รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 14 กันยายน 2555

ข่าวเศรษฐกิจ Friday September 14, 2012 10:44 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 14 กันยายน 2555

Summary:

1. BOI เผย 8 เดือนแรกปี 55 มียอดขอส่งเสริมการลงทุนกว่า 6.9 แสนล้านบาท

2. ธนาคารกลางเกาหลีใต้ประกาศคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 3.00

3. ศาลรัฐธรรมนูญของเยอรมนีพิจารณาอนุมัติการจัดตั้งกองทุน ESM โดยมีเงื่อนไข

Highlight:

1. BOI เผย 8 เดือนแรกปี 55 มียอดขอส่งเสริมการลงทุนกว่า 6.9 แสนล้านบาท
  • เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) เปิดเผยภาวะการลงทุนภาคอุตสาหกรรมระหว่างเดือนม.ค. - ส.ค. 55 ว่ามีการยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนจำนวน 1,410 โครงการ รวมมูลค่าเงินลงทุน 6.91 แสนล้านบาท โดยจำนวนโครงการขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 24.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ซึ่งมีจำนวน 1,137 โครงการ ขณะที่มูลค่าเงินลงทุนขยายตัวสูงถึงร้อยละ 115 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนซึ่งมีมูลค่า 3.22 แสนล้านบาท ทั้งนี้ กิจการที่ยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนส่วนใหญ่ (ร้อยละ 55 ของจำนวนโครงการที่ขอรับส่งเสริมการลงทุนทั้งหมด) เป็นการขอขยายการลงทุนจากโครงการเดิม ส่วนที่เหลือเป็นการลงทุนของกิจการใหม่
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ตัวเลขการยื่นขอรับสิทธิประโยชน์ด้านการลงทุนผ่าน BOI สะท้อนความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติต่อภาคอุตสาหกรรมไทยได้ สะท้อนได้จาก ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในช่วง 7 เดือนแรกของปี 55 เฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 102.0 จุด ซึ่งสูงขึ้นกว่าระดับเฉลี่ยปี 54 ที่อยู่ที่ระดับ 101.4 จุด บ่งชี้ความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการที่ดีขึ้น อีกทั้งการผลิตภาคอุตสาหกรรมมีอัตราการใช้กำลังการผลิตที่สูง เฉลี่ยถึงระดับร้อยละ 64.5 (ณ เดือน ก.ค. 55) โดยเฉพาะภาคยานยนต์ ที่อัตราการผลิตอยู่สูงถึงระดับ ร้อยละ 108.0 เนื่องจากการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมยานยนต์หลังอุทกภัย ประกอบกับอุปสงค์สินค้ายานยนต์ยังคงสูงขึ้นต่อเนื่อง ทั้งนี้ การลงทุนภาคเอกชนในปีนี้จะเป็นปัจจัยหลักที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยได้ โดย สศค. คาดการณ์ ณ เดือน มิ.ย. 55 ว่าการลงทุนภาคเอกชนในปี 55 นี้จะขยายตัวสูงถึงร้อยละ 13.5 หรือที่ช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 12.5 - 14.5 และจะมีการปรับประมาณการณ์เศรษฐกิจอีกครั้งในช่วงปลายเดือนนี้
2. ธนาคารกลางเกาหลีใต้ประกาศคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 3.00
  • ธนาคารกลางเกาหลีใต้ ประกาศคงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย (7-day repurchase rate) ไว้ที่ร้อยละ 3.00 หลังจากที่ได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงร้อยละ 0.25 ในเดือน ก.ค. 55 ที่ผ่านมา โดยการประกาศคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายดังกล่าว ผิดไปจากคาดการณ์ของตลาด ที่คาดว่าธนาคารกลางเกาหลีใต้จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงร้อยละ 0.25
  • สศค. วิเคราะห์ว่า การที่ธนาคารกลางเกาหลีใต้ประกาศคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ร้อยละ 3.00 ดังกล่าว ส่วนหนึ่งจากการที่ภาคการส่งออกเกาหลีใต้ที่หดตัวลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 จาก (1) การหดตัวของการส่งออกไปยังจีนซึ่งเป็นคู่ค้าสำคัญอันดับ 1 ของเกาหลีใต้ ตามการชะลอลงของเศรษฐกิจจีน (2) การหดตัวของการส่งออกไปยังยูโรโซน จากการที่ภาวะเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศดังกล่าว เริ่มเข้าสู่ภาวะซบเซา และ (3) การชะลอลงของการส่งออกไปยังสหรัฐฯ โดยคาดว่าอุปสงค์จากนอกประเทศ จะชะลอลงต่อเนื่องในช่วงที่เหลือของปี 55 สะท้อนจากดัชนีคำสั่งซื้อสินค้าส่งออกในเดือน ส.ค. 55 ที่บ่งชี้การหดตัวต่อเนื่อง นอกจากนี้ อุปสงค์ในประเทศที่แม้ว่าจะยังขยายตัวได้ต่อเนื่อง แต่มีแนวโน้มชะลอลง อาจส่งผลกระทบต่อภาพรวมของเศรษฐกิจในช่วงที่เหลือของปี 55 ทั้งนี้ สศค. คาดว่าในปี 55 เศรษฐกิจเกาหลีใต้จะขยายตัวร้อยละ 3.3 (ช่วงคาดการณ์ร้อยละ 2.8-3.8 คาดการณ์ ณ สิ้นเดือน มิ.ย. 55)
3. ศาลรัฐธรรมนูญของเยอรมนีพิจารณาอนุมัติการจัดตั้งกองทุน ESM โดยมีเงื่อนไข
  • ศาลรัฐธรรมนูญของเยอรมนีพิจารณาอนุมัติการจัดตั้งกองทุน ESM โดยมีเงื่อนไข ซึ่งสามารถสรุปได้ดังนี้ (1) เงินทุนของเยอรมนีในกองทุน ESM จะต้องไม่เกิน 190 พันล้านยูโร (2) หากจำเป็นต้องเพิ่มขนาดกองทุน ESM ในอนาคต เยอรมนีจะเพิ่มวงเงินได้ก็ต่อเมื่อได้รับการอนุมัติจากสภาล่าง (Bundestag) แล้วเท่านั้น (3) ทุกการตัดสินใจของกองทุน ESM จะต้องแจ้งทั้งสภาบนและสภาล่างของเยอรมนี และ (4) ห้ามไม่ให้กองทุน ESM กู้เงินจากธนาคารกลางยุโรป ได้โดยตรง ซึ่งเป็นการห้ามมิให้กองทุน ESM ได้รับ banking license โดยผู้นำเยอรมนี (Angela Merkel) แสดงความเห็นว่าการตัดสินใจของศาลรัฐธรรมนูญเยอรมนีครั้งนี้ ถือเป็นการปกป้องผู้เสียภาษีชาวเยอรมัน นอกจากนี้ ประธาน Eurogroup (Jean Claude Juncker) กล่าวว่าคณะกรรมการ (board of governors) ของกองทุน ESM จะเริ่มการประชุมครั้งแรกในวันที่ 8 ต.ค. 55
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ความชัดเจนของการจัดตั้งกองทุน ESM ดังกล่าว ส่งผลให้นักลงทุนมีความเชื่อมั่นมากขึ้น สะท้อนจากค่าเงินยูโรที่แข็งค่าขึ้นสูงสุดในรอบ 4 เดือน มาอยู่ที่ 1.29 ดอลลาร์สหรัฐต่อยูโร และทุกตลาดสำคัญปิดบวก อย่างไรก็ตาม วิกฤตหนี้สาธารณะยูโรโซน ยังคงมีประเด็นที่ควรจับตามองอีกหลายประเด็น อาทิ ความจำเป็นที่สเปนและอิตาลีอาจต้องการความช่วยเหลือเพิ่มเติม ความเป็นไปได้ที่กรีซอาจไม่ได้รับความช่วยเหลือเพิ่มเติมจาก Troika จากการที่ทางการกรีซไม่สามารถดำเนินนโยบายรัดเข็มขัดตามสัญญาได้ ทั้งนี้ ปัจจัยข้างต้น จะส่งผลกระทบโดยตรงต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน ซึ่งอาจส่งผลให้เงินทุนทั่วโลกความผันผวนสูงขึ้น นอกจากนี้ ยังมีประเด็นเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจโดยรวมของยูโรโซนที่ซบเซาต่อเนื่อง ซึ่งจะส่งผลต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกในระยะต่อไป

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group:

Fiscal Policy Office Tel. 02-273-9020 Ext.3665 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ