รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 2 ตุลาคม 2555

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday October 2, 2012 10:53 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 2 ตุลาคม 2555

Summary:

1. พาณิชย์เผยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปก.ย.เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.38 เฉลี่ย 9 เดือนเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.94

2. สคร. เผยรัฐวิสาหกิจกลุ่มแบงก์กำไรหดจากค่าต๋ง

3. ดัชนีดาวโจนส์ทะยาน147.74 จุด ผลจากภาคการผลิตสหรัฐขยายตัวดีเกินคาด

Highlight:

1. พาณิชย์เผยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปก.ย.เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.38 เฉลี่ย 9 เดือนเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.94
  • ปลัดกระทรวงพาณิชย์ แถลงดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป(CPI) เดือน ก.ย.55 อยู่ที่ 116.67 เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.38 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ซึ่งสูงกว่าเป้าหมายที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ที่ร้อยละ 3.20 และเมื่อเทียบกับเดือน ส.ค.55 เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.34 ส่งผลให้ CPI เฉลี่ย 9 เดือนแรกของปีนี้(ม.ค.-ก.ย.55) เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.94 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์ คาดการณ์ว่าอัตราเงินเฟ้อในปีนี้จะอยู่ที่ร้อยละ 3.0-3.4 ลดลงจากเดิมร้อยละ 3.3-3.8
  • สศค.วิเคราะห์ว่า อัตราเงินเฟ้อเดือน ก.ย.55 ขยายตัวเร่งขึ้นที่ร้อยละ 3.38 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมีสาเหตุสำคัญมาจากปัจจัยฐานสูงในช่วงปีก่อนหน้า ประกอบกับการปรับขึ้นค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ หรือ FT ในอัตรา 18 สตางค์ต่อหน่วยที่ส่งผลให้ดัชนีราคาในหมวดสินค้าเชื้อเพลิงและหมวดไฟฟ้าปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 14.62 นอกจากนี้ ยังมีดัชนีราคาในหมวดอาหารและเครืองดื่ม (ซึ่งมีสัดส่วนในตระกร้าเงินเฟ้อสูงถึงร้อยละ 33.01) ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นสูงเช่นกันที่ร้อยละ 3.66 โดยเฉพาะหมวดอาหารสำเร็จรูปและผักผลไม้ ซึ่งจากปัจจัยดังกล่าวส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อในเดือนนี้เร่งขึ้น และส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ย 9 เดือนเพิ่มขึ้นที่ร้อยละ 2.94 ทั้งนี้ สศค.คาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 55 จะอยู่ที่ร้อยละ 3.5 โดยมีช่วงคาดการณ์ 3.0-4.0 (คาดการณ์ ณ ก.ย.55)
2. สคร. เผยรัฐวิสาหกิจกลุ่มแบงก์กำไรหดจากค่าต๋ง
  • ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) เปิดเผยว่า ในปีงบประมาณ 56 ได้ประมาณการการนำส่งรายได้ของรัฐวิสาหกิจเข้ารัฐไว้ที่ 1 แสนล้านบาท ลดลงจากปีงบประมาณ 55 ที่ตั้งไว้ 1.04 แสนล้านบาท เนื่องจากมีรัฐวิสาหกิจในกลุ่มธนาคารที่ได้รับผลกระทบจากการนำส่งค่าธรรมเนียมร้อยละ 0.47 ของเงินฝาก ซึ่งอาจจะกระทบต่อการนำส่งรายได้เข้ารัฐราว 7-8 พันล้านบาทจากปกติที่มีรายได้นำส่งที่ 2 หมื่นล้านบาท/ปี นอกจากนี้รัฐวิสาหกิจหลายแห่งมีการปรับมาตรฐานบัญชี เช่น การประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) ซึ่งอาจกระทบต่อการนำส่งรายได้
  • สศค. วิเคราะห์ว่า อัตราเงินเรียกเก็บจากสถาบันการเงินเพื่อส่งเงินให้กับธนาคารแห่งประเทศไทยที่ร้อยละ 0.47 จะแบ่งออกเป็นการส่งเงินเข้าสถาบันคุ้มครองเงินฝาก ร้อยละ 0.01 ส่วนที่เหลืออีกร้อยละ 0.46 จะส่งเข้ากองทุนเงินพัฒนาประเทศเพื่อนำไปชำระหนี้กองทุนฟื้นฟูฯ จำนวน 1.14 ล้านล้านบาท ทั้งนี้การปรับเปลี่ยนค่าธรรมเนียมเงินฝากของธนาคารพาณิชย์ดังกล่าวอาจส่งผลกระทบต่อรายได้ของรัฐบาลในปีงบประมาณ 56 อย่างไรก็ดีในปีงบประมาณ 55 รัฐวิสาหกิจยังสามารถนำส่งรายได้เข้ารัฐรวม 1.22 แสนล้านบาท สูงกว่าเป้าหมาย 1.8 หมื่นล้านบาท จากเป้าหมายที่ตั้งไว้ 1.04 แสนล้านบาท เนื่องจากมีรัฐวิสาหกิจหลายแห่งมีผลประกอบการดีขึ้น เช่น กลุ่มธนาคาร การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย อีกทั้งโรงงานยาสูบได้ชะลอการลงทุนสร้างโรงงานแห่งใหม่ ทำให้มีรายได้กลับเข้ารัฐอีก 2 พันล้านบาท
3. ดัชนีดาวโจนส์ทะยาน 147.74 จุด ผลจากภาคการผลิตสหรัฐฯ ขยายตัวดีเกินคาด
  • ณ เวลา 10.16 น.ตามเวลานิวยอร์กในวันนี้ ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์พุ่งขึ้น 147.74 จุด หรือ 1.1% แตะที่ 13,584.87 จุด และดัชนี S&P 500 พุ่งขึ้น 1.1% แตะที่1,456.16 จุด หลังจากสถาบันจัดการอุปทานของสหรัฐ (ISM) เปิดเผยว่า ดัชนีภาคการผลิตของสหรัฐเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 51.5 ในเดือนก.ย. จากระดับ 49.6 ในเดือนส.ค. ซึ่งสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะอยู่ที่ 49.7 บ่งชี้ว่าภาคการผลิตของสหรัฐกลับมาขยายตัวเป็นครั้งแรก หลังจากหดตัวมาสามเดือนติดต่อกัน
  • สศค.วิเคราะห์ว่า ปัจจัยการเพิ่มขึ้นของภาคการผลิตของสหรัฐมาจากอุปสงค์ทั้งในและต่างประเทศ ที่เพิ่มขึ้น โดยดัชนียอดสั่งซื้อใหม่พุ่งขึ้นแตะ 52.3 และดัชนีการส่งออกเพิ่มขึ้นแตะ 48.5 ในเดือน ก.ย. (จาก 47.1 และ 47.0 ตามลำดับ ในเดือนส.ค.) โดยมีแรงหนุนสำคัญจากการฟื้นตัวของกลุ่มผู้ผลิตเครื่องจักรและรถยนต์ในสหรัฐ ซึ่งข้อมูลดังกล่าวช่วยบรรเทาความวิตกกังวลเรื่องการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ภายหลังจากจีนเปิดเผยดัชนีภาคการผลิตที่หดตัวลง อย่างไรก็ดี สศค.ยังคงประมาณการขยายตัวเศรษฐกิจสหรัฐเฉลี่ยปี 55 ไว้ที่ร้อยละ 2.2 หลังจากในช่วงครึ่งปีแรกขยายตัวที่ร้อยละ 2.4 จากแนวโน้มการชะลอตัวของเศรษฐกิจในหลายประเทศที่เชื่อมโยงกับเศรษฐกิจสหรัฐ อาทิ อินเดีย ฮ่องกง สิงคโปร์ เป็นต้น

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group:

Fiscal Policy Office Tel. 02-273-9020 Ext.3665 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ