รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 17 กันยายน 2555

ข่าวเศรษฐกิจ Monday September 17, 2012 11:07 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 17 กันยายน 2555

Summary:

1. ชง ครม. พิจารณางบประมาณจำนำข้าว 4 แสนล้าน

2. คาดการส่งออกข้าวปี 55 อยู่ที่ 8.5 ล้านตัน

3. หนี้ธนาคารพาณิชย์สเปนในเดือน ส.ค. เพิ่มขึ้นอีกร้อยละ 3.5

Highlight:

1. ชง ครม. พิจารณางบประมาณจำนำข้าว 4 แสนล้าน
  • น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงโครงการรับจำนำข้าวว่า จะมีการเปิดรับจำนำกรณีพิเศษให้เกษตรกร ที่ อ.บางระกำ จ.พิษณุโลก ให้เข้ารับจำนำได้ 2 รอบ โดยจะเปิดรอบใหม่วันที่ 1 ตุลาคม เป็นต้นไป โดยให้ปลูกตามสภาพน้ำและฤดูกาล นอกจากนี้ คณะรัฐมนตรีเตรียมพิจารณางบประมาณ 400,000 ล้านบาท เพื่อรองรับการรับจำนำข้าวของกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งครั้งนี้เป็นการมาตรวจสอบขั้นตอนการรับจำนำให้มีความโปร่งใสด้วย
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ปัจจุบันรัฐบาลได้มีนโยบายรับจำนำข้าวซึ่งกำหนดราคารับจำนำไว้ที่ประมาณ 15,000 บาทต่อตัน โดยแบ่งออกเป็นช่วงการรับจำนำข้าวนาปี ปี 54/55 (7 ต.ค. 54 - 9 เม.ย. 55) ซึ่งมีเกษตรกรนำข้าวมาเข้าโครงการรับจำนำจำนวนทั้งสิ้น 6.8 ล้านตัน และช่วงการรับจำนำข้าวนาปรัง ปี 55 (1 มี.ค. 55 - 15 ก.ย. 55) ซึ่งล่าสุดมีเกษตรกรนำข้าวมาเข้าโครงการรับจำนำจำนวน 12.4 ล้านตัน (ข้อมูล ณ 7 ก.ย. 55) ทั้งนี้ นโยบายรับจำนำข้าวดังกล่าวได้ส่งผลให้ราคาข้าวเปลือกปรับตัวสูงขึ้นอย่างชัดเจน โดยราคาข้าวเปลือกเฉลี่ย 8 เดือนแรกปี 55 อยู่ที่ 10,019.5 บาทต่อตัน คิดเป็นการขยายตัวร้อยละ 16.3 นับตั้งแต่ต้นปี 55 ซึ่งจะเป็นการสนับสนุนให้รายได้ของเกษตรกรปรับตัวดีขึ้น และช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางรายได้ของประชาชน อย่างไรก็ดี การดำเนินโครงการรับจำนำข้าวอาจเป็นภาระทางการคลังของภาครัฐจากหนี้สาธารณะที่เพิ่มขึ้นหากรัฐบาลมีการกู้เงินมาเพื่อใช้ในโครงการนี้เป็นจำนวนมาก โดยปัจจุบันสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ของไทยอยู่ที่ร้อยละ 42.6 ของ GDP
2. คาดการส่งออกข้าวปี 55 อยู่ที่ 8.5 ล้านตัน
  • นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ รมว.พาณิชย์ กล่าวในรายการรัฐบาลยิ่งลักษณ์พบประชาชน ถึงการคาดการณ์การส่งออกข้าวในปี 55 ว่า จะอยู่ที่ 8.5 ล้านตัน โดยมาจากภาคเอกชน 6.5 ล้านตัน และภาครัฐอีก 2.0 ล้านตัน ซึ่งสอดคล้องกับในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ที่เฉลี่ยประเทศไทยส่งออกข้าวได้ 8.5-9 ล้านตัน ในขณะที่ราคาข้าวส่งออกคาดว่าเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 650 เหรียญ ทำให้มั่นใจว่าเมื่อคำนวณเป็นมูลค่าการส่งออกข้าวแล้ว ไทยยังคงส่งออกข้าวเป็นอันดับ 1 ของโลก
  • สศค. วิเคราะห์ว่า การส่งออกข้าวไทยในปี 55 มีปัจจัยกดดันในหลายด้าน ได้แก่ 1. อุปสงค์จากต่างประเทศที่ซบเซา ตามการชะลอตัวของเศรษฐกิจเนื่องจากปัญหาหนี้สาธารณะในยุโรปที่ยังคงยืดเยื้อ โดยเฉพาะประเทศคู่ค้าหลักของไทย เช่น สหรัฐอเมริกา และจีน ที่เป็นผู้นำเข้าข้าวคุณภาพดีจากไทย และ 2. ราคาข้าวไทยในตลาดโลกโดยเฉลี่ยปรับตัวสูงขึ้น เมื่อเทียบกับประเทศคู่แข่งอย่างเวียดนามและอินเดีย ทำให้ความสามารถในการแข่งขันลดลง ทั้งนี้ในช่วง 7 เดือนแรก การส่งออกข้าวไทยอยู่ที่ 3.8 ล้านตัน ซึ่งหากให้ได้ตามเป้าส่งออกข้าวที่ 8.5 ล้านตัน ในปี 55 นั้น ไทยต้องส่งออกข้าวเฉลี่ยเดือนละ 9.4 แสนตันต่อเดือน ในช่วง 5 เดือนที่เหลือของปี
3. หนี้ธนาคารพาณิชย์สเปนในเดือน ส.ค. เพิ่มขึ้นอีกร้อยละ 3.5
  • ธนาคารพาณิชย์ของสเปน เป็นหนี้ธนาคารกลางยุโรป (ECB) 3.887 แสนล้านยูโร (5.104 แสนล้านดอลลาร์) ในเดือนสิงหาคม เพิ่มขึ้น 3.5% จากระดับ 3.755 แสนล้านยูโรในเดือนกรกฎาคม ตัวเลขจากธนาคารกลางสเปน แสดงให้เห็นว่า หนี้สินที่ภาคธนาคารของสเปน ต้องจ่ายคืนให้กับ ECB เพิ่มขึ้น 5 เท่าในช่วงระหว่างเดือน ส.ค.2554 ถึง ส.ค.2555 และตัวเลขในเดือนที่แล้วถือเป็นสถิติสูงสุดสถิติใหม่
  • สศค. วิเคราะห์ว่า หนี้ของรัฐบาลสเปนที่แตะระดับสูงเป็นประวัติการณ์ที่ร้อยละ 75.9 ของจีดีพีในไตรมาส 2 ของปีนี้ จะเพิ่มขึ้นอีกเพราะรัฐบาลสเปนมีแผนกู้ยืมเงินจากกองทุนช่วยเหลือยูโรโซนเพื่อนำมาเพิ่มทุนให้กับภาคธนาคารในประเทศ โดยการกู้ยืมเงินจากอีซีบีนั้นมีจุดประสงค์เพื่อช่วยให้ต้นทุนการกู้ลดลงแต่ประเทศผู้กู้จะต้องมีการปฏิรูปเศรษฐกิจเพื่อลดภาระและการขาดดุลลง ทั้งนี้ รมว.คลังสเปนได้ส่งสัญญาณการกู้เพิ่มเติมด้วยการประกาศว่าจะมีแผนการปฏิรูปเศรษฐกิจเพื่อลดการขาดดุลและแก้ปัญหาภาคธนาคารภายในประเทศเพื่อให้เป็นไปตามเกณฑ์การกู้ยืมของอีซีบีแบบเป็นรูปธรรมในวันที่ 28 ก.ย. นี้ อย่างไรก็ดี เป็นที่กังวลกันว่า อีซีบีจะรับภาระหนี้ได้นานเท่าใด เนื่องจากตัวเลขการให้กู้ยืมนั้นเพิ่มขึ้นจาก 444 พันล้านยูโร เป็น 918 พันล้านยูโร (มิ.ย. 54-เม.ย. 55) โดยโอกาสความเสี่ยงที่อีซีบีจะได้รับจากวิกฤตเศรษฐกิจยูโรโซนเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 106 และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ ผู้ที่แบกรับภาระ อันได้แก่ บุคคลที่เสียภาษี บุคคลที่ออมเงินจะได้รับผลกระทบต่อเนื่องผ่านเงินเฟ้อที่มีโอกาสจะเพิ่มขึ้นในอนาคตอันใกล้และกลไกตลาดที่ผิดเพี้ยนไป อีซีบีเองก็ตระหนักถึงปัญหาข้อนี้เป็นอย่างดีจากการเน้นย้ำถึงเกณฑ์การปฏิรูปเศรษฐกิจที่กำหนดไว้ ทั้งนี้ยังไม่รวมถึงกรณีของจรรยาสามานย์ (moral hazard) ที่อาจจะเกิดขึ้นได้หากประเทศที่ประสบวิกฤตยังคงไม่สามารถแก้ปัญหาและต่อรองขอความช่วยเหลือเรื่อยไป ซึ่งจะทำให้อีซีบีประสบปัญหาเองได้

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group:

Fiscal Policy Office Tel. 02-273-9020 Ext.3665 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ