รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 13 กันยายน 2555

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday September 13, 2012 15:22 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 13 กันยายน 2555

Summary:

1. ก.พาณิชย์แถลงผลงานรอบ 1 ปี เผยเผชิญ 2 วิกฤตใหญ่ แต่เงินเฟ้อยังต่ำกว่าประเทศเพื่อนบ้าน

2. สภาหอการค้าเผย นโยบายรัฐทำความสามารถการแข่งขันไทยลด

3. Moody's เล็งหั่นเครดิตสหรัฐฯ หากสัดส่วนหนี้ต่อ GDP ไม่ปรับตัวลง

Highlight:

1. ก.พาณิชย์แถลงผลงานรอบ 1 ปี เผยเผชิญ 2 วิกฤตใหญ่ แต่เงินเฟ้อยังต่ำกว่าประเทศเพื่อนบ้าน
  • รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวถึงการแถลงผลงาน 1 ปี ที่ผ่านมา ว่า ภายใต้การนำของรัฐบาล นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้ประสบภาวะวิกฤติ 2 เรื่อง อันได้แก่ ปัญหาอุทกภัยครั้งใหญ่ และปัญหาหนี้สาธารณะในสหภาพยุโรป โดยปัญหาน้ำท่วมทำให้โรงงานอุตสาหกรรมที่อยู่ในพื้นที่น้ำท่วมต้องหยุดดำเนินกิจการทำให้ขาดแคลนสินค้าอุปโภคบริโภคหลายรายการ จึงต้องดูแลค่าครองชีพของประชาชนช่วงน้ำท่วมและหลังน้ำท่วม ให้จำหน่ายในราคาที่เป็นธรรม รวมถึงทำให้ประชาชนเข้าถึงสินค้าราคาถูก โดยดำเนินโครงการธงฟ้า และโครงการร้านค้าถูกใจ โชห่วยช่วยชาติ มีร้านค้าร่วมโครงการกว่า 10,000 ร้านค้า เพื่อลดภาระของประชาชน อีกทั้งเข้าไปดูแลราคาอาหารให้ประชาชนได้รับความยุติธรรมในการกำหนดราคาทำให้สินค้าราคาถูกลง ซึ่งมีผลทำให้อัตราเงินเฟ้อช่วงม.ค.-ก.ค. 55 มีอัตราเปลี่ยนแปลงเพียงร้อยละ 2.9 ซึ่งต่ำกว่าประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียนทั้งหมด ตลอดจนโครงการรับจำนำข้าวทำให้เกษตรกรได้รับประโยชน์ไม่น้อยกว่า 2 ล้านครัวเรือน มีผลทำให้ราคาข้าวเปลือกยกระดับสูงขึ้นกว่าปีที่ผ่านมา
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ภายใต้การทำงานของรัฐบาลชุดปัจจุบัน ที่จะต้องรับมือกับวิกฤติ 2 ปัญหาดังกล่าวฯ แสดงให้เห็นถึงนโยบายของกระทรวงพาณิชย์ที่มีส่วนสำคัญในการสนับสนุนเศรษฐกิจให้ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง รวมถึงเป็นการลดภาระค่าใช้จ่ายให้กับประชาชน อันจะเห็นได้จากหลายมาตรการ อาทิเช่น โครงการธงฟ้าหรือโครงการร้านค้าถูกใจ เป็นต้น ซึ่งมาตรการต่างๆ มีส่วนช่วยในการรักษาระดับอัตราเงินเฟ้อภายในประเทศ รวมไปถึงอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจให้อยู่ในระดับที่ดี อย่างไรก็ตาม ปัญหาหนี้สาธารณะในสหภาพยุโรป ถือเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะการส่งออกที่สะท้อนได้จากมูลค่าการส่งออกไปยุโรปที่หดตัวมาก ในช่วง 7 เดือนแรกของปี 55 ทำให้มูลค่าการส่งออกโดยรวมหดตัวลงที่ร้อยละ -4.5 ทั้งนี้ สศค.เชื่อมั่นว่าการดำเนินนโยบายของกระทรวงการคลังเพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจไทยจะสามารถช่วยสนับสนุนเศรษฐกิจไทยในปี 2555 ให้ขยายตัวต่อเนื่อง
2. สภาหอการค้าเผย นโยบายรัฐทำความสามารถการแข่งขันไทยลด
  • สภาหอการค้าแห่งประเทศไทยและหอการค้าไทย เผยว่า นโยบายรัฐบาลบางนโยบายมีเจตนาที่ดีในการลดความเหลื่อมล้ำของสังคม แต่ในกระบวนการปฏิบัติกลับทำให้ศักยภาพการแข่งขันลดลง เช่น นโยบายรับจำนำสินค้าเกษตรที่รัฐบาลพยายามเพิ่มรายได้ให้กับชาวนา แต่ในทางปฏิบัติกลับเปิดช่องให้เกิดการทุจริตจำนวนมาก และทำให้ระบบตลาดโดยรวมเสียหาย ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อขีดความสามารถในการแข่งขันของไทยในระยะยาว
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ในปัจจุบัน ขีดความสามารถในการแข่งขันของไทยจากดัชนีขีดความสามารถในการแข่งขันของโลก ปี 55 จัดโดย World Economic Forum ที่เผยว่า ไทยอยู่ในอันดับที่ 38 ปรับเพิ่มขึ้นจากอันดับที่ 39 ในปี 54 ซึ่งเป็นการปรับอันดับเพิ่มขึ้นหลังจากที่ปรับลดลงติดกัน 6 ปีก่อนหน้า ทั้งนี้ เพื่อเป็นการเพิ่มศักยภาพขีดความสามารถในการแข่งขันของไทย รัฐบาลไทยได้มีมาตรการเพิ่มขีดความสามารถในด้านโครงสร้างพื้นฐาน เช่น โครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าความเร็วสูงเพื่อพัฒนาระบบการขนส่ง การพัฒนาระบบ 3G และระบบสาธารณสุข รวมถึง การเพิ่มศักยภาพและขีดความสามารถของ SMEs การลดความเหลื่อมล้ำทางรายได้ การเตรียมความพร้อมเข้าสู่ AEC ในปี 58 การพัฒนาความเข้มแข็งของอุปสงค์ในประเทศเพื่อรองรับความผันผวนของเศรษฐกิจโลก การให้ความสำคัญต่อ Green Economy และการปรับปรุงมาตรฐานด้านการศึกษา เพื่อให้ประเทศไทยมีอันดับที่ดีขึ้น
3. Moody's เล็งหั่นเครดิตสหรัฐฯ หากสัดส่วนหนี้ต่อ GDP ไม่ปรับตัวลง
  • มูดีส์ อินเวสเตอร์ เซอร์วิส (Moody's) เปิดเผยว่า การคงอันดับความน่าเชื่อถือของสหรัฐฯ ที่ Moody's ได้ประเมินไว้เมื่อเดือน ส.ค. 55 ที่ระดับ Aaa นั้น อาจจะมีการพิจารณาปรับเปลี่ยนแนว โน้มให้กลับสู่ระดับที่มีเสถียรภาพได้หากเศรษฐกิจสหรัฐฯ สามารถฟื้นตัวขึ้นจากภาวะผันผวน อย่างไรก็ตาม Moody's ก็อาจมีการประเมินความน่าเชื่อถือของสหรัฐฯ ลงสู่ระดับAa1 ได้ หากสหรัฐฯ ไม่สามารถปรับลดสัดส่วนหนี้ต่อ GDP ในระหว่างการหารือเรื่องงบประมาณในปีหน้าได้
  • สศค. วิเคราะห์ว่า การพิจารณาปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือของสหรัฐฯ ของ Moody's เป็นเครื่องบ่งชี้ถึงเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ที่มีสัญญาณการฟื้นตัวที่เปราะบางและสถานะการคลังที่มีความเสี่ยง โดยล่าสุด GDP ในไตรมาสที่ 2 ปี 55 ขยายตัวร้อยละ 2.3 เมื่อเทียบกับไตรมาสแดียวกันของปีก่อน ชะลอลงจากไตรมาสก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 2.4 และเมื่อปรับผลทางฤดูกาลแล้ว ขยายตัวร้อยละ 0.4 ชะลอลงจากไตรมาสก่อนหน้าที่อยู่ที่ร้อยละ 0.5 สำหรับสถานะการคลังของสหรัฐฯ พบว่า สหรัฐฯ ยังคงมีการขาดดุลงบประมาณอย่างต่อเนื่อง โดยในช่วง 10 เดือนแรกของปีงบประมาณ 55 ขาดดุลงบประมาณทั้งสิ้น 9.738 แสนล้านดอลลาร์ ซึ่งทำให้มีแนวโน้มที่สหรัฐฯ จะขาดดุลงบประมาณกว่า 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐเป็นปีที่ 4 ติดต่อกัน รวมทั้งระดับหนี้สาธารณะของรัฐบาลที่ยังคงอยู่ในระดับสูงถึง 16.02 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ณ สิ้นเดือน ส.ค. 55) ซึ่งเป็นระดับที่เพิ่มขึ้นกว่า 5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ เมื่อเทียบกับช่วงที่ประธานาธิบดีโอบามาเริ่มเข้าบริหารประเทศในปี 52 ทั้งนี้ สภาคองเกรสของสหรัฐฯ ได้ประเมินฐานะการคลังในระยะปานกลางของสหรัฐฯ (ปี 2556-2565) ว่าจะต้องมีการปรับโครงสร้างการคลังเพื่อให้รัฐบาลขาดดุลงบประมาณลดลงมาเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 1.5 ต่อ GDP ในแต่ละปี ซึ่งจะทำให้ระดับหนี้สาธารณะของสหรัฐฯ ลดลงมาอยู่ที่ร้อยละ 61.3 ต่อ GDP ภายในปี 2565 และจะส่งผลให้สถานะการคลังของสหรัฐฯ มีความมั่นคงมากขึ้นและสามารถช่วยสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ได้

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group:

Fiscal Policy Office Tel. 02-273-9020 Ext.3665 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ