รายงานภาวะเศรษฐกิจรายสัปดาห์ระหว่างวันที่ 17 - 21 กัยยายน 2555

ข่าวเศรษฐกิจ Monday September 24, 2012 10:50 —กระทรวงการคลัง

Executive Summary

Indicators this week
  • รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ ในเดือน ส.ค.55 จำนวน 300.1 พันล้านบาท หรือหดตัวร้อยละ -0.1จากช่วงเดียวกันของปีก่อน
  • ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมเดือน ส.ค. 55 อยู่ที่ระดับ 98.5 ปรับตัวลงเล็กน้อยจากเดือนก่อนที่อยู่ระดับ 98.7
  • ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์นั่งในเดือน ส.ค. 55 ขยายตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ 71.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

สอดคล้องกับปริมาณจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ที่ขยายตัวร้อยละ 57.4

  • อัตราการว่างงานเดือน ก.ค.55 อยู่ที่ร้อยละ 0.6 ของกำลังแรงงานรวม
  • ยอดค้าปลีกสหรัฐฯ เดือน ส.ค. 55 ขยายตัวร้อยละ 5.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ในขณะที่ผลผลิตอุตสาหกรรม

อยู่ที่ร้อยละ 3.1

  • มูลค่าการส่งออกสหภาพยุโรป เดือน ก.ค. 55 ขยายตัวในอัตราชะลอลงที่ร้อยละ 11.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน

ในขณะที่มูลค่าการนำเข้า อยู่ที่ร้อยละ 2.1

  • ราคาบ้านใหม่จีน เดือน ส.ค. 55 หดตัวร้อยละ -1.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
  • วันที่ 17 ก.ย. 55 ธนาคารกลางอินเดียประกาศคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 8.00 ต่อปี
  • เมื่อวันที่ 19 ก.ย. 55 ธนาคารกลางญี่ปุ่นคงอัตราดอกเบี้ยญ นโยบายที่ร้อยละ 0.1 ต่อปี
Indicators next week
 Indicators                          Forecast             Previous
 Aug : MPI (% YoY)                     -5.5                 -5.8

หดตัวในอัตราชะลอลง เนื่องจากคาดว่าหมวดอุตสาหกรรมหลักๆ ได้แก่ ยานยนต์ และอาหาร จะยังคงขยายตัวได้ดีต่อเนื่อง นอกจากนี้อุตสาหกรรมเครื่องแต่งกายและอุตสาหกรรมก่อสร้างมียอดคำสั่งซื้อภายในประเทศที่เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ดี ปัญหาวิกฤตหนี้สาธารณะยุโรป การชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนและการฟื้นตัวที่เปราะบางของสหรัฐฯ ยังคงส่งผลต่ออุตสาหกรรมที่เน้นการส่งออก อาทิ อิเล็กทรอนิกส์ และ Hard Disk Drive ทำให้คาดว่าดัชนี MPI ยังคงหดตัวอยู่

Economic Indicators: This Week
  • รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ (หลังหักการจัดสรร ให้ อปท.) ในเดือน ส.ค.55 จำนวน 300.1 พันล้านบาท ลดลง 0.2 พันล้านบาท จากช่วงเดียวกันของปีก่อน หรือร้อยละ -0.1 และต่ำกว่าประมาณการ 32.3 พันล้านบาท หรือร้อยละ -9.7 โดยภาษีมูลค่าเพิ่มสามารจัดเก็บได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 12.2 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน สะท้อนถึงการบริโภคที่เพิ่มขึ้น แต่ภาษีฐานรายได้จัดเก็บได้ลดลงร้อยละ -9.2 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเฉพาะภาษีเงินได้นิติบุคคลที่จัดเก็บได้ลดลง 21.9 พันล้านบาท หรือร้อยละ -11.5 เนื่องจากเหตุการณ์อุทกภัยช่วงปลายปี 2554 ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการส่งออกได้รับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจของประเทศในกลุ่มยูโรโซน และการให้สิทธิประโยชน์ภาษีของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) เป็นต้น อย่างไรก็ตาม รัฐบาลสามารถจัดเก็บรายได้จากภาษีรถยนต์ได้เพิ่มขึ้นถึง 6.6 พันล้านบาท จากช่วงเดียวกันของปีก่อน หรือร้อยละ 84.5 ตามการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมรถยนต์ภายหลังปัญหาอุทกภัย และภาษีเงินได้ปิโตรเลียมได้เพิ่มขึ้น 2.2 พันล้านบาท จากช่วงเดียวกันของปีก่อน หรือร้อยละ 24.9 ทั้งนี้รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ (หลังหักการจัดสรร ให้ อปท.) สะสมในช่วง 11 เดือนแรกของปี งปม. 55 มีจำนวนทั้งสิ้น 1,858.8 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 70.1 พันล้านบาท จากช่วงเดียวกันของปีก่อน หรือร้อยละ 3.9 แต่ต่ำกว่าประมาณการ 19.8 พันล้านบาท หรือร้อยละ -1.1
  • ภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ระดับราคาคงที่ ในเดือน ส.ค.55 มีมูลค่า 53.1 พันล้านบาท หรือขยายตัวที่ร้อยละ 9.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ชะลอลงจากเดือนก่อนที่ขยายร้อยละ 18.8 ตามการลดลงของภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ระดับราคาคงที่ ที่จัดเก็บบนฐานการนำเข้าที่ขยายตัวร้อยละ 8.7 ชะลอลงจากเดือนก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 30.0 ตามการลดลงของการนำเข้าสินค้า ในขณะที่ภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ระดับราคาคงที่ ที่จัดเก็บบนฐานการการบริโภคภายในประเทศขยายตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ 10.4 จากเดือนก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 9.4 ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศ ทั้งนี้ในช่วง 8 เดือนแรก ปี 55 ภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ระดับราคาคงที่ ขยายตัวที่ร้อยละ 10.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน
  • ภาษีจากการทำธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์รวมในเดือน ส.ค. 55 ยังคงขยายตัวร้อยละ 2.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แม้ว่าจะขยายตัวชะลอลงจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 8.5 เนื่องจากปัจจัยความเชื่อมั่นต่อกำลังซื้อของผู้บริโภค และของผู้ประกอบการ ภายใต้สถานการณ์ความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นจากวิกฤตเศรษฐกิจยุโรป อย่างไรก็ตาม แนวโน้มอสังหาริมทรัพย์มีปัจจัยสนับสนุนจาก1) เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) วงเงิน 3.0 แสนล้านบาท และ 2) นโยบายบ้านหลังแรก ดอกเบี้ยร้อยละ 0 ระยะเวลา 3 ปี ซึ่งช่วยกระตุ้นตลาดอสังหาริมทรัพย์ให้ขยายตัวได้ต่อเนื่อง
  • ปริมาณจำหน่ายปูนซิเมนต์ภายในประเทศในเดือน ส.ค. 55 ขยายตัวร้อยละ 11.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และหดตัวร้อยละ -1.6 จากเดือนก่อนหน้า หลังปรับผลทางฤดูกาลแล้ว (m-o-m SA) ทั้งนี้ ทิศทางการลงทุนในหมวดการก่อสร้างยังมีแนวโน้มที่สามารถขยายตัวได้ดีอย่างต่อเนื่องตามอุปสงค์ในตลาดอสังหาริมทรัพย์ แม้ว่าดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างในเดือน ส.ค. 55 จะปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อยที่ร้อยละ 3.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
  • ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมเดือน ส.ค. 55 ยังคงทรงตัวอยู่ที่ระดับ 98.5 ปรับตัวลดลงเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ระดับ 98.7 ซึ่งเป็นค่าดัชนีที่อยู่ในระดับต่ำกว่า 100 ติดต่อกันเป็นเดือนที่ 2 และ ต่ำสุดในรอบ 8 เดือน โดยปัจจัยที่กระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการในเดือนนี้ มาจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยโดยเฉพาะภาคการส่งออก ประกอบกับต้นทุนการผลิตที่ปรับตัวสูงขึ้นจากราคาพลังงาน ราคาวัตถุดิบ และการขาดแคลนแรงงานในบางอุตสาหกรรม อย่างไรก็ตาม การผลิตเพื่อขายภายในประเทศยังคงขยายตัวได้ดีต่อเนื่อง สะท้อนได้จากยอดขายภายในประเทศที่ปรับเพิ่มขึ้นในหมวดของอุตสาหกรรมแฟชั่นและอุตสาหกรรมยานยนต์ เป็นสำคัญ
  • ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์นั่งในเดือน ส.ค. 55 มีจำนวน 61,044 คัน หรือขยายตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ 71.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากเดือนก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 99.6 และเมื่อขจัดผลทางฤดูกาลออก (m-o-m SA) พบว่าขยายตัวร้อยละ 4.5 โดยได้รับปัจจัยบวกจาก 1. การฟื้นตัวของการบริโภคภาคเอกชนที่ยังคงขยายตัวต่อเนื่อง 2. การเร่งเพิ่มกำลังการผลิตของค่ายรถยนต์ต่างๆ เพื่อตอบสนองอุปสงค์ของรถยนต์ที่ยังคงขยายตัวในอัตราเร่ง และ 3. จากนโยบายสนับสนุนของภาครัฐ ในการสนับสนุนการซื้อรถคันแรก โดยผู้บริโภคได้รับการคืนภาษีสูงถึง 1 แสนบาท สำหรับรถที่มีการซื้อจนถึง 31 ธันวาคม 55 ทั้งนี้ ในช่วง 8 เดือนแรกปี 55 ยอดขายรถยนต์นั่งขยายตัวในอัตราเร่งที่ร้อยละ 45.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน
  • ปริมาณจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ในเดือนส.ค. 55 มีจำนวน 68,465 คัน หรือขยายตัวร้อยละ 57.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 65.5 ตามการเพิ่มขึ้นของปริมาณจำหน่ายรถกระบะขนาด 1 ตัน จำนวน 6.0 หมื่นคัน หรือขยายตัวร้อยละ 61.9 โดยได้รับปัจจัยบวกจากการฟื้นตัวต่อเนื่องการลงทุนรวม ประกอบกับภาคการผลิตสามารถกลับมาผลิตได้ตามปกติ และมีการเร่งผลิตเพื่อส่งมอบลูกค้าได้มากขึ้น ทั้งนี้ ในช่วง 8 เดือนแรกปี 55 ยอดขายรถยนต์เชิงพาณิชย์ขยายตัวในอัตราเร่งที่ร้อยละ 50.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน
  • การจ้างงานเดือน ก.ค.55 อยู่ที่ 39.85 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า 9.9 แสนคน ขณะที่เมื่อปรับผลทางฤดูกาล พบว่าการจ้างงานเพิ่มขึ้น 1.1 แสนคนจากเดือนก่อนหน้า โดยมีสาเหตุมาจากการจ้างงานภาคเกษตรเพิ่มขึ้น ขณะที่การจ้างงานภาคอุตสาหกรรมและ ภาคบริการมีการปรับตัวลดลงเมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน ทั้งนี้ อัตราการว่างงานเดือน ก.ค.55 อยู่ที่ร้อยละ 0.6 ของกำลังแรงงานรวม คิดเป็นผู้ว่างงาน 2.3 แสนคน
Economic Indicators: Next Week
  • ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือน ส.ค.55 คาดว่าจะหดตัวที่ร้อยละ -5.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็นการหดตัวชะลอลงจากเดือนก่อนหน้า เนื่องจากคาดว่าหมวดอุตสาหกรรมหลักๆ ได้แก่ ยานยนต์ และอาหาร จะยังคงขยายตัวได้ดีต่อเนื่อง นอกจากนี้อุตสาหกรรมเครื่องแต่งกายและอุตสาหกรรมก่อสร้างมียอดคำสั่งซื้อภายในประเทศที่เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ดี ปัญหาวิกฤตหนี้สาธารณะยุโรป การชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนและการฟื้นตัวที่เปราะบางของสหรัฐฯ ยังคงส่งผลต่ออุตสาหกรรมที่เน้นการส่งออก อาทิ อิเล็กทรอนิกส์ และ Hard Disk Drive ทำให้คาดว่าดัชนี MPI ยังคงหดตัวอยู่

Global Economic Indicators: This Week

US: mixed signal
  • ยอดค้าปลีก เดือน ส.ค. 55 ขยายตัวร้อยละ 5.6 จากช่วงเดียวกันปีก่อนหน้า หรือร้อยละ 0.9 จากเดือนก่อนหน้า (ขจัดผลทางฤดูกาลแล้ว) ผลจากยอดขายน้ำมันเชื้อเพลิงที่ขยายตัวสูงตามราคาน้ำมันขายปลีกที่สูงขึ้น ประกอบกับยอดขายรถยนต์ที่ขยายตัวดี ทั้งนี้ หากหักสินค้ายานยนต์ออกแล้ว ยอดค้าปลีกจะขยายตัวร้อยละ 4.5 จากช่วงเดียวกันปีก่อนหน้า อัตราเงินเฟ้อ เดือน ส.ค. 55 อยู่ที่ร้อยละ 1.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.6 จากเดือนก่อนหน้า (ขจัดผลทางฤดูกาลแล้ว) ผลจากราคาสินค้าพลังงานที่สูงขึ้นเป็นสำคัญ ผลผลิตอุตสาหกรรม เดือน ส.ค. 55 ขยายตัวร้อยละ 3.1 จากช่วงเดียวกันปีก่อนหน้า หรือหดตัวร้อยละ -1.2 จากเดือนก่อนหน้า โดยการผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคขยายตัวชะลอลงที่ร้อยละ 0.8 จากช่วงเดียวกันปีก่อนหน้า ขณะที่การผลิตเครื่องใช้ในธุรกิจยังคงขยายตัวดีที่ร้อยละ 11.6 ยอดก่อสร้างบ้านใหม่ เดือน ส.ค. 55 อยู่ที่ 750,000 หลัง (annual rate) หรือขยายตัวร้อยละ 2.3 จากเดือนก่อนหน้า
Euro Zone: mixed signal
  • มูลค่าการส่งออก เดือน ก.ค. 55 ขยายตัวในอัตราชะลอลงที่ร้อยละ 11.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หรือหดตัวร้อยละ -2.0 จากเดือนก่อนหน้า (ขจัดผลทางฤดูกาลแล้ว)จากการส่งออกสินค้าวัตถุดิบที่หดตัวลง มูลค่าการนำเข้า เดือน ก.ค. 55 ขยายตัวชะลอลงที่ร้อยละ 2.1 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากราคาน้ำมันในตลาดโลกที่เริ่มปรับตัวสูงขึ้นและอุปสงค์ในประเทศที่หดตัวลงจากวิกฤตหนี้สาธารณะเป็นสำคัญส่งผลให้ดุลการค้า เดือน ก.ค. 55 เกินดุลที่ 15.6 พันล้านยูโร ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อเบื้องต้น (Markit's Flash Comp. PMI) เดือน ก.ย. 55 อยู่ที่ระดับ 45.9 จุด ปรับตัวลดลงจากระดับ 46.3 จุดในเดือนก่อน โดยดัชนีฯภาคบริการ ลดลงมาอยู่ที่ระดับ 46.0 จุด ขณะที่ดัชนีฯ ภาคอุตสาหกรรม เดือน ปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากระดับ 45.1 มาอยู่ที่ระดับ 46.0 จุด สะท้อนการหดตัวของเศรษฐกิจยูโรโซนทั้งในภาคบริการและภาคอุตสาหกรรม
Japan: mixed signal
  • มูลค่าการส่งออก เดือน ส.ค. 55 หดตัวชะลอลงที่ร้อยละ -5.8 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากเศรษฐกิจยูโรโซนที่หดตัวและการชะลอลงของเศรษฐกิจจีนซึ่งเป็นคู่ค้าสำคัญ ส่งผลให้อุปสงค์นอกประเทศลดลงอย่างต่อเนื่อง ขณะที่มูลค่าการนำเข้า เดือน ส.ค. 55 เริ่มหดตัวที่ร้อยละ -5.4 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ส่งผลให้ดุลการค้า เดือน ส.ค. 55 ขาดดุลที่ 7.5 แสนล้านเยน หรือ 9.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งนับว่าเป็นการขาดดุลต่อเนื่องติดต่อกันเป็นเดือนที่ 2 เมื่อวันที่ 19 ก.ย. 55 ธนาคารกลางญี่ปุ่นคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ร้อยละ 0.1 ต่อปี
China: mixed signal
  • ราคาบ้านใหม่ เดือน ส.ค. 55 หดตัวร้อยละ -1.4 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน หรือขยายตัวเล็กน้อยที่ร้อยละ 0.1 จากเดือนก่อนหน้า จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลจีน ทั้งนี้ ราคาบ้านใหม่ใน 35 จาก 70 เมืองปรับตัวสูงขึ้น น้อยกว่าเดือนก่อนหน้า ผลจากมาตรการควบคุมราคาอสังหาริมทรัพย์ ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรม (ตัวเลขเบื้องต้น) เดือน ก.ย. 55 จัดทำโดย HSBC อยู่ที่ระดับ 47.8 ปรับตัวขึ้นเล็กน้อยจากเดือนก่อน สะท้อนการหดตัวที่เริ่มชะลอลง อย่างไรก็ตาม ดัชนีฯ ที่อยู่ระดับต่ำกว่า 50 ติดต่อกันเป็นเดือนที่ 10 บ่งชี้การหดตัวอย่างต่อเนื่องของภาคอุตสาหกรรมจีน
Malaysia: mixed signal
  • อัตราเงินเฟ้อ เดือน ส.ค. 55 อยู่ที่ร้อยละ 1.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน คงที่จากเดือนก่อน โดยราคาสินค้าและบริการส่วนใหญ่เพิ่มขึ้นในอัตราคงที่ ผลจากมาตรการของรัฐบาลในการควบคุมราคาสินค้าจำเป็น
Singapore: worsening economic trend
  • มูลค่าการส่งออก เดือน ส.ค. 55 หดตัวร้อยละ -5.9 จากช่วงเดียวกันปีก่อนหดตัวมากที่สุดนับตั้งแต่เดือน พ.ย. 52 จากการส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์และผลิตภัณฑ์ยาที่หดตัวถึงร้อยละ -11.0 และ -3.2 ตามลำดับ เป็นสำคัญ ยอดค้าปลีก เดือน ก.ค. 55 หดตัวร้อยละ -4.8 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 จากยอดขายสินค้ายานยนต์ที่หดตัวร้อยละ -14.6 เป็นสำคัญ
Hong Kong: mixed signal
  • อัตราการว่างงาน ระหว่างเดือน มิ.ย. - ส.ค. 55 ทรงตัวอยู่ในระดับต่ำและใกล้เคียงกับเดือนก่อนหน้าที่ร้อยละ 3.2 ของกำลังแรงงานรวม บ่งชี้ภาวะการจ้างงานที่แข็งแกร่ง สะท้อนอุปสงค์ในประเทศที่ยังคงขยายตัวได้ดีต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก อาจส่งผลกระทบต่อภาคการจ้างงานในระยะต่อไป อัตราเงินเฟ้อ เดือน ส.ค. 55 อยู่ที่ร้อยละ 3.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนหน้า เร่งขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ร้อยละ 1.7 จากปัจจัยฐานต่ำและการชดเชยค่าเช่าบ้านของภาครัฐเป็นสำคัญ ทั้งนี้ หลังขจัดปัจจัยทางฤดูกาลแล้ว อัตราเงินเฟ้อเดือน ส.ค. 55 ลดลงร้อยละ -0.7 จากเดือนก่อนหน้า
India: mixed signal
  • วันที่ 17 ก.ย. 55 ธนาคารกลางอินเดียประกาศคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 8.00 ต่อปี จากเศรษฐกิจโลกที่ยังคงชะลอลงต่อเนื่อง ขณะที่แรงกดดันจากเงินเฟ้อยังคงอยู่ในระดับสูง โดยอัตราเงินเฟ้อ เดือน ส.ค. 55 ทรงตัวอยู่ในระดับสูงต่อเนื่องที่ร้อยละ 7.6 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากราคาอาหารที่ปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง จากผลกระทบของภาวะอากาศที่แปรปรวน
Weekly Financial Indicators
  • ดัชนี SET ปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง เกินระดับ 1,280 จุด โดย ณ วันที่ 20 ก.ย. 55 ดัชนีฯ ปิดที่ระดับ 1,282.7 จุด จากแรงซื้อของนักลงทุนต่างประเทศ หลังจากธนาคารกลางสหรัฐฯ ประกาศทำมาตรการ QE3 โดยจะเข้าซื้อสินทรัพย์ MBS เดือนละ 40 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ประกอบกับธนาคารกลางญี่ปุ่นประกาศทำนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายเพิ่มเติมวงเงิน 10 ล้านล้านเยน ทำให้นักลงทุนมีความต้องการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยง โดยเฉพาะสินทรัพย์ในภูมิภาคเอเชียมากขึ้น ทั้งนี้ ระหว่างวันที่ 17 - 20 ก.ย. 55 นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิ 2,317.5 ล้านบาท ขณะที่ผลตอบแทนพันธบัตรของไทยปรับตัวลดลงในพันธบัตรระยะกลาง เนื่องจากนักลงทุนเข้าซื้อพันธบัตรอายุ 3-10 ปีเป็นจำนวนมาก จากสภาพคล่องที่เพิ่มขึ้น ทั้งนี้ ระหว่างวันที่ 17 - 20 ก.ย. 55 นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิ 6,806.5 ล้านบาท
  • ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้น โดย ณ วันที่ 20 ก.ย. 55 ปิดที่ระดับ 30.88 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าขึ้นจากสัปดาห์ก่อนหน้าเล็กหน้าร้อยละ 0.35 ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกับค่าเงินสกุลภูมิภาค ทั้งค่าเงินริงกิตมาเลเซีย วอนเกาหลี ดอลลาร์สิงคโปร์ และเงินหยวน ทั้งนี้ ค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นด้วยอัตราที่มากกว่าค่าเงินสกุลอื่นๆ ของคู่ค้า ทำให้ดัชนีค่าเงินบาท (NEER) ในสัปดาห์นี้แข็งค่าขึ้นเล็กน้อยจากสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.41
  • ราคาทองคำเคลื่อนไหวในช่วงแคบๆ โดยราคาทองคำ ณ วันที่ 20 ก.ย. 55 ปิดที่ 1,766.2 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ ใกล้เคียงกับต้นสัปดาห์ที่ปิดที่ 1,760.9 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office

Tel 02-273-9020 Ext 3665 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ