รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 24 กันยายน 2555

ข่าวเศรษฐกิจ Monday September 24, 2012 11:15 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 24 กันยายน 2555

Summary:

1. ผู้บริโภคลุ้นท่าทีพาณิชย์ 30 ก.ย. นี้ ส่อปล่อยผีราคาสินค้า

2. การค้าชายแดนไทย-พม่าพรมแดนแม่สอด ปีงบประมาณ 55 พุ่งทะลุ30,000ล้าน

3. องค์การการค้าโลก (WTO) คาดการค้าโลกปี 55 ขยายตัวร้อยละ 2.5 และปี 56 ขยายตัวร้อยละ 4.5

Highlight:

1. ผู้บริโภคลุ้นท่าทีพาณิชย์ 30 ก.ย. นี้ ส่อปล่อยผีราคาสินค้า
  • รมว.พาณิชย์เปิดเผยว่ามาตรการตรึงราคาสินค้าของกรมการค้าภายในกระทรวงพาณิชย์จะสิ้นสุดลงในวันที่ 30 กันยายนนี้ในเบื้องต้นมีแนวโน้มว่าทางกระทรวงอาจจะไม่จำเป็นต้องคงมาตรการตรึงราคาสินค้าไว้ต่อไปเพราะล่าสุดได้รับรายงานจากกรมการค้าภายในว่าขณะนี้ยังไม่มีผู้ประกอบการรายใดขอปรับราคาสินค้าเข้ามา นอกจากนี้ยังสั่งการให้กรมการค้าภายในไปตรวจสอบโครงสร้างต้นทุนราคาสินค้าของผู้ประกอบการว่ามีการเปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้างเพื่อจะได้มีการหารือร่วมกัน
  • สศค. วิเคราะห์ว่า จากมาตรการคุมราคาสินค้าในช่วง 4 เดือนที่ผ่านมา (มิ.ย. - ก.ย.55) ทำให้สามารถลดแรงกดดันด้านเงินเฟ้อได้อย่างต่อเนื่องโดยอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยในช่วง 3 เดือนที่มีการคุมราคาสินค้า (มิ.ย. - ส.ค. 55) อยู่ที่ร้อยละ 2.7 เทียบกับช่วง 5 เดือนแรกของปีที่ยังไม่มีมาตรการคุมราคาสินค้า (ม.ค. - พ.ค. 55) ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 3.1 ส่วนสถานการณ์ล่าสุดในเดือนส.ค. 55 อัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ร้อยละ 2.7 โดยเป็นผลมาจากการเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันดิบโลกและราคาผักและผลไม้เป็นสำคัญทั้งนี้ในช่วง 8 เดือนแรกอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 2.9 โดยหากในช่วง 3 เดือนหลังของปี 55 มีการปล่อยลอยตัวราคาสินค้าอาจส่งผลต่อการเพิ่มแรงกดดันด้านเงินเฟ้อได้อย่างไรก็ตามคาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยทั้งปี 55 จะไม่เกินร้อยละ 3.5 โดยผลการคาดการณ์เงินเฟ้อสามารถติดตามได้จากรายงานประมาณการเศรษฐกิจในวันที่ 25 ก.ย. 55 นี้
2.การค้าชายแดนไทย-พม่าพรมแดนแม่สอด ปีงบประมาณ 55 พุ่งทะลุ30,000ล้าน
  • นายพงศ์เทพ บัวทรัพย์ นายด่านศุลกากรอำเภอแม่สอด จ.ตากเปิดเผยว่า มูลค่าการค้าชายแดนด่านแม่สอด-เมียวดี ในปีงบประมาณนี้ (ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2554-กันยายน 2555) ว่า มีมูลค่าการค้าชายแดนมียอดทะลุกว่า 30,000 ล้านบาท โดยถือว่าเป็นประวัติศาสตร์สูงสุดนับจากมีการเปิดด่านพรมแดนแห่งนี้ โดยมียอดการค้าเฉลี่ยเดือนละ 3,000 ล้านบาทยกเว้นเฉพาะในช่วงเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม 2555 ที่มูลค่าการค้ามีตัวเลขลดลงไม่ถึง 3 พันล้านบาทเนื่องจากเป็นช่วงฤดูฝน การคมนาคมในพม่าไม่สะดวก การส่งสินค้าผ่านแดนทำได้ยากลำบาก
  • สศค.วิเคราะห์ว่า การส่งออกของไทยในปี 55 คาดว่าจะขยายตัวในอัตราชะลอลงจากปี 54 ที่ขยายตัวที่ร้อยละ 16.4 โดยในช่วง 7 เดือนแรกปี 55 การส่งออกไทยหดตัวเล็กน้อยร้อยละ -0.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ตามการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกจากปัญหาหนี้สาธารณะของยุโรปที่จะส่งผลกระทบโดยตรงต่อการส่งออกของไทย ซึ่งมีสัดส่วนการส่งออกประมาณร้อยละ 9.4 ของการส่งออกรวม นอกจากนี้จากวิกฤติดังกล่าวได้ส่งผลกระทบทางอ้อมไปยังประเทศคู่ค้าสำคัญอื่น เช่น สหรัฐฯ จีน และ ญี่ปุ่น เป็นต้น ดังนั้น การที่ตัวเลขการค้าชายแดนมีมูลค่าปรับตัวสูงขึ้น สะท้อนถึงประเทศแถบชายแดนไม่ค่อยได้รับผลกระทบจากวิกฤติดังกล่าวมากนัก ซึ่งจะเป็นปัจจัยบวกที่จะช่วยสนับสนุนการส่งออกไทยในปี 55 ให้ขยายตัวได้บ้าง
3. องค์การการค้าโลก (WTO) คาดการค้าโลกปี 55 ขยายตัวร้อยละ 2.5 และปี 56 ขยายตัวร้อยละ 4.5
  • องค์การการค้าโลก (WTO) ระบุว่า การค้าโลกจะเติบโตเพียงร้อยละ 2.5 ในปีนี้ โดยแรงกดดันจากยุโรปจะกดดันอัตราการเติบโตของการค้าโลกให้ร่วงลงสู่ระดับต่ำกว่าครึ่งหนึ่งของค่าเฉลี่ย 20 ปี โดยตัวเลขคาดการณ์นี้ ได้รับการปรับทบทวนให้ลดลงจากตัวเลขคาดการณ์ครั้งก่อนที่ร้อยละ 3.7 ซึ่งเป็นตัวเลขที่ WTO คาดการณ์ไว้ในเดือน เม.ย. การค้าโลกอาจขยายตัวร้อยละ 4.5 ในปี 2556 โดยปรับลดลงจากตัวเลขคาดการณ์ครั้งก่อนที่ร้อยละ 5.6
  • สศค.วิเคราะห์ว่า การปรับลดอัตราการเติบโตของการค้าโลกไม่ใช่เรื่องที่เกินความคาดหมายเนื่องจากการเชื่อมโยงกันของเศรษฐกิจโลกทำให้วิกฤติเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในภูมิภาคหนึ่งส่งผลกระทบต่ออีกหลายภูมิภาคทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งวิกฤติเศรษฐกิจของกลุ่มสหภาพยุโรปที่ยังคงน่าเป็นห่วง โดยมีอีกหลายประเทศในกลุ่มสหภาพยุโรปที่ยังต้องทำการกู้ยืมเงินเพื่อการลดปัญหาการชำระหนี้ เช่น สเปน อิตาลี และต้องทำการรัดเข็มขัดตามเกณฑ์การให้กู้ยืมเงินเพื่อการชำระหนี้ของผู้ให้กู้ยืม เช่น อีซีบี แม้ตลาดการค้าจะมีท่าทีตอบรับที่ดีต่อแนวทางการเพิ่มทุน การชำระหนี้ หรือ แม้แต่มาตรการ QE3 ของสหรัฐ แต่ก็ยังคงไม่เพียงพอที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจโลกโดยรวมให้เป็นไปในทิศทางที่สดใสได้ ดังที่แสดงผ่านตัวเลขวิกฤติหนี้ในกลุ่มสหภาพยุโรปที่ยังคงอยู่ในระดับสูงในหลายประเทศ ตัวเลขการผลิตและการจ้างงานของสหรัฐอเมริกาที่ยังคงไม่ดีพอ (ชะลอลงเป็นเดือนที่ 6 ติดต่อกัน) และสำหรับจีน ตัวเลขดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (เหลือระดับต่ำกว่า 50) และการผลิตอุตสาหกรรมยังคงแสดงอัตราการเติบโตที่ชะลอตัวลง ทำให้อุปสงค์นำเข้าของประเทศเศรษฐกิจหลักเหล่านี้ลดระดับลงมาก และส่งผลกระทบต่อการส่งออกของประเทศกำลังพัฒนาตามลำดับ

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group:

Fiscal Policy Office Tel. 02-273-9020 Ext.3665 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ