รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 8 ตุลาคม 2555

ข่าวเศรษฐกิจ Monday October 8, 2012 11:29 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 8 ตุลาคม 2555

Summary:

1. คมนาคม เปิดเวทีประชาสัมพันธ์โครงการลงทุน

2. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ยันเดินหน้าจำนำข้าวราคาเดิม

3. IMF เตือนเศรษฐกิจโลกต้องใช้เวลาอย่างน้อย 10 ปีฟื้นตัว

Highlight:

1. คมนาคม เปิดเวทีประชาสัมพันธ์โครงการลงทุน
  • รมว.กระทรวงคมนาคม เปิดเผยในงานสัมมนาโครงการประชาสัมพันธ์เพื่อสร้างการรับรู้และร่วมรับฟังความคิดเห็นของสาธารณะชนต่อแผนลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบคมนาคมขนส่ง พ.ศ.2556-2563 ว่าตามแผนในปี 2556-2563 ด้วยงบประมาณ 2.2 ล้านล้านบาท ก.คมนาคมได้รับมา 1.9 ล้านล้านบาท หรือประมาณ 86% โดยจะนำมาพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมเพื่อรองรับการเปิดเสรีอาเซียนในปี 2558 สำหรับงบประมาณที่ได้มานั้น จะนำไปพัฒนาระบบรางประมาณ 60% พัฒนาทางถนน 30-33% ทางน้ำ 5-8% และทางอากาศ 2% ซึ่งจะแตกต่างจากในอดีต ที่จะมุ่งเน้นพัฒนาถนนเป็นหลัก โดยการพัฒนารถไฟฟ้าความเร็วสูงเบื้องต้นกำหนดไว้ 4 เส้นทางคือ กรุงเทพฯ-เชียงใหม่ ซึ่งช่วงกรุงเทพฯ-พิษณุโลกจะก่อสร้างแล้วเสร็จประมาณปี 2562-2563 และระยะที่ 2 จากพิษณุโลก-เชียงใหม่ จะแล้วเสร็จหลังจากระยะแรก 1 ปี หลังจากนั้นก็จะเป็นเส้นกรุงเทพฯ-นครราชสีมา กรุงเทพฯ-ระยอง และกรุงเทพฯ-หัวหิน ตามลำดับ
  • สศค. วิเคราะห์ว่า จากข้อมูลด้านโลจิสติกส์ของไทย พบว่าด้านทุนโลจิสติกส์อยู่ที่ระดับร้อยละ 17-20 ของ GDP ซึ่งเป็นสัดส่วนที่ค่อนข้างสูง เมื่อเทียบกับประเทศพัฒนาแล้ว โดยต้นทุนค่าขนส่งสินค้าเป็นต้นทุนที่สูงที่สุด สะท้อนถึงประสิทธิภาพด้านระบบขนส่งของไทยที่ควรมีการปรับปรุงและพัฒนา โดยควรจะพัฒนาระบบรางเนื่องจากเป็นการคมนาคมที่มีมลพิษน้อย และมีต้นทุนต่ำในการขนส่งสินค้า ทั้งนี้ หากมีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านระบบรางที่มีศักยภาพและครอบคลุม ย่อมทำให้สามารถลดต้นทุนด้านคมนาคมของผู้ประกอบการได้ นอกจากนี้ ระบบรางที่ดีย่อมเพิ่มความสะดวกต่อนักท่องเที่ยวให้สามารถเดินทางไปยังแหล่งท่องเที่ยวต่างๆได้มากขึ้น นับเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวอีกทางหนึ่ง
2. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ยันเดินหน้าจำนำข้าวราคาเดิม
  • รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการกำกับดูแลการรับจำนำข้าวปี 55/56 หรือ กขช.ว่าจะยังไม่ปรับลดเพดานราคารับจำนำข้าวเปลือกลง เนื่องจากปกติของการรับจำนำสินค้านั้น จะต้องกำหนดราคารับซื้อให้สูงกว่าราคาท้องตลาด เพื่อจะได้ดึงราคาในตลาดให้ปรับตัวสูงขึ้น ทั้งนี้ ผลการรับจำนำข้าวนาปรังปี 55 ณ วันที่ 3 ต.ค.55 อยู่ที่14.52 ล้านตัน เป็นข้าวเปลือกเจ้า 14.07 ล้านตัน ข้าวเปลือกปทุมธานี 1.46 แสนตัน และข้าวเปลือกเหนียว 3.04 แสนตัน
  • สศค. วิเคราะห์ว่า จากการที่มีโครงการรับจำนำข้าว ได้ส่งผลให้ราคาข้าวเปลือกที่เกษตรกรขายได้ปรับตัวสูงขึ้น โดยในช่วง 8 เดือนแรกปี 2555 ราคาข้าวเปลือก ณ ราคานอกโครงการรับจำนำปรับตัวสูงขึ้นที่ร้อยละ 8.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน และหากรวมในโครงการรับจำนำแล้วพบว่าราคาข้าวเปลือกขยายตัวในอัตราเร่งมากที่ร้อยละ 28.4 และเป็นสาเหตุหลักให้เกษตรกรมีรายได้สูงขึ้น โดยในเดือน ส.ค. 2555 รายได้เกษตกรขยายตัวเป็นบวกที่ร้อยละ 10.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ซึ่งจะเป็นปัจจัยหลักสนับสนุนให้การบริโภคภาคเอกชนขยายตัวต่อเนื่องในปี 2555 อย่างไรก็ดี จากการที่มีโครงการรับจำนำข้าวต่อเนื่องในปี 55/56 จะส่งผลให้ภาระทางการคลังเพิ่มขึ้นได้ในอนาคต
3. IMF เตือนเศรษฐกิจโลกต้องใช้เวลาอย่างน้อย 10 ปีฟื้นตัว
  • IMF เตือนเศรษฐกิจโลกจะต้องใช้เวลาอย่างน้อย 10 ปีตั้งแต่เริ่มเกิดวิกฤตการณ์เพื่อกลับสู่สภาวะที่เหมาะสมเนื่องจากญี่ปุ่นกำลังเผชิญกับการปรับตัวด้านการคลังที่ยากลำบากซึ่งจะต้องใช้เวลาหลายสิบปีในการแก้ไข ส่วนจีนมีการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลงแต่ไม่รุนแรง การแก้ไขปัญหาในกลุ่มสหภาพยุโรปต้องอาศัยการลดลงของราคาในประเทศยุโรปที่มีหนี้สิน และการเพิ่มขึ้นของราคาในประเทศหลักๆ เช่น เยอรมนี ซึ่งต้องยอมรับเงินเฟ้อที่สูงขึ้นและเพิ่มความแข็งแกร่งที่แท้จริงของอำนาจซื้ออันเป็นส่วนหนึ่งของการแก้ปัญหาของยุโรป นอกจากนี้ แม้จุดสนใจจะอยู่ที่ปัญหาของยุโรปในขณะนี้ แต่สหรัฐอเมริกาก็มีปัญหาด้านการคลังซึ่งต้องแก้ไขเช่นกัน
  • สศค. วิเคราะห์ว่า เศรษฐกิจโลกมีอัตราการเจริญเติบโตชะลอตัวลงในหลายภูมิภาค มีปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจในกลุ่มสหภาพยุโรปเป็นตัวแปรสำคัญ โดยมีประเทศกรีซและสเปนที่ประสบปัญหาวิกฤตหนี้สาธารณะรุนแรง ซึ่งกรีซเพิ่งออกมายอมรับว่า ไม่สามารถบริหารประเทศไปได้หลังเดือน พ.ย. หากกรีซไม่ได้รับเงินช่วยเหลือจากต่างประเทศงวดถัดไป เพราะเงินจะหมดคลัง และ สเปนจะต้องทำตามแผนการทำธุรกรรม Outright Monetary Transactions ในตลาดรองของธนาคารกลางยุโรปเพื่อซื้อพันธบัตรของประเทศต่างๆ ในกลุ่มสหภาพยุโรป ทั้งนี้ ประเทศที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่เช่น ฝรั่งเศสก็ได้ปรับประมาณการเศรษฐกิจลงมาที่ร้อยละ 0.2 สำหรับปีนี้ ในขณะที่สหรัฐอเมริกาก็กำลังเผชิญกับปัญหา Fiscal Cliff โดยมีการเลือกตั้งประธานาธิบดีในเดือน พ.ย. เป็นตัวบ่งชี้ว่าสหรัฐอเมริกาจะดำเนินไปในทิศทางใด ในส่วนของจีนและญี่ปุ่นก็ประสบปัญหาเศรษฐกิจชะลอตัว ทั้งยังมีข้อพิพาทเรื่องเกาะกลางทะเลเป็นปัจจัยเสี่ยง โดย สศค. เห็นว่า ผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อเศรษฐกิจไทยจะเป็นในส่วนของอุปสงค์ภายนอกซึ่งทำให้การส่งออกของไทยชะลอตัวลง ทั้งนี้ การมุ่งเน้นตลาดภายในประเทศ ลดการพึ่งพาภูมิภาคที่ประสบปัญหา และกระจายการส่งออกไปยังตลาดส่งออกในภูมิภาคที่ไม่ประสบปัญหาเศรษฐกิจ เช่น อาเซียน จะเป็นการลดความเสี่ยงและทำให้เศรษฐกิจไทยสามารถเผชิญกับการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกในช่วงนี้ได้อย่างเหมาะสม

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group:

Fiscal Policy Office Tel. 02-273-9020 Ext.3665 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ