รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 24 ตุลาคม 2555

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday October 24, 2012 11:19 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 24 ตุลาคม 2555

Summary:

1. ไทยพาณิชย์คาด ตลาดทุนปี 56 คึกคัก เหตุเม็ดเงินทั่วโลกจ่อเข้าอาเซียน "ไทย-มาเลเซีย"

2. นักเศรษฐศาสตร์ชี้แนวโน้มดอกเบี้ยนโยบายลดลงอีกร้อยละ 0.25

3. BOJ สนับสนุนการใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายจากความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก

Highlight:

1. ไทยพาณิชย์คาด ตลาดทุนปี 56 คึกคัก เหตุเม็ดเงินทั่วโลกจ่อเข้าอาเซียน "ไทย-มาเลเซีย"
  • ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ สายวาณิชธนกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ เปิดเผยว่า แนวโน้มตลาดทุนปี 2556 มีปัจจัยที่ส่งผลกับธุรกิจวาณิชธนกิจ 3 ประเด็นหลัก คือ Qe3 ที่จะผลักดันเม็ดเงินเข้ามาจำนวนมหาศาล แม้เม็ดเงินไม่มากเท่าQe 1 และ Qe2 แต่ออกมาอย่างไม่จำกัด ทำให้มีเม็ดเงินลงทุนไหลเข้ามาต่อเนื่อง ขณะที่ผลกระทบของวิกฤติในยุโรป ยังทำให้เกิดการโยกย้ายเงินลงทุนเดิมที่เคยอยู่ในเอเชียเหนือเช่นจีน หรือเกาหลีมายังเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มากขึ้น ที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติน้อยกว่า
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ปัญหาหนี้สาธารณะในกลุ่มประเทศสหภาพยุโรปในช่วงที่ผ่านมา ส่งผลต่อการเคลื่อนย้ายเงินทุนของนักลงทุนต่างประเทศไหลเข้าสู่ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มากขึ้น สะท้อนได้จากแนวโน้มดัชนีหุ้นไทยที่ปรับตัวสูงสุดในรอบ 16 ปี ที่ปรับขึ้นร้อยละ 21.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนประกอบกับนโยบายของรัฐบาล เช่น การเพิ่มรายได้แรงงานรายวันขั้นต่ำ 300 บาท เงินเดือนข้าราชการ การรับจำนำข้าวเปลือก โครงการรถยนต์คันแรก โครงการบ้านหลังแรก และการทยอยปรับลดภาษีเงินได้นิติบุคคล ที่มีส่วนสนับสนุนภาคเอกชน ทั้งนี้ สศค. คาดว่า เศรษฐกิจไทยปี 56 จะขยายตัวได้อย่างต่อเนื่องที่ร้อยละ 5.2 (ช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 4.7 - 5.7) โดยมีแรงขับเคลื่อนหลักจากอุปสงค์ภาครัฐและอุปสงค์จากต่างประเทศ ในระยะต่อไปเศรษฐกิจไทยจะได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการลงทุนของรัฐบาลในโครงการขนาดใหญ่ของประเทศ ทั้งการลงทุนในโครงการ 3G โครงการรถไฟฟ้าใต้ดินที่จะก่อสร้างเพิ่มหรือโครงการพลังงาน เรวมถึงการเบิกจ่ายตามแผนบริหารจัดการน้ำในระยะยาวของภาครัฐวงเงินลงทุนรวม 3.5 แสนล้านบาทที่คาดว่าจะเริ่มทยอยลงทุนได้มากขึ้นในปี 56
2. นักเศรษฐศาสตร์ชี้แนวโน้มดอกเบี้ยนโยบายลดลงอีกร้อยละ 0.25
  • นักเศรษฐศาสตร์ กล่าวว่าการปรับลดดอกเบี้ยครั้งล่าสุด เป็นการปรับสมดุลบริหารความเสี่ยงระหว่างการเติบโตของเศรษฐกิจกับเงินเฟ้อในระยะสั้น เพราะมีปัจจัยเสี่ยงเกิดขึ้นในต่างประเทศที่ไม่อาจคาดเดาได้ หากในปีหน้า ยังมีความเสี่ยงทางเศรษฐกิจอยู่ต่อเนื่อง ก็อาจพอมีช่องทางให้ปรับลดดอกเบี้ยได้อีกร้อยละ 0.25
  • สศค. วิเคราะห์ว่า การผ่อนคลายนโยบายทางการเงินในช่วงที่ผ่านมา โดยการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายจากร้อยละ 3.00 เป็น 2.75 สามารถรองรับความผันผวนของเศรษฐกิจโลกที่ยังอ่อนแอและมีความเสี่ยงสูงได้ ถึงแม้ว่าภาคการส่งออกจะได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าหลักรุนแรงกว่าที่เคยคาดไว้ สะท้อนได้จากมูลค่าการส่งออกโดยรวม ณ เดือน ส.ค. 55 หดตัวร้อยละ -6.9แต่การบริโภคและการลงทุนของภาคเอกชนยังคงขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง โดยมีแรงสนับสนุนจากภาวะการเงินที่ผ่อนคลาย อัตราว่างงานอยู่ในเกณฑ์ดี อย่างไรก็ตาม อุปสงค์ภาคเอกชนมีแนวโน้มชะลอลง ภายหลังจากที่มีการเร่งการบริโภคและการลงทุนเพื่อฟื้นฟูภายหลังวิกฤตอุทกภัยไปมากแล้วเมื่อปีก่อน ทั้งนี้ สศค. คาดว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายในปี 55 จะอยู่ที่ช่วงคาดการณ์ร้อยละ 2.75-3.25 (คาดการณ์ ณ เดือนก.ย. 55)
3. BOJ สนับสนุนการใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายจากความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก
  • ผู้ว่าการธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) เปิดเผยว่า แนวโน้มเศรษฐกิจโลกยังคงไม่มีความแน่นอนจากความเสี่ยงของปัญหาหนี้สาธารณะในยุโรปและการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ นอกจากนี้ BOJ ยังเห็นด้วยกับการใช้นโยบายผ่อนคลายทางการเงินเพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งของการเติบโตทางเศรษฐกิจญี่ปุ่น สำหรับภาคการส่งออกและการผลิตภาคอุตสาหกรรมยังคงถือว่าค่อนข้างอ่อนแอจากผลของการชะลอตัวของเศรษฐกิจต่างประเทศ ขณะที่อุปสงค์ภายในประเทศยังคงแข็งแกร่ง
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ปัจจัยหลักที่ช่วยสนับสนุนให้เศรษฐกิจญี่ปุ่น (Contribution to GDP Growth) เติบโตคือ ภาคการบริโภคภาคเอกชน โดยล่าสุด การใช้จ่ายภาคครัวเรือนในเดือน ส.ค. 55 ขยายตัวร้อยละ 1.8 เมื่อเทียบกับช่วงแดียวกันของปีก่อน และเมื่อปรับผลทางฤดูกาลแล้ว ขยายตัวร้อยละ 2.2 อย่างไรก็ตาม ภาคการส่งออกและภาคการผลิตยังคงมีสัญญาณชะลอตัวลง สะท้อนจากดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรมในเดือน ก.ย. 55 อยู่ที่ระดับ 48.0 จุด โดยยังคงอยู่ต่ำกว่าระดับ 50 จุด ต่อเนื่องติดต่อกันเป็นเดือนที่ 4 ขณะที่ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมในเดือน ส.ค. 55 หดตัวร้อยละ -1.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน หดตัวจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 1.0 โดยเป็นการหดตัวต่อเนื่องติดต่อกันเป็นเดือนที่ 2 ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงอุปสงค์ภายนอกประเทศที่ยังคงปรับตัวลดลงจากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวลงอย่างชัดเจน และส่งผลโดยตรงต่อภาคการส่งออกที่หดตัวต่อเนื่องกันเป็นเดือนที่ 4 โดยมูลค่าการส่งออกสินค้าในเดือน ก.ย. 55 หดตัวถึงร้อยละ -10.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน หดตัวเร่งขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -5.8 อย่างไรก็ตาม ธนาคารกลางญี่ปุ่นได้ประกาศคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายเมื่อเดือน ต.ค. 55 ที่ช่วงร้อยละ 0-0.1 เพื่อสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจญี่ปุ่นและลดผลกระทบของปัญหาวิกฤติหนี้สาธารณะในยุโรปที่อาจส่งผลต่อตลาดการเงินและตลาดทุนของญี่ปุ่น ทั้งนี้ สศค. คาดว่า อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่นในปี 55 และ 56 จะขยายตัวร้อยละ 2.4 และ 1.6 ตามลำดับ (คาดการณ์ ณ เดือน ก.ย. 55)

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group:

Fiscal Policy Office Tel. 02-273-9020 Ext.3665 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ