Macro Morning Focus ประจำวันที่ 12 กันยายน 2555
1. ไทยพาณิชย์ประเมิน GDP ไทยปี 55 เติบโตร้อยละ 5.5 และคาดว่าในปี 56 ไม่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย
2. ไทยส้มหล่นจีนแห่เที่ยว ททท. ตั้งเป้าปี 55 ที่ 2 ล้านคน
3. ญี่ปุ่นเผยยอดเกินดุลบัญชีเดินสะพัดเดือน ก.ค. 55 ลดลงร้อยละ -40.6
Highlight:
- ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ บมจ.ธนาคารไทยพาณิชย์ ได้คาดการณ์ว่า GDP ของไทยในปี 55 จะขยายตัวร้อยละ 5.5 ตามการชะลอตัวของภาคอุตสาหกรรม และภาคการส่งออกที่ขยายตัวได้ร้อยละ 7.7 ลดลงจากเดิมที่คาดการณ์ไว้ที่ร้อยละ 10 อย่างไรก็ดี ความเสี่ยงต่างๆ จากปัญหาในยุโรปในช่วง 1-2 เดือนข้างหน้า จะส่งผลต่อเศรษฐกิจยุโรปที่อาจต้องเผชิญความผันผวนและถดถอยมากกว่าที่คาด ซึ่งจะส่งผลให้การส่งออกของไทยขยายตัวได้เพียงร้อยละ 5 นอกจากนี้ เศรษฐกิจยุโรปที่คาดว่าจะเริ่มฟื้นตัวได้ในช่วงครึ่งปีหลังของปี 56 การใช้จ่ายในประเทศทั้งการบริโภคและการลงทุนที่ยังขยายตัวได้ดี รวมถึงการขยายตัวของสินเชื่อในระดับสูงที่ทำให้คาดว่าอัตราดอกเบี้ยจะยังคงอยู่ที่ร้อยละ 3.0 จนถึงสิ้นปี 55 และน่าจะคงไว้ต่อไปในปี 56 จนกว่าเศรษฐกิจยุโรปจะฟื้นตัวอย่างชัดเจน
- สศค. วิเคราะห์ว่า เครื่องชี้ภาวะเศรษฐกิจไทยในช่วง 7 เดือนแรกของปี 55 บ่งชี้ว่าเศรษฐกิจไทยสามารถฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการใช้จ่ายภายในประเทศและการลงทุนภาคเอกชน แม้ว่าภาคการส่งออกจะหดตัวจากผลกระทบของปัญหาวิกฤติหนี้สาธารณะในยุโรปและการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจไทยในช่วงที่เหลือของปี 55 จะได้รับปัจจัยบวกจาก (1) การขยายระยะเวลาการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ในอัตราร้อยละ 7 ออกไปอีก 2 ปี ซึ่งจะช่วยกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศและการลงทุนภาคเอกชน (2) การขยายเวลายกเว้นภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลออกไปอีก 1 เดือน และ (3) การเร่งรัดการใช้จ่ายของภาครัฐในการกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ อัตราดอกเบี้ยนโยบายที่อยู่ที่ร้อยละ 3.0 ยังเป็นระดับที่เหมาะสมต่อการเติบโตของเศรษฐกิจไทยและช่วยสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปี 55-56 ทั้งนี้ สศค. คาดว่า ในปี 55 เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวร้อยละ 5.7 และอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะอยู่ที่ร้อยละ 3.0 โดยมีช่วงการคาดการณ์ร้อยละ 2.5 - 3.5 (คาดการณ์ ณ เดือน มิ.ย.55) และจะพิจารณาปรับประมาณการอีกครั้งในช่วงสิ้นเดือน ก.ย. 55)
- อธิบดีกรมการท่องเที่ยว กล่าวว่า ในช่วง 8 เดือนแรกปี 55 มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าไทยแล้ว 14.3 ล้านคน เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.66 โดยเป็นการเดินทางมาช่วงเดือนสิงหาคม 1.9 ล้านคน เพิ่มขึ้นร้อยละ 11.5 สำหรับนักท่องเที่ยวรายตลาดที่ขยายตัวมากที่สุดคือ ตะวันออกกลาง เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 51.4 รองลงมาคือโอเชียเนีย ได้แก่ ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 26.1 ขณะที่ยุโรปเพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 0.5 เท่านั้น ทั้งนี้ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ตั้งเป้าทั้งปี 55 ว่า จะมีนักท่องเที่ยวชาวจีนเดินทางเข้ามา 2 ล้านคน
- สศค. วิเคราะห์ว่า จากข้อมูลล่าสุด พบว่า ในช่วง 8 เดือนแรกของปี 55 นักท่องเที่ยวจากจีนถือเป็นตลาดนักท่องเที่ยวที่สำคัญ โดยมีสัดส่วนคิดเป็นร้อยละ 10.1 ของสัดส่วนนักท่องเที่ยวทั้งหมด มีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาแล้วทั้งสิ้น 1.7 ล้านคน ขยายตัวร้อยละ 43.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สร้างรายได้แล้วทั้งสิ้น 6.3 หมื่นล้านบาท จากในภาพรวมที่คาดว่านักท่องเที่ยวได้สร้างรายได้แล้วทั้งสิ้น 6.3 แสนล้านบาท ทั้งนี้ สศค. คาดว่า จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้าประเทศไทยในปี 55 มีจำนวนทั้งสิ้น 21 ล้านคน ขยายตัวร้อยละ 8.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน คาดว่าจะสร้างรายได้ทั้งสิ้น 8.4 แสนล้านบาท (BOP Basis)
- กระทรวงการคลังญี่ปุ่น เปิดเผยว่า ยอดเกินดุลบัญชีเดินสะพัดของญี่ปุ่นเดือน ก.ค.55 ลดลงร้อยละ -40.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า สู่ระดับ 6.254 แสนล้านเยน ส่งสัญญาณถึงการส่งออกไปยุโรปและจีนที่อยู่ในภาวะอ่อนแอ ขณะที่การนำเข้าพลังงานเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง
- สศค. วิเคราะห์ว่า ยอดเกินดุลบัญชีเดินสะพัดเดือน ก.ค. 55 ที่ปรับลดลงเป็นครั้งแรกในรอบ 2 เดือน (ตั้งแต่เดือนพ.ค.-มิ.ย. 55) มีสาเหตุจากสถานการณ์การส่งออกที่ชะลอตัวลง ซึ่งมีสาเหตุจากอุปสงค์ภายนอกประเทศที่ชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอุปสงค์จากเศรษฐกิจคู่ค้าที่สำคัญของญี่ปุ่น ได้แก่ 1. จีน (คู่ค้าอันดับ 1 มีสัดส่วนร้อยละ 19.68 ของการส่งออกรวมในปี 54) ที่เศรษฐกิจชะลอตัวลงในไตรมาส 2 นั้น ส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่อุปทานทางด้านสินค้าเทคโนโลยีของญี่ปุ่น และ 2. ยูโรโซน (คู่ค้าอันดับ 3 มีสัดส่วนร้อยละ 8.54 ของการส่งออกรวมในปี 54) ซึ่งเศรษฐกิจมีแนวโน้มชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่องจากวิกฤตหนี้สาธารณะ ส่งผลให้ยอดการส่งออกไปยังยูโรโซน เดือน ก.ค. 55 หดตัวลงกว่าร้อยละ -25.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน อีกทั้งยอดดุลบัญชีเดินสะพัดที่ปรับลดลงยังเป็นผลมาจากยอดการนำเข้าที่ปรับเพิ่มขึ้นด้วย โดยเฉพาะการนำเข้าพลังงานที่เพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง เพื่อหนุนการผลิตไฟฟ้าพลังงานความร้อน และเพื่อชดเชยพลังนิวเคลียร์ส่วนที่เสียไปจากการปิดเตาปฏิกรณ์ หลังเกิดวิกฤตกัมมันตรังสีรั่วไหลที่โรงไฟฟ้าฟูกูชิมะ ไดอิจิ ทั้งนี้ สศค. คาดว่า อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่นในปี 55 จะขยายตัวร้อยละ 2.2 (คาดการณ์ ณ เดือน มิ.ย. 55)
ที่มา: Macroeconomic Analysis Group:
Fiscal Policy Office Tel. 02-273-9020 Ext.3665 : www.fpo.go.th