Macro Morning Focus ประจำวันที่ 17 ตุลาคม 2555
1.คลังอาเซียนพร้อมรับมือเศรษฐกิจโลกผันผวน
2.อดีต รมว.คลังแนะ รีดภาษีที่ดินตามแนวรถไฟฟ้าแพิ่ม ชี้จำเป็นต้องคืนกำไรสังคม-แบ่งเบาภาระประชาชน
3.รัฐบาลโปรตุเกสเผยแผนร่างงบประมาณปี 56 จ่อขึ้นภาษีเงินได้เป็นร้อยละ 13.2
Highlight:
- ปลัดกระทรวงการคลัง เข้าร่วมการประชุมประจำปีสภาผู้ว่าการธนาคารโลก (World Bank) และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) 2012 ในระหว่างวันที่ 11 - 13 ต.ค. 55 ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น เพื่อประชุมหารือร่วมกับผู้ว่าการธนาคารโลกในประเด็นปัญหาเศรษฐกิจ และหารือทวิภาคีกับองค์กรระหว่างประเทศ สถาบันการเงิน และบริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือต่าง ๆโดยสรุปวาระการประชุมโดยรวมได้ว่า อาเซียนยืนยันพร้อมรับมือเศรษฐกิจโลกที่ผันผวน โดยมั่นใจว่าพื้นฐานทางเศรษฐกิจยังคงแข็งแกร่ง แต่จำเป็นต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และเตรียมแผนรับมือร่วมกัน
- สศค. วิเคราะห์ว่า การขยายตัวของเศรษฐกิจโลกโดยรวมยังคงอ่อนแอ โดยเศรษฐกิจยูโรโซนเข้าสู่ภาวะถดถอยจากมาตรการรัดเข็มขัดของรัฐบาลและความเชื่อมั่นภาคเอกชนที่ปรับลดลงมาก ขณะที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังคงฟื้นตัวอย่างช้าๆ โดยระดับการบริโภคและการผลิตยังต่ำกว่าปกติ ทั้งนี้ ความอ่อนแอของเศรษฐกิจโลกส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจเอเชียและจีนชัดเจนขึ้น ส่งผลให้การส่งออกชะลอตัวกว่าที่คาด แต่อุปสงค์ภายในของหลายประเทศ เช่น มาเลเซีย อินโดนีเซีย และไทย ยังคงขยายตัวได้ดี ดังนั้น นโยบายกระตุ้นการบริโภคของภาคเอกชนและการปรับโครงสร้างเพื่อนสนับสนุนความต้องการภายในประเทศ จึงเป็นนโยบายสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจเอเชียภายใต้สภาวะเศรษฐกิจโลกที่ผันผวน สำหรับประเทศไทย ผลของนโยบายกระทรวงการคลังที่สำคัญในปี 55 เช่น การปรับขึ้นค่าแรงงานขั้นต่ำ 300 บาท โครงการรถคันแรก โครงการรับจำนำข้าวเปลือก จะสามารถช่วยสนับสนุนเศรษฐกิจไทย และคาดว่าจะทำให้เศรษฐกิจไทยปี 55 สามารถขยายตัวได้ที่ร้อยละ 5.5 และ 5.2 ตามลำดับ
- อดีตรมว.คลัง เปิดเผยในงาน Property Awards 2012เมื่อคืนวันเสาร์ที่ 13 ต.ค. 55 ว่า 2-3ปีที่ผ่านมานั้นถือว่าเป็นยุคทองของผู้ประกอบการยุคหนึ่ง นอกจากจะมาแสดงความยินดีกับผู้ประกอบการแล้ว ผมจึงได้ฝากข้อคิดคำถามให้กับทุกๆบริษัท ดังนี้ 1) เราจะช่วยกันแก้ปัญหา 'สลัม'กันอย่างไร ในเมืองใหญ่ทุกเมืองยังมีประชาชนอาศัยในพื้นที่แออัด ขาดความมั่นคงและสุขลักษณะ ซึ่งเราต้องมีเป้าหมายชัดเจนที่จะแก้ไข 2) เมื่อรัฐบาลเอาเงินภาษีไปทำรถไฟฟ้า ผู้ที่เป็นเจ้าของที่ริมทาง จะได้ประโยชน์เต็มๆ จากราคาที่ดินที่จะปรับสูงขึ้น ดังนั้นควรจะมีการคืนกำไรส่วนนี้บางส่วน เพื่อมาช่วยแบ่งภาระให้ประชาชนผู้เสียภาษี ทั้งหมดนี้เรียกว่า 'win-win' หรือ 'ชนะทุกฝ่าย' ครับ และจะเพิ่มความยุติธรรมให้กับสังคม
- สศค. วิเคราะห์ว่า จากข้อมูลของสำนักการคลัง กทม. ได้สรุปผลการจัดเก็บรายได้รวมของ กทมประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2555 (สิ้นสุดเมื่อวันที่ 30 ก.ย. 55) พบว่ามีรายได้ รวมทั้งสิ้น 59,490 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 108.16 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยการดำเนินการจัดเก็บแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ 1)รายได้ที่ กทม. จัดเก็บเอง รวมทั้งสิ้น 13,790 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 113.04 2) รายได้ที่หน่วยงานภายนอกอื่นจัดเก็บให้ กทม. รวมทั้งสิ้น 45,699 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 106.77 อย่างไรก็ดี สศค. อยู่ระหว่างการพิจารณายกร่าง ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. ... ซึ่งมีเป้าหมาย (1) เพื่อทำให้การจัดเก็บภาษีจากทรัพย์สินมีความเป็นธรรมมากยิ่งขึ้น (2) เพื่อผลักดันให้มีการใช้ประโยชน์ในที่ดินให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น และ (3) เพื่อเป็นรายได้สำหรับนำไปใช้ในการพัฒนาและการให้บริการของท้องถิ่น เป็นสำคัญ
- รัฐมนตรีคลังโปรตุเกส เปิดเผยว่า รัฐบาลโปรตุเกสจำเป็นต้องปรับขึ้นภาษีเงินได้จากร้อยละ 9.8 ในปี 55 เป็นร้อยละ 13.2 ในปี 56 และลดการใช้จ่ายภาครัฐลงอีก 2.7 พันล้านยูโร นอกจากนี้ ยังมีแผนการที่จะลงงบประมาณรายจ่ายด้านสังคมและบำนาญโดยการปลดข้าราชการออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 2 จากทั้งหมด 600,000 คนทั่วประเทศ ทั้งนี้ เพื่อให้สามารถลดการขาดดุลงบประมาณสู่ระดับร้อยละ 4.5 ในปี 56 ลดระดับหนี้สาธารณะลงตามที่สหภาพยุโรปเรียกร้อง รวมถึงให้ได้รับเงินช่วยเหลือในการแก้ไขปัญหาหนี้สาธารณะของประเทศ
- สศค. วิเคราะห์ว่า โปรตุเกสเป็นอีกหนึ่งประเทศในกลุ่มยูโรโซนที่มีปัญหาหนี้สาธารณะในระดับสูง โดยล่าสุด หนี้สาธารณะในปี 54 อยู่ที่ร้อยละ 107.8 ของ GDP ซึ่งถือว่าอยู่ในระดับสูงเกินกว่าข้อกำหนดของสหภาพยุโรป (EU) ที่กำหนดไว้ที่ร้อยละ 60 ของ GDP นอกจากนี้ โปรตุเกสยังถูกสหภาพยุโรปกดดันให้ใช้มาตรการระยะกลางเพื่อลดการขาดดุลงบประมาณและทำให้ฐานะการคลังของประเทศมีความมั่นคงมากขึ้น ทั้งนี้ ความท้าทายในระยะต่อไปที่โปรตุเกสจะต้องเผชิญคือ รายได้ของประเทศที่เพิ่มขึ้นจากการอนุมัติขึ้นภาษีเงินได้ของรัฐสภาโปรตุเกส ขณะที่เศรษฐกิจของโปรตุเกสในปัจจุบันยังคงอยู่ในภาวะถดถอยรุนแรงที่สุดนับตั้งแต่ปี 2513 โดยล่าสุด GDP ในไตรมาสที่ 2 ปี 55 หดตัวร้อยละ -3.3 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน และเมื่อปรับผลทางฤดูกาลแล้ว หดตัวร้อยละ -1.2 โดยเป็นผลจากอุปสงค์และการลงทุนในประเทศที่อ่อนแอ นอกจากนี้ อัตราการว่างงานในไตรมาสที่ 2 ปี 55 ก็อยู่ในระดับสูงที่ร้อยละ 15.0 ดังนั้น ความพยายามในการลดงบประมาณรายจ่ายเพื่อลดการขาดดุลการคลังของรัฐบาลและระดับหนี้สาธารณะ รวมถึงการขึ้นอัตราภาษีเพื่อเพิ่มรายได้ให้รัฐบาลล้วนย่อมส่งผลด้านลบต่อเศรษฐกิจโดยรวมของโปรตุเกสและ EU อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ทั้งนี้ สศค. คาดว่า อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของ EU ในปี 55 จะหดตัวร้อยละ -0.9 และในปี 56 จะขยายตัวร้อยละ 0.5 (คาดการณ์ ณ เดือน ก.ย. 55)
ที่มา: Macroeconomic Analysis Group:
Fiscal Policy Office Tel. 02-273-9020 Ext.3665 : www.fpo.go.th