รายงานภาวะเศรษฐกิจรายสัปดาห์ระหว่างวันที่ 24 - 28 กัยยายน 2555

ข่าวเศรษฐกิจ Monday October 1, 2012 10:34 —กระทรวงการคลัง

Executive Summary

Indicators this week
  • ผลการเบิกจ่ายงบประมาณในเดือนส.ค. 55 สามารถเบิกจ่ายได้ทั้งสิ้น 159.5 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 11.1

เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

  • ฐานะการคลังของรัฐบาลตามระบบกระแสเงินสดในเดือน ส.ค. 55 ขาดดุลจำนวน -3.0 พันล้านบาท
  • ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือน ส.ค. 55 หดตัวที่ร้อยละ -11.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
  • การส่งออกเดือน ส.ค. 55 หดตัวร้อยละ -6.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ในขณะที่การนำเข้าหดตัวที่ร้อยละ -8.8
  • GDP สหรัฐฯ ไตรมาส 2 ปี 55 (ตัวเลขสมบูรณ์) ขยายตัวร้อยละ 2.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน
  • ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคสหรัฐฯ เดือน ก.ย. 55 อยู่ที่ระดับ 70.3 จุด
  • ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรมญี่ปุ่น เดือน ก.ย. 55 ปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อยมาอยู่ที่ระดับ 48.0 จุด

ในขณะที่ยอดค้าปลีกญี่ปุ่น เดือน ส.ค. 55 กลับมาขยายตัวที่ร้อยละ 1.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน

  • ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมเกาหลีใต้ เดือน ส.ค. 55 ขยายตัวร้อยละ 0.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนหน้า
  • อัตราเงินเฟ้อญี่ปุ่น เดือน ส.ค. 55 ยังคงทรงตัวอยู่ที่ร้อยละ -0.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน

ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อสิงคโปร์ อยู่ที่ร้อยละ 3.9

Indicators next week
 Indicators                          Forecast             Previous
 Sep : Headline Inflation (% YoY)      3.4                   2.7

โดยมีสาเหตุหลักจากฐานต่ำในช่วงปีก่อนหน้า ประกอบกับการปรับขึ้นค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ หรือ FT ในอัตรา 18 สตางค์ต่อหน่วย ส่งผลให้ราคาในหมวดเคหสถานมีการเร่งตัวสูงขึ้น นอกจากนี้ ราคาสินค้าจำพวกผักและผลไม้มีการปรับตัวสูงขึ้นจากภาวะฝนตกชุก ผลผลิตจึงเกิดการเน่าเสีย อย่างไรก็ตามสินค้าประเภทเนื้อหมู ไข่ รวมถึงน้ำมันขายปลีกในประเทศมีการปรับตัวลดลง ทั้งนี้ คาดว่าอัตราเงินเฟ้อจะขยายตัวที่ร้อยละ 0.41 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า (%mom)

Economic Indicators: This Week
  • ผลการเบิกจ่ายงบประมาณในเดือนส.ค. 55 สามารถเบิกจ่ายได้ทั้งสิ้น 159.5 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 11.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยในเดือนส.ค. 55 มีการเบิกจ่ายงบประมาณประจำปีปัจจุบัน 153.0 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 12.9 แบ่งออกเป็น (1) รายจ่ายประจำ 125.7 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 11.2 (2) รายจ่ายลงทุน 27.2 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 21.4 ทั้งนี้ การเบิกจ่ายงบประมาณที่สำคัญ ได้แก่ รายจ่ายเงินอุดหนุนของกระทรวงศึกษาธิการ 9.8 พันล้านบาท รายจ่ายเงินอุดหนุนของกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น 7.1 พันล้านบาท รายจ่ายเพื่อชำระหนี้ของสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ 4.6 พันล้านบาท เป็นสำคัญ สำหรับการเบิกจ่ายงบประมาณจากปีก่อนเบิกจ่ายได้ 6.5 พันล้านบาท ลดลงร้อยละ -18.9 ทั้งนี้ ในช่วง 11 เดือนแรกของปีงบประมาณสามารถเบิกจ่ายงบประมาณทั้งสิ้น 2,068.0 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.2 โดยการเบิกจ่ายงบประมาณประจำปีงปม.เบิกจ่ายได้ 1,930.8 พันล้านบาท คิดเป็นอัตราการเบิกจ่ายร้อยละ 81.1 ของกรอบวงเงิน งปม.55
  • ฐานะการคลังของรัฐบาลตามระบบกระแสเงินสดในเดือน ส.ค. 55พบว่า ดุลงบประมาณขาดดุลจำนวน -3.0 พันล้านบาท และเมื่อรวมกับดุลเงินนอกงบประมาณที่เกินดุลจำนวน 9.8 พันล้านบาท จึงส่งผลให้ดุลเงินสดก่อนกู้เกินดุลจำนวน 6.8 พันล้านบาท ทั้งนี้ ฐานะการคลังในช่วง 11 เดือนแรกของปีงบประมาณ 55 งบประมาณขาดดุลจำนวน -343.3 พันล้านบาท และเมื่อรวมกับดุลเงินนอกงบประมาณที่ขาดดุลจำนวน -26.6 พันล้านบาท ทำให้รัฐบาลขาดดุลเงินสดก่อนกู้จำนวน -369.9 พันล้านบาท และเงินคงคลัง ณ สิ้นเดือน ส.ค. 55 อยู่ที่ 463.9 พันล้านบาท
ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือน ส.ค. 55 หดตัวที่ร้อยละ -11.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) ส่งผลให้ 2 เดือนแรกของไตรมาส 3 หดตัวร้อยละ -8.4 YoY ต่อเนื่องจากไตรมาส 2 ที่หดตัวร้อยละ -1.5 YoY โดยมีปัจจัยสำคัญจากการหดตัวของการผลิต Hard Disk Drive ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ปิโตรเลียม เสื้อผ้าสำเร็จรูป และกุ้งแช่แข็ง เนื่องจากปัจจัยภายในประเทศที่การผลิตส่วนหนึ่งยังไม่ฟื้นตัวกลับมาเต็มที่ และปัจจัยต่างประเทศจากคำสั่งซื้อที่ชะลอลงโดยเฉพาะจากประเทศคู่ค้าหลักๆ ได้แก่ กลุ่มยูโร จีน ญี่ปุ่น และอาเซียน
  • การส่งออกในเดือน ส.ค. 55 มีมูลค่าอยู่ที่ 19,750.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัวร้อยละ -6.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน หรือหดตัวร้อยละ -1.2 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหลังขจัดผลทางฤดูกาลแล้ว เนื่องจากผลกระทบจากปัญหาวิกฤตหนี้ยุโรปที่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อการส่งออกของไทยไปยุโรป และยังลุกลามไปยังตลาดส่งออกที่สำคัญของไทยมากขึ้น และทำให้มีการนำเข้าสินค้าจากไทยลดลง ส่งผลให้การส่งออกหดตัวแทบทุกหมวดสินค้าหลัก โดยเฉพาะสินค้าหมวดเกษตรกรรมที่หดตัวสูงที่ร้อยละ -26.7 ตามการหดตัวของข้าว และยางพารา สอดคล้องกับสินค้าหมวดอุตสาหกรรมการเกษตร อุตสาหกรรม และ สินค้าแร่และเชื้อเพลิงที่หดตัวร้อยละ -3.1 , -2.3 และ -22.4 ตามลำดับ ในขณะที่ สินค้าในหมวดยานยนต์ขยายตัวชะลอลงที่ร้อยละ 6.4 ทั้งนี้ราคาส่งออกหดตัวที่ร้อยละ -0.2 และปริมาณการส่งออกหดตัวเช่นกันที่ร้อยละ -6.7
  • การนำเข้าในเดือน ส.ค. 55 มีมูลค่าอยู่ที่ 20,770.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัวที่ร้อยละ -8.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามการหดตัวเกือบทุกหมวดสินค้าตามการหดตัวของการส่งออก โดยเฉพาะสินค้าวัตถุดิบที่หดตัวร้อยละ -16.8 ลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่ร้อยละ 2.7 ประกอบกับสินค้าเชื้อเพลิงที่หดตัวเช่นกันที่ร้อยละ -17.6 รวมถึงสินค้าอุปโภคบริโภคที่หดตัวที่ร้อยละ -1.2 จากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวที่ร้อยละ 13.1 ในขณะที่สินค้ายานยนต์ และสินค้าทุน ขยายตัวชะลอลงที่ร้อยละ 37.9 และ 1.9 ตามลำดับ ทั้งนี้ราคานำเข้าหดตัวที่ร้อยละ -0.9 และปริมาณการนำเข้าหดตัวเช่นเดียวกันที่ร้อยละ -7.9 และจากการที่มูลค่าการส่งออกน้อยกว่ามูลค่าการนำเข้าทำให้ดุลการค้าในเดือน ส.ค. 55 ขาดดุลต่อเนื่องที่ -1,020.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
Economic Indicators: Next Week
  • อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือน ก.ย. 55 คาดว่าจะอยู่ที่ร้อยละ 3.4 เร่งตัวขึ้นจากเดือนก่อนหน้า โดยมีสาเหตุหลักจากฐานต่ำในช่วงปีก่อนหน้า ประกอบกับการปรับขึ้นค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ หรือ FT ในอัตรา 18 สตางค์ต่อหน่วย ส่งผลให้ราคาในหมวดเคหสถานมีการเร่งตัวสูงขึ้น นอกจากนี้ ราคาสินค้าจำพวกผักและผลไม้มีการปรับตัวสูงขึ้นจากภาวะฝนตกชุก ผลผลิตจึงเกิดการเน่าเสีย อย่างไรก็ตามสินค้าประเภทเนื้อหมู ไข่ รวมถึงน้ำมันขายปลีกในประเทศมีการปรับตัวลดลง ทั้งนี้ คาดว่าอัตราเงินเฟ้อจะขยายตัวที่ร้อยละ 0.41 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า (%mom)

Global Economic Indicators: This Week

US: improving economic trend
  • ยอดขายบ้านมือสอง เดือน ส.ค. 55 อยู่ที่ 4.82 ล้านหลัง (annual rate) ขยายตัวร้อยละ 11.2 จากช่วงเดียวกันปีก่อนหน้า หรือร้อยละ 7.8 จากเดือนก่อนหน้า ในขณะที่ยอดสร้างบ้านใหม่ เดือน ส.ค. 55 อยู่ที่ 750,000 หลัง หรือขยายตัวร้อยละ 2.3 จากเดือนก่อนหน้า (ขจัดผลทางฤดูกาลแล้ว) ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค เดือน ก.ย. 55 อยู่ที่ระดับ 70.3 จุด ปรับสูงขึ้นมากจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ระดับ 61.3 จุด จากความเชื่อมั่นต่อภาคการจ้างงาน ภาวะธุรกิจ และรายได้ สะท้อนภาคการบริโภคภาคเอกชนสหรัฐฯ ที่ยังแข็งแกร่ง GDP ไตรมาส 2 ปี 55 (ตัวเลขสมบูรณ์) ขยายตัวร้อยละ 2.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนหน้า หรือร้อยละ 0.3 จากไตรมาสก่อนหน้า (ขจัดผลทางฤดูกาลแล้ว) ผลจากภัยแล้งที่ทำให้สินค้าคงคลังลดลง นำไปสู่การปรับลดของตัวเลข GDP
Japan: mixed signal
  • ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรม เดือน ก.ย. 55 ปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อยมาอยู่ที่ระดับ 48.0 จุด จากระดับ 47.7 จุดในเดือนก่อนหน้า อย่างไรก็ตาม ดัชนีดังกล่าวยังคงอยู่ต่ำกว่าระดับ 50 จุด ต่อเนื่องติดต่อกันเป็นเดือนที่ 4 สะท้อนให้เห็นถึงอุปสงค์นอกประเทศที่ยังคงปรับตัวลดลง จากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวอย่างชัดเจน อัตราเงินเฟ้อ เดือน ส.ค. 55 ยังคงทรงตัวอยู่ที่ร้อยละ -0.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ซึ่งสูงกว่าที่นักเศรษฐศาสตร์คาดการณ์ไว้ที่ร้อยละ -0.3 ส่วนผลผลิตภาคอุตสาหกรรม (ตัวเลขเบื้องต้น) เดือน ส.ค. 55 หดตัวเร่งขึ้นจากร้อยละ -1.0 ของเดือนก่อนหน้า มาอยู่ที่ร้อยละ -1.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อนหน้าโดยเป็นการหดตัวต่อเนื่องติดต่อกันเป็นเดือนที่ 2 มีสาเหตุสำคัญมาจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนและวิกฤตหนี้สาธารณะในยูโรโซนที่ยังไม่บรรเทาความรุนแรงลง ส่งผลให้ยอดการส่งออกของญี่ปุ่นหดตัวติดต่อกันเป็นเดือนที่ 3 เนื่องจากประเทศทั้งสองเป็นคู่ค้าอันดับสำคัญของญี่ปุ่นซึ่งมีสัดส่วนการส่งออกที่ร้อยละ 19.7 และ 8.5 ของมูลค่าการส่งออกรวม ตามลำดับ (สัดส่วนปี 54) ขณะที่ ยอดค้าปลีก เดือน ส.ค. 55 กลับมาขยายตัวที่ร้อยละ 1.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน หลังจากหดตัวที่ร้อยละ -0.7 ในเดือน ก.ค. 55 บ่งชี้จากการใช้จ่ายภาคครัวเรือน เดือน ส.ค. 55 ที่ขยายตัวร้อยละ 1.8 จากช่วงเดียวกันปีก่อน อีกทั้งอัตราการว่างงาน เดือน ส.ค. 55 อยู่ที่ร้อยละ 4.2 ของกำลังแรงงานรวมปรับลดลงจากร้อยละ 4.3 ในเดือนก่อนหน้า เนื่องจากการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่นได้กลับมาฟื้นตัวอย่างเต็มที่หลังจากได้รับความเสียหายจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวและสึนามิเมื่อต้นปีที่ผ่านมา ส่งผลต่อภาคการจ้างงานที่เพิ่มมากขึ้น
Philippines: mixed signal
  • มูลค่าการนำเข้า เดือน ก.ค. 55 หดตัวร้อยละ -0.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน หดตัวครั้งแรกในรอบ 3 เดือน จากการนำเข้าสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่ลดลงจากร้อยละ 27.1 ในเดือนก่อนมาอยู่ที่ร้อยละ 4.8 เนื่องจากอุปสงค์สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ลดลง ทำให้ความจำเป็นในการนำเข้าเพื่อการผลิตลดลง ทั้งนี้การนำเข้าที่หดตัวทำให้ดุลการค้าในเดือน ก.ค. 55 ขาดดุลลดลงมาอยู่ที่ -236.19 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
Singapore: mixed signal
  • อัตราเงินเฟ้อ เดือน ส.ค. 55 อยู่ที่ร้อยละ 3.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ถือเป็นอัตราเงินเฟ้อที่ต่ำสุดในรอบ 21 เดือน จากราคาที่อยู่อาศัยที่ขยายตัวในอัตราชะลอลงที่ร้อยละ 6.1 ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม เดือน ส.ค. 55 หดตัวร้อยละ -2.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน จากผลผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่หดตัวถึงร้อยละ -7.3 เป็นหลัก บ่งชี้ถึงการชะลอตัวของเศรษฐกิจทั้งด้านอุปทานและอุปสงค์
Hong Kong: mixed signal
  • มูลค่าการส่งออก เดือน ส.ค. 55 ขยายตัวครั้งแรกในรอบ 2 เดือนที่ร้อยละ 0.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนหน้า จากการส่งออกไปยังจีน ซึ่งเป็นคู่ค้าสำคัญอันดับ 1 ที่ขยายตัวเร่งขึ้น ขณะที่ การส่งออกไปยังยูโรโซน และสหรัฐฯ หดตัวเร่งขึ้น บ่งชี้ความผันผวนของอุปสงค์จากต่างประเทศ ขณะที่ มูลค่าการนำเข้า เดือน ส.ค. 55 ขยายตัวร้อยละ 0.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนหน้า จากการนำเข้าเครื่องมือเครื่องจักรที่ขยายตัวเร่งขึ้น
South Korea: mixed signal
  • ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม เดือน ส.ค. 55 ขยายตัวร้อยละ 0.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนหน้า หรือหดตัวร้อยละ -0.7 จากเดือนก่อนหน้า (หลังขจัดปัจจัยทางฤดูกาลแล้ว) ส่วนหนึ่งจากการชะลอลงของการผลิตเพื่อการส่งออก
Taiwan: mixed signal
  • อัตราการว่างงาน เดือน ส.ค. 55 เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้ามาอยู่ที่ร้อยละ 4.3 ของกำลังแรงงานรวม โดยจำนวนผู้ว่างงานเพิ่มขึ้น 5,000 คน ขณะที่ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม เดือน ส.ค. 55 ขยายตัวร้อยละ 1.9 จากเดือนก่อนหน้า เร่งขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 0.1 หรือเร่งขึ้นร้อยละ 0.2 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า (หลังขจัดปัจจัยทางฤดูกาลแล้ว) สะท้อนอุปสงค์ในประเทศที่ยังคงขยายตัวได้ต่อเนื่องท่ามกลางอุปสงค์จากต่างประเทศที่ชะลอลง
Weekly Financial Indicators
  • ดัชนี SET เคลื่อนไหวอยู่ในกรอบแคบๆ ใกล้ระดับ 1,280 จุด โดย ณ วันที่ 27 ก.ย. 55 ดัชนีฯ ปิดที่ระดับ 1,286.1 จุด จากแรงซื้อของนักลงทุนรายย่อยในประเทศ และบัญชีบริษัทหลักทรัพย์ เนื่องจากไม่มีปัจจัยใหม่ๆ เข้ามากระทบตลาด ถึงแม้จะมีปัญหาการจราจลในยุโรปก็ตาม ทั้งนี้ ระหว่างวันที่ 24 - 27 ก.ย. 55 นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิ -790.6 ล้านบาท ขณะที่ผลตอบแทนพันธบัตรของไทยปรับตัวลดลงในพันธบัตรอายุเกิน 2 ปีขึ้นไป เนื่องจากนักลงทุนโดยเฉพาะนักลงทุนต่างชาติปรับพอร์ทการลงทุนเพื่อลงทุนในตราสารระยะกลางและระยะยาวมากขึ้น จากความกังวลในสถานการณ์เศรษฐกิจโลก ทั้งนี้ ระหว่างวันที่ 24 - 27 ก.ย. 55 นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิ 2,263.1 ล้านบาท
  • ค่าเงินบาทค่อนข้างทรงตัว โดย ณ วันที่ 27 ก.ย. 55 ปิดที่ระดับ 30.96 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าลงเล็กน้อยจากสัปดาห์ก่อนหน้าร้อยละ -0.26 ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกับค่าเงินสกุลหลักและสกุลเงินภูมิภาค ทั้งค่าเงินยูโร ริงกิตมาเลเซีย และดอลลาร์สิงคโปร์ มีเพียงเงินเยนและเงินหยวนที่แข็งค่าขึ้น ทั้งนี้ ค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลงด้วยอัตราที่มากกว่าค่าเงินสกุลอื่นๆ ของคู่ค้าเล็กน้อย ทำให้ดัชนีค่าเงินบาท (NEER) ในสัปดาห์นี้อ่อนค่าลงเล็กน้อยจากสัปดาห์ก่อนร้อยละ -0.36
  • ราคาทองคำปรับสูงขึ้นต่อเนื่อง โดยราคาทองคำ ณ วันที่ 27 ก.ย. 55 ปิดที่ 1,777.29 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ เพิ่มขึ้นมากจากต้นสัปดาห์ที่ปิดที่ 1,763.65 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office

Tel 02-273-9020 Ext 3665 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ