รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 18 ตุลาคม 2555

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday October 18, 2012 10:53 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 18 ตุลาคม 2555

Summary:

1. โบรกเกอร์มองตลาดหุ้นไทยในช่วง 1 - 2 เดือนข้างหน้า มีความเสี่ยงปรับตัวลงจากแรงขายของนักลงทุนต่างชาติ

2. ผลประกอบการไตรมาส 3 ขยายตัวถ้วนหน้า ไทยพาณิชย์นำโด่ง ซึ่งสูงสุดเป็นประวัติการณ์

3. ซีอีโอสหรัฐเตือนสภาคองเกรสให้เลี่ยงการตกหน้าผาการคลัง

Highlight:

1. . โบรกเกอร์มองตลาดหุ้นไทยในช่วง 1 - 2 เดือนข้างหน้า มีความเสี่ยงปรับตัวลงจากแรงขายของนักลงทุนต่างชาติ
  • บลจ. เอเซีย พลัส มีมุมมองว่า ในระยะ 1 - 2 เดือนข้างหน้า ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ฯ (SET) มีความเสี่ยงปรับตัวลดลงร้อยละ 5 มาอยู่ที่ประมาณ 1,237 จุด โดยมีแรงขายของนักลงทุนต่างชาติกดดันการฟื้นตัวตลาดหุ้นโลก ช่วงสั้น อย่างไรก็ตาม ยังคงมีปัจจัยสนับสนุนเชิงบวกจากการประกาศผลการดำเนินงานของบริษัทจดทะเบียนในช่วงไตรมาสที่ 3/2555 โดยเฉพาะบริษัทที่กำไรดีกว่าคาด จึงยังเน้นกลยุทธ์ถือเงินสดร้อยละ 60 และอีกร้อยละ 40 ซื้อหรือถือ หุ้นที่มีอัตราส่วนราคาต่อกำไรสุทธิ (PER) ต่ำ ราคาผันผวนน้อยและมีการจ่ายเงินปันผลสูง
  • สศค. วิเคราะห์ว่า มูลค่าการซื้อขายสุทธิสะสมตั้งแต่ 1 ม.ค. - 16 ต.ค. 55 พบว่า นัลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิ 54.4 พันล้านบาท แต่สถาบันในประเทศ และนักลงทุนทั่วไปในประเทศขายสุทธิ 44.3 และ 13.0 พันล้านบาท โดย SET ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 18.8 จากต้นปี 55 และเมื่อเปรียบเทียบ PER ของไทยประมาณ 14.0 เท่า ที่มากกว่าค่าเฉลี่ยของตลาดหุ้นเอเชียที่ทำการซื้อขายประมาณ 12.0 เท่า ซึ่งสะท้อนว่าราคาหุ้นของไทยแพงกว่าค่าเฉลี่ยของเอเชียเล็กน้อย อย่างไรก็ตาม ผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนไทยก็ได้ปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะกลุ่มสถาบันการเงิน เป็นต้น สอดคล้องกับเศรษฐกิจของไทยยังคงขยายตัวได้ดี โดยเฉพาะการลงทุน และการบริโภคภายในประเทศที่ขยายตัวได้ดี ซึ่งช่วยลดความเสี่ยงจากความผันผวนของปัจจัยภายนอกประเทศโดย สศค. คาดว่า การลงทุนรวมในปี 55 จะขยายตัวที่ร้อยละ 12.8 (โดยมีช่วงการคาดการณ์ที่ร้อยละ 12.3 - 13.3) ประกอบกับสหรัฐฯได้ดำเนินมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ ครั้งที่ 3 (Quantitative Easing 3: QE 3) และมาตรการช่วยเหลือด้านสภาพคล่องของธนาคารกลางยุโรปจะทำให้มีปริมาณเงินในระบบเศรษฐกิจมากขึ้น ซึ่งปัจจัยดังกล่าวข้างต้นจะสนับสนุนให้ SET ปรับตัวเพิ่มขึ้นได้
2. ผลประกอบการไตรมาส 3 ขยายตัวถ้วนหน้า ไทยพาณิชย์นำโด่ง ซึ่งสูงสุดเป็นประวัติการณ์
  • ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ประกาศผลกำไรสุทธิไตรมาส 3/2555 (งบการเงินรวมก่อนสอบทาน) ที่ 10,025 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 20 จากไตรมาส 3/2554 โดยมีปัจจัยหลักขับเคลื่อนกำไรสุทธิที่ดีนี้ มาจากการเพิ่มขึ้นของรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ อันเป็นผลจากการขยายตัวที่สูงของสินเชื่อซึ่งเติบโตจากช่วงเดียวกันของปีที่ก่อนถึงร้อยละ 20.2 และคุณภาพของสินเชื่อโดยรวมมีการปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องเช่นกัน นอกจากนี้ ธ.ทหารไทย ธ.กรุงไทย และธนาคารออมสินก็มีแนวโน้มผลประกอบการไตรมาส 3 ปรับตัวดีขึ้นเช่นเดียวกัน
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ผลประกอบการของธนาคารพาณิชย์ที่เติบโตอย่างแข็งแกร่งนั้น สะท้อนให้เห็นถึงความสามารถในการทำกำไรในระดับสูงอย่างต่อเนื่องและยั่งยืนของธนาคาร จากการฟื้นตัวที่ดีอย่างต่อเนื่องของเศรษฐกิจไทยหลังจากเหตุการณ์อุทกภัยใหญ่เมื่อปลายปี 54 และส่วนหนึ่งจากการแข่งขันระดมเงินฝากของธนาคารพาณิชย์ผ่านการออกผลิตภัณฑ์เงินฝากพิเศษ เพื่อรองรับการขยายตัวของสินเชื่อในระดับสูงและเพื่อรักษาส่วนแบ่งการตลาดไว้โดยข้อมูลล่าสุด เดือน ก.ค. 55 สภาพคล่องส่วนเกินของธนาคารพาณิชย์ยังคงอยู่ในระดับสูงที่ระดับ 2.1 ล้านล้านบาท และระดับหนี้สาธารณะ (Net NPLs) ของธนาคารพาณิชย์ลดลงอย่างต่อเนื่องที่ระดับ 1.2 ทั้งนี้ เพื่อรักษาระดับสภาพคล่องส่วนเกินและระดับหนี้สาธารณะไว้ สศค.จึงได้มีการหารือร่วมกันธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงการคลัง เพื่อเสนอแนวทางการกำกับดูแลแบงก์รัฐในรูปแบบใหม่ผ่านแผนปฏิรูปสถาบันการเงินเฉพาะกิจ มี 3 ด้าน ประกอบด้วย (1) การปรับปรุงบทบาทของแบงก์รัฐด้านการให้สินเชื่อ โดยมีจุดมุ่งหมายให้เข้าถึงรายย่อยมากยิ่งขึ้น รวมถึงการให้บริการต่าง ๆ ที่ทำให้ประชาชนเข้าสู่ฐานบัญชีของธนาคารมากยิ่งขึ้น (2) การปรับปรุงระบบกำกับดูแลและการตรวจสอบการทำงานเพื่อปิดช่องโหว่ที่จะนำไปสู่การทุจริต และพิจารณาปล่อยสินเชื่ออย่างไม่ระมัดระวัง ซึ่งนำมาสู่ความเสียหายของธนาคารในที่สุด และ (3) การพัฒนาศักยภาพให้เกิดประโยชน์มากยิ่งขึ้นจากทรัพยากรที่มีอยู่ โดยเฉพาะด้านสภาพคล่องที่ถือเป็นทรัพยากรสำคัญในการดำเนินธุรกิจ
3. ซีอีโอสหรัฐเตือนสภาคองเกรสให้เลี่ยงการตกหน้าผาการคลัง
  • ซีอีโอของภาคเอกชนสหรัฐ เรียกร้องมากยิ่งขึ้น เพื่อให้สมาชิกสภาคองเกรส ประนีประนอมกัน และบรรลุข้อตกลงในการสกัดภาวะ Fiscal cliff หรือภาวะที่มาตรการปรับขึ้นภาษีและปรับลดงบรายจ่ายวงเงิน 6 แสนล้านดอลลาร์ของรัฐบาลสหรัฐ จะเริ่มมีผลบังคับใช้โดยอัตโนมัติในต้นปีหน้า และเรียกร้องให้มีการปรับลดระดับหนี้ของสหรัฐลงด้วย ซีอีโอของบริษัทขนาดใหญ่บางแห่งในสหรัฐกล่าวว่า สภาคองเกรส จำเป็นต้องขึ้นภาษี ที่เรียกเก็บจากคนรวย และต้องปรับลดโครงการสวัสดิการของรัฐบาลกลาง เช่น โครงการเมดิแคร์ (ระบบประกันสุขภาพสำหรับผู้สูงวัย)และสวัสดิการสังคม เพื่อลดหนี้ของรัฐบาลกลาง และปกป้องการเติบโตทางเศรษฐกิจของสหรัฐ
  • สศค. วิเคราะห์ว่า นโยบายการรัดเข็มขัดแบบสุดขีด Fiscal cliff ของรัฐบาลสหรัฐ อาจจะส่งผลกระทบอย่างมากต่อระบบเศรษฐกิจสหรัฐที่ยังคงซบเซาอยู่ มาตรการภาษีที่จะหมดไปได้แก่ การลดภาษี (Tax Relief) ประกันการว่างงาน (Unemployment Insurance Reauthorization) และก็การจ้างงาน (Job Creation Act of 2010) ภายใต้กฎหมายพวกนี้ทั้งมาตรการปรับขึ้นภาษีและปรับลดงบรายจ่าย CBO คาดการณ์ว่าจะทำให้รายรับของภาครัฐขึ้นถึงจากร้อยละ 15.7 ต่อ GDP ในปี 55 ถึง 18.4 ต่อ GDP ในปี 56 ได้กลับเข้ามาสู่สภาวะปกติ และด้านรายจ่ายจะลดลงจากร้อยละ 22.9 ต่อ GDP ถึง 22.4 ต่อ GDP นอกจากนี้ CBO ได้คาดการณ์ว่าถ้าไม่มีมาตรการรัดเข็มขัดแบบสุดขีด หนี้สาธารณะของสหรัฐจะขึ้นสูงถึงร้อยละ 90 ต่อ GDP โดยจะมีรายจ่ายสูงถึง 1037 ล้านล้านดอลล่าร์ ทั้งนี้ มาตรการนี้ทางการคลังครั้งนี้ Fiscal Cliff อาจจะทำให้ประเทศสหรัฐกลับเข้าสู่สภาวะถดถอย (Recession) อีกในช่วงครึ่งปีแรกของ 56

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group:

Fiscal Policy Office Tel. 02-273-9020 Ext.3665 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ