Macro Morning Focus ประจำวันที่ 18 กันยายน 2555
Summary:
1. โตโยต้ายึดไทยฐานผลิตเบอร์หนึ่ง
2. ธปท.คลอดเกณฑ์ บาเซิล 3 ต.ค.นี้ เริ่มมีผลบังคับใช้ ม.ค. 56
3. ผู้ว่าการธนาคารกลางฝรั่งเศสคาดเศรษฐกิจปีหน้าขยายตัวต่ำกว่า 1%
Highlight:
1. โตโยต้ายึดไทยฐานผลิตเบอร์หนึ่ง
- กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทโตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด ให้สัมภาษณ์ว่า ปัจจุบัน โตโยต้า มีโรงงานผลิตรถยนต์ในไทย 3 แห่ง คือ พระประแดง สมุทรปราการ เกตเวย์ และ บ้านโพธิ์ 2 โรงงานในฉะเชิงเทรา มีกำลังการผลิตรวมกัน 8 แสนคันต่อปี สูงที่สุดในอาเซียน แม้ว่าจะทำการผลิตได้สูงสุดแต่ โตโยต้าก็ยังเดินหน้าขยายธุรกิจอย่างต่อเนื่อง โดยมีโรงงานเกตเวย์ 2 ซึ่งกำลังอยู่ในช่วงก่อสร้าง ก็จะเปิดสายการผลิตตามมา ทำให้กำลังการผลิตเพิ่มอีก 8 หมื่นคัน หรือเท่ากับ 8.8 แสนคันต่อปี ภายในปี 56
- สศค. วิเคราะห์ว่า การที่โตโยต้ายังคงยึดให้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตอันดับ 1 และลงทุนขยายกิจการเพิ่มเติม สะท้อนได้ว่า นักลงทุนญี่ปุ่นยังคงมีความเชื่อมั่นต่อระบบโครงสร้างพื่นฐานที่จะรองรับภาคการผลิตในหมวดอุตสาหกรรมยานยนต์ของประเทศไทย ทั้งนี้ การขยายการลงทุนของโตโยต้าจะส่งผลดีต่อภาคอุตสาหกรรมการผลิตไทย เนื่องจากอุตสาหกรรมยานยนต์มีสัดส่วนการผลิตกว่าร้อยละ 5.4 (share ณ ปี ค.ศ.2000) ของผลผลิตภาคอุตสาหกรรมรวม ซึ่งการลงทุนเพิ่มดังกล่าวจะส่งผลให้ยอดการผลิตและยอดจำหน่ายของรถยนต์เพิ่มขึ้นทั้งในส่วนของการจำหน่ายภายในประเทศและการส่งออก โดยในปีนี้ ไทยตั้งเป้าหมายการผลิตรถยนต์รวมทั้งสิ้น 2.2ล้านคัน
2. ธปท.คลอดเกณฑ์ บาเซิล 3 ต.ค.นี้ เริ่มมีผลบังคับใช้ ม.ค. 56
- ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายนโยบายความเสี่ยง ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ในเดือน ต.ค.นี้ จะออกประกาศให้ธนาคารพาณิชย์ปฏิบัติตามเกณฑ์บาเซิล 3 ในส่วนของเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS) ซึ่งขณะนี้ได้ข้อสรุปแล้ว โดยกำหนดให้เงินกองทุนรวม ต้องไม่ต่ำกว่าร้อยละ 8.5 แบ่งเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 1 ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 6 และเงินกองทุนชั้นที่ 2 ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 2.5 ซึ่งหลักเกณฑ์ดังกล่าว จะเริ่มบังคับใช้ในวันที่ 1 ม.ค.56
- สศค.วิเคราะห์ว่า การปฏิบัติตามเกณฑ์บาเซิล 3 จะทำให้ธนาคารพาณิชย์ของไทยมีความเข้มแข็งเพิ่มขึ้นเพียงพอต่อการรองรับวิกฤติที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคต หลังจากที่วิกฤติการเงินโลกในปี 51 เป็นบทเรียนสำคัญที่สะท้อนให้เห็นถึงความจำเป็นในการกำกับดูแลเงินกองทุนและการบริหารความเสี่ยงด้านสภาพคล่องของสถาบันการเงิน ทั้งนี้บาเซิล 3 ประกอบด้วย 3 หลักการสำคัญ โดยหลักการที่ 1 จะเกี่ยวข้องกับการดำรงเงินกองทุนขั้นต่ำและสภาพคล่อง หลักการที่ 2 เกี่ยวข้องกับการบริหารความเสี่ยง และหลักการที่ 3 เกี่ยวข้องกับการเปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณชน โดยสาระสำคัญอยู่ที่ 2 หลักการแรกในเรื่องการดำรงเงินกองทุนขั้นต่ำที่คำนวณจากทุนที่แท้จริง ได้แก่ กำไรสะสม หุ้นสามัญ และตราสารที่มีคุณภาพ
3. ผู้ว่าการธนาคารกลางฝรั่งเศสคาดเศรษฐกิจปีหน้าขยายตัวต่ำกว่า 1%
- นายคริสเตียน นอยเออร์ ผู้ว่าการธนาคารกลางฝรั่งเศส คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจฝรั่งเศสจะขยายตัวต่ำกว่า 1% ในปี 2556 โดยเป็นผลพวงจากภาวะเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มว่าจะขยายตัวอย่างซบเซาในปี 55 ซึ่งจะยิ่งสร้างแรงกดดันให้กับรัฐบาลในการสร้างสมดุลระหว่างฐานะการเงินกับการสร้างความมั่งคั่ง
- สศค. วิเคราะห์ว่า เนื่องจากฝรั่งเศสมีสัดส่วนการค้าระหว่างประเทศกับประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปประมาณร้อยละ 70 (หรือร้อยละ 50 หากพิจารณาเฉพาะประเทศในยูโรโซน) ดังนั้น การหดตัวทางเศรษฐกิจของยูโรโซนในช่วงครึ่งปีแรก (Real GDP ขยายตัวร้อยละ 0.0 และ -0.5 ในช่วงไตรมาส 1 และ 2 ของปี 55 ตามลำดับ) ย่อมส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออกและการขยายตัวทางเศรษฐกิจของฝรั่งเศส นอกจากนี้อัตราการว่างงานภายในประเทศที่สูงกว่าร้อยละ 10 และการประกาศตัดลดการใช้จ่ายของภาครัฐลงให้ได้ถึง 10,000 ล้านยูโร ในปี 56 เพื่อลดการขาดดุลงบประมาณให้ได้ตามเป้าหมายที่ร้อยละ 3 ของ GDP ล้วนเป็นปัจจัยกดดันที่ทำให้มีการปรับลดคาดการณ์การขยายตัวทางเศรษฐกิจของปี 56 สู่ระดับร้อยละ 0.8 จากเดิมที่คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 1.2
ที่มา: Macroeconomic Analysis Group:
Fiscal Policy Office Tel. 02-273-9020 Ext.3665 : www.fpo.go.th