รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 11 กันยายน 2555

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday September 11, 2012 11:04 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 11 กันยายน 2555

Summary:

1. ยอดบริษัทตั้งใหม่เดือนส.ค.พุ่ง 5,584 ราย เพิ่มขึ้นร้อยละ 11.0

2. ก.อุตฯลั่นเอาอยู่เช็กเขื่อนกั้นน้ำรอบนิคมฯ6แห่งพร้อมป้องน้ำท่วม

3.ความเชื่อมั่นผู้บริโภคญี่ปุ่นปรับตัวดีขึ้นในส.ค.ขณะตลาดแรงงานฟื้นตัว

Highlight:

1. ยอดบริษัทตั้งใหม่เดือนส.ค.พุ่ง 5,584 ราย เพิ่มขึ้นร้อยละ 11.0
  • รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า สถิติการจดทะเบียนบริษัทจัดตั้งใหม่เดือน ส.ค.55 มีจำนวน 5,584 ราย เพิ่มขึ้นร้อยละ 11 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า เทียบกับ เดือน ส.ค. 54 ที่มียอดจดทะเบียนหดตัวร้อยละ -0.6 ทั้งนี้พบว่ามีเงินทุนจดทะเบียนจัดตั้งประมาณ 2.89 หมื่นล้านบาท และเมื่อรวมตั้งแต่ต้นปี ยอดการจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทใหม่ (ม.ค.ส.ค. 55) มีจำนวน 4.12 หมื่นราย ส่วนการจดทะเบียนนิติบุคคลเลิกทั่วประเทศเดือน ส.ค.55 มีจำนวน 1,354 ราย เพิ่มขึ้นร้อยละ 12 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ยอดการจดทะเบียนบริษัทตั้งใหม่ที่ขยายตัวสูงถึงร้อยละ 11 สะท้อนให้เห็นว่าการลงทุนภาคเอกชนในไตรมาสที่ 3/55 จะมีการขยายตัวดี โดยบริษัทที่จดทะเบียนใหม่จะมีการลงทุนทั้งในหมวดเครื่องมือเครื่องจักร และหมวดก่อสร้าง ทำให้เกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้น นอกจากนั้นการลงทุนภาคเอกชนยังได้รับแรงสนับสนุนจากนโยบายลดภาษีเงินได้นิติบุคคลจากร้อยละ 30 เหลือร้อยละ 23 ทำให้ผู้ประกอบการมีความสามารถในการแข่งขันในตลาดโลกที่สูงขึ้น ทั้งนี้คาดว่าการลงทุนภาคเอกชนในปี 55 จะขยายตัวได้ในระดับสูงที่ร้อยละ 13.5 (ประมาณการ ณ มิ.ย.55)
2. ก.อุตฯลั่นเอาอยู่เช็กเขื่อนกั้นน้ำรอบนิคมฯ 6 แห่งพร้อมป้องน้ำท่วม
  • ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยถึงความคืบหน้า การฟื้นฟูและวางระบบป้องกันอุทกภัยของนิคมอุตสาหกรรม/เขตอุตสาหกรรม/สวนอุตสาหกรรม หลังจากเดินทางเข้าตรวจนิคมอุตสาหกรรม6แห่ง พบว่าส่วนใหญ่คืบหน้ากว่าร้อยละ85 ยกเว้นนิคมฯสหรัตนนครที่จะเร่งดำเนินการอยู่ ภาพรวมจึงมั่นใจว่าจะสามารถรับกับสถานการณ์น้ำหลากที่มากขึ้นในฤดูฝนปีนี้ได้มีประสิทธิภาพ
  • สศค. วิเคราะห์ว่า จากวิกฤตอุทกภัยในปี 54 ที่ส่งผลกระทบต่อภาคการผลิตของไทย โดยเฉพาะภาคอุตสาหรรมที่ได้รับผลกระทบโดยตรง ส่งผลให้การผลิตภาคอุตสาหกรรมต้องหยุดชะงักลง โดยดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรม(MPI)ไตรมาส4ปี54 หดตัวที่ร้อยละ -34.2 ต่อปี อย่างไรก็ดี หลังจากเหตุการณ์อุทกภัยได้คลี่คลายลง ภาคอุตสาหกรรมได้เพิ่มอัตราการใช้กำลังการผลิตอย่างต่อเนื่อง (โดยปัจจุบันกลับมาผลิตได้กว่าร้อยละ 80 ของการผลิตเดิมในช่วงก่อนอุทกภัย)โดยไตรมาส 1 และ 2 ของปี 55 ดัชนี MPI กลับมาขยายตัวที่ร้อยละ -6.8 และ -1.5 ต่อปี ตามลำดับทั้งนี้ การก่อสร้างเขื่อนเพื่อป้องกันอุทกภัยดังกล่าว นอกจากจะช่วยป้องกันปัญหาอุทกภัย แล้ว ยังจะช่วยเสริมสร้างมั่นใจกับผู้ประกอบการในบริเวณนิคมฯ อีกด้วย
3.ความเชื่อมั่นผู้บริโภคญี่ปุ่นปรับตัวดีขึ้นในส.ค.ขณะตลาดแรงงานฟื้นตัว
  • สำนักงานคณะรัฐมนตรีญี่ปุ่นเปิดเผยว่าความเชื่อมั่นผู้บริโภคญี่ปุ่นในเดือนส.ค.ปรับตัวดีขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 3 เดือน จากสัญญาณการฟื้นตัวของภาวะการจ้างงาน โดยดัชนีความเชื่อมั่นภาคครัวเรือน จากการสำรวจความคิดเห็น 6,720 ครัวเรือน พบว่าปรับตัวสูงขึ้นแตะ 40.5 ในเดือนส.ค. จากเดิม 39.7 ในเดือนก.ค. โดยองค์ประกอบทั้ง 4 ซึ่งได้แก่ชีวิตความเป็นอยู่ การขยายตัวของรายได้ ภาวะการจ้างงาน และช่วงเวลาในการซื้อสินค้าคงทนครั้งใหม่นั้น ต่างปรับเพิ่มขึ้น
  • สศค. วิเคราะห์ว่า เศรษฐกิจญี่ปุ่นมีการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง โดย Real GDP ไตรมาสที่ 1 และ 2 ของปี 55 ขยายตัวร้อยละ2.9 และ 3.5 ตามลำดับ เนื่องจากอุปสงค์จากการฟื้นฟูพื้นที่ภัยพิบัติเป็นปัจจัยหลักในการผลักดันเศรษฐกิจ อย่างไรก็ดี ในช่วงครึ่งปีหลัง อุปสงค์จากการฟื้นฟูฯ จะเริ่มทรงตัว ทำให้ญี่ปุ่นจำเป็นต้องพึ่งพาอุปสงค์ภายนอกประเทศจากภาคการส่งออกมากขึ้น ซึ่งจะมีปัจจัยเสี่ยงจากทิศทางของเศรษฐกิจโลกซึ่งได้รับผลกระทบจากวิกฤติเศรษฐกิจยูโร และเศรษฐกิจของจีนซึ่งเป็นประเทศที่ญี่ปุ่นส่งออกไปมากที่สุด ก็เริ่มมีการเพิ่มขึ้นของ GDP ในอัตราที่ชะลอตัวมากขึ้น

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group:

Fiscal Policy Office Tel. 02-273-9020 Ext.3665 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ