รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 21 กันยายน 2555

ข่าวเศรษฐกิจ Friday September 21, 2012 11:45 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 21 กันยายน 2555

Summary:

1. ยอดการส่งออกรถยนต์เดือน ส.ค. 55 เพิ่มขึ้นร้อยละ 18

2. HSBC เผยดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรมจีน เดือนก.ย.55 ปรับตัวสูงขึ้นเล็กน้อย

3. มูลค่าการส่งออกของญี่ปุ่น เดือน ส.ค. 55 หดตัวติดต่อกันเป็นเดือนที่ 3

Highlight:

1. ยอดการผลิตสินค้ายานยนต์ในเดือน ส.ค. 55 ขยายตัวร้อยละ 37 เมื่อช่วงเดียวกันปีก่อน
  • สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย รายงานยอดการผลิตรถยนต์ในเดือน ส.ค. 55 มีจำนวน 2.1 แสนคัน คิดเป็นการขยายตัวร้อยละ 37.0 จากช่วงเดียวกันปีก่อนหน้า ทำให้ในช่วง 8 เดือนแรกของปี 55 สามารถผลิตรถยนต์ได้ 1.47 ล้านคัน คิดเป็นการขยายตัวร้อยละ 33.0 จากช่วงเดียวกันปีก่อนหน้า ทั้งนี้ คาดว่าทั้งปี 55 จะผลิดรถยนต์ได้ 2.2 ล้านคัน ด้านการส่งออกของสินค้ารถยนต์และรถจักรยานยนต์ในช่วง 8 เดือนแรกของปี 55 มีมูลค่ารวม 4.77 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 21.0 จากช่วงเดียวกันปีที่แล้ว
  • สศค. วิเคราะห์ว่า การที่อุตสาหกรรมภาคการผลิตรถยนต์ขยายตัวในอัตราเร่งต่อเนื่อง บ่งชี้ว่าภาคการผลิตสามารถกลับมาผลิตได้ตามปกติ หลังจากได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติสึนามิในญี่ปุ่นในช่วงไตรมาส 1-2 ปี 54 ตลอดจนมหาอุทกภัยในช่วงปลายปี ประกอบกับแรงส่งจากอุปสงค์ทั้งในประเทศที่ยังคงขยายตัวในอัตราเร่ง สะท้อนจากยอดขายรถยนต์นั่งและรถยนต์เชิงพาณิชย์ในช่วง 7 เดือนแรกที่ขยายตัวร้อยละ 41.5 และร้อยละ 49.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ตามลำดับ โดยส่วนหนึ่งได้รับปัจจัยบวกจากนโยบายรถคันแรกของรัฐบาล ประกอบกับมูลค่าการส่งออกรถยนต์และรถจักรยานยนต์ในช่วง 7 เดือนแรกของปี 55 ที่ขยายตัวได้ดีที่ร้อยละ 20.0 และร้อยละ 15.0 จากช่วงเดียวกันปีก่อนหน้า ตามลำดับ ด้วยสัดส่วนร้อยละ 9.4 และร้อยละ 0.8 ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมด (สัดส่วนช่วง 7 เดือนแรกปี 55) จะช่วยสนับสนุนเศรษฐกิจไทยในปี 55 เติบโตของได้อย่างแข็งแกร่ง อย่างไรก็ตาม ภาคการส่งออกยานยนต์ยังคงมีความเสี่ยงจากวิกฤตหนี้สาธารณยุโรปที่จะส่งผลกระทบต่อการส่งออกยานยนต์ต่อไป
2. HSBC เผยดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรมจีน เดือนก.ย.55 ปรับตัวสูงขึ้นเล็กน้อย
  • HSBC รายงานตัวเลขดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรม (Purchasing Managers Index: PMI) ของจีนในเดือนก.ย.55 อยู่ที่ระดับ 47.8 ปรับตัวสูงขึ้นเล็กน้อยจากเดือนก่อนที่ระดับ 47.6 อย่างไรก็ตามดัชนีดังกล่าวยังอยู่ต่ำกว่าระดับ50 แสดงให้เห็นถึงการการปรับตัวลดลงในภาคอุตสาหกรรมเป็นระยะเวลา11 เดือนติดต่อกัน
  • สศค.วิเคราะห์ว่า หากมีดัชนี PMI ภาคอุตสาหกรรมอยู่ที่ระดับสูงกว่า 50 หมายถึงภาคอุตสาหกรรมกำลังขยายตัว แต่หากอยู่ที่ระดับต่ำกว่า 50 จะหมายถึงการหดตัว ทั้งนี้ดัชนี PMI ภาคอุตสาหกรรมของจีนที่หดตัว มีสาเหตุหลักจากการปรับตัวลดลงของอุปสงค์ภายนอกประเทศจากเศรษฐกิจสหภาพยุโรปที่ชะลอตัวลง ซึ่งจะทำให้การผลิตเพื่อส่งออกลดลง ด้วยสาเหตุนี้ ดัชนีPMI ของจีนที่บ่งชี้การหดตัวของภาคอุตสาหกรรมจึงสามารถบ่งชี้ถึงอุปสงค์จากจีนที่ชะลอตัวลงได้ ซึ่งจะกระทบต่อภาคการส่งอกอของไทยในที่สุด เนื่องจากจีนเป็นคู่ค้าสำคัญอันดับ 1 ของไทย ด้วยสัดส่วนการส่งออกของไทยไปจีนถึงร้อยละ 12.0 ของมูลค่าส่งออกรวม (สัดส่วนปี 54)
3. มูลค่าการส่งออกของญี่ปุ่น เดือน ส.ค. 55 หดตัวติดต่อกันเป็นเดือนที่ 3
  • มูลค่าการส่งออกของญี่ปุ่น เดือน ส.ค. 55 หดตัวที่ร้อยละ -5.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน หดตัวติดต่อกันเป็นเดือนที่ 3 ขณะที่มูลค่าการนำเข้าในเดือนเดียวกันหดตัวเช่นกันที่ร้อยละ -5.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน โดยมูลค่าการนำเข้าที่มากกว่าการส่งออกส่งผลให้ดุลการค้าขาดดุลที่ -7.5 แสนล้านเยน (-9.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) เนื่องจากเศรษฐกิจโลกโดยรวมชะลอตัวลงเป็นสำคัญ
  • สศค.วิเคราะห์ว่า มูลค่าการส่งออกของญี่ปุ่นในเดือน ส.ค. 55 ที่หดตัวติดต่อกันเป็นเดือนที่ 3 นั้น เป็นผลจากเศรษฐกิจยูโรโซนที่เข้าสู่ภาวะหดตัว ประกอบกับการชะลอตัวทางเศรษฐกิจของจีน ส่งผลกระทบต่อญี่ปุ่นช่องทางการค้าระหว่างประเทศ โดยทั้งสองประเทศเป็นคู่ค้าสำคัญของญี่ปุ่น ด้วยสัดส่วนการส่งออกของญี่ปุ่นไปยังยูโรโซนและจีนคิดเป็นร้อยละ 8.5 และ 19.7 ของมูลค่าส่งออกรวม ตามลำดับ ทั้งนี้ มูลค่าการส่งออกของญี่ปุ่นไปยัง ยูโรโซนและจีน ในเดือน ส.ค. 55 หดตัวลงร้อยละ -22.9 และ -9.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ตามลำดับ อีกทั้ง ปัญหาหนี้สาธารณะในยูโรโซนที่ยังไม่บรรเทาความรุนแรงลงส่งผลกระทบเชื่อมโยงต่อเศรษฐกิจเอเชียผ่านห่วงโซ่อุปทาน เนื่องจากบริษัทผู้ผลิตหลายแห่งในประเทศดังกล่าวต้องใช้วัสดุจากประเทศญี่ปุ่นเป็นหลัก สะท้อนจาก ยอดการส่งออกไปยังเอเชียโดยรวม หดตัวลงด้วยที่ร้อยละ -6.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • อย่างไรก็ตาม ธนาคารกลางญี่ปุ่นพยายามเร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจโดยออกนโยบายกระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์ผ่านการปล่อยสินเชื่อเป็นจำนวนเงิน 10 ล้านล้านเยน จากการประชุมเมื่อวันพุธที่ 19 ก.ย. 55 ที่ผ่านมานี้ เพื่อกระตุ้นการลงทุนจากภาคเอกชน

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group:

Fiscal Policy Office Tel. 02-273-9020 Ext.3665 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ