รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 20 กันยายน 2555

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday September 20, 2012 10:49 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 20 กันยายน 2555

Summary:

1. ยอดการส่งออกรถยนต์เดือน ส.ค. 55 เพิ่มขึ้นร้อยละ 18

2. ธนาคารพาณิชย์กังวลวิกฤติหนี้ยุโรป - น้ำท่วม เพิ่มเอ็นพีแอลสูงขึ้น

3. แบงก์ชาติญี่ปุ่นประกาศนโยบายผ่อนคลายการเงินเพิ่มเติมโดยขยายวงเงินซื้อสินทรัพย์เป็น 80 ล้านล้านเยน

Highlight:

1. ยอดการส่งออกรถยนต์เดือน ส.ค. 55 เพิ่มขึ้นร้อยละ 18
  • Bath/USD สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยเผย ยอดการส่งออกรถยนต์เดือน ส.ค. 55 อยู่ที่ 85,279 คัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 18 จากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า ขณะที่ ยอดขายรถยนต์ภายในประเทศเดือนส.ค. 55 มีจำนวนทั้งสิ้น 129,509 คัน เพิ่มขึ้น ร้อยละ 63.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า ขณะที่ ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมไทย เดือน ส.ค. 55 อยู่ที่ระดับ 98.5 ลดลงจาก 98.7 ในเดือนก.ค. 55 โดยอยู่ระดับต่ำสุดในรอบ 8 เดือน และดัชนีปรับตัวลดลงต่ำกว่า 100 ติดต่อกันเป็นเดือนที่สอง
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ยอดจำหน่ายรถยนต์ในประเทศเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากมีแรงส่งทั้งทางด้านอุปสงค์และอุปทาน โดยทางด้านอุปสงค์ได้รับการกระตุ้นมาจากนโยบายรถคันแรก ส่งผลให้ผู้บริโภคได้รับส่วนลดสูงถึง 1 แสนบาท สำหรับรถที่มีการซื้อจนถึง 31 ธันวาคม 55 ซึ่งจะทำให้ยอดซื้อขายยานยนต์เพิ่มขึ้นอีกในปีนี้ ขณะที่ ด้านอุปทานก็ได้รับผลกระตุ้นจากการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมยานยนต์หลังจากวิกฤติน้ำท่วมเมื่อปลายปีที่แล้วได้กลับมาสู่สภาพปกติ โดยดัชนีผลผลิตด้านอุตสาหกรรมทางด้านยานยนต์ เดือน ก.ค. 55 อยู่ที่ร้อยละ 52.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า อย่างไรก็ตาม การปรับลดลงของดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมเดือน ส.ค. สอดคล้องกับดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมเดือนมิ.ย. และ ก.ค. 55 ที่หดตัวร้อยละ -9.5 และ -5.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า โดยสาเหตุสำคัญมาจากกลุ่มอุตสาหกรรมที่ผลิตเพื่อการส่งออกที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตหนี้สาธารณะในกลุ่มยุโรป เศรษฐกิจจีนและสหรัฐอเมริกาที่มีสัญญาณชะลอตัว โดยกลุ่มอุตสาหกรรมที่ปรับตัวลดลงมาจากอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ สิ่งทอ เครื่องประดับ และน้ำมันปิโตรเลียม อย่างไรก็ดี ยังมีอุตสาหกรรมที่ขยายตัวได้ดีจากอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม และยานยนต์
2. ธนาคารพาณิชย์กังวลวิกฤติหนี้ยุโรป - น้ำท่วม เพิ่มเอ็นพีแอลสูงขึ้น
  • ธนาคารกรุงไทย เผยว่า เป็นห่วงปัญหาเอ็นพีแอลในหลายๆ อุตสาหกรรม จากผลกระทบทางด้านวิกฤติหนี้สาธารณะของยุโรป ซึ่งไทยพึ่งพิงการส่งออกในสัดส่วนที่สูงถึงร้อยละ 70 โดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับภาคส่งออก เช่น ยางพารา เฟอร์นิเจอร์ ที่คำสั่งซื้อจากจีนเริ่มลดลง เป็นต้น นอกจากนี้ กลุ่มลูกค้าที่น่าเป็นห่วงมากที่สุดขณะนี้คือ ลูกค้าสินเชื่อบ้าน ที่เริ่มกลับมาผ่อนชำระเต็มจำนวน จากการที่ธปท. เข้าให้ความช่วยเหลือ ลูกค้าด้วยการปรับการผ่อนชำระให้ลูกค้า โดยพักชำระเงินต้น และชำระเฉพาะดอกเบี้ยออกไป 6 เดือน ซึ่งขณะนี้ครบตามกำหนดเวลาแล้ว ซึ่งธนาคารได้ส่งเจ้าหน้าที่ธนาคารออกไปสำรวจ ลูกค้าอย่างใกล้ชิดก่อนจะเป็นหนี้เสีย
  • สศค.วิเคราะห์ว่า ระบบธนาคารพาณิชย์ไทยยังคงมีความแข็งแกร่ง โดยปัจจุบันสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) มียอดคงค้าง 262.8 พันล้านบาท ลดลงสุทธิ 7.2 พันล้านบาท จากไตรมาสที่ 1/55 ตามการลดลงของ NPL ในสินเชื่อธุรกิจเป็นสำคัญ ส่งผลให้สัดส่วน Gross NPL ต่อสินเชื่อรวมลดลงจากร้อยละ 2.6 เหลือร้อยละ 2.5 และสัดส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้หลังหักสำรอง (Net NPL) ต่อสินเชื่อรวมลดลงเหลือร้อยละ 1.2 โดยในไตรมาสที่ 2/55 ระบบธนาคารพาณิชย์มีกำไรสุทธิ 49.1 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อน ร้อยละ 20.7 ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลทำให้อัตราผลตอบแทนต่อสินทรัพย์เฉลี่ย (ROA) เพิ่มขึ้น เป็นร้อยละ 1.43 นอกจากนี้ อัตราส่วนรายได้ดอกเบี้ยสุทธิต่อสินทรัพย์เฉลี่ย (NIM) เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 2.56 จากรายได้ดอกเบี้ยสุทธิที่เพิ่มขึ้นตามปริมาณสินเชื่อที่ขยายตัวสูง และคุณภาพสินเชื่อที่ดีขึ้นตาม NPL ที่ลดลง ประกอบกับอัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS Ratio) ลดลงเล็กน้อยเหลือร้อยละ 15.0 ที่สูงกว่าเกณฑ์ขั้นต่ำที่กำหนดไว้ที่ร้อยละ 8.5 ซึ่งเพียงพอที่จะรองรับการขยายตัวของสินเชื่อในระยะต่อไป และหาก NPL ที่อาจจะเพิ่มขึ้นในอนาคต
3. แบงก์ชาติญี่ปุ่นประกาศนโยบายผ่อนคลายการเงินเพิ่มเติมโดยขยายวงเงินซื้อสินทรัพย์เป็น 80 ล้านล้านเยน
  • ธนาคารกลางญี่ปุ่น ตัดสินใจผ่อนคลายนโยบายการเงินเพิ่มเติม โดยคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของบีโอเจ มีมติเป็นเอกฉันท์ในการขยายวงเงินซื้อสินทรัพย์เป็น 80 ล้านล้านเยน จากเดิม 70 ล้านล้านเยน พร้อมคงอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นไว้ที่ราวร้อยละ 0-0.1 ขณะเดียวกัน ก็ปรับลดประมาณการการขยายตัวทางเศรษฐกิจลง โดยทางบีโอเจได้อ้างว่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจได้มาถึงจุดที่ไม่มีการกระเตื้องขึ้น ซึ่งสะท้อนภาวะเศรษฐกิจในต่างประเทศ ที่ได้เข้าสู่ภาวะตกต่ำรุนแรงขึ้น และยังมีความไม่แน่นอนอย่างมากเกี่ยวกับเศรษฐกิจโลก ซึ่งรวมถึงแนวโน้มสำหรับปัญหาหนี้ยุโรป และการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐ
  • สศค. วิเคราะห์ว่า การตัดสินใจของ BOJ ในวันนี้มีขึ้น หลังจากที่เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ประกาศมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณเพิ่มเติมผ่านทางการซื้อสินทรัพย์เพิ่มขึ้น (QE3) เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจที่ซบเซาของสหรัฐ ทั้งนี้ บีโอเจตัดสินใจดำเนินมาตรการผ่อนคลายทางการเงินเพิ่มเติม ซึ่งเป็นเครื่องมือด้านนโยบายที่สำคัญของบีโอเจนั้น โดยได้ซื้อพันธบัตรรัฐบาลและหุ้นกู้ของภาคเอกชน รวมทั้งสินทรัพย์เสี่ยงบางประเทศจากสถาบันการเงินต่างๆ ในครั้งที่แล้ว เพื่อผ่อนคลายภาวะทางการเงินและเพื่อหนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจ นอกจากนี้ มูลค่าการส่งออกของญี่ปุ่นในเดือน ก.ค. 55 หดตัวร้อยละ -8.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน บ่งชี้ภาคการส่งออกที่ยังมีแนวโน้มหดตัวต่อเนื่อง ส่วนทางดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค เดือน ส.ค. 55 ปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อยมาอยู่ที่ระดับ 40.5 จุด ทั้งนี้ ยังคงอยู่ในระดับที่ต่ำกว่า 50 จุด เนื่องจากผู้บริโภคยังมีความกังวลต่อสถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่ยังคงชะลอตัว ซึ่ง สศค. คาดว่า เศรษฐกิจของญี่ปุ่นในปี 55 จะขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 2.2 (คาดการณ์ ณ เดือน มิ.ย. 55)

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group:

Fiscal Policy Office Tel. 02-273-9020 Ext.3665 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ