อยละ 25.9 จากเดือนเดียวกันของปีที่ผ่านมา โดยมีสาเหตุจากการขาดแคลนอุปทาน เนื่องมาจากการผละงานประท้วงของค่ายรถยนต์ใหญ่ โดยคนงานของฮุนไดและเกียร์ ผละงานประท้วงประมาณ 10 ครั้งในเดือนที่แล้ว และการลดลงของอุปสงค์จากวิกฤตเศรษฐกิจของกลุ่มสหภาพยุโรป ทั้งนี้ การยกเลิกความร่วมมือทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่นเนื่องจากกรณีพิพาทพื้นที่ทับซ้อนหมู่เกาะด็อกโดในเดือน ส.ค.ที่ผ่านมา จะส่งผลกระทบซ้ำเติมต่อเศรษฐกิจเกาหลีใต้เนื่องจากเกาหลีใต้ต้องพึ่งพาเงินหมุนเวียนจากญี่ปุ่นอยู่ไม่น้อย และมีความเป็นไปได้ว่า ธนาคารกลางเกาหลีใต้จะลดอัตราดอกเบี้ยลงในสัปดาห์หน้า
ที่มา: Macroeconomic Analysis Group:
Fiscal Policy Office Tel. 02-273-9020 Ext.3665 : www.fpo.go.th