รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 1 ตุลาคม 2555

ข่าวเศรษฐกิจ Monday October 1, 2012 11:52 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 1 ตุลาคม 2555

Summary:

1. กฟผ. จี้ 'เรกูเลเตอร์' ขยับค่าไฟเพิ่ม อ้างแบกรับภาระหมื่นล้านไม่ไหว

2. ทุนสำรองระว่างประเทศของไทย อยู่ที่ 1.834 แสนล้านเหรียญสหรัฐ

3. ตัวเลขเศรษฐกิจชี้กรณีพิพาทการอ้างสิทธิ์เหนือหมู่เกาะกลางทะเลจะซ้ำเติมเศรษฐกิจญี่ปุ่น

Highlight:

1. กฟผ. จี้ 'เรกูเลเตอร์' ขยับค่าไฟเพิ่ม อ้างแบกรับภาระหมื่นล้านไม่ไหว
  • ผู้ช่วยผู้ว่าการแผนงาน กฟผ.กล่าวในงานสัมมนา Energy Symposium 2012 ว่าค่าไฟฟ้าในปี 2556 ควรเป็นขาขึ้น เนื่องจากในปี 2555 กฟผ.ยังคงแบกรับต้นทุนอีกมาก โดยจะต้องทยอยใช้หนี้ให้หมด ขณะที่ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน(สนพ.) กล่าวว่า ก๊าซธรรมชาติในไทยมีจำกัดขณะที่ความต้องการใช้เริ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง โดยเป็นการนำเข้าจากพม่าทำให้ไทยต้องนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (แอลเอ็นจี) จากต่างประเทศเพิ่มขึ้น ซึ่งคาดว่าเมื่อสิ้นสุดแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าในปี 2573 ไทยจะต้องนำเข้าแอลเอ็นจี 30 ล้านตัน และจะส่งผลให้ค่าไฟฟ้าอยู่ที่ไม่ต่ำกว่า 6 บาทต่อหน่วย ด้วยเหตุนี้ รมว. กระทรวงพลังงาน จึงกล่าวสรุปว่า ในการผลักดันธุรกิจพลังงานแข่งขันกับอาเซียน ไทยต้องปรับโครงสร้างราคาพลังงานทั้งหมด เพื่อรองรับการเปิด AEC ในอนาคต
  • สศค.วิเคราะห์ว่า จากการปรับค่า ft ในรอบเดือนล่าสุด (ก.ย.-ธ.ค.2555) มีการปรับเพิ่มขึ้น 18 สต./หน่วย ในขณะที่ต้นทุนที่แท้จริง จะต้องปรับขึ้นถึง 38.24 สต./หน่วย โดยในส่วนที่เหลือคิดเป็นมูลค่า 10,504 ล้านบาทได้ตกเป็นภาระของ กฟผ. นอกจากนี้ หน่วยงานของรัฐได้มีการแบกรับภาระจากราคาพลังงานต่างๆอีกหลายประเภท อาทิ ราคาน้ำมันดีเซล เอนจีวี ก๊าซหุงต้ม เป็นต้น ซึ่งรัฐบาลได้มีนโยบายทยอยปรับราคาพลังงานอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะราคาก๊าซหุงต้มภาคขนส่ง และก๊าซเอนจีวี ที่มีการปรับราคาเพิ่มขึ้น 0.75 บาท และ 0.5 บาทต่อเดือน ตามลำดับ ทั้งนี้ การปรับโครงสร้างราคาพลังงานเป็นสิ่งที่จำเป็นเพื่อลดภาระของรัฐ และสะท้อนต้นทุนที่แท้จริง อย่างไรก็ตาม การปรับเพิ่มราคาพลังงานย่อมส่งผลต่อภาวะเงินเฟ้อผ่านหมวดสินค้าเชื้อเพลิง และหมวดไฟฟ้า ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 13.6 และ 5.1 ตามลำดับ
2. ทุนสำรองระว่างประเทศของไทย อยู่ที่ 1.834 แสนล้านเหรียญสหรัฐ
  • ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) รายงานฐานะเงินสำรองระหว่างประเทศ ณ วันที่ 21 ก.ย.ปี 55 ว่า อยู่ที่ระดับ 1.834 แสนล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 5.658 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 800 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 2.46 หมื่นล้านบาท หากคิดอัตราแลกเปลี่ยนปัจจุบันที่ระดับ 30.80 บาทต่อเหรียญสหรัฐ จากสัปดาห์ก่อนที่ระดับ 1.826 แสนล้านเหรียญสหรัฐ
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ทุนสำรองระหว่างประเทศที่ปรับตัวสูงขึ้น ส่วนหนึ่งคาดว่าเป็นผลมาจากการดูแลเสถียรภาพทางด้านอัตราแลกเปลี่ยนของธนาคารแห่งประเทศไทยที่ไม่ให้อัตราแลกเปลี่ยนมีความผันผวนมากนัก โดย ณ วันที่ 28 ก.ย. 55 ปิดที่ระดับ 30.8 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าขึ้นเล็กน้อยจากเดือนก่อนที่ร้อยละ 0.9 ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกับค่าเงินสกุลหลักและสกุลเงินในภูมิภาค โดยเฉพาะเงินยูโร ริงกิตมาเลเซีย วอนเกาหลี ดอลลาร์สิงคโปร์ และเงินหยวน โดยคาดว่าค่าเงินบาทในปี 55 จะอยู่ที่ 31.10 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณการ ณ เดือน กันยายน 2555) อย่างไรก็ตาม จากการที่ทุนสำรองระหว่างประเทศปรับตัวสูงขึ้น จะเป็นปัจจัยบวกในแง่ของเสริมสร้างให้เสถียรภาพภายนอกทางเศรษฐกิจไทยให้มีความแข็งแกร่งเพิ่มมากขึ้น เพื่อจะช่วยรองรับความความเสี่ยงจากปัจจัยภายนอกที่จะเข้าส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยได้
3. ตัวเลขเศรษฐกิจชี้กรณีพิพาทการอ้างสิทธิ์เหนือหมู่เกาะกลางทะเลจะซ้ำเติมเศรษฐกิจญี่ปุ่น
  • กระทรวงอุตสาหกรรมญี่ปุ่นแถลงตัวเลขเศรษฐกิจภาคการผลิตอุตสาหกรรมญี่ปุ่นหดตัวลงมากว่าคาดร้อยละ 1.3 จากเดือนก่อน โดยการหดตัวมากกว่าที่มีการคาดการณ์การหดตัวไว้ที่ร้อยละ 0.5 เป็นตัวเลขที่ต่ำติดต่อกัน 15 เดือน เนื่องจากผลกระทบของการส่งออกที่ลดลงจากตลาดจีนและตลาดสหภาพยุโรป โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มสินค้าอิเลคทรอนิคส์ และรถยนต์
  • สศค. วิเคราะห์ว่า เศรษฐกิจญี่ปุ่นมีความสุ่มเสี่ยงที่จะเข้าสู่ภาวะถดถอย โดยกระทรวงเศรษฐกิจญี่ปุ่นได้มีการคาดการณ์ไว้ว่า การผลิตจะหดตัวร้อยละ 2.9 ในเดือน ก.ย. และจะคงสถานะดังกล่าวในเดือน ต.ค. ซึ่งจะทำให้เป็นการหดตัวสองไตรมาสติดและมีแนวโน้มที่จะทำให้ทางการญี่ปุ่นต้องปรับตัวเลขคาดการณ์ของอัตราการเจริญเติบโตเศรษฐกิจให้ลดลงอีก ทั้งนี้ นอกจากผลกระทบรุนแรงที่เกิดจากแผ่นดินไหวและสึนามิเมื่อปีก่อนแล้ว การแข็งค่าของค่าเงินเยน ผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจสหภาพยุโรปที่เป็นตลาดส่งออกสำคัญ และกรณีพิพาทการอ้างสิทธิ์เหนือหมู่เกาะกลางทะเลกับจีน มีทีท่าที่จะทำให้ เศรษฐกิจญี่ปุ่นที่พึ่งพาการส่งออกอยู่มากย่ำแย่กว่าเดิม โดยโรงงานภาคธุรกิจของญีปุ่นในจีนต้องหยุดทำการผลิต โตโยต้าและนิสสันซึ่งเป็นผู้ผลิตรายใหญ่ได้ประกาศแล้วว่า จะทำการลดการผลิตรถยนต์ในจีนลง เนื่องจากอุปสงค์ลดลงมาก ทั้งนี้ ภาคการท่องเที่ยวก็ได้รับผลกระทบ โดยภาคธุรกิจของญี่ปุ่นมีความวิตกกังวลว่า หากกรณีพิพาทยืดเยื้อ การส่งออกสินค้าไปยังจีนที่เป็นตลาดส่งออกหลักจะมีการหดตัวรุนแรง และอาจจะต้องทำการย้ายฐานการผลิต ซึ่งเป็นไปตามรายงานการสำรวจของรอยเตอร์ที่พบว่า บริษัทญี่ปุ่นราวร้อยละ 41 เห็นว่ากรณีพิพาทจะมีผลกระทบต่อแผนการดำเนินธุรกิจของบริษัทและคาดว่าจะพิจารณาโยกย้ายกิจการไปยังประเทศอื่นๆ ซึ่งสำหรับเศรษฐกิจจีนเองนั้น ก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน เนื่องจากการคว่ำบาตรสินค้าญี่ปุ่นก็จะมีผลโดยตรงต่อการบริโภคของจีน และการโยกย้ายฐานการผลิตของญี่ปุ่นจากจีน ก็จะนำปัญหาด้านการจ้างงานและการผลิตที่จะลดลงได้

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group:

Fiscal Policy Office Tel. 02-273-9020 Ext.3665 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ