Macro Morning Focus ประจำวันที่ 28 กันยายน 2555
1. AFET เตรียมการนำถั่วเหลืองและข้าวโพดเข้าตลาดซื้อขายล่วงหน้าในปีหน้า
2. กำไรสุทธิของบริษัทอุตสาหกรรมจีน ในเดือน ส.ค. 55 หดตัวร้อยละ -6.2
3. เกิดเหตุจลาจลขึ้นในกรีซ สาเหตุจากชาวกรีกต่างออกมาชุมนุมประท้วงต่อต้านนโยบายรัดเข็ดขัดของรัฐบาล
Highlight:
- ตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้าแห่งประเทศไทย (AFET) กล่าวว่า จะเตรียมนำถั่วเหลืองและข้าวโพดเข้าซื้อขายในตลาดล่วงหน้าปี 56 นี้ โดยใช้ราคาอ้างอิงจาก Chicago Merchantile Exchange Inc. โดยสามารถชำระด้วยเงินสดซึ่งเป็นสัญญาขนาดเล็กทำให้มีความคล่องตัวสูง ทั้งนี้ ถั่วเหลืองเป็นสินค้าในกลุ่มน้ำมันพืชและอาหารสัตว์ที่มีการนำเข้าสู่ไทยมากที่สุดของสินค้าเกษตร เนื่องจากไทยสามารถผลิตได้เพียงร้อยละ 5 ของปริมาณความต้องการทั้งหมด ขณะที่ข้าวโพดเป็นสินค้าในกลุ่มอุตสาหกรรมเลี้ยงสัตว์และการพลังงานทดแทน ซึ่งแต่ละปีมีปริมาณความต้องการที่เพิ่มขึ้น แม้ว่าไทยจะสามารถผลิตได้ในปริมาณมาก แต่ก็ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการภายในประเทศ
- สศค. วิเคราะห์ว่า ไทยสามารถผลิตถั่วเหลืองได้ในปริมาณต่ำเมื่อเทียบกับความต้องการ ในขณะที่ไทยมีความต้องการใช้ข้าวโพดมาก อีกทั้งยังมีการนำข้าวโพดมาผลิตเป็นน้ำมันทดแทน กอปรกับราคาสินค้าเกษตรทั้งสองนี้มีแนวโน้มผันผวนมากขึ้น การนำถั่วเหลืองและข้าวโพดเข้าซื้อขายในตลาดล่วงหน้าจึงจะทำให้ผู้ประกอบการที่ต้องการซื้อขายสามารถกำหนดราคาสินค้าที่แน่นอนได้ และสามารถกำหนดต้นทุนการผลิตที่ชัดเจนได้ นอกจากนี้ แนวโน้มราคาสินค้าเกษตรทั้งสองรายการนี้ที่มีแนวโน้มสูงขึ้นทั้งในตลาดไทยและตลาดซื้อขายล่วงหน้า จะส่งสัญญาณให้ผู้ประกอบการเร่งซื้อขายสินค้าในปัจจุบันให้มากขึ้น เพื่อลดต้นทุนที่อาจจะสูงขึ้นในอนาคต และยังเป็นการพยุงราคาสินค้าเกษตรในปัจจุบันอีกด้วย
- สำนักงานสถิติจีน (NBS) ประกาศกำไรสุทธิของบริษัทอุตสหกรรมจีน ในเดือน ส.ค.55 โดยหดตัวร้อยละ -6.2 จากช่วงเดียวกันปีที่แล้ว เป็น 381.2 พันล้านหยวน (60.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) ซึ่งเป็นการหดตัวติดต่อกันเป็นเดือนที่ 5 ซึ่งนับว่าหดตัวลงมากที่สุดในปีนี้ มากว่าเดือน ก.ค. และ มิ.ย. 55 ที่หดตัวร้อยละ -5.4 และ -1.7 จากช่วงเดียวกันปีที่แล้ว ตามลำดับ
- สศค. วิเคราะห์ว่า เศรษฐกิจจีนมีแนวโน้มที่ชะลอตัวอย่างชัดเจน โดย สศค. คาดการณ์ ณ ก.ย. 55 ว่าทั้งปี 55 เศรษฐกิจจีนจะสามารถขยายตัวได้ที่ร้อยละ 7.8 ซึ่งต่ำกว่าระดับศักยภาพที่ควรเติบโตได้ที่ร้อยละ 8 สาเหตุจากอุปสงค์ทั้งภายในและภายนอกที่ชะลอตัวอย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกัน ราคาสินค้าที่ปรับลดลงและราคาต้นทุนโดยเฉพาะค่าแรงที่สูงขึ้น ส่งผลให้กำไรสุทธิของบริษัทอุตสาหกรรมหดตัว ประกอบกับภาคอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นสัดส่วนสำคัญของจีน คิดเป็นร้อยละ 30.6 ของ GDP (สัดส่วนปี 54) มีแนวโน้มที่ค่อนข้างอ่อนแอ โดยล่าสุด ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรมจีนที่จัดทำโดย HSBC เดือน ส.ค. 55 อยู่ที่ระดับ 47.8 จุด ]f]'จาก 47.6 จุดในเดือนก่อนหน้า โดยดัชนีฯ อยู่ต่ำกว่าระดับ 50 จุดมาแล้ว 11 เดือนติดต่อกัน ตั้งแต่ พ.ย. 54 บ่งชี้การหดตัวของภาคอุตสาหกรรมจีนต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม จีนพร้อมที่จะดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่มีวงเงินราว 1 ล้านล้านหยวน (ประมาณ 150 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) โดยจะลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน รวมทั้งสิ้น 61 โครงการ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ท่ามกลางสถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่ผันผวน
- เกิดเหตุจลาจลขึ้นในกรีซ สาเหตุจากชาวกรีกต่างออกมาชุมนุมประท้วงต่อต้านนโยบายรัดเข็ดขัดของรัฐบาล ซึ่งนำโดยสภาแรงงานกรีซ (GSEE) และสหภาพแรงงานภาครัฐ (ADEDY) โดยเป็นการจลาจลครั้งแรกภายหลังจากที่นาย Samaras เข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี จากการที่กรีซนั้นจำเป็นต้องดำเนินมาตรการรัดเข็มขัดทางการคลังตามเงื่อนไขของ Troika
- สศค. วิเคราะห์ว่า การออกมาประท้วงดังกล่าวของชาวกรีกนั้น เกิดจากความไม่พอใจในการดำเนินมาตรการรัดเข็มขัดของรัฐบาลกรีซหลายรอบ โดยการลดรายจ่ายส่วนใหญ่มาจากการลดค่าจ้าง เงินบำเหน็จบำนาญ และสวัสดิการข้าราชการ ซึ่งส่งผลให้ความเป็นอยู่ของชาวกรีกประสบกับความยากลำบากมากขึ้น ผนวกกับการดำเนินมาตรการดังกล่าวยังไม่สามารถเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจกรีซให้ดีขึ้นได้ในระยะสั้น บ่งชี้จาก 1) อัตราการว่างงานกรีซ ไตรมาส 2 ปี 55 อยู่ในระดับสูงเป็นประวัติการณ์ที่เฉลี่ยร้อยละ 23.6 ของกำลังแรงงานรวม 2) เศรษฐกิจกรีซยังคงถดถอยต่อเนื่อง โดยในครึ่งแรกของปี 55 เศรษฐกิจกรีซหดตัวที่ร้อยละ -6.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ประกอบกับอุปสงค์ภายในประเทศซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของเศรษฐกิจกรีซโดยมีสัดส่วนถึงร้อยละ 68.0 ของ GDP (สัดส่วนปี 54) ยังคงอ่อนแอและเปราะบาง สะท้อนจากยอดค้าปลีกที่หดตัวอย่างต่อเนื่อง ในเดือน ก.ค. 55 หดตัวที่ร้อยละ -10.6 จากช่วงเดียวกันปีก่อนทั้งนี้ จากผลสำรวจของสถาบัน MRB เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา พบว่า ชาวกรีกกว่าร้อยละ 90 เชื่อว่าแผนการลดค่าใช้จ่ายของรัฐบาลกรีซนั้นไม่เป็นธรรมและสร้างภาระแก่คนยากจน และคาดว่ารัฐบาลจะมีมาตรการรัดเข็มขัดมากขึ้นในอีกหลายปีข้างหน้า อย่างไรก็ตาม รัฐบาลกรีซควรเร่งแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นเพื่อผ่อนคลายความตึงเครียดต่าง ๆ ที่อาจสร้างอุปสรรคต่อการแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจกรีซตามมาภายหลังได้
ที่มา: Macroeconomic Analysis Group:
Fiscal Policy Office Tel. 02-273-9020 Ext.3665 : www.fpo.go.th