รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 26 ตุลาคม 2555

ข่าวเศรษฐกิจ Friday October 26, 2012 10:55 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 26 ตุลาคม 2555

Summary:

1. MPI ในไตรมาสที่ 3 ปี 55 หดตัวร้อยละ -10.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน

2. ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมสิงคโปร์เดือน ก.ย. 55 หดตัวร้อยละ -2.5 จากช่วงเดียวกันปีก่อน

3. ธนาคารกลางฟิลิปปินส์ประกาศลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงมาอยู่ที่ร้อยละ 3.50

Highlight:

1. MPI ในไตรมาสที่ 3 ปี 55 หดตัวร้อยละ -10.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน
  • สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) ในไตรมาสที่ 3 ปี 55 หดตัวที่ร้อยละ -10.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ขณะที่ อัตราการใช้กำลังการผลิตอยู่ที่ร้อยละ 65.5 จากปัญหาวิกฤตหนี้สาธารณะในยูโรโซน (EU) ที่เริ่มส่งผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรมไทยมากขึ้น อย่างไรก็ตาม สศอ.คาดว่า ในปี 55 MPI จะขยายตัวร้อยละ 5.0-6.0 และส่งผลให้ GDP ภาคอุตสาหกรรมขยายตัวร้อยละ 5.5-6.5
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมที่ปรับตัวลดลงนั้น สอดคล้องกับตัวเลขการส่งออกสินค้าไทยในไตรมาสที่ 3 ปี 55 ที่หดตัวลงร้อยละ -3.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ตามอุปสงค์จากต่างประเทศที่ยังคงซบเซา อย่างไรก็ดี จากการที่รัฐบาลได้ดำเนินนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศอย่างต่อเนื่อง ได้มีส่วนช่วยให้การผลิตภาคอุตสาหกรรมที่เน้นตอบสนองความต้องการในประเทศ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมยานยนต์ ยังคงขยายตัวเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ จากการที่ภาครัฐมีความพยายามที่จะเร่งกระจายตลาดส่งออกให้มากขึ้น เพื่อลดผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าหลักของไทยนั้น คาดว่าจะมีส่วนสนับสนุนการฟื้นตัวของภาคอุตสาหกรรมในระยะต่อไป
2. ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมสิงคโปร์เดือน ก.ย. 55 หดตัวร้อยละ -2.5 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • คณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจสิงคโปร์ (EDB) เปิดเผยตัวเลขผลผลิตภาคอุตสาหกรรมสิงคโปร์ เดือน ก.ย. 55 ที่หดตัวเร่งขึ้นจากร้อยละ -2.3 ในเดือนก่อน มาอยู่ที่ร้อยละ -2.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน หรือหดตัวร้อยละ -1.8 จากเดือนก่อนหน้า (ขจัดผลทางฤดูกาลแล้ว) เนื่องจากการผลิตสินค้าหมวดอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งหดตัวต่อเนื่อง โดยในช่วง 9 เดือนแรกปี 55 การผลิตสินค้าหมวดอิเล็กทรอนิกส์หดตัวเฉลี่ยร้อยละ -12.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ตามการชะลอลงของอุปสงค์จากนอกประเทศ
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมสิงคโปร์ที่หดตัวต่อเนื่องนั้น สะท้อนการชะลอลงของเศรษฐกิจสิงคโปร์ทั้งจากอุปสงค์และอุปทาน โดยมีปัจจัยหลักมาจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ซึ่งส่งผลกระทบต่อสิงคโปร์ผ่านช่องทางการค้า (เศรษฐกิจสิงคโปร์พึ่งพาการส่งออกเป็นสัดส่วนสูงถึง 2.3 เท่าของ GDP) โดยยอดส่งออกสินค้าสิงคโปร์หดตัวสูงสุดในรอบกว่า 2 ปี โดยเฉพาะสินค้าหมวดอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งเป็นสินค้าส่งออกสำคัญของสิงคโปร์ (สัดส่วนร้อยละ 12.1 ของมูลค่าการส่งออกรวมปี 54) ที่หดตัวอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ เศรษฐกิจสิงค์โปร์ได้เข้าสู่ภาวะถดถอย (technical recession) แล้ว โดย GDP สิงคโปร์ ไตรมาส 3 ปี 55 (ตัวเลขเบื้องต้น) หดตัวต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 2 ที่ร้อยละ -1.5 จากไตรมาสก่อนหน้า (ขจัดปัจจัยทางฤดูกาลแล้ว) ทั้งนี้ ในเดือน ก.ย. 55 สศค. ได้ปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจสิงคโปร์ในปี 55 ลงเหลือร้อยละ 2.7 จากคาดการณ์เดิมที่ร้อยละ 2.9 (คาดการณ์ ณ มิ.ย. 55)
3. ธนาคารกลางฟิลิปปินส์ประกาศลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงมาอยู่ที่ร้อยละ 3.50
  • ธนาคารกลางฟิลิปปินส์ประกาศลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เดือน ก.ค. 55 ลงร้อยละ 0.25 มาอยูที่ระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ที่ร้อยละ 3.50 ซึ่งสอดคล้องกับคาดการณ์ของตลาด โดยมีปัจจัยหลักเพื่อลดผลกระทบจากความเปราะบางของเศรษฐกิจโลก ซึ่งส่งผลกระทบต่ออุปสงค์จากนอกประเทศ และกระตุ้นการบริโภค รวมถึงการลงทุนในประเทศ
  • สศค. วิเคราะห์ว่า การปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางฟิลิปปินส์ดังกล่าว ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากค่าเงินเปโซฟิลิปปินส์ที่แข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากเงินทุนเคลื่อนย้ายที่ไหลเข้าฟิลิปปินส์มากขึ้น หลังการดำเนินโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจระลอกที่ 3 ของธนาคารกลางสหรัฐฯ (QE3) ทั้งนี้ การดำเนินโยบายการเงินแบบผ่อนคลายดังกล่าว สอดคล้องกับการดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารกลางอื่นๆในภูมิภาค ซึ่งมีปัจจัยสำคัญมาจากความเสี่ยงจากเศรษฐกิจโลกที่เริ่มอ่อนแอลงต่อเนื่อง ทั้งจากผลกระทบของวิกฤตหนี้สาธารณะในยูโรโซน และจากการชะลอลงของเศรษฐกิจจีน และเพื่อกระตุ้นการบริโภคและการลงทุนในประเทศเพื่อลดการพึ่งพาอุปสงค์จากนอกประเทศ ขณะที่ แรงกดดันจากเงินเฟ้อที่ยังคงอยู่ในระดับที่บริหารจัดการได้ ทั้งนี้ ราคาน้ำมันที่คาดว่าจะปรับเพิ่มขึ้นในช่วงที่เหลือของปี ตามอปุสงค์ที่เพิ่มขึ้นในช่วงฤดูหนาว อาจส่งผลให้แรงกดดันจากเงินเฟ้อเพิ่มสูง ซึ่งอาจส่งผลต่อการดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารกลางฟิลิปปินส์ในระยะต่อไป

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group:

Fiscal Policy Office Tel. 02-273-9020 Ext.3665 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ