Macro Morning Focus ประจำวันที่ 3 ตุลาคม 2555
1. ครม. มีมติต่ออายุมาตรการรถเมล์-รถไฟฟรีอีก 6 เดือนจนถึงเดือน มี.ค. 56
2. สถิติคนว่างงาน เดือน ส.ค. 55 ลดลงเหลือ 2.24 แสนคน กรุงเทพลดลงมากที่สุด ขณะที่ภาคใต้ว่างงานมากขึ้น
3. จำนวน "ผู้ว่างงาน" ยูโรโซน พุ่งสูงสุดครั้งใหม่ที่ 18.2 ล้านคน
Highlight:
- ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีมติอนุมัติให้ต่ออายุมาตรการลดค่าครองชีพประชาชนอีก 6 เดือน ได้แก่ โครงการรถไฟและรถเมล์ฟรี จากเดิมที่สิ้นสุดเดือน ก.ย. 55 เป็นสิ้นสุดเดือน มี.ค. 56 ซึ่งคาดว่าจะต้องใช้เงินอุดหนุนราว 2.06 พันล้านบาท
- สศค. วิเคราะห์ว่า การพิจารณาต่ออายุมาตรการลดค่าครองชีพของคณะรัฐมนตรีสามารถช่วยลดภาระค่าครองชีพให้กับประชาชนจากแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อในปี 55 ที่เพิ่มสูงขึ้นจากแรงกดดันของราคาน้ำมันที่ปรับตัวเพี่มขึ้น โดยข้อมูลล่าสุด อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือน ก.ย. 55 อยู่ที่ร้อยละ 3.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 2.7 และเมื่อปรับผลทางฤดูกาลแล้ว ขยายตัวร้อยละ 1.9 เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ร้อยละ 1.8 โดยมีสาเหตุหลักมาจากดัชนีราคาในหมวดสินค้าเชื้อเพลิงและหมวดไฟฟ้าที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 14.6 จากผลของการปรับขึ้นค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (FT) ในอัตรา 18 สตางค์ต่อหน่วย ในรอบเดือน ก.ย. - ธ.ค. 55 เป็นสำคัญ ขณะที่ดัชนีราคาในหมวดค่าโดยสารสาธารณะปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.6 ทั้งนี้ การต่ออายุมาตรการดังกล่าวยังมีส่วนช่วยส่งเสริมให้การบริโภคภายในประเทศขยายตัวต่อเนื่อง ซึ่งจะช่วยสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจของไทยในปี 55 ทั้งนี้ สศค. คาดว่า อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยในปี 55 และ 56 จะขยายตัวร้อยละ 5.5 (ช่วงคาดการณ์ร้อยละ 5.3-5.8) และร้อยละ 5.2 (ช่วงคาดการณ์ร้อยละ 4.7-5.7) ตามลำดับ และอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 55 และ 56 จะขยายตัวร้อยละ 3.3 (ช่วงคาดการณ์ร้อยละ 3.0-3.5) และร้อยละ 3.5 (ช่วงคาดการณ์ร้อยละ 3.0-4.0) ตามลำดับ (คาดการณ์ ณ เดือน ก.ย. 55)
- สำนักงานสถิติแห่งชาติ เปิดเผยผลการสำรวจภาวะการทำงานของประชากรเดือน ส.ค. 55 พบว่า มีจำนวนผู้มีอายุตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไป 54.58 ล้านคน โดยเป็นผู้ที่อยู่ในกำลังแรงงานหรือผู้ที่พร้อมที่จะทำงาน 39.80 ล้านคน ซึ่งประกอบด้วยผู้มีงานทำ 39.54 ล้านคน ผู้ว่างงาน 2.24 แสนคน และผู้ที่รอฤดูกาล 3.35 หมื่นคน ส่วนผู้ที่อยู่นอกกำลังแรงงานหรือผู้ที่ไม่พร้อมทำงาน 14.78 ล้านคน สำหรับจำนวนของผู้ว่างงานในเดือน ส.ค. 55 มีจำนวนทั้งสิ้น 2.24 แสนคน หรือคิดเป็นอัตราการว่างงานร้อยละ 0.6 เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกัน ของปี 54 มีจำนวนผู้ว่างงานลดลง 4.6 หมื่นคน (จาก 2.70 แสนคน เป็น 2.24 แสนคน)
- สศค. วิเคราะห์ว่า เศรษฐกิจไทยในปี 55 คาดว่าจะขยายตัวได้ที่ร้อยละ 5.5 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 5.3 - 5.8) เร่งขึ้นจากปีก่อนหน้า โดยเป็นการปรับตัวจากการจ้างงานภาคเกษตรกรรมและภอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น จากข้อมูลล่าสุดของสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า ในเดือน ส.ค. 55 ผู้มีงานทำ จำนวนทั้งสิ้น 39.54 ล้านคน ประกอบไปด้วย ผู้ทำงานในภาคเกษตรกรรม 16.46 ล้านคน และนอกภาคเกษตรกรรม 23.08 ล้านคน ซึ่งมีจำนวนผู้มีงานทำเพิ่มขึ้น คิดเป็นจำนวน 4.3 และ 3.3 แสนคน ตามลำดับ อันจะเห็นได้ว่าแรงงานดังกล่าวที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น มีส่วนช่วยในการสนับสนุนเศรษฐกิจไทยปี 55 ทั้งนี้ อัตราการว่างงานเฉลี่ยในปี 56 คาดว่าจะอยู่ในระดับต่ำที่ร้อยละ 0.6 ของกำลังแรงงานรวม (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 0.5 - 0.7 ของกำลังแรงงานรวม)
- สำนักงานสถิติยุโรป เปิดเผยว่า จำนวนผู้ว่างงานในกลุ่มประเทศยูโรโซนเดือน ส.ค. 55 เพิ่มขึ้นสูงสุดเป็นประวัติการณ์ครั้งใหม่ที่ 18.2 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 11.4 ของกำลังแรงงานรวม ขณะที่อัตราเงินเฟ้อในกลุ่มยูโรโซนในเดือน ก.ย. 55 ปรับตัวขึ้นสู่ระดับสูงสุดในรอบ 6 เดือน ที่ร้อยละ 2.7 เพิ่มจากระดับร้อยละ 2.6 ในเดือน ส.ค. เนื่องจากต้นทุนด้านพลังงานที่สูงขึ้น
- สศค. วิเคราะห์ว่า มาตรการรัดเข็มขัดของประเทศกลุ่มยูโรโซนที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติหนี้สาธารณะโดยเฉพาะกรีซและสเปน เช่น การปลดผู้ที่ทำงานแบบสัญญาจ้างในภาครัฐ การกำหนดเพดานเงินบำนาญ การปรับลดมาตรการยกเว้นภาษี และการลดสวัสดิการข้าราชการ ส่งผลโดยตรงต่อการลดการจ้างงาน ทั้งนี้ ประเทศในกลุ่มยูโรโซนที่มีอัตราว่างงานสูงสุด ณ เดือน ก.ย. 55 คือ สเปน ที่ระดับร้อยละ 25.1 ของกำลังแรงงานรวม รองลงมา ได้แก่ โปรตุเกส ไอร์แลนด์ อิตาลี และ ฝรั่งเศส ที่ระดับร้อยละ 15.9 15 10.7 และ 10.6 ตามลำดับ ขณะที่อัตราเงินเฟ้อยูโรโซนที่เพิ่มขึ้น ณ เดือน ก.ย. 55 อาจส่งผลให้กระแสที่คาดการณ์ว่า ธนาคารกลางยุโรป (ECB) อาจจะชะลอการตัดสินใจลดอัตราดอกเบี้ยลงอีกครั้ง โดยล่าสุด ECB ยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย (Market Refinancing Operations) อยู่ที่ร้อยละ 0.75
ที่มา: Macroeconomic Analysis Group:
Fiscal Policy Office Tel. 02-273-9020 Ext.3665 : www.fpo.go.th